Saturday 21 February 2009

The Beatles | Sgt. Pepper's (3) (Final)


Sgt. Pepper’s
เป็นงานที่ต้องฟังกันต่อเนื่องทั้งอัลบั้มถึงจะได้อรรถรสสมบูรณ์แบบ
แต่ในแต่ละแทร็คก็มึความโดดเด่นในตัวของมันเอง
เรามาดูเบื้องหลังและเกร็ดเล็กน้อยในบางเพลงสำคัญๆกันครับ(ก็เกือบหมดแผ่นนั่นแหละ)



Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Bandเพลงเปิดอัลบั้ม มันเปรียบได้กับบท “โหมโรง” หรือ ‘Overture’ ของดนตรี Opera ก่อนที่จะนำเข้าสู่เนื้อหาที่แท้จริงของ Sgt. Pepper’s พอลร้องนำในตัวบทเพลงที่เดินเรื่องด้วยกีต้าร์สไตล์จิมี่ เฮนดริกซ์ สนับสนุนด้วยเครื่องเป่า French Horns อีกสี่ชิ้น และเพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมือนการแสดงบนเวที จอร์จ มาร์ตินก็ได้โอเวอร์ดับเสียงวงดนตรีอุ่นเครื่อง, เสียงปรบมือและหัวเราะจากเทปบันทึกการแสดงละคร Beyond The Fringe ลงไปอย่างแนบเนียน

With A Little Help From My Friends จอห์นและพอลช่วยกันแต่งเพลงนี้ให้ริงโก้ร้องนำโดยเฉพาะ เดิมมีชื่อเพลงว่า ‘Bad Finger Boogie’ มันเป็นเพลงที่พวกเขาบันทึกเสียงกันเกือบจะเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มในวันที่ 29 มีนาคม 1967 ก่อนที่จะนำมาเกี่ยวก้อยกับแทร็คแรกด้วยเสียงกรีดร้องของแฟนๆ (ตัดต่อมาจากเสียงคนดูในการแสดงของ Beatles เองที่ Hollywood Bowl!) นอกจากเนื้อหาจะแทงใจแฟนๆริงโก้แล้ว ท่วงทำนองก็ยังอยู่ในคีย์ที่สบายๆสำหรับนักร้องสไตล์ริงโก้ พอลช่วยเสริมท่อนเบสหวานละมุนที่เขาบรรจง overdub (อัดทับ) ลงไปภายหลัง

Lucy In The Sky With Diamonds จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีคนคิดว่าชื่อเพลงนี้ถ้านำมาย่อแล้วจะได้คำว่า LSD แม้ว่าจอห์นจะออกมาประกาศปาวๆว่าไม่ใช่ เพลงนี้เขาได้ชื่อเพลงมาจาก”ชื่อรูป”ที่จูเลียนลูกชายวัยสี่ขวบเขาวาดเพื่อนนักเรียนหญิงกำลังลอยล่องในนภาต่างหาก ส่วนเนื้อหานั้นจอห์นได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือ Through The Looking Glass ของ Lewis Carroll นักเขียนคนโปรดในวัยเด็กของเขาเสียงร้องและดนตรีที่ฟังดูฟุ้งฝันได้มาจากการใส่ effect ต่างๆและการปรับสปีดอันซับซ้อน โดยเฉพาะเสียงร้องของจอห์นเอง ที่เขาต้องการให้ฟังออกมาไม่เหมือนเสียงของเขาที่สุด

She’s Leaving Home พอลเล่นกับออเคสตร้าในสไตล์ที่เขาเคยทำไว้กับ Yesterday และ Eleanor Rigby แต่คราวนี้ดูเหมือนเขาจะทำได้ไม่กระชับและลงตัวเท่า ไอเดียของเพลงได้มาจากข่าวนักเรียนสาวอายุ 17 ที่หนีออกจากบ้าน ทั้งๆที่พ่อแม่ก็ออกมาให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวว่า “เราได้ให้ทุกอย่างแก่เธอที่เงินสามารถซื้อได้แล้วนะ” นี่เป็นเพลงๆเดียวของ Beatles ที่จอร์จ มาร์ตินไม่ได้เป็นคนอะเรนจ์เครื่องสายให้ มันเป็นฝีมือของ Mile Leander จอห์นช่วยร้องและแต่งในท่อนที่เป็นดั่งเสียงทอดถอนใจของผู้เป็นพ่อแม่ (จอห์นเล่าว่าเขาจำมาจากคำบ่นของป้ามิมี่)

Being For The Benefit Of Mr. Kite! ไม่รู้ว่าจะเป็นเพราะความอัจฉริยะหรือความเกียจคร้าน จอห์นลอกคำโปรยในโปสเตอร์โฆษณาละครสัตว์ยุคปี 1843 ที่เขาได้มาจากร้านขายของเก่าเอามาทำเป็นเนื้อเพลงๆนี้ทั้งยวง แต่ด้วยความเป็นนายทางภาษาทำให้เนื้อหาที่เขียนออกมาดูดีในแบบจอห์นๆอีกเช่นเคย ทีเด็ดของเพลงนี้คือช่วงโซโล่เสียงม้าหมุนที่จอห์นต้องการให้ได้บรรยากาศของงานวัดฝรั่ง มาร์ติน”จัดให้”ด้วยการโยนเทปตัดกลางอากาศแล้วเอามาต่อใหม่แบบสุ่มส่งเดช ไม่น่าเชื่อว่าผลจะออกมาเวิร์คอย่างจัง

Within You Without You เพลงภารตะเพลงที่สองของจอร์จ ต่อจาก ‘Love You To’ ใน Revolver แต่นี่ไม่ใช่เพลงแขกธรรมดาๆ มันเป็นการผสมผสานดนตรีตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ด้วยเนื้อหาที่เป็นปรัชญาแบบตะวันออกแท้ๆ นอกจากเครื่องดนตรีอินเดียที่เล่นโดยนักดนตรีจาก Asian Music Circle จากลอนดอนแล้ว จอร์จกับ Neil Aspinall ผู้ช่วยและเพื่อนสนิทของวงก็ยังเล่นเครื่องดนตรีแขกอีกบางส่วนเสริมลงไป ประชันกับไวโอลินแปดตัว เชลโลสามตัว กีต้าร์โปร่ง จอร์จร้องนำเองอย่างยอดเยี่ยมโดยไม่มีเต่าทองคนอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว ก่อนจบเพลงจอร์จจงใจใส่เสียงหัวเราะของเขาเองลงไปท้ายเพลงเพื่อเป็นการคลายเครียดให้ผู้ฟังจากดนตรีที่ค่อนข้างจะบีบเค้นอารมณ์ในเพลงนี้ ในอัลบั้มรีมิกซ์ Love (2006) จอร์จ มาร์ตินและลูกชายนำเพลงนี้ไปผสมกับ Tomorrow Never Knows ออกมาได้อย่างเหลือเชื่อ

When I’m Sixty-Four หลังจากเครียดกันหน้านิ่วกับเพลงของจอร์จ พอลนำท่านผู้ฟังย้อนยุคกลับไปด้วยดนตรีแนวก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มันเป็นเพลงเก่าเก็บที่เขาแต่งไว้นานแล้ว และ Beatles ชอบนำมันมาเล่นในแบบอคูสติกยามเครื่องเสียงมีปัญหาในการแสดงยุคที่พวกเขายังเล่นที่ Cavern Club พวกเขานำมันมาขัดเกลาใหม่และบันทึกเสียงกันในช่วงปลายปี 1966 ระหว่างการบันทึกเสียง ‘Strawberry Fields Forever’ และ ‘Penny Lane’ พวกเขาเชิญนักคลาริเน็ตสามท่านมาร่วมบรรเลงในเพลงนี้และเพลงทั้งหมดถูกปรับสปีดให้เร็วขึ้นเล็กน้อยด้วยเหตุผลทางอารมณ์ของบทเพลง เนื้อหาของเพลงนี้เป็นเรื่องของหนุ่มคิดมากที่กังวลว่าสาวเจ้าจะยังเอ็นดูเขาอยู่ไหมยามเขาเฒ่าชแรแก่ชรา...อยากรู้นัก....

Good Morning, Good Morning จอห์นกดดันพอสมควรกับการแต่งเพลงแข่งกับพอลที่อยู่ในช่วงฟอร์มสดเหลือเกินในตอนนั้น แต่เขาก็เล่นง่ายๆด้วยการนำไอเดียมาจากโฆษณา cornflakes ทางทีวีในตอนเช้า เนื้อหาที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนอกจากหยิบประโยคต่างๆมาต่อกันแบบกลอนพาไปแต่ก็มีนักวิจารณ์บางคนยกย่องไว่ามีความหมายดีๆซ่อนเร้นอยู่ ทีมเครื่องเป่าจาก Sounds Inc หกท่านช่วยเสริมความคึกคักในยามเช้าของเพลงนี้ จบด้วยเสียงเอ็ฟเฟ็คของสรรพสัตว์ที่ดูเหมือนจะไล่ต่อกันเป็นทอดๆก่อนที่เพลงจะกลืนไปกับ...

………. Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (Reprise)การกลับมาเล่นกับ theme เดิมที่ได้เสนอไว้ตอนต้นช่วยทำให้ Sgt. Pepper’s ดูเป็น concept album มากขึ้น ด้วยท่วงทำนองและเนื้อหาที่แทบจะไม่ต่างจากเพลงแรก นอกจากจังหวะที่เร้าใจกว่า (ริงโก้ตีกลองได้ “โจ๊ะ” จริงๆในแทร็คนี้) และประโยคอมตะ ‘It’s getting very near the end’ อันเร้าอารมณ์ยิ่งนัก พวกเขาบันทึกเสียงเพลงนี้เสร็จอย่างง่ายดายในวันที่ 1 เมษายน 1967 ในห้องอัดหมายเลข 1 ที่มีสุ้มเสียงต่างจากเพลงอื่นๆที่อัดในห้องเบอร์ 2 เต่าทองทั้งสี่ร่วมกันแชร์เสียงร้องร่วมกัน โมโนมิกซ์ของเพลงนี้มีอะไรที่แตกต่างจากสเตอริโอหลายอย่าง ทั้งเสียงกีต้าร์และเสียง”ผู้ชม”ที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ

A Day In The Life ดูเหมือนวงของจ่าเป๊บเปอร์จะลงจากเวทีไปแล้ว และวินาทีแรกที่เสียงกีต้าร์โปร่งอินโทรของ ‘A Day In The Life’ คลืบคลานเข้ามา มันประหนึ่งว่า Beatles ตัวจริงได้ทยอยเดินขึ้นมาบนเวทีแทน นี่คือการบันทึกเสียงและบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Beatles ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน และมันทำให้ Sgt. Pepper’s เป็นยิ่งกว่าอัลบั้มชั้นดีที่มีเพลงดีๆมากมายเท่านั้น มันคือบทสรุปและ “ตอนจบ” ที่ฉาบพลังฉายย้อนกลับไปให้ทุกแทร็คใน Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band จอห์นได้ไอเดียมาจากข่าวหลายๆข่าวในหนังสือพิมพ์ Daily Mail ฉบับวันที่ 17 มกราคม และสองวันหลังจากนั้นเขาก็นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงร่วมกับพวก Beatles ในชื่อว่า ‘In The Life Of…’ ท่อนกลางของเพลงที่แสดงชีวิตอันเร่งรีบไร้แก่นสารของหนุ่มชาวกรุงได้มาจากเพลงที่พอลแต่งค้างไว้ซึ่งเข้าล็อคพอดีกับเพลงของจอห์น อีกความยิ่งใหญ่ของบทเพลงคือเสียงออเคสตร้าจากนักดนตรี 40 คน (อัดซ้อนทับกัน4ตลบทำให้ฟังดูเหมือนวง 160 ชิ้น!) ที่ได้รับคำสั่งให้เล่นด้วยโน้ตที่ต่ำที่สุดและเบาที่สุดและค่อยๆเพิ่มความดังและความสูงของเสียงขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งถึงขีดสุด พวกเขาเล่นแบบนี้สองครั้งภายใต้การกำกับวงของพอลเองและครั้งที่สองจบลงด้วยเสียงกระหน่ำเปียโนอย่างกึกก้องที่ดูเหมือนจะดังไปชั่วนิรันดร์ เป็นจุดจบของบทเพลงและอัลบั้ม?
โอ ไม่ ยังมีอะไรอีกนิดหน่อยเป็นเซอร์ไพรซ์ท่านผู้ฟังอีกนิด ลองเงี่ยหูฟังว่าท่านจะได้ยินอะไรอีกไหมหลังจากนี้? แต่ผมเชื่อว่าท่านคนไม่ได้ยินหรอก เพราะจอห์น เลนนอน นึกสนุกให้ทีมงานใส่เสียงความถี่สูงที่มนุษย์ไม่อาจได้ยินได้ลงไปหลายเพลงนี้ (ว่ากันว่าสุนัขจะได้ยินได้ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับลำโพงคุณด้วย) แถมก่อนเข็มแผ่นเสียงจะเด้งขึ้น พวกเขายังช่วยกันประสานเสียงแปลกๆฟังไม่ได้ศัพท์ลงไปปิดท้าย ซึ่งถ้าเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบไม่มีระบบยกเข็มกลับอัตโนมัติ เสียงบ๊องๆนี้จะวนไปเรื่อยๆตลอดกาล (ภายหลังมีคนตั้งชื่อให้มันว่า Sgt. Pepper’s Inner Groove)

