Sunday 22 February 2009

The Fireman : Electric Arguments



The Fireman : Electric Arguments (2008) ***1/2




In Penny Lane the barber shaves another customer,We see the banker sitting waiting for a trim.And then the fireman rushes inFrom the pouring rain, very strange.

ท่อนหนึ่งจากบทเพลงอมตะของ The Beatles ในปี 1967 ‘Penny Lane’ จากการประพันธ์ของ Paul McCartney แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าชื่อวงที่เป็น side project ของ Paul นี้จะมาจากบทเพลงนี้ Fireman ผู้พรวดพราดจากสายฝนตัวเปียกโชกเข้ามาในร้านตัดผม มันช่างเป็นภาพที่พิลึกยิ่งในสายตาของเด็กน้อยลิเวอร์พูล

Paul ขึ้นชื่อว่าเป็น workaholic ตัวยง ทำงานในชื่อของตัวเองแล้วยังแรงเหลือ ต้องหาเรื่องเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนแซ่ทำงานแฝงเป็นนอมินีให้ตัวเองอยู่บ่อยๆตั้งแต่สมัยอยู่กับ Beatles แล้ว บางครั้งเขาก็ทำเพื่อวัดใจแฟนๆว่าถ้าไม่ใช้ชื่อเสียงของความเป็น Paul McCartney แล้วยังจะรักพอลน้อยเหมือนเดิมหรือไม่ และบางทีเขาก็ใช้ชื่อแฝงเพื่อให้อิสรภาพทางศิลปะแก่ตัวเอง เหมือนกับตอนที่สมมติว่าวง The Beatles กลายไปเป็น Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band อันที่จริงมันก็คือการเล่นกับจิตใจของตัวเองมากกว่า เพราะใครๆก็ทราบว่า Sgt. Pepper คือ Beatles และ Paul McCartney ก็คือ The Fireman

Fireman project เริ่มขึ้นมาเมื่อ 15 ปีก่อน Paul กับ ‘Youth’ (ชื่อจริง Martin Glover) อดีตมือเบสวง Killing Joke และโปรดิวเซอร์ชื่อดังจับมือร่วมกันทำงาน ambience dance music ออกมาสองอัลบั้มคือ Strawberries Oceans Ships Forest (1993) และ Rushes (1998) ดูเหมือนจะเป็นงานอดิเรกยามว่างของอดีตสี่เต่าทองคนนี้มากกว่าที่จะหวังเงินหรือกล่องจากโปรเจ็คนี้ ดนตรีส่วนใหญ่ของ Fireman เป็น electronic dance music ที่ปราศจากเสียงร้องของ Paul ขนาดแฟนพันธุ์แท้จริงๆของเขาก็ยังแค่หาอัลบั้มเหล่านี้มาเก็บไว้ให้ครบๆเฉยๆ

แต่ Electric Arguments มันต่างออกไปจากสองอัลบั้มแรกของ Fireman มันยืนอยู่ระหว่างงาน solo ในนามของ Paul และผลงานแบบเดิมของ Fireman โดยออกจะเอียงไปทางงานโซโลของ Paul มากกว่า ชนิดที่ถ้าจะออกมาในนามของ Paul McCartney ก็ไม่น่าจะแปลกอะไรนัก บทเพลงเกือบทั้งหมดใน Electric Arguments มีเนื้อร้องและ “เป็นเพลง” มากกว่างานเดิมของ Fireman แต่สีสันของ ambience dance จากฝีมือของ Youth ก็ยังสาดกระจายไปทั่วอัลบั้มโดยเฉพาะใน 3 เพลงสุดท้าย

หลังจากได้รับคำชมไปอื้อซ่าและยอดขายก็น่ารักในอัลบั้ม Memory Almost Full (2007) Paul เริ่มได้ไอเดียจะกลับไปทำงานกับ Youth อีกครั้ง แต่เขาไม่มีเพลงในมือเลย การทำงานใน Electric Arguments จึงออกมาแบบประหลาดๆ แต่ละเพลงทำเสร็จในวันเดียวตั้งแต่แต่งเพลงจนบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อย และใช้เวลาประมาณ 1 ปี สำหรับ 13 เพลง (หมายถึง 1เพลง/1วัน แต่ไม่ได้ทำต่อเนื่องกันทุกวัน) ในอัลบั้มนี้ Paul เองก็ยอมรับว่าเนื้อเพลงในอัลบั้มส่วนใหญ่เป็นการด้นสดๆในห้องอัด (ad-lib) เป็นการทำงานที่ตรงข้ามกับการขัดเกลาอย่างสุดละเมียดอย่างที่เขาเคยทำไว้กับ Nigel Godrich ใน Chaos and Creation….

และนี่คืองานที่ Paul ทำอย่างสบายใจไร้ข้อจำกัดใดๆทั้งในด้านสไตล์ ความยาวของเพลง รวมทั้งความกังวลในยอดขายและชื่อเสียง เป็นงานที่ท้าทายที่สุดของเขานับตั้งแต่อัลบั้ม McCartney II ในปี 1980

ด้วยการทำงานในแบบ happening art เยี่ยงนี้ ทำให้ดนตรีใน Electric Arguments หลากหลายและไปคนละทิศละทางพอสมควร เปิดตัวด้วยบลูส์ร็อคในสาย Led Zeppelin ‘Nothing Too Much Just Out Of Sight’*** ที่นำไปเปิดต่อจาก ‘Nod Your Head’ เพลงสุดท้ายในอัลบั้มก่อนของ Paul ได้สบายๆ ‘Highway’**** เป็นอีกแทร็คเดียวในอัลบั้มที่เป็นร็อคหนักๆ ‘Two Magpies’ อคูสคิกพิคกิ้งแบบ Jenny Wren หรือ Blackbird ‘Sun Is Shining’***** น่าจะเป็น Paul ในแบบ Beatles ที่สุดในอัลบั้ม ทั้งเนื้อหาและท่วงทำนองสดใสในแบบเดียวกับ Good Day Sunshine ใน Revolver แถมด้วยทางเดินเบสในแบบบรมเทพของ Paul ‘Sing The Changes’**** Youth อาจจะใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานให้กับ U2 มาใช้ เจิดจ้า ฮึกเหิม และไพเราะ