สำหรับในแง่ของออดิโอไฟล์ ท่านน่าจะหาแผ่นที่เป็นระบบโมโนมาฟังเปรียบเทียบกับสเตอริโอด้วย ซึ่งคงจะต้องเป็นแผ่นเสียงยุคก่อนๆหรือไม่ก็ซีดี bootleg เพราะยังไม่มีการทำเป็นซีดีเป็นทางการออกมา โมโนมิกซ์ของ Pepper จะมีความแตกต่างในหลายๆจุดจากสเตอริโอ และเป็นมิกซ์ที่พวก Beatles ดูแลกำกับอย่างละเอียดละออกว่า เพราะยุคนั้นยังเป็นตลาดของโมโนอยู่ ส่วนผู้ที่สนใจสุ้มเสียงแบบโมเดิร์น มีบางแทร็คที่ผ่านการรีมิกซ์ให้ฟังกัน ที่น่าสนใจคือ Penny Lane ในซีดี Anthology2, หลายแทร็คใน The Beatles:Love และ Yellow Submarine Songtrack รวมทั้งใน Anthology DVD ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราคงจะได้ฟังรีมิกซ์ของอัลบั้มนี้กันเต็มๆ และอาจเป็นในระบบ 5.1 หรือ surround ระบบใดระบบหนึ่งด้วย
ปกอัลบั้มนี้ก็เป็นอะไรที่เป็นตำนานของมันเอง เริ่มจากไอเดียของพอลอีกเช่นเคย ที่จินตนาการให้เป็นภาพถ่ายของวงจ่าเป๊บเปอร์ที่ชักรูปกับแฟนๆหลังแสดงเสร็จ ปีเตอร์ เบล็ค นักออกแบบเป็นคนสานไอเดียต่อ พวก Beatles และผู้ร่วมงานคัดเลือกฮีโร่ในดวงใจมาทำเป็น cut-out ยืนถ่ายแบบร่วมกัน รวมทั้งหุ่นขี้ผึ้งของ Beatles เองในยุคใส่สูทผมทรง moptops ที่ดูเหมือนจะมาไว้อาลัยอะไรบางอย่าง ขณะที่จอห์น พอล จอร์จ ริงโก้ ตัวจริงใส่ชุดเต็มยศยืนตระหง่านอยู่ตรงกลาง มันเป็นภาพปกที่ลงทุนมหาศาล แต่ก็ยิ่งกว่าคุ้ม ทุกวันนี้มันยังคงเป็นปกแผ่นเสียงที่ตรึงตาตรึงใจที่สุดในวงการดนตรี และหลายคนยังค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในหน้าปกนี้ไม่จบไม่สิ้น

Sgt. Pepper’s ไม่ใช่งานที่ผมชอบที่สุดของ The Beatles
แต่มันเป็นงานที่ผมจะพกไปติดเกาะด้วยถ้าให้เลือกแค่แผ่นเดียว เสน่ห์ของมันคือ
ทุกครั้งที่ฟัง มันจะมีอะไรใหม่ๆมาให้ได้ยินเสมอ แม้ว่า it was 40 years ago today
ก็ตาม..... หลังจากนั้น พวกเขายังทำงานชั้นเยี่ยมออกมาอีกจำนวนหนึ่ง แต่ในแง่ของ
creative และการร่วมด้วยช่วยกันของวง ทุกๆอย่างดูจะเป็นช่วงขาลงหลังจากนี้ไป....

The Beatles | Sgt. Pepper's (2)


หลังจากเลิกทัวร์กัน พวกเขาก็ใช้เวลาแยกย้ายกันไปทำอะไรตามใจชอบ จอห์น เลนนอน
ได้รับคำเชิญไปเป็นดารานำในหนังของ ริชาร์ด เลสเตอร์ ผู้กำกับหนังสองเรื่องก่อนของ
The Beatles ใน ‘How I Won The War’ (ชื่อไทยในตอนฉายบ้านเรา “พลทหารปืนฝืด”) พอล
แมคคาร์ทนีย์ ได้มีโอกาสไปทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Family Way จอร์จ
แฮริสัน บินไปศึกษาวัฒนธรรมและดนตรีในอินเดีย ส่วนริงโก้ สตาร์
มือกลองอาจจะเป็นคนเดียวที่อยู่เล่นกับลูกที่บ้าน

พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้งในราวเดือนพ.ย. 1966 ด้วยมาดใหม่ที่เปลี่ยนไป ทั้งทรงผมและหนวดเครา ตลอดจนแฟชั่นการแต่งกายที่ฉูดฉาดไซคีดีลิกจ๋า พวกเขาไม่ได้เข้าห้องอัดกันด้วยเพลงเป็นกอบเป็นกำ หรือคอนเซ็พท์ต่างๆพกมาจากบ้าน ตรงข้าม คอนเซ็พท์ของ Sgt. Pepper’s ถูกสร้างขึ้นไปพร้อมๆกับตัวมัน

ยุคนั้นยังเป็นแฟชั่นว่าเพลงที่ออกเป็นซิงเกิ้ลไปแล้ว ไม่ควรจะมารวมในอัลบั้มอีก (เฉพาะของฝั่งอังกฤษนะที่เป็นอย่างนี้) สองเพลงคลาสสิก Strawberry Fields Forever ของจอห์น และ Penny Lane ของ พอล ที่ออกเป็นซิงเกิ้ลไปก่อน จึงไม่ได้มาอยู่ในอัลบั้ม (แต่มันกลับไปอยู่ในอัลบั้ม Magical Mystery Tour ในบางประเทศที่ออกตามหลังมา) จอร์จ มาร์ตินโปรดิวเซอร์เจอแรงกดดันจากอีเอ็มไอทำให้เขาต้อง”ปล่อย”สองเพลงนี้ออกไปเป็นซิงเกิ้ลแก้คิดถึงก่อน (ภายหลังมาร์ตินออกมายอมรับว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตการทำงานของเขาที่ปล่อยซิงเกิ้ลนี้ออกไปคุ่กันเอง เพราะเพลงดีทั้งคู่ เลยแย่งอันดับกันเอง ส่งผลให้ไปไม่ถึงอันดับ1 ซึ่ง Release Me ของเองเกิลเบิร์ต ฮัมป์เบอร์ดิงก์คว้าไป)
Strawberry Fields เป็นเพลงที่มีการบันทึกเสียงซับซ้อนยาวเหยียดที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Beatles จอห์นแต่งเพลงนี้เพื่อบรรยายความรู้สึกลึกๆในใจเขาเองโดยผ่านทางสถานที่จริงที่เป็นสถานเลี้ยงเด็กในลิเวอร์พูลใกล้ๆบ้านของเขา งานใน Revolver หลายๆเพลงที่ว่าฟังแล้วมึนตึ้บ เมื่อมาเจอ Strawberry Fields ยิ่งทำให้แฟนๆตะลึงไปกันใหญ่ พวกเขาใส่ทุกอย่างที่นึกได้ประเคนลงไปในเพลงนี้ ทั้งเครื่องดนตรีแปลกๆอย่าง mellotrone, swordmandel หรือวงเครื่องสายเครื่องเป่าให้อุตลุต ส่วน Penny Lane นั้นก็เหมือนเป็นอีกด้านหนึ่งของ Beatles อันนำแสดงโดยพอล แมคคาร์ทนีย์ สองเพลงนี้มีความซับซ้อนในการบันทึกเสียงไม่แพ้กัน โดย Penny Lane จะเน้นไปทางคีย์บอร์ดและเสียงเคาะเล็กๆน้อยๆบวกกับเสียพิคโคโลทรัมเป็ตอันโดดเด่น สองเพลงนี้ยังเป็นเพลงที่เล่าถึงสถานที่ในวัยเด็กของเพวกเขาเหมือนกัน แต่อารมณ์ของ Penny Lane นั้นสดใสฟ้าเปิด ต่างกับความหนืดมืดมัวใน Strawberry Fields อย่างคนละขั้ว

เมื่อปล่อยสองเพลงเด็ดนี้ออกไปแล้ว พวกเขามีแค่เพลงย้อนยุคแบบแจ๊สฮอลล์น่ารักๆของพอล When I’m Sixty-Four อยู่ในมือเท่านั้น งานที่เหลือคือการทำงานเพื่ออัลบั้มใหม่อย่างแท้จริง พวกเขาเริ่มกันที่เพลงสุดท้ายของอัลบั้ม A Day In The Life ก่อนที่จะมาได้คอนเซ็พท์กันจริงๆตอนบันทึกเสียงเพลง Sgt. Pepper’s และต่อด้วยเพลง With A Little Help From My Friends ที่ริงโก้ สตาร์ได้โอกาสร้องนำ

พอลอาจจะได้ไอเดียชื่อ Sgt. Pepper’s มาจากผู้ช่วยของวง Mal Evans หรือจากคำว่า Salt and Pepper ที่เพี้ยนมา หรือได้มาจากชื่อเครื่องดื่ม Dr. Pepper ก็เป็นไปได้ แต่ความคิดหลักๆในการสร้างคอนเซ็พท์นี้ต้องยกให้พอลเอง เขาอยากจะสร้าง alter ego ของวงขึ้นมา เพื่อตัวพวกเขาเองหรือเพื่อแฟนๆจะได้รู้สึกว่านี่ไม่ใช่ Beatles วงเดิม นี่เป็นวงดนตรีอีกวงที่มีอิสระเสรีในการที่จะทำอะไรก็ได้ที่ Beatles ไม่เคยทำมาก่อน

ไอเดียนี้ ไม่มากก็น้อย อาจจะมีผลทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานของพวกเขาหลุดโลกฉลุยไร้ข้อจำกัด ไม่ต้องมีคำว่า Beatles มาค้ำคอ (พอลเป็นสมาชิกคนเดียวของวงในช่วงนั้นที่”อินเทรน”สุดๆไปกับวงการศิลปะในลอนดอน ทั้งในวงการภาพวาด หนังสือ และดนตรี underground จึงไม่น่าแปลกที่ไอเดียเริ่ดๆหลายอย่างใน Pepper จะมาจากเขา)

พอลต้องการให้อัลบั้มนี้เป็นการแสดงสดของวงของจ่าเป๊บเปอร์ ที่เปิดตัวด้วยการแนะนำวงดนตรี ต่อด้วยการแนะนำนักร้องคนต่อไป เขาคือ บิลลี่ เชียร์ส (ริงโก้) ที่มาร้อง With A Little Help…. ส่วนเพลงอื่นๆก็เป็นการแสดงของวง และมาขมวดปมด้วยเพลงก่อนลา Sgt. Pepper’s (reprise) และจบจริงๆด้วย A Day In the Life จอห์นเคยบอกว่าอัลบั้มนี้เป็นคอนเซ็พท์จริงๆก็แค่ต้นกับปลาย เพลงที่เหลือจะไปอยู่ในอัลบั้มไหนก็ได้ทั้งนั้น ก็มีส่วนถูกของเขา เนื่องจากความที่ Pepper เป็น”ลูกพอล” ทำให้อัลบั้มนี้ไม่เป็นที่โปรดปรานของเต่าทองตัวอื่นๆนัก ริงโก้รู้สึกเฉยมากๆกับงานนี้ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เขาเล่นหมากรุกเก่งขึ้น (เล่นระหว่างรอคิวตีกลอง)
จอห์นเองในช่วงหลังจากนี้เขายิ่งต่อต้านการทำดนตรีแบบอลังการฟุ้งเฟ้อแถมเสแสร้งอย่าง Pepper เข้าไปใหญ่ อย่างไรก็ตามเพลง”ฆ่า”ในอัลบั้มสอง-สามเพลงก็เป็นงานของเขา ส่วนจอร์จ นอกจาก Within You Without You แล้ว บทบาทของเขาออกจะไม่เด่นชัดจริงๆ แม้แต่การโซโลกีต้าร์ก็ถูกพอลขโมยไปเล่นอยู่ไม่น้อย

และที่ลืมไม่ได้เด็ดขาดคือ โปรดิวเซอร์ จอร์จ มาร์ติน และ ซาวนด์เอ็นจิเนียร์หนุ่ม เจฟฟ์ เอเมอริก ที่เนรมิตเสียงแปลกๆจากไอเดียของเต่าทองลงมาเป็นเสียงให้เราฟังได้ราวกับเล่นกล

ปัจจัยสุดท้ายที่ผมไม่ค่อยอยากจะกล่าวถึงนักคือบทบาทของยาหลอนประสาทยอดนิยมแห่งยุคที่มีชื่อย่อว่า LSD (lysergic acid) ที่มีผลทำให้การรับรู้ของผู้เสพถูกบิดเบือนไปจาก reality กว่าที่คุณจะนึกฝัน ต้องยอมรับว่ายาตัวนี้มีผลต่อการทำงานของ Beatles ขณะทำ Pepper โดยเฉพาะเลนนอนที่ว่ากันว่า”เล่น”มันหนักที่สุด แต่ผมไม่คิดว่า LSD หรือยาอะไรเพียงอย่างเดียวจะทำให้คุณเป็นอัจฉริยะข้ามคืนขึ้นมาได้ อย่าลืมว่ายุคนั้นใครๆก็ใช้มัน แต่ไม่ทุกคนที่กลับมาพร้อมกับ masterpiece และยังอีกหลายคนที่ไม่กลับมาจาก ‘trip’ (คำที่ใช้สำหรับสถานะของผู้เสพที่กำลังล่องลอยไปกับ LSD) เลยด้วยซ้ำไป

The Beatles Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band (1)




ความสนุกของการพยายามที่จะบรรยายความยิ่งใหญ่ของอัลบั้ม Sgt. Pepper’s ให้นักฟังรุ่นใหม่ฟังอยู่ที่การสร้างบรรยากาศให้เหมือนเขาไปอยู่ในปี 1967 จริงๆ ต้องยอมรับว่าความเจ๋งของมันส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับห้วงเวลานั้นด้วย มันมีความเป็น Timeless น้อยกว่างานของพวกเขาเองอย่าง Abbey Road หรือ Rubber Soul ความสำคัญของมันจริงๆ ถ้าจะพูดกันอย่างให้สั้นที่สุดก็มีอยู่แค่สองคำ Pioneer และ Influential มันเป็นงานที่บุกเบิกอะไรหลายๆอย่างให้กับวงการดนตรียุคนั้น และมันจะไม่สำคัญหรือยิ่งใหญ่อะไรนักหนา ถ้าการบุกเบิกนั้นไม่มีคนแห่ตามกันและนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานทางดนตรีกันต่อมาจวบจนทุกวันนี้

ถ้าคุณไม่ใช่แฟนเพลงหรือคนที่เกิดในยุคนั้น คงจะไม่ง่ายนักที่จะเข้าใจว่าทำไมใครๆถึงต้องยกย่องอัลบั้มชื่อยาวเหยียดแผ่นนี้กันไม่เลิกรา