แทร็คที่เหลือน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการทดลองกับแนวที่ไม่ใช่สิ่งที่แฟนคุ้นเคยอันอาจจะเป็นสาเหตุที่ Paul ไม่อยากออกงานนี้ในนามตัวเอง ‘Traveling Light’*** Paul ร้องเสียงทุ้มลึกแบบ Johnny Cash ‘Light From Your Lighthouse’*** เล่นกับเสียงประสานในแบบ Cash อีกครั้งโดย blend ไปกับเสียง Falsetto ในแบบ Paul เองทั้งเพลง ‘Dance ‘Till We’re High’*****คือ Dance Tonight ภาคสวรรค์ ผสมผสานแนว New Age, Ambient และ Gospel เข้ากับเมโลดิกป๊อบแบบพอลๆและซาวนด์ในแบบ Wall Of Sound ของ Phil Spectorได้อย่างน่าทึ่ง ‘Lifelong Passion’***, ‘Is This Love?’*** กระโดดไปในทางของ Indian & Celtic Music ‘Lovers In A Dream’***, ‘Universal Here, Everlasting Now’*** คล้าย Fireman ในสองอัลบั้มแรก เพลงเหล่านี้ทำให้เราระลึกได้ว่านี่คืองานของ Fireman ไม่ใช่ Paul McCartney และ Youth ก็น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยในสุ้มเสียงที่ออกมา

‘Don’t Stop Running’ ***เพลงสุดท้าย Paul อาจจะเตือนตัวเองไม่ให้หยุดนิ่งและวิ่งต่อไป ดูเหมือนจะเป็นการมองโลกในอีกมุมหนึ่งไม่เหมือนคนชราผู้สิ้นหวังอย่างใน Memory Almost Full นี่คือนักดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในวัย 66 ปีกับผลงานดนตรีที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์อีกครั้งหนึ่ง มันอาจจะไม่เหมาะสำหรับแฟนเพลงที่ต้องการแค่เพลงเพราะๆและสไตล์ที่คาดเดาได้จาก Paul แต่ผู้ที่ต้องการความท้าทายและอะไรที่ไม่คุ้นหู ความหาญกล้าอย่างในยุค White Album และงาน solo ยุคแรก นี่คืออัลบั้มที่คุณจะฟังแล้วฟังอีกได้นานเท่านาน

Keane-Perfect Symmetry


KEANE Perfect Symmetry ***

“Everybody’s changing and I don’t feel the same” Tom Chaplin นักร้องนำวง Keane ร้องไว้ในเพลงดังเพลงหนึ่งของพวกเขาจากอัลบั้ม Hopes And Fears (2004) งานเปิดตัวที่ทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งในวง Britpop ที่น่าจับตามองที่สุดวงหนึ่งหลัง Coldplay 4 ปีต่อมา CHANGE ก็เป็นความจำเป็นสำหรับวงทริโอจาก East Sussex วงนี้ พอๆกับคนอเมริกันต้องการความเปลี่ยนแปลงจากประธานาธิบดีคนใหม่ Barack Obama

Keane สร้างชื่อขึ้นมาจากการเป็นวงป๊อบร็อคที่ไร้เสียงกีต้าร์ มีสมาชิกแค่สามคน นอกจาก Tom นักร้องเสียงสวรรค์แล้วก็มี Tim Rice-Oxley เล่นคีย์บอร์ดและเบส และ Richard Hughes กลอง พวกเขาเคยมีมือกีต้าร์ประจำวงมาก่อนชื่อ Dominic Scott แต่เขาลาออกจากวงไปก่อนที่จะประสบความสำเร็จ การหายไปของเสียงกีต้าร์ไม่ได้สร้างปัญหาให้วง แต่กลับกลายเป็นการสร้างเอกลักษณ์และสุ้มเสียงที่แตกต่างจากวง Britpop ทั่วไปที่ร้อยทั้งร้อยมักจะมีเสียงกีต้าร์นำหน้ามาก่อน Tim และ Tom รู้จักกันมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ...แม่ของทั้งสองเป็นเพื่อนกัน Tim แต่งเนื้อร้องและดนตรีส่วนใหญ่ แต่เสียงของ Tom ก็เป็นส่วนสำคัญไม่น้อยกว่ากัน (พวกเขายังเคยหยอกเย้ากันเองว่า เสียงร้องของ Tom นั้น “เทพ” ขนาด เปลี่ยน shit ให้เป็น hit ได้เสมอ) Tom Chaplin คือเสียงของโบโน ....ที่เคลือบช็อคโกแล็ตไว้บางๆ

Hopes And Fears กลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จในทุกๆด้าน มันเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับสองของอังกฤษในปีนั้น และยอดขายทั่วโลกเกือบหกล้านแผ่น ด้าน “กล่อง” พวกเขาก็ได้รางวัล Best British Album ในปี 2005 จากงาน Brit Awards ทุกอย่างดูสดใสสำหรับหนุ่มหน้าใสทั้งสามคน แต่แล้ว Tom ก็เจอภาวะร็อคสตาร์ใจแตกเข้าให้เต็มเปา เขาหลุดเข้าไปในบ่วงของแอลกอฮอล์และยาเสพติดอย่างแทบถอนตัวไม่ขึ้น ในระหว่างการทัวร์เพื่อสนับสนุนอัลบั้มที่สอง Under The Iron Sea (2006) Tom ออกมาประกาศยอมรับว่าเขาต้องเข้ารับการบำบัดเสียแล้วและต้องระงับการทัวร์ไปในหลายประเทศ ข่าวดีคือ Tom ไม่เหมือนกับขี้ยาซุปเปอร์สตาร์ Pete Doherty และ Amy Winehouse เขาเอาชนะใจตัวเองได้เด็ดขาด ปัจจุบันเขาคือ Chaplin คนใหม่ที่สดใสไร้ยา วิ่งวันละ 5 ไมล์ทุกวัน

มีร่องรอยว่า Keane เริ่มแสวงหาความเปลี่ยนแปลงมาแล้วตั้งแต่อัลบั้มที่สอง โดยเฉพาะในซิงเกิ้ล Is It Any Wonder? ที่ฟังแล้วคิดถึง U2 ในยุค Achtung Baby ด้วยเสียงซินเธอะไซเซอร์ที่ดังสนั่นและบิดเบี้ยวจนผิดธรรมชาติ แต่ภาพรวมของอัลบั้มก็ยังไม่ฉีกไปจาก Hopes… นัก เพลงที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองไพเราะและฮึกเหิมในแบบ anthem เปียโนและคีย์บอร์ดยังเป็นตัวกำหนดทิศทางของดนตรี

สื่อหลายสำนักเรียก Keane ว่าเป็น New Coldplay จะถือเป็นคำยกย่องก็ได้ (บางคนอาจจะไม่ทราบว่าอดีตก่อน Tim จะตั้งวง Keane นาย Chris Martin แห่ง Coldplay เคยออกปากชักชวน Tim มาเล่นคีย์บอร์ดให้ Coldplay มาแล้ว แต่ Tim ปฏิเสธไป) วินาทีนี้ถ้า Keane คิดจะวัดรอยเท้ากับ Coldplay การที่จะผูกมัดตัวเองกับการใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นคงจะเป็นอุปสรรคในการขยายจินตนาการทางดนตรีไปเสียเปล่า ผมเห็นด้วยกับการที่ Keane หันหลังให้กับการประสมวงในแบบเดิมๆและเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่เต็มตัวใน Perfect Symmetry

Viva La Vida ของ Coldplay ออกมาได้หลายเดือนแล้ว แม้จะไม่ถึงกับหยุดโลก แต่ก็ทำให้ทุกวงที่คิดจะเทียบชั้นต้องปาดเหงื่อ มันมีสุ้มเสียงที่หลากหลายแตกต่าง สร้างสรรค์แต่ไม่ยากที่จะเข้าถึง และยังไม่ทิ้งความเป็น Coldplay ไป จะว่าไปทาง Keane ก็ไม่เคยบอกว่าจะแข่งกับ Coldplay แต่ถ้าจะลองเปรียบเทียบกันแล้วก็น่าสนุก ขณะที่ Coldplay ฝากความหวังไว้เต็มที่กับปรมาจารย์โปรดิวเซอร์ Brian Eno Keane กลับโปรดิวซ์อัลบั้มกันเองเกือบทั้งหมด

อาวุธหลักของพวกเขาใน Perfect Symmetry คือการนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปในยุค 80’s กับดนตรีซินธ์ป๊อบในแบบ A-Ha, Pet Shop Boys และร็อคหนักแน่นในแบบ Simple Minds บวกกับ White Soul Sound ของ David Bowie โดยมี Jon Brion (Fiona Apple, Rufus Wainwright) และ Stuart Price (Madonna) มาช่วยและร่วมโปรดิวซ์ในบางเพลง

นอกจาก Keane ยังอนุญาตให้เสียงกีต้าร์เข้ามาเพ่นพ่านในอัลบั้มได้เต็มตัวเป็นครั้งแรกแล้ว ก็ยังมีแนวร่วมเครี่องดนตรีชิ้นอื่นๆตามมาอีกหลายอย่าง เช่น violin, cello และ musical saw ในเพลงปิดอัลบั้ม Love Is The End, แซกโซโฟนใน Pretend That You’re Alone เสียงกีต้าร์ในอัลบั้มส่วนใหญ่จะเป็นฝีมือของ Tim และ Tom เอง

เหมือนเป็นการประกาศให้แฟนๆเตรียมพร้อม พวกเขาชิมลางด้วยการเปล่อยซิงเกิ้ล Spiralling ออกมาให้โหลดกันฟรีๆก่อนพักใหญ่ มันเป็นเพลงที่แตกต่างจาก Keane ในแบบเดิมๆเหมือน...สีเหลืองกับสีแดง จังหวะกระตุกกระชาก เสียงร้องเข้มข้น และดำเนินเรื่องด้วยเสียงซินเธอะไซเซอร์ฉูดฉาด เสียงประสานวู้..วู้...นั่นช่างฟังดูพิลึกพิลั่น และเหมือนกลัวประหลาดน้อยไป Tom ยังทำท่าจะ rap ในช่วงท้ายเพลงเสียอีก มันเป็นการเปิดตัวที่ทำให้แฟน Keane กลุ่มหนึ่งถึงกับวงแตกวิ่งกระเจิงพร้อมตะโกนทั้งน้ำตาว่าคงไม่มีโอกาสได้ฟัง Keane ในแบบเดิมๆอีกแล้ว

แต่เดี๋ยวก่อน...ฝรั่งเขาใช้คำว่า ‘grow on you’ สำหรับเพลงแบบนี้ เมื่อคุณให้เวลากับมัน Spiralling เป็นหนึ่งในเพลงที่ “งามพิศ” แล้วในที่สุดคุณจะอดไม่ได้ที่จะ วู้...วู้...ตามไปกับพวกเขาด้วย เพลงนี้ได้รางวัลเพลงแห่งปีจาก “Q” นิตยสารดนตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดของอังกฤษ (ขณะที่ Coldplay คว้ารางวัลอัลบั้ม และ best act in the world ไป)