ยุคนั้น อัลบั้มหรือแผ่นเสียงขนาด 12 นิ้ว ในวงการร็อค ไม่ใช่มีเดียหลัก มันเป็นตลาดของซิงเกิ้ลที่มีเพลงแค่สองเพลงหน้า-หลัง อัลบั้มส่วนใหญ่ก็เป็นการจับเพลงต่างๆมารวมกันโดยไม่ได้สนใจความต่อเนื่องหรือความเข้ากันได้ของเพลงนัก หน้าปกก็มักจะเป็นการถ่ายภาพกันแบบง่ายๆ ยังไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับการนำเสนอเนื้อเพลง ไม่มีการพิมพ์เนื้อแถมมาให้บนปก ยุคนั้นการบันทึกเสียงในอีเอ็มไอสตูดิโอหรือที่เรียกกันภายหลังว่า Abbey Road เป็นแค่เทป 4 แทร็ค ซึ่งมีข้อจำกัดมากมายในการบันทึกเสียงที่ซับซ้อน น้อยคนนักที่จะคิดว่าดนตรีร็อคเป็นศิลปะที่จะอยู่ยั่งยืน หรือมีอะไรให้ครุ่นคิด ในสายตาของคนส่วนใหญ่มันยังเป็นแค่ความบันเทิงฉาบฉวยสนองตัณหาผู้ฟังชั่วครั้งชั่วคราว


นั่นคือทั้งหมดก่อนที่จะมีอัลบั้ม Sgt. Pepper’s


มันเป็นอัลบั้มที่ทำให้งานร็อคเป็นที่ยอมรับว่าเป็นศิลปะที่มีความจีรังมากไปกว่าฟังแล้วทิ้ง มันอาจจะไม่ใช่ concept album แรกของโลก แต่ Pepper ก็ทำให้คำๆนี้เป็นของเท่ที่น่าลิ้มลองทั้งของผู้สร้างและผู้เสพในเวลาต่อมา มันเป็นอัลบั้มที่มีดนตรีหลากหลายตั้งแต่ฮาร์ดร็อคยันเพลงแขกแต่กลับมีความต่อเนื่องกันอย่างน่าอัศจรรย์บนคอนเซ็พท์หลวมๆของการเป็นวงสมมติที่ไม่ใช่ Beatles มันคือการแสดงของวง Sgt. Pepper’s และนี่คือกำเนิดที่ทำให้วงโปรเกรสซีพหรือวงอย่าง KISS มีความชอบธรรมในการทำอะไรที่เป็น”การแสดง”หรืออาจจะใช้คำว่าเสแสร้งแกล้งเล่นเป็นอะไรต่างๆนาๆในการนำเสนอผลงานดนตรีของพวกเขา The Beatles ยังใช้มันสมองความคิดสร้างสรรค์ความุมานะและความอึดของทีมงานในการเอาชนะข้อจำกัดของเทป4 แทร็คและเครื่องไม้เครื่องมือที่ห่างไกลความเจริญของยุคดิจิทัลอย่างไม่อาจประมาณได้ สร้างผลงานที่มีความซับซ้อนออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถึงกระทั่งบางนักวิจารณ์ยังกัดว่า งานนี้ over-produced หรือทำได้สมบูรณ์เกินไป (จนน่าเบื่อ)


พวกเขาใช้เวลารวมๆกันแล้วถึง 700 ชั่วโมงในการผลิตอัลบั้มนี้ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่วงบารมีระดับ The Beatles ที่สามารถใช้เวลาในห้องอัดได้อย่างไม่ต้องกลัวใครมาไล่ และพวกเขาคงไม่มีโอกาสทำงานได้ต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ ถ้าพวกเขาไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยมีวงดนตรีวงไหนทำมาก่อนในยุคนั้น


ปี 1966 The Beatles ยุติการออกทัวร์แสดงดนตรี หลังจากการทัวร์อเมริกาครั้งที่ 4 พวกเขาแสดงกันครั้งสุดท้ายที่ซานฟรานซิสโกในเดือนสิงหาคม จอร์จ แฮริสัน มือกีต้าร์ถึงกับเอ่ยออกมาอย่างโล่งอกบนเครื่องบินคืนนั้นว่า “เฮ้อ พอกันที ผมไม่เป็นอีกแล้ว บีเทิล” มีข่าวลือตามมามากมายว่าพวกเขาอาจจะแตกวงกัน เพราะในยุคนั้น การที่วงไม่มีการแสดง ก็หมายถึงไม่มีวงนั้นอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็คงจะทู่ซี้เล่นกันต่อไปไม่ไหวแล้ว เพราะเหตุการณ์ต่างๆประเดประดังเข้ามามากมายเหลือเกิน ไหนจะการถูกขู่ฆ่าบนเวทีครั้งแล้วครั้งเล่า (ขอบคุณจอห์น เลนนอน สำหรับการให้สัมภาษณ์ว่า “เราดังกว่าพระเยซู”) หรือการถูกไล่เตะก้นในฟิลิปปินส์จากการที่บังอาจไม่ยอมไปเข้าพบสุภาพสตรีหมายเลข1ของประเทศด้วยเหตุผลว่ายังนอนไม่เต็มอิ่ม เมื่อมารวมกับความเบื่อหน่ายในการที่ต้องเล่นดนตรีให้คนดูที่ไม่เคยได้ยินดนตรีเพราะมัวแต่กรี้ดทั้งเพลง แถมเพลงในยุคหลังๆของพวกเขาโดยเฉพาะใน Revolver (1966) มันก็มีความซับซ้อนมากขึ้นจนทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้ในการที่พวกเขาสี่คนจะเล่นกันสดๆบนเวที นั่นยิ่งทำให้ The Beatles ไม่อาจอยู่บนท้องถนนของการแสดงสดๆได้อีกต่อไป


แต่ต่อไปพวกเขาจะไม่ต้องแคร์อีกแล้ว ว่าดนตรีของ Beatles จะเล่นบนเวทีไม่ได้ พวกเขาสามารถ”ใส่”ได้ทุกอย่างตามแต่จินตนาการและฝีมือจะพาไปลงไปในแผ่นเสียงแบบไม่ต้องยั้งมือ

10 Names Of The Beatles




The Beatles is the name of the most popular pop group in the world. But they didn't begin with this name, in fact.....


1.The Black Jacks 1957
last only a couple of weeks.


2.The Quarry Men March 1957-October 1959
from their school ‘Quarry Bank’ coined by John Lennon’s best mate-Pete Shotton.










3.Johnny and the Moondogs October-November 1959
Don’t ask Johnny who?



4.The Nerk Twins April 23-24 1960
Only John and Paul and acoustic guitars played at the pub of Paul’s cousin, Elizabeth Robins.



5.The Beatals Early 1960
It’s John or Stu who concoted this name. Its origin came from The Crickets, Buddy Holly’s backup group.


6.The Silver Beetles May10-early June 1960
They toured Scotland with Johnny Gentle with this name. Members of the band even had their own stage name. Paul as Paul Ramon. George as Carl Harrison. Stu as Stuart de Stael and John as Long John.



6.The Silver Beats May 14, 1960
Only in a single Liverpool gig.



7.The Beatles ! Early/mid June 1960
Perhaps inspired by the movie The Wild One. But they couldn’t stop changing more…


8.The Silver Beetles Mid June-early July 1960.


9.The Silver Beatles Early July-early August 1960



And ….


10.The Beatles from 16 August 1960 on.

Bill Evans Trio | Sunday At The Village Vanguard


1. Gloria's Step - (take 2)2. Gloria's Step - (take 3, bonus track)3. My Man's Gone Now 4. Solar5. Alice In Wonderland - (take 2)6. Alice In Wonderland - (take 1, bonus track)7. All Of You - (take 2)8. All Of You - (take 3, bonus track)9. Jade Visions - (take 2)10. Jade Visions - (take 1, bonus track)



บิล อีแวนส์ (เปียโน) สก็อต ลาฟาโร (เบส) และ พอล โมเชี่ยน (กลอง)
ได้ร่วมสร้างผลงานกันในนามของ Bill Evans Trio ไว้ไม่กี่ชุด

พวกเขาเล่นร่วมก้นมาได้ประมาณ2ปีก่อนที่อีแวนส์จะตัดสินใจบันทึกเสียงวงในการแสดงยาวเหยียดที่วิลเลจ
แวนการ์ดในเดือนมิ.ย. 1961
ฝีมือและการสอดรับอิมโพรไวส์กันระหว่างทั้งสามนั้นเข้าขากันราวกับมีพลังจิตสื่อกันได้

ถ้าท่านคุ้นกับการเล่นของอีแวนส์คงจะทราบดีว่าเขาเน้นฮาร์โมนี และใส่ space เข้าไประหว่างตัวโน้ตมากมาย ต่างจากมือเปียโนแจ๊สคนอื่นๆในยุคเดียวกัน บิลจะมีซาวนด์เฉพาะตัวที่ก้องหวานเหมือนระฆัง-สุกสว่างอ้อยอิ่งดั่งแสงไฟนีออนสีฟ้าในคืนพร่ำฝน ขณะที่ฝีมือของสก็อต ลาฟาโรนั้นยอดเยี่ยมเกินบรรยาย น้ำเสียงเบสจากพลังนิ้วของเขานั้นนุ่มนวลแต่ชัดเจนแกร่งกร้าวฉุดลากตัวโน้ตไปในทิศทางซ่านกระเซ็นสุดคาดเดาพร่างพรมไปทั่ว ขณะที่พอล โมเชี่ยนร่ายแส้ไปบนฉาบแฉและแผ่นหนังราวกับศิลปินปาดพู่กันไปบนผืนผ้าใบ พวกเขาทั้งสามได้สร้างมาตรฐานใหม่ของการเล่นเปียโนทริโอแจ๊สขึ้นมาให้กับวงการ

แต่แค่ 10 วันหลังจากการบันทึกเสียงที่วิลเลจฯ ลาฟาโรเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์อย่างไม่มีใครคาดฝัน เทคที่สองของเพลง Jade Visions ที่สก็อตแต่งเอง เป็นเพลงสุดท้ายที่คลาสสิกทริโอวงนี้ได้เล่นด้วยกัน

บิลเป็นคนเลือกเพลงลงอัลบั้ม Sunday At Village Vanguard นี้เพื่ออุทิศให้ลาฟาโร มีชื่อของเขาบนปก อัลบั้มเปิดและปิดด้วยผลงานการประพันธ์ของมือเบสหนุ่ม และตลอดอัลบั้มท่านจะได้ฟังการโซโลเบสที่เกือบจะเรียกได้ว่าเหนือมนุษย์อย่างจุใจจากสก็อต (เซียนแจ๊สวิเคราะห์การเล่นเบสของสก็อตไว้ว่ามีลักษณะเฉพาะตัวที่มีความเป็นตรรกะในตัวเองและความสมมาตรของสุ้มเสียง....internal logic and symmetry)

คุณภาพในการบันทึกเสียงก็เป็นอีกหนึ่งในความน่าอัศจรรย์จากงานแสดงสดชุดนี้ บิลและสก็อตปักหลักอยู่คนละฟากฝั่งของสเตอริโอโดยมีเสียงกลองและฉาบของโมเชี่ยนคอยโยงเป็นสายใยเชื่อมต่อระหว่างสองแชนเนล แผ่น Sunday... และ Waltz For Debby (ที่เป็นอีกชุดคู่แฝดของมัน โดยเพลงไม่ซ้ำกับชุดนี้แต่มาจากงานเดียวกัน) กลายเป็นงานแจ๊สออดิโอไฟล์ที่นักฟังหูทองแนะนำให้ฟังมาตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีการนำมารีมาสเตอร์ครั้งแล้วครั้งเล่าจากสังกัดออดิโอไฟล์ชื่อดัง

เวอร์ชั่นหลังๆของแผ่นนี้จะมีการใส่โบนัสแทร็คที่เป็นเทคที่ไม่ถูกเลือกในตอนแรกเข้ามาด้วย แต่การนำมาแทรกๆระหว่างแทรคออริจินัลก็อาจจะทำให้ผู้ที่ต้องการฟังในแบบดั้งเดิมเกิดความรำคาญนิดหน่อย

ผมมักจะตกหลุมรักจากงานแจ๊สที่บันทึกเสียงจากแจ๊สสถานแห่งนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานของ เทรน ซันนี่ โจ เฮนเดอร์สัน หรือ วินตัน มาร์ซาลิส ซักวันคงได้ไปฟังที่นั่นจริงๆ...อยู่รอด้วยนะ

เต๋อ-1



เมื่อเรวัต พุทธินันทน์ พลิกโฉมดนตรีไทยด้วยเพลงแค่ 10 เพลง





ในเว็บประวัติและผลงานของพี่เต๋อที่พี่ดี้ทำไว้ให้ http://www.ter-rewat.th.gs/ พี่ดี้เขียนคำนำไว้อย่างน่าสนใจประโยคหนึ่งว่า

"...พี่เต๋อถือได้ว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการเพลงเมืองไทยจากแนวดนตรีแบบสุนทราภรณ์ มาเป็นแนวเพลงในปัจจุบัน.... "

ถ้าประโยคนี้ถูกต้อง มันต้องถือเป็นการก้าวกระโดดอย่างสุดขีดของวงการเพลงไทย จากบอลรูมมิวสิกและเพลงที่ขับร้องแบบสแตนดาร์ด เนื้อเพลงเน้นสัมผัสฉันทลักษณ์เคร่งครัด มาเป็นเพลงป๊อบร็อคหลากหลายที่อุดมไปด้วยอิทธิพลจากแนวดนตรี maintream ของอเมริกันและอังกฤษในยุค60-80 เนื้อหาที่หลุดพ้นจากวงเวียนเดิมๆ และรูปโฉมใหม่ในการเขียนเนื้อเพลงทั้งในแง่โครงสร้างและสัมผัส

ถามว่าก่อนหน้าเต๋อมีคนทำเพลงแบบนี้มาก่อนไหม?
อาจจะมี แต่ไม่มีใครทำแล้วเกิด impact ต่อเนื่องได้เท่าเต๋อ

ภาพรวมของงานเต๋อ-1 ผมเดาใจว่า เต๋อและทีมงานน่าจะต้องมานั่งโต๊ะกลมหลังควันบุหรี่ ถกวางแผนกันไม่มากก็น้อย

ผมคิดว่าพวกเขามีแผนที่จะทำเพลงป๊อบที่แตกต่างจากเพลงอื่นๆในวงการดนตรีไทยขณะนั้น
แต่มีข้อแม้สำคัญ มันต้อง"ขาย"ด้วย

การนำชื่อเล่นของเรวัตมาเป็นชื่อศิลปินและชื่ออัลบั้มแรกการนำสิ่งที่โดดเด่นที่สุดใต้จมูกของเต๋อมาเป็น"โลโก"ถือเป็นการทำงานทางการตลาดที่ได้ผลอย่างเหลือเชื่อ

แต่นั่นคงไม่มีความหมายอะไรถ้า 10 เพลงในเต๋อ-1 ไม่มีคุณค่าเพียงพอ

10 เพลงในอัลบั้มนี้ แทบจะไม่มีแทร็คใดที่ออกแนวเดียวกันเลย แต่ทุกเพลงยึดเหนี่ยวกันไว้ที่โปรดักชั่นที่ให้ซาวนด์ของแบนด์เดียวกัน เนื้อหาของทุกเพลงที่ออกในแนวมองโลกสวยงามให้ความหวัง แม้แต่ในแทร็คที่อ้างว้างเดียวดายอย่างเพลงปิดอัลบั้ม ยิ่งสูงยิ่งหนาว ผู้ฟังก็ยังรู้สึกไม่ท้อแท้ ชีวิตอาจจะเศร้ารันทด แต่เต๋อก็ไม่เคยบอกให้เราหยุดเดิน หรือโดดลงมา

เสียงร้องของเต๋อ เรวัต และวิธีการร้องของเขา ฉีกขนบการร้องเพลงป๊อบไทยๆออกไป อาจจะไม่สิ้นเชิง แต่มันเป็นการร้องแบบที่เราไม่คุ้นเคย เต๋อมีน้ำเสียงที่แหบเล็กน้อย เนื้อเสียงไม่หนา แต่หนักแน่นชัดเจนเข้มข้น ร้องชัดถ้อยชัดคำไม่เน้นการเอื้อนลูกคอ และเต๋อ"กล้า"ที่จะร้องในสไตล์ที่คนไทยอาจจะเขินๆ เช่นเสียง "อือ ฮือ หืม" ในเพลง "สาวเอยจะบอกให้" หรือการ scat ในเพลง "เพื่อนเอย" และผมเชื่อว่ามนุษย์ที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองและบุคลิกที่โดดเด่นเพียงพอ ไม่มีทางร้องท่อน "ฉันมันสุดหล่อ" ในเพลง "อยากรู้นัก" ได้เหมือนเต๋อ

จะกล้าร้องกันหรือเปล่ายังมีปัญหา!

ทีมงานที่ทำดนตรีในเต๋อ-1 คือยอดฝีมือแห่งยุคที่ต่อไปจะเป็นทีมงานสำคัญในการทำดนตรีให้โรงงานผลิตเพลงป๊อบที่ชื่อว่าแกรมมี่ ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค เริ่มมีบทบาทในการเขียนเนื้อเพลงให้ร่วมกับเต๋อในหลายแทร็ค (เพื่อนเอย,หมู่บ้านในนิทาน,ดอกฟ้ากับหมาวัด) พี่ป้อม อัสนี โชติกุล เหมางานภาคกีต้าร์ในอัลบั้มนี้คนเดียว แถมยังเป็นคนแต่งทำนองสองเพลงที่ดีงที่สุดของชุด เจ้าสาวที่กลัวฝน และ ยิ่งสูงยิ่งหนาว การบันทึกเสียงในเต๋อ-1 สู้ชุดต่อๆมาของเขาไม่ได้ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่เต๋อไม่ค่อยอยากนำงานนี้มา reissue เท่าไหร่ แต่อารมณ์ของการฟังดนตรีสดๆโดยเฉพาะเสียงกลองแท้ๆ กีต้าร์ไฟฟ้าแตกพร่า ชุดนี้ได้ตรงนั้น มากกว่าเต๋อ-2 หรือ 3

ผมฟังเทปเต๋อ-1 ตอนอยู่ม.4 ความรู้สึกตอนนั้นกับตอนนี้ที่กลับมาฟังอีกครั้ง ย่อมต่างกันเป็นธรรมดา แต่เมื่อคุณกลับมาฟังงานที่เคยฟังตอนเด็กๆและทิ้งไปเลยกว่ายี่สิบปี การกลับมาได้ยินมันอีกครั้ง ย่อมกระตุ้นเรียกความทรงจำตอนฟังมันครั้งแรกกลับมาได้ดีกว่าอัลบั้มที่คุณฟังมาตลอด และผมก็มีแต่ความทรงจำดีๆให้เต๋อ-1

เต๋อทักทายคนฟังด้วยเพลงแรกที่แสดงความเป็นคนมองความรักสวยงามของเขา (ที่เต๋อแสดงออกโดยตลอดในงานของเขา) ด้วย "ที่แล้วก็แล้วไป" ซอฟท์ร็อคแบบเวสต์โคสต์ ทำนองโดยคุณ อุกฤษณ์ เต๋อเขียนเนื้อเอง แซ็กฝีมือคุณเทวัญให้อารมณ์รัญจวนนิดๆ แค่คนฟังได้ยินเต๋อลากเสียงคำว่าไม่ แครรรรร แฮ้..... พวกเขาก็ทราบแล้วโดยที่จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามว่านี่ไม่ใช่อัลบั้มป๊อบธรรมดาแน่ๆ เต๋อฉีกไปเล่นเร็กเก้ในเพลงต่อมา "ดอกฟ้ากับหมาวัด" เนื้อโดยเต๋อ/ดี้ ทำนองคุณ จาตุรณ เนื้อเพลงแบบนี้ เข้ากันได้ดีกับดนตรีเร็กเก้เหลือเกิน เต๋อโชว์เรนจ์ในการร้องขึ้นเสียงสูงได้อย่างน่าทึ่ง

"เจ้าสาวที่กลัวฝน" เนื้อโดยเต๋อ ทำนองโดยพี่ป้อม ไม่มีข้อกังขาว่านี่คือความลงตัวที่สุดเพลงหนึ่งของการทำเพลงป๊อบไทย ผลพลอยได้ของเพลงนี้อาจทำให้สาวๆลดสเป็กในการเลือกคู่ลงมาได้อีกหลายระดับ กีต้าร์ของอัสนีโดดเด่นเหลือเกินทั้งการตึคอร์ดเหมือนฝนพรำและท่อนโซโลเปลี่ยนคีย์ที่ฉีกอารมณ์เพลงได้เหมือนฟ้าสว่างหลังฝน

"มือน้อยๆ" กีต้าร์ตัวเดียว เสียงซินธ์เล่นเป็นเครื่องสายบางๆโอบอุ้ม เนื้อหาแอบเซ็กซี่นิดๆแบบผู้ใหญ่หลอกจับมือเด็ก (ฮา) ช่วงการเปลี่ยนคอร์ดในท่อนบริดจ์ "แค่จับมือเธอ..." เต๋อทำได้สุดยอด "เศร้า" เพลงบัลลาดที่เต๋อแต่งเองทั้งหมด (เอ่อ....หมายถึงเต๋อแต่งทั้งเนื้อและทำนองเองหมด..) การมิกซ์เน้นเสียงร้องอย่างเห็นได้ชัด

ผมจำไม่ได้ว่าตอนเป็นเทปมันจบแค่นี้หรือเปล่าสำหรับหน้าเอแต่น่าจะใช่ หน้าสองเริ่มด้วย "อยากรู้นัก" ที่เต๋ออาจจะได้ไอเดียในการเขียนเนื้อเพลงมาจาก When I'm Sixty-Four ของ The Beatles ดนตรีในเพลงนี้เริ่มมีสีสันมากกว่าหน้าแรก ฟังการบรรเลงที่เลียนแบบความชราภาพในบางท่อน และการประสานเสียงแบบ counterpoint หลายซับหลายซ้อนในตอนท้ายเพลงที่ฟังแล้วนึกถึงงานที่เต๋อทำกับคีตกวีในอัลบั้ม "เรามาร้องเพลงกัน" (หมายเหตุ-เพลงนี้ก็น่าจะเป็นเพลงแอบรักเด็กอีกเช่นกัน ไม่งั้นจะกลัวแก่ไปทำไม ถ้าสาวเจ้าเป็นรุ่นเดียวกัน) "สาวเอยจะบอกให้" บูกี้ร็อคแอนด์โรลมาแต่ไกล เป็นอีกครั้งที่เต๋อเสนอคอนเซ็พท์ "รักกันไว้เถิด"ของเขา และต้องยอมรับว่าผู้ชายติดหนวดคนนี้ร้องเพลงร็อคแบบนี้เท่ได้ใจเหลือเกิน น่าแปลกใจที่ทำนองและเรียบเรียงโดยคุณวิชัย อึ้งอัมพร

เพลงที่หนักที่สุดในชุดในแง่ของการเป็นร็อคคือ "เพื่อนเอย" เนื้อโดยเต๋อ/ดี้ เล่าเรื่องราวที่น่าสะเทือนอารมณ์ของผู้ชายสองคนที่ผูกพันกันแต่เด็ก เต๋อร้องด้วยน้ำเสียงที่จริงจังและจริงใจจนทุกวันนี้ผมก็ยังเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจากชีวิตจริงของเขา แต่ที่น่าเศร้าก็คืออีกไม่กี่ปีต่อมา คนที่ "แกมาจากไป" กลับเป็นตัวเต๋อเอง.... ท่อนคอรัส "ใครอีกเล่าหนา ที่จะหาได้อย่างนี้มีใคร อย่างแกนี้ไม่มีเหมือน นี่แหละเพื่อนจริงใจ" ฟังกี่ทีก็ยังขนลุก

เต๋อคงคิดว่าเพื่อนเอยคือพีคทางอารมณ์ของอัลบั้มแล้วสองแทร็คสุดท้ายจึงผ่อนคลายลง "หมู่บ้านในนิทาน" เล่นแนวโฟล์ค/คันทรี่กันได้ถึงอารมณ์เพลง เนื้อหาก็คือ utopia ดีๆนี่เอง

"ยิ่งสูงยิ่งหนาว" เปียโนบัลลาดจากฝีมือการแต่งของเต๋อ/ป้อม การเปรียบเทียบที่เรียบง่ายแต่กินใจ ท่วงทำนองที่ยอดเยี่ยม และการขับร้องที่สมบูรณ์แบบ อาจจะเร็วไปหน่อยสำหรับการร้องเพลงนี้ของเขา แต่มันก็เป็นเพลงคลาสสิกของวงการเพลงไทยไปแล้วอย่างไร้ปัญหา

เต๋อ-1 และ 10 เพลงในเทปม้วนนี้ ทำให้ผู้ฟังและนักดนตรีไทยจำนวนมหาศาลตระหนักได้ว่า เพลงไทยไม่จำเป็นต้องเดินในแนวเดิมตลอด คุณสามารถทำดนตรีที่แตกต่าง หลากหลายแนวทาง และก็ยังขายได้

ถ้าคุณดีพอ

Classic Motown




Classic Motown 1959-1971










________________________________________






โมทาวน์เป็นหนึ่งในไม่กี่สังกัดที่มีสุ้มเสียงของตัวเองจนกระทั่งกลายเป็นสไตล์ส่วนตัว
เพลงโมทาวน์ยุคแรกจะเน้นทำเพลงฮิตเป็นหลัก เนื้อหาแน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องรักใคร่
ไม่ข้องแวะการเมืองหรือปรัชญา
ท่วงทำนองยืนพื้นบนริธึ่มแอนด์บลูส์แต่มีเมโลดี้ที่ติดหูไม่รู้ลืม
เสียงเบสหนักแน่นเน้นจังหวะชัดเจน กลองใส่เอ็คโค่เน้นเสียงแตกๆหน่อย
การเรียบเรียงดนตรีของโมทาวน์จะหรูหราและซับซ้อนกว่าดนตรีป๊อบทั่วไป
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสาย เครื่องเคาะ เครื่องเป่า เปียโน
จะถูกประเคนเข้ามาอยู่ในการบันทึกเสียง แล้วแต่ว่าอะไรจะเหมาะสมกับบทเพลง
แต่ส่วนสำคัญที่สุดของโมทาวน์ซาวนด์น่าจะเป็น The Funk Brothers
วงแบ็คอัพที่เล่นบันทึกเสียงในเพลงดังยุคแรกของสังกัดแทบทุกเพลง
________________________________________




Berry Gordy, Jr. เกิดเมื่อ 28 พ.ย. 1929 เขาคือบิดาแห่งโมทาวน์ตัวจริงแต่เพียงผู้เดียว เขาเริ่มชีวิตการทำงานด้วยการเปิดร้านแผ่นเสียงแจ๊ส ก่อนจะลองมาแต่งเพลงเอง ‘Lonely Teardrops’ เพลงเก่งของ แจ็คกี้ วิลสัน เป็นฝีมือการแต่งเพลงแรกๆของกอร์ดี้ จากนั้นเขาหันมาเป็นโปรดิวเซอร์เองบ้างในปี 1957 ช่วงนี้เองที่ความเป็นคนตาถึงของกอร์ดี้เริ่มฉายแวว เขาค้นพบวง The Miracles ที่งานประชันดนตรีในดีทรอยท์ หนึ่งในสมาชิกของวงนี้คือ สโมคกี้ โรบินสัน ปีถัดมาเขาก็ได้นักแต่งเพลงฝีมือดีอีกสองคนคือ ไบรอัน และ เอ็ดดี้ ฮอลแลนด์มาร่วมทีม จากนักแต่งเพลงมาเป็นโปรดิวเซอร์ ก้าวต่อไปของกอร์ดี้ คือเปิดค่ายแผ่นเสียงมันเสียเองเลย 12 มกราคม 1959 กอร์ดี้ยืมเงินป๊ามา 800 ดอลล่าร์เพื่อเปิดค่ายแผ่นเสียงแรกของเขา ‘Tamla’ และไม่นานกอร์ดี้ก็เปิดค่ายที่สองตามมา มันมีชื่อว่า ‘Motown’ ________________________________________