10 เพลงที่เหลือในอัลบั้มกลับมีความเป็น Keane ในแบบเดิมๆมากกว่า Spiralling ซิงเกิ้ลที่สอง The Lovers Are Losing คือ Keane ในแบบที่แฟนๆรอคอย (จากการโหวตของแฟนๆใน keanethailand.com เพลงนี้ก็นำโลด) เวลาจะทำเพลงแบบนี้ pop sense ของพวกเขาหาใครกินยากจริงๆ Better Than This มีเสียงคีย์บอร์ดในแบบ Ashes To Ashes (เพลงดังในยุคต้น 80’s ของ David Bowie) ที่เหมือนเสียจนไม่แน่ใจว่าเป็นการ sampling หรือเปล่า Tom ร้องเสียงหลบ (falsetto) อย่างสนุกคลอไปด้วยเสียงปรบมือครื้นเครง

ริฟฟ์กีต้าร์เริ่มทำงานใน You Haven’t Told Me Anything ที่โปรดิวซ์โดย Jon Brion ส่วน Stuart Price ผู้เคยโปรดิวซ์อัลบั้มดิ้นสะบัด Confessions On The Dancefloor ให้ Madonna มาช่วยโปรดิวซ์ในเพลง Again and again และ Black Burning Heart ที่โครงสร้างคล้ายเพลงในยุคแรก เพียงแต่ประดับประดาด้วยซินฯหนาเปอะจนจำกันแทบไม่ได้

เพลงที่คุณควรจะใส่ใจกับเนื้อหาสักหน่อยคือไทเทิลแทร็ค ที่ดูจงใจจะให้ยิ่งใหญ่เป็น epic ว่าด้วยเรื่องของการพลีชีพในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ (สมัยนี้สื่อเขาเรียกว่า “ระเบิดฆ่าตัวตาย”) และทำลายฝ่ายตรงข้ามหรือการเลือกที่จะอยู่กับคนที่คุณรักและสร้างสิ่งดีงาม

Perfect Symmetry เป็นงานที่ไม่ค่อยจะสมดุลย์เหมือนชื่ออัลบั้มนัก เพลงที่โดดเด่นไหลลงมากองกันที่หน้าอัลบั้มเสียเกือบหมด ไม่ได้หมายความว่าเพลงที่เหลือจะแย่ ปัญหาอาจจะอยู่ที่การเรียงเพลง? แต่อัลบั้มคลาสสิกอย่าง Joshua Tree ก็มีลักษณะ front-loaded อย่างนี้เหมือนกัน ถ้าจะจับ Perfect Symmetryไปยืนแลกหมัดกับ Viva La Vida อาจจะสูสีในยกแรกๆแต่ยกหลังๆคงต้องยอมให้ Chris Martin เขาไปอีกระยะหนึ่งครับ แฟนเก่าๆอย่าเพิ่งถอดใจไปกับซิงเกิ้ลแรก แก่นแท้ความเป็น Keane เพราะๆของพวกเขายังอยู่ดีครับ เพียงแต่แต่งตัวใหม่สดใสเฟี้ยวฟ้าวขึ้นมาหน่อย และการที่เขานำซาวนด์แบบซินธ์ป๊อบ 80’s มาใช้ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเชยหรือย้อนยุคอะไร
(Deluxe edition จะมี demo ของทุกเพลงในอัลบั้มด้วยครับ ฟังแล้วก็ดิบๆและตลกดีเหมือนกัน)

The Beatles | White Album (2)


The Beatles
White Album Recording Sessions





ตั้งแต่วันแรกที่ The Beatles เข้าห้องอัดที่ Abbey Road ตอนบ่ายสองโมงครึ่งของวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 1968 (พ.ศ. 2511) เพื่อเริ่มบันทึกเสียงเพลง Revolution บทประพันธ์ใหม่เอี่ยมของ John Lennon จนกระทั่งสองวันที่พวกเขานั่งตัดต่อเรียงเพลงกันข้ามวันข้ามคืนในวันที่16/17 ตุลาคม 1968 มันเป็นเวลาเกือบห้าเดือนเต็มที่สี่เต่าทองใช้ในการสร้างสรรค์อัลบั้มใหม่ของเขาที่เรารู้จักกันในนาม ‘The White Album’ ผลลัพธ์ที่ได้คือ 32 เพลงที่เต็มไปด้วยความหลากหลายหรืออาจจะเรียกได้ว่าไร้เอกภาพที่สุดเท่าที่พวกเขาทำมา แต่เมื่อมันมารวมกันอยู่ในซองแผ่นเสียงสีขาวนั้นแล้ว ก็กลับเป็นเสน่ห์และความประทับใจอีกครั้งสำหรับแฟนเพลงโดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องทราบถึงเบื้องหลังการทำงานในแต่ละวินาที ที่แม้จะไม่ถึงกับเต็มไปด้วยการขัดแย้งตลอดเวลา แต่มันก็ห่างไกลจากความร่วมมือร่วมใจกันในยุคของ Revolver (1966) หรือ Sgt. Pepper’s (1967) มากมายนัก


Geoff Emerick คือวิศวกรบันทึกเสียงหนุ่มผู้ร่วมงานกับ Beatles มาตั้งแต่ยุคแรกๆ เขามีส่วนในการคิดค้นสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆในการบันทึกเสียงให้กับสี่เต่าทองร่วมไปกับ George Martin โปรดิวเซอร์ของวง น่าแปลกที่ Geoff เพิ่งนึกจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ในการ “บันทึกเสียงดนตรีของ Beatles’ มาเมื่อ 2 ปีก่อน (2006) นี้เอง ข้อมูลหลายอย่างจากหนังสือเล่มนี้ (Here, There and Everywhere) ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดจากหนังสือของ Lewisohn ได้เป็นอย่างดี (Mark Lewisohn นักประวัติศาสตร์ Beatles ได้เขียนสารคดีบันทึกถึงการบันทึกเสียงของวงไว้อย่างละเอียดและน่าอัศจรรย์ใน The Complete Beatles Recording Sessions (1988) อันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่แฟนๆต้องมี) แม้ว่าในหลายจุดผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ใจในความเที่ยงตรงหรือซื่อสัตย์ของผู้เขียนเท่าไหร่นัก ตามประสาของหนังสือที่เขียนจากมุมมองของคนๆเดียว โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นที่ทราบกันไม่กี่คนอย่างนี้