แผ่นเสียงแรกของโมทาวน์คือ ‘Bad Girl’ โดย The Miracles ที่ผลิตออกมาในจำนวนจำกัด ต้นปี 1960 ‘Money’ ของ Barrett Strong เป็นเพลงฮิตเพลงแรกของ Tamla ขึ้นไปได้ถึงอันดับ 23 (Beatles นำมา cover ในสามปีต่อมา) และสตรองก็กลายมาเป็นหนึ่งในทีมทำเพลงให้โมทาวน์ตั้งแต่นั้นมา ด้วยความที่โมทาวน์เป็นสังกัดแผ่นเสียงอิสระแห่งเดียวในดีทรอยท์ กอร์ดี้จึงไม่ต้องทำอะไรมาก ศิลปินท้องถิ่นล้วนแล้วแต่ยินดีเดินเข้ามาหาโมทาวน์เอง เริ่มตั้งแต่ The Primettes ในปี 1960 ที่ต่อมาสาวๆสามคนนี้จะกลายมาเป็น The Supremes ที่แสนโด่งดัง


________________________________________




แมรี่ เวลส์ คือดาราคนแรกของโมทาวน์ โรเบิร์ต เบตแมน หนึ่งในทีมโปรดิวเซอร์เป็นผู้ค้นพบเธอในปี1960 เบตแมนยังเป็นผู้ “เจอ” วง The Temptations ในปีต่อมา มาร์วิน เกย์ก็เข้าสู่โมทาวน์ในปี1960เช่นกัน เขาเริ่มด้วยการบันทึกเสียงแนวแจ๊สในปี 1961 แต่มาฮิตเมื่อร้องเพลงโจ๊ะๆอย่าง ‘Stubborn Kind Of Fellow’ ในปี 1962 เกย์ในยุค 60’s เป็นนักร้องคนโปรดของนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ ด้วยคุณภาพเสียงระดับสามออกเท็พและอัจฉริยะในการถ่ายทอดบทเพลงอันเหนือชั้น กว่าเกย์จะแสดงความเป็นตัวของเขาเองออกมาก็ต้องรอถึงทศวรรษหน้า




________________________________________




สิงหาคม 1961 วันที่ทุกคนในโมทาวน์รอคอย เพลงอันดับ 1 เพลงแรก ‘Please Mister Postman’ โดย The Marvelettes ที่บ้านเราอาจจะคุ้นกับเวอร์ชั่นของ Carpenters หรือ Beatles มากกว่า ต้นปี 1963 Lamont Dozier เข้าร่วมทีมกับสองพี่น้องฮอลแลนด์ กลายเป็นทีมแต่งเพลงและโปรดิวซ์ Holland-Dozier-Holland อันยิ่งใหญ่ (ชื่อเสียงของพวกเขาอาจเป็นรองแค่ Phil Spector และ George Martin เท่านั้น) และการบันทึกเสียงเพลง ‘Come And Get These Memories’ ของ Martha and the Vandellas ถือว่าเป็นเพลงแรกของตำนาน ‘Motown Sound’




________________________________________




Longplay อันดับ 1 แผ่นแรกของโมทาวน์ตามมาในอีกสองปีต่อมา มันเป็นผลงานของเด็กนัยน์ตาพิการวัย 12 ขวบ Stevland Morris หรือในชื่อที่กอร์ดี้ตั้งให้ใหม่ว่า Stevie Wonder (อัลบั้ม ’12 Year Old Genius’) สี่ผู้ยิ่งใหญ่ในนาม The Four Tops ก้าวเข้าสู่โมทาวน์ในปี 1964 เดิมทีกอร์ดี้อยากให้พวกเขาอยู่ในสังกัดเล็กที่เป็นแนวแจ๊สของเขา แต่เมื่อ ‘Baby I Need Your Loving’ จากการผลิตของทีม H-D-H เริ่มเป็นเพลงดังเพลงแรกของพวกเขา ความคิดดังกล่าวก็มลายหายไป


________________________________________




โมทาวน์มีลักษณะคล้ายยุคหนึ่งของค่ายเพลงดังบ้านเราในหลายๆประเด็น เน้นทำเพลงฮิต ศิลปินมีหน้าที่ร้องอย่างเดียว มีทีมแต่งเพลง และทีมโปรดิวเซอร์ให้ มีซาวนด์เฉพาะของค่าย และเพลงใดที่สามารถวนให้ศิลปินอื่นในค่ายร้องได้ พวกเขาก็จะไม่ลังเลที่จะทำ....ในยุคซิกซ์ตี้ส์ สโมคกี้ โรบินสัน เป็นคนเดียวที่กอร์ดี้อนุญาตให้โปรดิวซ์งานตัวเองได้ โดยทั่วไปกอร์ดี้จะเลือกโปรดิวเซอร์ให้เหมาะแก่แต่ละศิลปิน สโมคกี้โปรดิวซ์แมรี่ เวลส์, Temptations, Miracles / H-D-H ทำให้ Four Tops และ Supremes/ Mickey Stevenson จัดการให้มาร์วิน เกย์ ส่วน สตีวี่ วอนเดอร์ ก็ให้ Clarence Paul ดูแล บางครั้งกอร์ดี้คันมือขึ้นมาก็อาจโดดลงมาโปรดิวซ์เองเป็นครั้งคราว




________________________________________




ขอพูดถึงวงแบ็คอัพ The Funk Brothers อีกหน่อย พวกเขาออกจะน่าสงสารที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักชื่อเสียงกันนัก จะมีก็แค่มือเบสผู้ยิ่งใหญ่ James Jamerson เท่านั้น มือกลองคือ Benny Benjamin กีต้าร์ Robert White และคีย์บอร์ด Earl Van Dyke กอร์ดี้ต้องเสียเงินจ้างพวกเขาในแต่ละปีจำนวนไม่น้อยเพื่อคงความเป็นซาวนด์ของโมทาวน์นี้เอาไว้


________________________________________




The Supremes เป็นวงที่กอร์ดี้เชื่อมือว่าจะต้องดังแน่ แม้ว่าหกเพลงแรกของพวกเธอจะแป้ก แต่เมื่อได้ทีม H-D-H ส่งเพลง ‘Where Did Our Love Go’ มาให้ในปี 1964 พวกเธอก็นำมันไปสู่อันดับ1และเหมือนผีเข้า พวกเธอทะยานขึ้นสู่อันดับ1เพลงแล้วเพลงเล่าติดต่อกัน และกลายเป็นศิลปินกลุ่มสาวที่ขายดีที่สุดตลอดกาล ในปี 1964 นี้ แมรี่ เวลส์ก็ยังนำเพลงเอกของเธอ ‘My Guy’ จากการแต่งของสโมคกี้ขึ้นอันดับ1อีกด้วย ก่อนที่สโมคกี้จะแต่ง ‘My Girl’ ให้ Temptations ร้องในปีต่อมา และก็ขึ้นอันดับ1อีกเช่นกัน (ขอบคุณที่ไม่มี My Gay) ส่วน The Four Tops ก็ส่ง ‘I Can’t Help Myself’ ขึ้นเป็นจ่าฝูงกะเค้าด้วย 1966 โมทาวน์ได้นักร้องเสียงเลิศ Gladys Knight และวง The Pips ของเธอจากแอตแลนต้าเข้าสู่สังกัด เพลง ‘I Heard it Through The Grapevine’ ของเธอและวงขึ้นได้อันดับ 2 (เพลงนี้มาร์วิน เกย์ เคยอัดเสียงไว้ก่อน แต่กอร์ดี้ไม่ยอมให้ออกเป็นซิงเกิ้ล จนกระทั่งปี 1968 และเวอร์ชั่นของเกย์ได้รับการยอมรับว่าเป็นคำตอบสุดท้ายของเพลงคลาสสิกเพลงนี้)


________________________________________




โปรดิวเซอร์อีกคนในตำนานโมทาวน์ Norman Whitfield เริ่มมาจับงานโปรดิวซ์ให้ Temptations แทนสโมคกี้ในปีเดียวกันนี้ เขาสร้างงานฮิตให้ Temps มากมายเช่น ‘Beauty is Only Skin Deep’, ‘(I Know) I’m Losing You และในช่วงปลายซิกซ์ตี้ส์ เขาและบาร์เร็ต สตรองยังร่วมมือกันพา Temps เข้าสู่ดนตรีแนวใหม่ ‘Psychedelic Soul’ อีกด้วย




________________________________________




1968 กอร์ดี้ย้ายบ้านจากดีทรอยท์มาแอลเอ ทำให้สาขาของโมทาวน์ในแอลเอเติบใหญ่ขึ้นในขณะที่ดีทรอยท์ก็หงอยไปถนัด เรื่องใหญ่อีกเรื่องในปีนี้คือการลาออกไปของทีม H-D-H (พวกเขาทั้งสามยังทำงานกันต่อแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในระดับเดียวกับที่โมทาวน์อีกเลย) ส่วนทางโมทาวน์แม้จะเป๋ไปบ้าง แต่ไม่ออกอาการนัก 1969 พวกเขาก็ได้สตาร์ดวงใหม่ พี่น้องตระกูลแจ็คสัน ในนาม The Jacksons 5 ในปีนี้โมทาวน์ก็ยังมีเพลงอันดับหนึ่งได้อีกสามเพลง ‘Someday We’ll Be Together’ เพลงสุดท้ายของไดอาน่า รอสกับเดอะ สุพรีมส์ ‘I Can’t Get Next To You’ ของ The Temps และ ‘I Want You Back’ The Jacksons 5 ซึ่งพี่น้องแจ็คสันก็ยังทำได้อย่างยอดเยี่ยมในปีต่อมาด้วย ABC และ The Love You Save ที่อันดับ 1 อีกครั้ง ไดอาน่า รอสส์ เปิดคอนเสิร์ตอำลาวงในปี 1970 นี้ เดอะ สุพรีมส์ได้สมาชิกใหม่มาแทนแต่ไม่เคยมีเพลงอันดับ1อีกเลย




________________________________________




1971 มาร์วิน เกย์ และอัลบั้ม What’s Going On เป็นอีกครั้งที่กอร์ดี้สั่งแบนงานของเกย์ เพราะมันฉีกขนบของโมทาวน์หลายประการ แต่เกย์ก็แก้เผ็ดด้วยการไม่ยอมบันทึกเสียงเพลงอะไรอีกถ้ามันไม่ได้ออกขาย สุดท้ายกอร์ดี้ก็จำนน มันขายได้มากกว่าล้านแผ่น มีสามเพลงฮิตคือ Mercy Mercy Me, What’s Going On และ Inner City Blues มันกลายเป็นสุดยอดอัลบั้มโซลตลอดกาลในความเห็นของแฟนเพลงและนักวิจารณ์ทั่วโลก และทำให้โมทาวน์เริ่มสนใจที่จะขายอัลบั้มมากกว่าสมัยก่อนที่เน้นแต่ซิงเกิ้ล




________________________________________




แต่นั่นก็เหมือนอวสานของ Motown Classic Sound กอร์ดี้ปิดสำนักงานที่ดีทรอยท์ลงในปี 1972 ประหนึ่งเป็นสัญญาณสุดท้ายของยุคสมัย โมทาวน์ยังผลิตเพลงฮิตต่อไปในเวลาที่เหลือของยุค70’s เกย์และสตีวี่ วอนเดอร์ ครองความยิ่งใหญ่ด้วยดนตรีที่เขาควบคุมเองและเป็นตัวของตัวเอง มันอาจจะยอดเยี่ยมยิ่งกว่าโมทาวน์ในยุคแรกเสียอีก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้คนพูดถึง “เพลงแบบโมทาวน์” หรือ “โมทาวน์โซล” คำตอบในใจก็ยังคงต้องเป็น..........ท่วงทำนองยืนพื้นบนริธึ่มแอนด์บลูส์แต่มีเมโลดี้ที่ติดหูไม่รู้ลืม เสียงเบสหนักแน่นเน้นจังหวะชัดเจน กลองใส่เอ็คโค่เน้นเสียงแตกๆหน่อย.....

พ่อครับ...ผมทำได้ (Led Zeppelin Reunion Report)

O2 London, December 10 ,2007





ไม่มีใครจะเข้าใจว่าภาระที่เขาแบกไว้บนบ่าและข้อมือทั้งสองข้างของ Jason Bonham ในคืนวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2007 นั้นมันสาหัสแค่ไหน นอกจากตัวเขาเอง อีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เขาต้องรับหน้าที่มือกลองในตำแหน่งที่ไม่อาจมีใครทดแทนได้ เบื้องหลัง Jimmy Page, Robert Plant และ John Paul Jones ในนามของ Led Zeppelinตำแหน่งที่เมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ผู้ที่นั่งอยู่ตรงนั้น คือพ่อของเขา John Bonham

John เสียชีวิตจากการสำลักอาเจียนตัวเองขณะเมามายในปี 1980 และ Led Zeppelin ก็ประกาศยุบวง พวกเขาไม่เคยเล่นคอนเสิร์ตเต็มๆร่วมกันอีกเลย นอกจากการแสดงสั้นๆใน Live Aid และงานฉลอง 40 ปีของ Atlantic Records น่าเสียดายที่ทั้งสองงาน Led ทำไม่ได้ถึงมาตรฐานเดิมแต่ในคืนนี้ สมาชิกทั้งสามยินดีกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง สำหรับคอนเสิร์ตหางานเข้ากองทุนของ Armet Ertegun บุรุษผู้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของวง เขาเป็นคนเซ็นสัญญากับ Led Zeppelin เมื่อปี 1968 เจสันเป็นตัวเลือกแรกสำหรับตำแหน่งมือกลองนี้ และพวกเขาซ้อมกันมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาเจสันออกมาให้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจหลายครั้งก่อนการแสดงว่า เขาเชื่อมั่นว่างานนี้คนดูจะต้องอ้าปากค้าง ถ้าเพียงแต่ Led Zeppelin เล่นได้ครึ่งเดียวของการซ้อมงานนี้จะเป็นการแจ้งเกิดของมือกลองวัย 41 ปีอย่างแท้จริง แต่ถ้าเขาพลาดหรือเล่นได้ไม่ถึงระดับ ทุกอย่างจะป่นปี้ลงโดยพลัน เรื่องจะไม่ยากเลย ถ้าบังเอิญสิ่งที่พ่อเขาทำเอาไว้ ไม่ใช่การเล่นกลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เพลงร็อค! ก่อนการแสดง 45 นาที เจสันเครียดขนาดหนัก ถึงกับอาเจียนออกมา สร้างความกังวลให้กับคนรอบข้างอย่างหนักว่าเขาจะไหวเร้อแต่แล้วเวลา 21 นาฬิกาที่ O2 arena ใน London เจสันก็ขึ้นไปเคาะไม้กลองพร้อมจะเริ่มต้นการแสดงคอนเสิร์ตรียูเนียนครั้งสำคัญที่สุดจนได้ เขาตัดผมเลี่ยนโล่งและอยู่ในสภาพฟิตปั๋ง เสียงกระเดื่องรัวถี่ที่แฟนๆจำได้ดีดังกระหึ่มขึ้นจากฝีเท้าของเขา Led Zeppelin ไม่มีทางเริ่มต้นการแสดงนี้ไปได้ดีกว่านี้อีกแล้ว ด้วยเพลงแรกจากอัลบั้มแรกของพวกเขา Good Times Bad Times จิมมี่ เพจในชุดดำสนิทตัดกับผมสีเงินและรูปร่างผอมเพรียวดูไม่ต่างอะไรกับพ่อมดลึกลับบนคอกีต้าร์ โรเบิร์ต แพลนต์ไว้หนวดเครารับกับหน้าที่เต็มไปด้วยร่องรอยของวันเวลา และ จอห์น พอล โจนส์ ผู้ซึ่งนอกจากผมที่ตัดสั้น ดูไม่ต่างจากยุค70's ไปสักเท่าไหร่ นานแสนนานแล้วที่เราไม่ได้เห็นเขาบนเวที แค่เพลงแรก แฟนๆที่เข้ามาชมใน O2 ก็ทราบแล้วว่า งานนี้ไม่มีผิดหวังแน่นอน แม้ว่าเสียงอาจจะยังไม่ลงตัวนัก พวกเขาเล่นกันต่อเนื่้องอีกรวมแล้ว 130 นาที เป็นเพลงร็อคอีเล็กทริคล้วนๆ ไม่มีช่วงอคูสติกอย่างที่หลายคนรอคอย เสียงกลองของเจสันช่าง funky และ dancable โรเบิร์ตยังร้องได้ยอดเยี่ยมแม้จะต้องลดคีย์ลงในบางช่วง โจนส์เติมเต็มช่องว่างด้วยเบสและคีย์บอร์ดทำให้บทเพลงเหล่านั้นเป็น Led Zeppelin ขึ้นมาจริงๆ ไม่เหมือนกับยุคที่ Page&Plant แอบมาเล่นกันสองคนโดยไม่ชวนเพื่อน และจิมมี่...โซโลของเขาไม่กราดเกรี้ยวเหมือนเดิม แต่พลังของท่อนริฟฟ์แต่ละท่อนที่ถาโถมเข้ามายังคงความอลังการและหนักหน่วงไม่เสื่้อมคลาย ช่วงเวลาที่เขาชักคันสีไวโอลินมารูดกับสายโลหะของกีต้าร์ใน Dazed And Confused ท่ามกลางแสงเลเซอร์ปิระมิดสีเขียว ทำให้ดูเหมือนยุค 70's ไม่ได้หายไปไหนสักนิด บางคนสงสัยว่าแพลนต์จะยอมร้อง Stairway To Heaven หรือเปล่า แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะมิอาจไม่ร้องได้ ในยุค70's แสงไฟแช็คในมือของผู้ชมจะโบกไปมากับจังหวะอันล่องลอยของเพลงนี้ แต่ในปี 2007 แสงนั้นเปลี่ยนไปเป็นกล้องโทรศัพท์มือถือแทน จบเพลงแพลนต์เงยหน้ากล่าวกับฟากฟ้า "อาร์เมตต์" "เราทำได้"พวกเขาจบการแสดงด้วย Kashmir ที่เล่นกันอย่างเชื่องช้ากว่าเดิม แต่หนักแน่นกัมปนาท เสียงคีย์บอร์ดจากโจนส์และกองทัพกีต้าร์จากเพจแน่นอนต้องมีอังกอร์ และจะเป็นเพลงอื่นไปไม่ได้นอกจาก Whole Lotta Love ท่อนริฟฟ์สะท้านฟ้า หนักหน่วงก้าวร้าวถึงขีดสุด ภาพบนจอมอนิเตอร์ด้านหลังก็ดุเดือดไม่แพ้กัน แพลนต์ประกาศศักดาด้วยเสียงกรีดร้องสุดท้าย You-need----LOOOOOOOOOOOOOOOVVEEEEEEEE!!!!!!! ที่ก้องสะท้อนข้ามฝั่งแม่น้ำเทมส์เมื่อถึงอังกอร์ที่สอง Rock And Roll คนดูนั้นเรียกได้ว่า "บ้าไปแล้ว" Led Zeppelin ใส่ทุกอย่างที่พวกเขามีเหลือลงในบทเพลง วิ่งเข้าเส้นชัยด้วยสปีดสุดท้ายอย่างหมดจดจบการแสดง เพจ แพลนต์ และ โจนส์ โค้งคำนับคนดูเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่เจสันคุกเข่าลงต่อหน้าเพื่อนของพ่อทั้งสาม ทำนองว่า เขาไม่คู่ควรกับสิ่งนี้ แต่ความจริงคือ เขาคู่ควรแล้ว มันต้องเป็น Bonham เท่านั้น






เบื้องหลังความกระหายทำลายล้าง






ระหว่างที่รออยู่ว่าเมื่อไหร่นายดับบลิว(ที่บ้านเรียกอย่างงี้)จะเข็นอัลบั้มที่คลอดยากที่สุดในโลกของ GNR (Guns N’ Roses) ออกมาซะที ผมก็สงสัยอยู่ว่างานนี้ Mike Clink จะมาโปรดิวซ์ให้อีกหรือเปล่า คลิงค์เป็นโปรดิวเซอร์คู่บารมีของ GNR และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาสร้างงาน debut Appetite For Destruction ออกมาได้สุ้มเสียงปานนั้น และเมามันส์เยี่ยงนั้น

มันเป็นเวลาตี 4 ของเช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงปี 1986 ที่โปรดิวเซอร์หนุ่มได้รับโทรศัพท์เสียงกระเส่าจากชายนาม Axl Rose โรสเพิ่งได้ฟังเดโมเพลง Shadow Of Your Love ที่พวกเขาทำร่วมกับคลิงค์ตอนสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาและเขารู้โดยพลันว่างานนี้เขาเจอคนที่เหมาะสมแล้ว

ก่อนหน้านี้บรรดาเหล่าพลพรรคกันส์แอนด์โรสเซสได้ลองร่วมงานกับโปรดิวเซอร์มากหน้าแต่ผลออกมาก็งั้นๆ (หนึ่งในนั้นคือพอล แสตนลีย์แห่งคิสส์)

GNR ประทับใจงานของคลิงค์มาตั้งแต่ที่เขาทำให้ UFO ในอัลบั้มแสดงสด Strangers In The Night ที่คลิงค์จัดการกับการมิกซ์เสียงกีต้าร์ประสานคู่ได้อย่างสุดซี้ด แต่เหนืออื่นใดการที่คลิงค์ได้โอกาสเข้ามารับตำแหน่งโปรดิวเซอร์ให้วงก็น่าจะเป็นความจริงใจมากกว่า....

คลิงค์ว่าอย่างนี้จริงๆ "พวกเขาเชื่อถือในตัวผม เพราะผมมักจะบอกพวกเขาตรงๆว่าที่เขาเล่นกันนั้นมันเป็นไง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมอยู่ในแคมป์นี้ได้นานโคตร...ความตรงแบบขวานผ่าซากของผม"

ถึงแม้คลิงค์ จะทราบมาก่อนแล้วว่า GNR ขึ้นชื่อว่าเป็นวงที่ทำงานด้วยยาก แต่เขากลับทำตัวกลมกลืนและยอมรับคาแรกเตอร์ส่วนตัวของสมาชิกได้แบบสบายๆ คืนไหนถ้าเขาไม่ได้มิกซ์งานดึกดื่น เขาก็จะออกไปท่องราตรีกินเหล้ากับวงด้วย "มันเป็นเวลาที่บ้าบอดีแท้ แต่ผมก็สนุกไปกับมันด้วย" คลิงค์เล่าความหลัง
คลิงค์เล่าว่าพวก GNR ต้องการให้ซาวนด์ออกมาดิบและเน้นการประสาน-ประชันของกีต้าร์สองตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาถนัดอยู่แล้ว พวกเขามักจะพูดถึงแผ่นเสียงที่พวกเขาชอบกัน โรสจะฟังเพลงตลอดเวลา และวงโปรดวงนึงของเขาในช่วงนั้นคือ Metallica ส่วนอิซซี่จะชอบ Dixie Dregs สแลชนั้นเป็นขาหินกลิ้ง ดัฟฟ์เล่นพวกพังค์ ส่วนสตีเฟนนั้นชอบทุกแนวที่กล่าวมา

พวกเขาทำเพลงกันประมาณ 20 แทร็ค และแน่นอนต้องมีบางเพลงที่ต้องถูกคัดออก หนึ่งในนั้นคือ November Rain ที่ต้องออกไป แม้ทุกคนจะยอมรับในความเป็นมหากาพย์ของมัน เพราะความไม่เข้าพวก งานนี้คลิงค์เล่าว่าเถียงกันหน้าดำหน้าแดงไปตามๆกัน

สิ่งที่ยากที่สุดในการโปรดิวซ์วงนี้สำหรับคลิงค์ก็คือ "การที่จะทำให้ทั้งห้าคนทำในสิ่งเดียวกันในเวลาเดียวกัน พวกเขาเป็นพวกสติพล่านกระเซ็นตลอดเวลา มักจะอยากทำอะไรเป็นพันๆอย่างในเวลาเดียวกันหรือไม่ก็ไม่อยากทำอะไรแม่งซักอย่างเลย" แต่คลิงค์ก็ยังมีทีเด็ดอีกอย่าง "ผมมักจะรู้โดยสัญชาติญาณว่าเมื่อไหร่วงจะพีคแล้วและควรจะหยุด ผมจะรู้ทันทีว่านั่นคือเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดีที่สุดของพวกเขาแล้ว"

เพลงส่วนมากจะบันทึกเสียงกันอย่างรวดเร็วประมาณ 5-6 เทค บางเพลงอาจไปถึง 10 แต่ไม่มากไปกว่านั้น เพราะทางวงซ้อมกันมาอย่างค่อนข้างดีแล้ว และคลิงค์ก็พยายามให้ทุกอย่างออกมา"สด"เท่าที่จะทำได้ มีแต่เสียงโซโลของสแลชเท่านั้นที่จำเป็นต้องมาอัดทีหลังทุกครั้ง

Appetite....มีซาวนด์ที่น่าประทับใจแม้ในทุกวันนี้เราก็ยังไม่รู้สึกว่ามันล้าสมัยซักนิด เคล็ดของคลิงค์คือเขาพยายามจะไม่ยึดติดกับอุปกรณ์ที่ตัวเองชอบ เช่นเสียงกีต้าร์ของอิซซี่จะเหมาะสำหรับแอมป์ Carvins เขาจะใช้ทุกอย่างที่ขวางหน้าและหลังอะไรก็ตามที่มันจะเวิร์ค ผลที่ได้คือความสดทรงพลังและหลากหลายของซาวนด์ตลอดโปรแกรม

เมื่อไมค์ คลิงค์มิกซ์เสียง Appetite...เสร็จ เขารู้ดีว่ามันซาวนด์ amazing แค่ไหน แม้จะไม่คิดถึงขั้นว่ามันจะกลายเป็นงานคลาสสิกแห่งยุคสมัยไปได้ เขายังจำได้ดีว่าวันหนึ่ง Tom Zutaut ผู้เป็น A&R coordinator ของGeffen โผล่เข้ามาฟัง playback ในวันหนึ่งหลังบันทึกเสียงเสร็จ เขาถามคลิงค์ "ไมค์ นายว่าไอ้อัลบั้มนี้มันจะขายได้ซักกี่โหลวะเนี่ย?" ไมค์ตอบ "อัลบั้มนี้จะขายได้ถึงสองล้านก๊อปปี้" ด้วยความภาคภูมิใจในน้ำเสียง และทอมก็บอกว่า "นายผิดว่ะ มันจะขายได้ถึงห้าล้าน นายคอยดู"

ทั้งไมค์และทอมทำนายผิดทั้งคู่ ทุกวันนี้มันขายได้เกิน 15 ล้านไปแล้ว...