การบันทึกเสียง White Album ส่วนใหญ่ดำเนินไปในห้องอัดหมายเลข 2 และ 3 ของ EMI studios แต่บางครั้งพวกเขาก็ข้ามไปใช้ห้องอัดขนาดใหญ่หมายเลข 1 (ที่มักจะใช้ในการบันทึกเสียงเพลงคลาสสิค) ด้วย ซิงเกิ้ล Hey Jude ที่บันทึกเสียงกันในช่วงนี้แต่ไม่ได้รวมอยู่ในอัลบั้ม พวกเขาเปลี่ยนบรรยากาศไปบันทึกเสียงกันที่ Trident Studios ด้วยสาเหตุอาจเป็นเพราะพวกเขาอยากลองบันทึกเสียงกันด้วยเทป 8 แทร็คกันบ้าง (ในอีเอ็มไอช่วงนั้นยังใช้เทป 4 แทร็คกันอยู่)

Geoff Emerick บรรยายบรรยากาศของการบันทึกเสียงใน sessions นี้ว่าเหมือนอยู่ในหม้ออบความดันที่เต็มไปด้วยความขมึงเกลียว สี่หนุ่ม The Beatles แทบจะไม่มีอารมณ์ขันกันในแบบยุคแรกๆให้ได้เห็น มันอาจจะเป็นเพราะความกดดันจากธุรกิจ, การเสียชีวิตของผู้จัดการวง Brian Epstein เมื่อปีก่อน,การเข้ามาของ “คนนอก” อย่าง Yoko Ono แฟนสาวคนใหม่ของ Lennon หรือพ่อมดอีเล็กโทรนิคส์กำมะลออย่าง Magic Alex ที่ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าพวก 18 มงกุฎที่มาต้มตุ๋นสี่เต่าทองโดยเฉพาะ (เขาเป็นอดีตช่างซ่อมทีวีที่เข้ามาตีสนิทกับ John และคุยโม้โอ้อวดว่าสามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ในการบันทึกเสียงต่างๆให้ Beatles มากมาย แต่เอาเข้าจริงก็ทำไม่ได้ซักอย่าง) แต่เหนืออื่นใด มันอาจจะเป็นเพราะพวกเขาเบื่อหน้ากันเต็มทนแล้วจากการทำงานด้วยกันมาเกือบสิบปี Geoff เล่าว่า ระหว่างการบันทึกเสียงฟิวส์ของแต่ละคนพร้อมจะขาดอยู่ทุกวินาที อาทิ ถ้าJohn ไปกระแนะกระแหนอะไรถึง Maharishi กูรูชาวอินเดียที่ George เคารพ George ก็ไม่ลังเลที่จะตอบโต้ บางทีพวกเขาก็ “ใส่” กันระหว่างล้อมวงรอบไมค์เพื่อบันทึกเสียง backing vocal เสียอย่างงั้น Ringo เองก็ออกอาการแทบจะทุกครั้งที่ Paul วิจารณ์การเล่นกลองของเขา หรือถ้า George กล้าตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำแนะนำทางดนตรีของPaul สุดหล่อมือเบสประจำวงก็จะออกลูกยั๊วะใส่ทันควัน และสุดท้ายถ้ามีสมาชิกคนใดบังอาจไปพูดจาระคายเคือง Yoko John ก็จะตอบโต้อย่างเจ็บแสบด้วยลิ้นอสรพิษของเขา (คู่ที่ดูจะทะเลาะกันน้อยที่สุดกลับเป็น John และ George) สรุปก็คือโดยรวมแล้วบรรยากาศเป็นพิษเสียจริงๆ

การนำเพื่อนสาวเข้ามานั่งอยู่ในห้องอัดด้วย ฟังดูก็ไม่น่าจะมีผลเสียอะไรมากมาย แต่ในเวลาที่ผ่านมาของ The Beatles พวกเขาไม่เคยอนุญาตให้มีแขกรับเชิญเข้ามาสอดแทรกเป็นการถาวรอย่างนี้ Geoff เล่าว่าช่วงแรก Yoko ก็มานั่งทำตาแป๋วเฉยๆ John อาจจะให้โอกาสเธอแหกปากตะโกนหรือร้องบางท่อนในบางเพลงของเขาบ้าง (Revolution, Everybody’s Got Something To Hide Except Me And My Monkey) แต่เหตุการณ์ที่ดูเหมือนคนอื่นจะรับไม่ได้คือ ครั้งหนึ่งที่พวกเขานั่งฟัง playback จากการบันทึกเสียงที่เพิ่งเสร็จไปใน control room แล้ว John ดันเอ่ยปากถามความเห็นจาก Yoko ว่าเธอคิดยังไงกับสิ่งที่ได้ฟัง และท่ามกลางความตกตะลึงของทุกผู้ เธอกล้าให้คำวิจารณ์ออกมา “เอ้อ มันก็ค่อนข้างดีอยู่หรอกนะ” เธอพูดด้วยเสียงเล็กๆของเธฮ “แต่ฉันว่าน่าจะเล่นให้เร็วกว่านี้อีกสักหน่อย” Geoff เล่าว่าวินาทีนั้นถ้ามีเข็มหล่นก็คงได้ยินกันทั้งห้อง ทุกคนทำหน้าเหรอหรากันหมด รวมทั้งจอห์นเอง Geoff คิดว่าศิลปินระดับพอลนั้น จะให้รับคำวิพากษ์เจ็บๆจาก John เขารับได้อยู่แล้ว แม้แต่จะเป็นจาก George หรือ Ringo ก็ตามที แต่เขาไม่คิดว่าพอลจะรับได้จากคำวิจารณ์จากผู้หญิงญี่ปุ่นตัวเล็กๆที่เป็นใครที่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ John ก็ดูจะไม่แคร์อะไร เรื่องเล็กน้อยนี้มีผลทำให้ความเป็นทีมของวงที่เหลือยู่น้อยนิดแตกสลายลงไปอีก