หลังจากงานนี้ ก็ตามฟอร์มต้องมี"ลูกค้า"เข้ามาหาคลิงค์และเรียกร้องจะให้เขาสร้างเสียงแบบ กันส์แอนด์โรสเซสให้หน่อย ซึ่งไมค์ก็มีคำตอบสำเร็จในรูปแบบคำถาม "แล้วดนตรีของพวกนายออกมาเหมือนกันส์แอนด์โรสเซสรึเปล่าล่ะ ถ้าไม่ ก็ไม่มีทางว่ะ"

ไมค์ คลิงค์ทิ้งทายไว้สำหรับวิธีการที่เขาจัดการกับวง GNR ได้สำเร็จในขณะที่คนอื่นไม่มีใครทำได้

"ผมทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายและไม่กลัวกับการทำอะไรผิด ผมรู้ทางลัดมากมายในการที่จะทำให้หลายอย่างง่ายขึ้น และผมก็ชอบที่จะทำงานแบบสนุกๆ ผมทำให้ทุกๆคนมีความรู้สึกราวกับว่าพวกเขาจะพิชิตโลกใบนี้ได้"

10 เพลงหายากที่สุดของสี่เต่าทอง





Beatles บันทึกเสียงร่วมกันไว้แค่สิบกว่าปี แต่มีงานที่เป็น bootlegs ออกมามากมายมหาศาล สิบเพลงที่จะเล่าให้ฟังนี้ แฟนตัวจริงรู้ว่ามันมีอยู่ แต่พวกเขายังไม่มีบุญจะได้ฟังมัน ทุกอย่างยังคงนอนนิ่งสงบอยู่ที่ไหนสักแห่งในคลังของ EMI หรืออาจจะเป็นห้องใต้ดินในบ้านสักหลังของพอล แมคคาร์ทนีย์ ถ้าไปเจอว่ามีชื่อเพลงเหล่านี้ใน bootlegs ม้วนใดให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่ามันคือของเก๊.... เรามาดูกันว่ามีเพลงอะไรมั่ง
อืมม์ ความจริงชื่อของ entry นี้มันไม่น่าจะเป็นหายากโคตรนะ เพราะมันคือ "หาไม่ได้" มากกว่า
(entry นี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก entry ก่อนที่มีคนเปรยๆว่าอยากฟัง Anything เพลงโชว์กลองของริงโก้กันเยอะ)


Baby, Let's Play House: จากการบันทึกเสียงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1957 ของวง Quarry Men วันที่จอห์นได้พบกับพอลเป็นครั้งแรก วันนี้ว่ากันว่ามีคนอัดเทปไว้สองเพลง เพลงนึงคือ Puttin' On The Style ที่มีหลุดมาให้ฟังกัน 30 วินาที(คนแอบอัดระหว่างเปิดประมูล) ส่วนเพลง cover Elvis เพลงนี้ยังไม่เคยหลุดออกมาให้ได้ยินกันแม้แต่น้อย


Tip of My Tongue: พวกเขาเล่นเพลงนี้กันหลายเทคในวันที่ 26 พ.ย. 1962 ที่อีเอ็มไอ แต่ไม่พอใจกับผลที่ออกมา เลยโยนให้ ทอมมี่ ควิกลี่ บันทึกเสียง


Love You To (take 1): ตอนนั้นเพลงนี้ยังใช้ชื่อว่า Granny Smith เทค 1 นี้ยังไม่มีความเป็นอินเดียเหมือนที่เราคุ้นเคย แต่จะมีแค่จอร์จเล่นกีต้าร์โปร่งและร้องนำ ส่วนพอลให้เสียงประสานนิดหน่อย น่าฟังเนอะ
Carnival Of Light: งานทดลองยาว 15 นาทีที่บันทึกเสียงกันระหว่างSgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band sessions. มันเป็นงานที่เป็นที่กล่าวขวัญและหากันให้ควั่กที่สุดเพลงนึงของ Beatles เพลงนี้เกือบได้อยู่ในซีดี Anthology2 แต่ถูกริงโก้และจอร์จวีโต้เพราะเห็นว่ามันสิ้นเปลืองเวลาเกินไป


Helter Skelter (take 3): นี่ก็เป็นสุดยอดแห่งความปรารถนาอีกเพลงของเหล่าสาวกเดนตาย เล่นกันแบบบลูส์กว่าเวอร์ชั่นสุดท้าย และยาวถึง 27 นาที 11 วินาที บางคนว่าเทปน่าจะถูกลบไปแล้ว แต่แฮริสันบอกไว้ตอนทำสารคดี Anthology ว่าเขาเพิ่งได้ฟังมันไป มาร์ค เลวิซอน บรรยายเทคนี้เอาไว้ว่ามันส์หยอดติ๋ง จนทำให้มันเป็นที่ต้องการกันอย่างหนักตั้งแต่นั้นมา ในซีดี Anthology 3 พวกเขาปล่อยเทค 2 ยาว 4.37 นาทีออกมา ซึ่งฟังแล้วก็งั้นๆ


Anything: บันทึกเสียงระหว่าง Sgt. Pepper's session ในวันที่ 22 ก.พ. 1967 ระหว่างการทำโอเวอร์ดับในเพลง A Day In The Life ถือเป็นงานทดลองอีกอันที่ยาวเหยียด 22.10 นาทีและเต็มไปด้วยเสียงกลองและเพอร์คัสชั่น นักค้นคว้ายังไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะเอามันไปทำริธึ่มให้เพลงอื่นหรือว่าเป็นท่อน excerpt ของอะไร แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำอะไรกะมันต่อหลังจากนั้น


"Etcetera": พอลอัดเพลงนี้อย่างรีบเร่งระหว่างการทำ White Album และก็ไม่เคยมีใครได้ยินมันอีกหลังจากนั้น


Now and Then/I Don't Want to Lose You/Miss You: เพลงจาก reunion session ช่วงกลางทศวรรษ 90's เริ่มจากการเป็นเดโมเก่าของจอห์นที่บันทึกไว้ในปี 1979 พอล จอร์จ ริงโก้นำเทปมาต่อยอดกันในวันที่ 20-21 มีนาคม 1995 แต่ว่ามัปัญหาคือเสี่ยงรบกวนในเดโมเดิมของจอห์นนั้นค่อนข้างจะสาหัส นั่นอาจเป็นสาเหตุที่พวกเขาตัดสินใจหยุดการทำงานในแทร็คนี้และทิ้งมันไว้อย่างนั้น ไม่งั้นมันคงเป็นซิงเกิ้ลที่สามของซีรีส์ Anthology ต่อจาก Real Love งานเดโมดั้งเดิมของจอห์นมีหลุดออกมาเป็น bootleg เหมือนกัน แต่งานที่สามเต่าทองโอเวอร์ดับลงไปแล้วยังไม่เคยหลุด ปีสองปีนี้มีข่าวลือหนาหูว่าพอลกับริงโก้จะเอามันมาทำต่อให้เสร็จ และอาจจะออกมาให้ฟังพร้อมๆกับเพลงอื่นๆของ Beatles ที่จะออกมาขายทางดิจิตัลดาวน์โหลด


All For Love: อีกเพลงจาก reuinion sessions ในปี 1995 บันทึกเสียงในวันที่ 15-16 มีนาคม แต่งโดย พอล และจอร์จ ซี่งนับเป็นเพลงที่สองที่ทั้งสองร่วมมือกันแต่ง ต่อจาก In Spite Of All The Danger แต่ด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่ทราบ เพลงนี้ถูกเก็บขึ้นหิ้งไปเรียบร้อย


Grow Old With Me: เพลงที่สามของการรียูเนียนที่ทำไม่เสร็จ จากเดโมของเลนนอนในปี 1980 เพลงนี้ออกให้ฟังครั้งแรกในอัลบั้ม Milk And Honey ของจอห์นกับโยโกะในปี 1984 พอลเคยบอกว่าเดโมของจอห์นเพลงนี้มันต้องการ 'too much work' พวกเขาก็เลยทำแท้งมันซะอีกเพลง และไม่เคยมีใครได้ยินมันอีก เวอร์ชั่นเสริมออเคสตร้าโดยจอร์จ มาร์ตินมีให้ฟังกันใน Lennon Anthology Boxset ในปี 1998

Jason Mraz | We Sing, We Dance, We Steal Things





















Jason Mraz
We Sing, We Dance, We Steal Things ***










เจสัน มราซ singer-songwriter ชาว Virginia เริ่มมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ปี 2002 ด้วยอัลบั้ม Waiting For My Rocket To Come ที่มีซิงเกิ้ลฮิต Remedy (I Won’t Worry) ที่เขาแต่งร่วมกับทีมสุดยอดนักสร้างเพลงฮิตในยุคนั้น The Matrix แต่อัลบั้ม Mr.A-Z ในปี 2005 เจสันเป๋ไปนิดหน่อยกับการตอบรับที่ไม่ค่อยดีนักทั้งทางด้านยอดขายและเสียงวิจารณ์ โดยเฉพาะการเขียนเนื้อเพลงที่ถูกตำหนิว่าหมกมุ่นและคับแคบซ้ำซาก

การทิ้งช่วงจากอัลบั้มก่อนถึงสามปีในวงการป๊อบถือว่านานพอดู และพอจะคะเนได้ว่า น่าจะมีการยกเครื่องใหม่และยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนไป

เจสันเป็นแฟนของ Dave Matthews Band แต่เด็ก และอัลบั้มแรกของเขาก็ได้ John Alagia ที่เคยโปรดิวซ์ให้ DMB และ John Mayer มาก่อนมาดูแลการผลิตให้ จึงไม่น่าแปลกที่งานของเขาจะชวนให้นึกถึงสองศิลปินนั้น บางคนบอกว่าเขาคือ lite version ของMayer ผู้ซึ่งเป็น lite version ของ DMB อีกที!
แต่ในอัลบั้มที่สาม We Sing We Dance We Steal Things นี้ อาจจะได้นิยามใหม่ เพราะหลายเพลงเขามีสุ้มเสียงเหมือนแจ็ค จอห์นสัน ออน คาเฟอีน (ไม่ถึงขั้นแอมเฟตตามีน) แต่ที่ครื้นเครงเป็นที่สุดคือชุมนุมเครื่องเป่าทั้งแซ็กโซโฟน ทรัมเป็ต ทรัมโบน ฟลุต สร้างความคึกคักและซาวนด์แบบ 70’s funky ที่ไม่ได้ฟังกันมานานแล้ว

เจสันยังคงแต่งเพลงป๊อบได้เด็ดขาดเหมือนเดิม 12 แทร็คในอัลบั้มนี้ มีเพลงที่จะตัดเป็นซิงเกิ้ลฮิตได้ 5-6 เพลงเป็นอย่างน้อย แก่นของดนตรียังคงเป็นเสียงร้องของเขากับกีต้าร์โปร่งในแทบทุกเพลง
Make It Mine ****เริ่มต้นอย่างกระฉับกระแฉง เครื่องเป่าหนาแน่นชวนให้คิดถึงงานที่ควินซี่ โจนส์ทำให้กับไมเคิล แจ็คสัน โซโลทรอมโบนกลางเพลงเก๋ซะไม่มี จะหาเพลงป๊อบยุคนี้ได้ที่ไหนที่เอาเครื่องดนตรีนี้มาโชว์? เนื้อเพลงเหมือนบอกนัยยะของงานนี้ หรืออาจจะเป็นแค่เพลงรักธรรมดา?

I'm Yours*** เร็กเก้สายลมแสงแดด ขายความไพเราะล้วนๆ ซิงเกิ้ลแรก นี่คือ แจ็ค จอห์นสันที่ไม่สนใจภาวะโลกร้อน เพราะกำลังอินเลิฟสุดชีวิต (So, I won't hesitate no more, no more, it cannot wait I'm sure there's no need to complicate our time is short this is our fate, i'm yours) เพลงนี้เจสันนำมาเล่นในการแสดงของเขาอยู่หลายปีแล้ว ก่อนที่จะนำมาบันทึกเสียงในที่สุด

Lucky** ร้องคู่กับ Colbie Caillat คนชอบเพลงคู่แบบหวานจัด (น้ำตาลสี่ก้อน) คงถูกใจ แต่สำหรับผมมันออกจะเลี่ยนเกินไปหน่อยแล้ว แต่ Jason ไม่ปล่อยให้อ้อยสร้อยนาน งานกลับมาคึกคักเต็มที่กับ Butterfly**** ที่มีเนื้อหาเซ็กซี่ที่สุด (หรืออาจจะเกินไปด้วยซ้ำ) (…..And you make my slacks a little tight, you may unfasten them if you like That’s if you crash and spend the night….) เครื่องเป่าเร่งเครื่องกว่าเดิม ถ้าเสียงร้องของเจสัน"ดำ"กว่านี้อีกนิด กลายเป็นเพลงของ Earth, Wind & Fire ได้สบายๆ ก่อนฟังลองทายเล่นๆสิครับว่า Butterfly ของ เจสันคืออะไร?

หลังจากนั้นโมเมนตัมของงานดูจะช้าลง กับเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากงานแบบ spiritual อย่าง Live High**** คอรัสกระหึ่มท้ายเพลงอาจจะเป็นสูตรสำเร็จรูปอันน่าละอาย แต่มันก็ได้ผลเสมอ, Love For A Child*** (มุมมองของเด็กบ้านแตก) หรือ Details In The Fabric** อคูสติกบัลลาดที่ได้ James Morrison มาช่วยร้อง เกือบขโมยซีนไปเหมือนกัน เพลงจะดีกว่านี้ถ้าลดความยาวลงซักนาที
Mraz ได้มีโอกาสร้องกึ่งแร็ปด้วยคำร้องถี่ยิบอย่างที่เขาชอบทำในงานเก่าๆใน The Dynamo Of Volition***

จบด้วยบัลลาดยาวเกือบหกนาที A Beautiful Mess ****เจสันเล่นกีต้าร์โปร่ง ไวโอลิน ไวโอลา เชลโลเคลียคลอ ค่อยๆให้เวลากับมันจนจบนะครับ คุณจะเห็นด้วยกับผมว่าเพลงนี้เจสันถอดหัวใจร้องจริงๆ ฟังแล้วคุณจะคิดถึง Elton John ยุคก่อนผ่าคอ หรือ Paul McCartney ที่ทำกับ Nigel Godrich ก็ไม่แปลกอะไร
ถ้าคุณคิดว่างานใหม่ของ Jack Johnson นั้นชวนนิทราเกินไป หรือรำคาญการโซโลกีต้าร์บลูส์ของ John Mayer แต่ก็ไม่อยากรับอะไรที่วุ่นวายอย่างงานของ Dave Matthews นี่คืองานที่น่าจะถูกใจคุณครับ และ We Sing… น่าจะเป็นงานที่ทำให้เจสันได้รับชื่อเสียงสมกับฝีมือของเขาเสียที

(หมายเหตุ-ก่อนหน้าจะออกซีดีชุดนี้ เจสันออกอีพีในชื่อ We Sing, We Dance และ We Steal Things ออกมาสามแผ่น ซึ่งจะมีเพลงหลายเพลงในซีดีนี้ในเวอร์ชั่นอคูสติก แผ่นอีพีอาจจะหายากสักหน่อยแล้ว เพราะทำจำหน่ายในวงแคบ แต่ถ้าจะหาโหลดคงไม่ .....ยาก)