ความกดดันทั้งหมดนี้ แม้แต่ Ringo Starr ผู้ที่เป็นที่รู้กันว่าเป็นคนสบายๆยังไงก็ได้ก็ยังหมดความอดกลั้น หลังจากเจอคำวิจารณ์เรื่องการเล่นกลองของเขาในเพลง Back In The U.S.S.R. จาก Paul Ringo ก็ตัดสินใจถอนตัวลาออกในวันที่ 22 สิงหาคม และหนีไปพักผ่อนชายทะเลทันที โชคดีที่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็กลับมาตีกลองให้วงต่อ พร้อมกับการต้อนรับอย่างดีจากสมาชิกด้วยดอกไม้เต็มห้อง พร้อมกับยาหอม “นายเป็นมือกลองที่เยี่ยมที่สุดในโลก” แต่ความจริงก็คือ The Beatles ที่เหลือดูจะไม่แคร์กับการหายไปของมือกลองจมูกงาม พวกเขาช่วยกันเล่นกลองในเพลง Back In The U.S.S.R. กันต่อ Paul ตีกลองเองใน Dear Prudence ไม่ว่า Ringo จะรู้เรื่องนี้หรือไม่ในตอนนั้น แต่ถ้าเขาไม่กลับมา ก็เป็นไปได้ที่ The Beatles จะเดินหน้าต่อไปได้สบายๆ อย่างไรก็ตามการไปเที่ยวทะเลครั้งนี้ทำให้ Ringo ได้เพลงใหม่อีกเพลงคือ Octopus’s Garden

ตัว Geoff เองก็ลาออกจากการเป็นวิศวกรบันทึกเสียงกลาง session ฟางสองเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นตอนเหตุการณ์ที่ Paul แลกคารมกับ Martin ขณะบันทึกเสียงเพลง Ob-La-Di, Ob-La-Da ครั้งที่กี่ร้อยก็ไม่ทราบ มันเป็นขั้นตอนการบันทึกเสียงร้อง Paul และ Martin ฟังแล้วยังไม่ค่อยพอใจ เขาบอกผ่านอินเตอร์คอมจาก control room ชั้นบนลงไปที่ ห้องอัดอย่างแสนสุภาพและเกรงใจว่า “Paul คุณช่วยร้องเฉพาะบรรทัดสุดท้ายของแต่ละท่อนเวิร์สใหม่หน่อยได้ไหม?” Paul ถอดหูฟังออก มองขึ้นมาข้างบนแ ล้วตอบกลับมาว่า “ถ้าคุณคิดว่าคุณทำได้ดีกว่า ทำไมคุณแม่งไม่เดินลงมาร้องเองล่ะวะ?” Geoff เล่าว่า Martin หน้าซีดเผือด และพยายามกล้ำกลืนอารมณ์อย่าเห็นได้ชัด สิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้คือ คนเงียบๆนุ่มๆอย่าง Martin กลับตะโกนกลับลงไปว่า “งั้นก็ช่วยร้องแม่งอีกทีแล้วกัน” “ผมยอมแล้ว ผมไม่รู้จะทำยังไงที่จะช่วยคุณได้แล้ว” Geoff เล่าว่าวินาทีนั้นเขาตัดสินใจว่าอยู่ไม่ได้อีกแล้ว แต่ก่อนหน้านี้เขาก็เพิ่งโดน John อัดไป ขณะที่กำลังพยายามทำทุกวิถีทางที่ทำเสียงกีต้าร์แตกพร่าดังสนั่นอย่างที่ John ต้องการในเพลง Revolution จอห์นก็หมดความอดทน และเอ่ยให้คำแนะนำว่า “อย่างนาย ถ้าไปเป็นทหารซัก 3 เดือนคงจะดีเหมือนกัน” มันเป็นการเสียดสีทำนองว่า Geoff เป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำอะไรไม่ได้เรื่อง แต่อย่างน้อยซาวนด์ที่ Geoff ทำให้กับเสียงกีต้าร์ของ John และ George ใน Revolution (single version) จากการต่อกีต้าร์เข้ากับ Recording console โดยตรงก็กลายเป็นเสียงที่น่าประทับใจและเป็นต้นแบบให้กับเสียงกีต้าร์แบบ Grunge ในอีกหลายทศวรรษต่อมา

Geoff ไม่เหมือนกับริงโก้ เขาออกจากการบันทึกเสียง White Album แล้วไม่กลับมาอีกเลย จนกระทั่งพวกเขาบันทึกเสียง Abbey Road กันในปี 1969

หลังจาก Geoff ถอนตัวออกไป (วันสุดท้ายที่เขาทำหน้าที่คือ 16 ก.ค. 1968) The Beatles ได้วิศวกรคนใหม่ชื่อ Ken Scott ผู้ที่ต่อมาได้เป็นโปรดิวเซอร์ชื่อดังให้กับงานของ David Bowie มารับช่วงต่อจนกระทั่ง session สุดท้ายในเดือนตุลาคม แม้ผลงานที่ออกมาจะเป็น Beatles ที่เป็น back to basic ในทางที่สวนกับความอลังการของ Sgt. Pepper แต่ Geoff กลับมีความเห็นว่ามันไม่น่าจะเป็นสิ่งที่พวกเขาจงใจให้เกิดแต่แรก แต่เป็นความพยายามที่จะอธิบายผลลัพธ์ด้วยโจทย์ที่ตั้งขึ้นมาภายหลังมากกว่า

ฉบับหน้าจะเป็นการเปิดเผยเกร็ดต่างๆในแต่ละเพลง ด้วยข้อมูลใหม่ๆที่ยังไม่(ค่อย)มีใครทราบมาก่อน รวมทั้งความแตกต่างของ stereo และ mono version ของแผ่นเสียงชุดนี้ที่บางเพลง ต่างกันแทบจะเป็นคนละเพลงไปเลย

10 Beatles songs that shook the world




10 เพลงเขย่าโลกของสี่เต่าทอง


คุณอาจจะคิดว่าไม่มีเพลงอะไรที่จะเปลี่ยนโลกได้ แต่เราคิดว่ามี ลองคิดดูสิว่าถ้าไม่มีสิบเพลงบีเทิลส์ในลิสต์นี้แล้วโลกของเราจะเหมือนเดิมอย่างทุกวันนี้หรือ



1.She Loves You


ซิงเกิ้ลจากปี1963ที่ทำให้สี่หนุ่มจากลิเวอร์พูลกลายมาเป็นราชาแห่งดนตรีของเกาะอังกฤษ เราอาจจะเรียกว่ามันเป็นเพลงธีมของบีเทิลมาเนียก็ย่อมได้ คำร้อง Yeah Yeah Yeah คือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จและคือท่อนฮุคที่เด็ดขาดที่สุดที่เลนนอนและแมคคาร์ทนีย์เคยเขียนมา พ่อของพอลแนะนำให้พวกเขาใช้คำว่าเยสแทนเย้ แต่ไม่มีใครสนใจ She Loves You คือซิงเกิ้ลที่ขายดิบขายดีที่สุดของบีเทิลส์และสนุกสนานที่สุดด้วย (แม้บางคนจะคิดว่ามันคือเพลงเศร้าที่ซ่อนเร้นความนัยอยู่ก็ตาม)



2.I Want To Hold Your Hand


อเมริกาคือเป้าหมายสุดท้ายของทีมงานบีเทิลส์และพวกเขาก็พิชิตมันได้ราบคาบด้วยซิงเกิ้ลนี้ มันคือเพลงอันดับ1เพลงแรกของพวกเขาในอเมริกาในช่วงต้นปี 1964 ไม่กี่วันก่อนที่จะถึงการมาเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของวง ไบรอัน เอ็บสไตน์ยืนยันว่าเพลงนี้เป็นผลมาจากการตัดเย็บเฉพาะเพื่อถล่มตลาดอเมริกาโดยตรง ไบรอันพูดไม่ตรงเสียทีเดียว จริงๆแล้วมันเป็นเพลงสำหรับโลกทั้งใบ ส่วนผสมทุกส่วนของ I want to hold your hand นั้นทำจากวัตถุดิบชั้นเลิศทั้งสิ้น บ๊อบ ดีแลนศิลปินอเมริกันฟังคำร้องบางท่อนผิดและคิดว่านี่เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเมามัน! (ไม่นานหลังจากนั้นดีแลนก็จะได้ฟังเพลง"ยา"จากบีเทิลส์จนเบื่อ)


3. Yesterday


บันทึกเสียงในปี 1965 Yesterday ไม่เหมือนกับเพลงใดๆที่บีเทิลส์เคยบันทึกเสียงมาก่อนหน้านั้น มันไม่เหมือนกับบีเทิลส์ที่แฟนๆเคยรู้จัก เอาเข้าจริงๆแล้ว มันไม่ใช่บีเทิลส์ด้วยซ้ำ ในการบันทึกเสียงเพลงนี้คุณจะได้ยินแค่เสียงร้องหวานเศร้าของพอล แมคคาร์ทนีย์คลอไปกับอคูสติกกีต้าร์ของเขาและเครื่องสายสี่ชิ้นที่เขียนสกอร์โดยจอร์จ มาร์ติน ไม่มีเต่าทองตัวอื่นเสนอหน้าเข้ามาร่วมร้อง/บรรเลงแต่อย่างใด เพลงบัลลาดโหยหาวันวานนี้กลายมาเป็นเพลงที่ถูกนำมาขับร้องใหม่โดยศิลปินอื่นมากที่สุดในโลกและยังเป็นเพลงที่สถานีวิทยุนำมาเปิดบ่อยทีสุดอีกด้วยดูเหมือนทุกๆคนจะยังคงเชื่อในวันวานอยู่



4.Norwegian Wood (This Bird Has Flown)


ผู้ประพันธ์ จอห์น เลนนอน ต้องการเสียงที่ผิดแผกออกไปสำหรับเพลงรักประหลาดๆเพลงนี้ เขาลองแย๊ปๆให้จอร์จ แฮริสันเล่นซีต้าร์ในเพลงนี้ แม้ว่าจอร์จจะไม่ได้เล่นเลิศเลออะไรนัก แต่โลกก็ตะลึง เพราะแทบไม่มีใครเคยได้ยินเสียงเครื่องดนตรีแขกชิ้นนี้ในเพลงป๊อบตะวันตกมาก่อน จนกระทั่งทุกวันนี้ แฟนบีเทิลส์ก็ยังคงถกกันไม่เลิกว่าใครคือนางเอกที่แท้จริงในเพลงนี้