Eagles | Long Road Out Of Eden


Eagles Long Road Out Of Eden ****


นักมวยอดีตแชมป์โลกไม่อาจตัดใจจากกลิ่นสาปนวมฉันทน์ใด นักดนตรีร็อคระดับตำนานก็อดไม่ได้ที่จะต้องกลับมารี-ยูเนียนออกผลงานกันอีกครั้งฉันทน์นั้น และที่น่าเศร้าก็คือผลมันก็มักจะออกมาเหมือนๆกัน นักมวยแก่ๆโดยมากก็มักจะประสบชะตากรรมสุดท้ายบนผืนผ้าใบด้วยการถูกเด็กรุ่นใหม่น็อค ส่วนนักดนตรีร็อคเก่าๆนั้นก็น้อยครั้งนักที่จะกลับมาทำงานได้ยอดเยี่ยมเหมือนสมัยพวกเขารุ่งเรือง ด้วยเหตุผลนี้ผมถึงไม่ตั้งความหวังไว้สูงนักสำหรับผลงาน studio album แบบเต็มรูปแบบครั้งแรกในรอบ 28 ปีของ Eagles ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาออกวางตลาดอัลบั้มปกดำ The Long Run มันคือปี 1979 หรือพ.ศ. 2522 จิมมี่ คาร์เตอร์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และประเทศไทยมีนายกฯชื่อ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่การกลับมาครั้งนี้ของ Eagles อาจจะไม่มีเหตุผลทางพาณิชย์เป็นเรื่องหลัก เพราะแค่กินบุญเก่าจากอัลบั้มในยุค 70’s และการตระเวนทัวร์รอบโลกเด้วยค่าตั๋วแพงระยับหลังจากที่พวกเขากลับมาคืนดีกันตั้งแต่ปี 1994 นั่นก็น่าจะยิ่งกว่าเพียงพอที่พวกเขาจะสบายกันไปอีกหลายชาติ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเพราะพวกเขามีบางอย่างที่อยากจะบอกกับแฟนเพลง ความต้องการที่จะมีอัลบั้มเพลงเยี่ยมๆอีกสักชุดอาจจะเพื่อพิสูจน์ตัวเองก็เป็นได้ ข่าวลือเรื่องอัลบั้มนี้มีมานานหลายปีจนหลายคนเลิกรอไปแล้ว แต่ในที่สุดพวกเขาก็เข็น Long Road Out Of Eden ออกมาก่อน Chinese Democracy ของ Guns ‘N’ Roses จนได้! ผมเชื่อว่าขณะที่ท่านอ่านบทความนี้อยู่ ถ้าเป็นแฟน Eagles กันในระดับหนึ่งก็น่าจะหาอัลบั้มแผ่นคู่ยาว 95 นาที 20 เพลงนี้มาฟังกันแล้ว ว่ากันอย่างสั้นๆ ถ้าคุณเคยชอบ Eagles แต่ไหนแต่ไรมา มันก็ไม่น่าเป็นไปได้ว่าคุณจะไม่ชอบ Long Road (ขณะเดียวกันถ้าคุณเคยไม่ชอบดนตรีของพวกเขา คุณก็คงจะยังไม่ชอบอยู่นั่นแหละ) Long Road… มีทุกอย่างที่เป็น “ไม้ตาย” ของ Eagles เสียงประสานกลมกล่อมที่ไม่มีใครเหมือน ดนตรีที่ละเมียดละไมเต็มไปด้วยรายละเอียดแต่ไม่รู้สึกว่าซับซ้อนยุ่งยาก เมโลดี้อมตะฟังไม่รู้เบื่อ ขับร้องโดยนักร้องเสียงดีที่ต่างกันออกไปสามคน (และเสียงแปลกๆอีกคน) ครับ นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่นักมวยรุ่นลายครามคืนสู่สังเวียนด้วยลีลาการออกหมัดอันน่าประทับใจเหมือนเดิม อัลบั้มคู่เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีศิลปินใดทำกันแล้วในยุคของซีดีนี้ และแม้ว่า Don Henley นักร้อง/มือกลอง/นักแต่งเพลงคนสำคัญของวงจะออกมาป้องปากพูดว่าเค้าไม่ค่อยเห็นด้วยกับการออกเป็นสองแผ่นแต่แพ้โหวต ผมก็ยังว่าแผ่นคู่นี้ก็มีเสน่ห์แบบในยุค 70’s ดี วงระดับอ๋องยุคนั้นต้องมีแผ่นคู่ไว้ประดับบารมีสักชุด มันอาจจะมีเพลงที่เป็น filler บ้าง แต่ก็ได้ความหลากหลายมากรสชาติ Long Road ดูจะแบ่งเซ็ตไปเลยว่าแผ่นแรกจะเป็นเพลงที่ฟังง่ายเอาไว้ต้อนรับแฟนๆกันก่อน ไม่ว่าจะเป็น No More Walks In The Wood ที่โชว์การประสานเสียงระดับเทพ How Long ซิงเกิ้ลแรก เพลงเก่าเก็บในสไตล์ Already Gone-Take It Easyที่พวกเขาเคยเล่นในคอนเสิร์ตยุค 70’s แต่ไม่เคยบันทึกเสียง หรือเพลงหวานๆของTimothyอย่าง Do Something หรือ I Don’t Want To Hear Anymore เสียงของDonยังเยี่ยมเหมือนเดิม ลองฟังเขาครวญเพลงโซล-ป๊อบที่น่าจะเหมาะกับ Rolling Stones อย่าง Busy Being Fabulous ดูสิครับ หรือจะเป็น Waitng In The Weeds อคูสติกช้าๆที่ทำนองงามเหลือเกิน แผ่นสองมีการลองของมากขึ้น Long Road Out Of Eden เป็นมหากาพย์ยาว 10.17 นาทีจากการแต่งของ Don Glenn และ Tim ที่มีดนตรีซับซ้อนที่สุดในแผ่นและท่อนโซโลสุดยอดจาก Joe Walsh เนื้อหาเป็นมุมมองเกี่ยวกับสงครามอิรักและวัฒนธรรมอเมริกัน Glennเล่นเพลงบรรเลงสั้นๆให้พักหูกันนาทีกว่าๆด้วย I Dreamed There Was No War ก่อนที่จะต่อกันแบบเข้มข้นจริงๆในแผ่นสองนี้ ทั้งสองแทร็คสุดร็อคจากDon- Frail Grasp On Big Picture (มีเสียงออร์แกนโบสถ์เข้ามาอย่างเหมาะเจาะรับกับเสียงร้องแบบนักเทศน์ของDon) และ Business As Usual ส่วน Glenn ก็มี Somebody ที่มีเนื้อหาแบบออกแนว Thriller แต่ดนตรีคล้าย Smuggler’s Blues ผสม The Heat Is On ส่วน Joe มาในเพลงสนุกสนานยาว 7 นาทีกว่าเหมือนกัน Last Good Time In Town และสำหรับคนชอบอคูสติกทำนองดีๆ น้าDonขอมอบ Center Of The Universe ให้ฟัง อัลบั้มปิดท้ายด้วยเพลงจังหวะ exotic นุ่มๆ It’s Your World Now ที่อาจจะไม่ได้เรื่องถ้าไปวางที่อื่น แต่เมื่อมันเป็นแทร็คสุดท้ายของอัลบั้มที่เต็มไปด้วยอารมณ์ผสมผสานระหว่างความยินดีและความคิดถึงนี้ มันคือแทร็คที่คุณจะยิ้มทั้งน้ำตาได้ไม่ยาก ยอดขายหรือเสียงวิจารณ์คงไม่ใช่ปัญหาของงานชุดนี้ เหลือแต่ว่า มันจะขึ้นแท่นไปอยู่ในชั้นเดียวกับงานคลาสสิกของ Eagles อย่าง Desperado, One Of These Nights หรือ Hotel California ได้หรือไม่ คงต้องให้เวลากับมันสักหน่อยถึงจะให้คำตอบได้ แต่ตอนนี้ผมขอวางมันไว้ตรงนั้นก่อนแล้วล่ะครับ

Led Zeppelin | Mothership ****





Led Zeppelin Mothership (Atlantic/Warner) 2007 ****

Led Zeppelin คือบรรพบุรุษของดนตรีสายหนักรูหู Heavy Metal มาพร้อมๆกับ Black Sabbath พวกเขาเริ่มมีผลงานออกมาในช่วงรอยต่อของทศวรรษ 60’s และ 70’s ก่อนจะประกาศยุบวงไปในปี 1980 หลังการเสียชีวิตของมือกลอง John Bonham จากอุบัติเหตุหลังค่ำคืนอันเมามาย ตลอดทศวรรษ 70’s ที่พวกเขาครองความยิ่งใหญ่ในวงการร็อคอย่างหาใครเทียบเคียงได้ยาก Zep ออกงาน studio album มาทั้งหมด 8 ชุด งานทั้งหมดอยู่ในขั้นดีจนถึงระดับคลาสสิกทั้งสิ้น Mothership คืองานรวมเพลงเอกรอบที่สามแล้วของวง Jimmy Page มือกีต้าร์ หัวหน้าวง และโปรดิวเซอร์ Robert Plant นักร้องนำ และ John Paul Jones มือเบสและคีย์บอร์ด สามสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่นั่งเลือกเพลงกันเองสำหรับอัลบั้มนี้ โดย24 แทร็คใน Mothership จะกระจายมาจากทั้ง 8 อัลบั้มนั้น ทุกเพลงรีมาสเตอร์ใหม่โดย John Davis ที่ Alchemy Mastering ในลอนดอน อาร์ทเวิร์คทำได้สง่างามสมศักดิ์ศรี (ไม่ดูกิ๊กก๊อกเหมือนงานรวมเพลงชุดก่อน Early Days & Latter Days) ฝีมือของ Shepard Fairey ผู้เคยทำโปสเตอร์ภาพยนตร์ประวัติ Johnny Cash: Walk The Line มาก่อน ชอบที่เขานำ font แบบเดิมๆที่ Zep เคยใช้ในยุค The Song Remains The Same มาใช้ โทนสีดำ-แดง-ขาว ดูแล้วนึกถึง The White Stripes นิดๆ (ขณะเดียวกันอัลบั้มล่าสุดของ WS ก็มีซาวนด์ของ Zep เต็มๆ) ถ้าท่านไม่มีงานของ Zep มาก่อนอัลบั้มคู่นี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นบทเริ่มต้นในการลิ้มลองดนตรีของวงร็อคยิ่งใหญ่วงนี้ แผ่นแรกจะเป็นการคัดเพลงจากอัลบั้ม Led Zeppelin, II, III และ IV เพลงของพวกเขาในยุคแรกจะเห็นร่องรอยของความเป็นบลูส์ชัดเจน แต่ทุกอย่างถูกนำมาขยายสเกลขึ้นจนเข้มข้นและอลังการถึงขีดสุด เอกลักษณ์อีกอย่างของดนตรีของพวกเขาคือ Light and Shade กล่าวคือมีหนักมีเบา ไม่ได้ใส่กันรุนแรงหนักหน่วงตลอดเวลาเหมือนเมตัลบางวง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Babe I’m Gonna Leave You จากอัลบั้มแรกที่มีช่วงอคูสติกเวิ้งว้างสลับกับช่วงถล่มเครื่องดนตรีทุกชิ้นอย่างเมามัน หรือจะเป็นเพลงเอกตลอดกาล Stairway To Heaven ที่มีทุกอย่างในความเป็น Led Zeppelin อย่างที่ผมคงไม่ต้องอธิบายอะไรแล้วกระมัง อย่างไรก็ตาม Mothership ดูจะโฟกัสไปที่เพลงหนักหนาและเป็น epic มากกว่า เราจึงไม่เห็นเพลงโฟล์คเพราะๆอย่าง That’s The Way หรือ Going To California ในงานนี้ แผ่นสองเริ่มจากอัลบั้ม Houses Of The Holy ที่เป็นช่วงที่พวกเขาเริ่มหาทางออกใหม่ๆหลังจาก peak ไปแล้วจากอัลบั้มที่ 4 ซึ่งก็น่าทึ่งที่ทางวงทำเพลงแนวใหม่ๆได้เยี่ยมไม่แพ้ยุคแรก ไม่ว่าจะเป็น D’Yer Mak’er ที่อาจจะเป็นเร็กเก้ที่บีทหนักที่สุดในโลก หรือ No Quarter ที่คีย์บอร์ดของโจนส์เป็นพระเอกนำเพลงล่องลอยนำพามาซึ่งความรู้สึกน่าสะพรึงกลัว Zep มามี masterpiece อีกครั้งกับอัลบั้มคู่ Physical Graffiti ที่มีเพลงเอก Kashmir สองอัลบั้มสุดท้ายพวกเขาเริ่มตกลงไปนิดหน่อย แต่ก็ยังมีงานระดับห้าดาวอีกเพลงคือ Achilles Last Stand ที่น่าจะเป็นต้นแบบของ Progressive Metal อย่าง Dream Theater ในแง่ของคุณค่าของเพลงในซีดีสองแผ่นคู่นี้ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของวงการร็อค อย่างไม่ต้องสงสัยแต่ถ้าจะถามว่ามันจะดีกว่านี้ได้อีกไหม ผมก็คิดว่ายังงไปได้อีก ตามประสาคนโลภมาก เมื่อเห็นเวลาในซีดียังเหลือ ถ้าเพิ่มเพลงแนวโฟล์คดังกล่าวเข้าไปอีกเพลงสองเพลงเพื่อนำเสนออีกด้านของ Zep และขอแถมเป็นการส่วนตัวกับเพลงโปรด Misty Moutain Hop จากชุด IV กับ In My Time Of Dying จาก Physical… นั่นคงเป็นงานรวมเพลงที่เพอร์เฟ็ค...ยิ่งไปกว่านี้ ในด้านคุณภาพเสียง Mothership มีการทำมาสเตอร์ที่ดังกว่า สดใสกว่า เวอร์ชั่นเดิมของ Jimmy Page และ George Marino เมื่อปี 93 คอออดิโอไฟล์บางกลุ่มอาจจะไม่ชอบ แต่ถ้าไปถามนักฟังทั่วๆไปดูเหมือนส่วนใหญ่จะถูกใจกับซาวนด์ที่ฟัง “เอามันส์”แบบนี้ ขณะที่เขียนอยู่นี้เหลืออีกห้าวันก่อนที่วงจะเล่นคอนเสิร์ตรียูเนียนกันในลอนดอน ซึ่งว่ากันว่าเป็นการ come back ที่ฮือฮาที่สุดในวงการดนตรีในรอบหลายปี.....