5.Eleanor Rigby


หลังจากความสำเร็จระบือโลกกับ Yesterday ที่มีแค่พอลกับสตริงควอตเต็ท หนึ่งปีต่อมา พอลและมาร์ตินจับมือกันอีกครั้งกับ Eleanor Rigby คราวนี้จอห์นกับจอร์จมาช่วยร้องประสานให้เสียงร้องนำของพอล และเครื่องสายที่คราวนี้เพิ่มขึ้นเป็นแปดชิ้น เรียบเรียงด้วยลีลาอันรุกเร้า พอลแทบจะไม่เคยเขียนเนื้อเพลงได้ดีกว่านี้อีกแล้วในชีวิตแม้ว่าจอห์นจะอ้างว่าเขาช่วยเขียนเนื้อเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ฟัง Eleanor Rigby เหมือนกับคุณได้ชมหนัง drama-thriller ในเวลาสามนาที



6.Tomorrow Never Knows


ไม่มีวงดนตรีใดจะหลุดโลกได้ขนาดนี้แล้วยังได้ใจแฟนๆอยู่ เพลงสุดท้ายของสุดยอดอัลบั้ม-Revolver ในปี 1966 แต่มันเป็นเพลงแรกที่พวกเขาบันทึกเสียงสำหรับอัลบั้ม มันมีแค่หนึ่งหรือสองคอร์ดในเพลงนี้ตามสไตล์เพลงแบบอินเดียที่พวกเขากำลังชอบกัน เสียงร้องของเลนนอนถูกดัดแปลงแต่งแต้มจนทำให้ฟังดูเหมือนเขาร้องมาจากอีกด้านของจักรวาลขณะที่ริงโก้ฟาดกลองชุดชองเขาอย่างเมา-มัน ไม่มีซินเธอไซเซอร์ในปี 1966 ดังนั้นพวกเขาจึงใช้เทปลูปและเทคนิคถอยหลังเทปเพื่อที่จะให้ได้ซาวนด์เอ็ฟเฟ็คที่ฟังในตอนนี้ก็ยังขนแขนสแตนอัพ มีวิธีเดียวที่จะฟังเพลงนี้ได้อย่างถูกต้อง ปิดสวิทช์จิตสำนึกของคุณเสียก่อนที่จะเปิดเพลงนี้



7.Strawberry Fields Forever


ในปี1967 บีเทิลส์กลายเป็นวงห้องอัดเต็มตัว พวกเขาไม่แยแสต่อไปว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน หรือต้องเล่นกันกี่เทคกว่าที่จะได้เพลงออกมาในแบบที่พวกเขาต้องการ จอห์นแต่งเพลงนี้ตอนเขาเล่นหนัง How I Won The War อยู่ที่สเปน-คนเดียวโดยไม่มีบีเทิลคนอื่นอยู่ด้วย ในเทคแรกๆของเพลงนี้มันเป็นเพลงอคูสติกชวนฝันก่อนที่จะมีพัฒนาการขึ้นทีละนิดๆผ่านหลายเทค การตัดต่อครั้งแล้วครั้งเล่า การมิกซ์ที่ซับซ้อน และการรื้อทำใหม่ในบางครั้ง กว่าที่มันจะกลายมาเป็นมหากาพย์แห่งไซคีดีลิกอย่างทีเราได้ยิน บีเทิลส์ออกเพลงนี้เป็นซิงเกิ้ลควบกับ Penny Lane ของพอล นักวิจารณ์และแฟนเพลงค่อนโลกคิดว่ามันคือซิงเกิ้ลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล มันไม่เคยไปถึงอันดับ1ในชาร์ท


8.A day In The Life


เพลงปิดฉากสุดอลังการของ Sgt. Pepper's Loney Hearts Club Band ถ้าไม่มีเพลงนี้อัลบั้มก็คงจะไม่มีทางยิ่งใหญ่อย่างที่มันเป็น จอห์นแต่งท่อนเวิร์ส3ท่อนของเพลงนี้ไว้โดยไม่มีท่อนแยก ซึ่งก็บังเอิญว่าพอลมีท่อนนี้แต่งไว้และมันก็เสียบแทรกกันได้อย่างเข้ากันสวรรค์สร้าง เนื้อเพลงของจอห์นส่วนใหญ่มาจากข่าวในหนังสือพิมพ์ ส่วนของพอลมาจากประสบการณ์วัยละอ่อนของเขาเอง เมื่อนำมารวมกันมันสร้างให้เห็นฉากของวันๆหนึ่งในชีวิตของคนธรรมดาๆคนนึง มันช่างแสนธรรมดาและก็ยังสุดจะลึกล้ำในเวลาเดียวกัน พอลและมาร์ตินช่วยกันใช้เสียงออเคสตร้ากันในแบบสุดโต่ง ทั้งเสียงและความรู้สึกของมันราวกับว่าวันสุดท้ายของโลกจะมาถึงแล้ว


9.I Am the Walrus




สิ่งที่ดีที่สุดจากหนังเลอะเทอะ Magical Mystery Tour มันยังเป็นหน้าบีของ Hello Goodbye ซิงเกิ้ลสุดท้ายของบีเทิลส์ในปี 1967 เพลงนี้สุดจะซับซ้อนในหลายแง่มุม จอห์นได้แรงบันดาลใจเริ่มต้นมาจากเสียงหวอของรถตำรวจ เขาเขียนเนื้อเพลงตามมาด้วยลีลายอกย้อนของนักเขียนคนโปรด ลูอิส แครอล แถมด้วยการใส่คำใบ้ชวนมึนเอาไว้หลายแห่งเพื่อให้แฟนเพลงว่างงานปวดหัวกันเล่น สกอร์ของมาร์ตินในเพลงนี้อาจจะเป็นงานดีที่สุดของเขา (สูสีกับ Eleanor Rigby) นำมารวมกับเสียงประสานจาก Mike Sammers Singers และการตัดต่อเสียงจากละครวิทยุเช็คเสปียร์ลงไป (จากเรื่อง Tragedy Of king Lear, Act IV, Scene VI) ที่บางคนได้ยินเสียงใครบางคนครางว่า "Oh, untimely death." นี่คือเพลงที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบทางดนตรีมากที่สุดของพวกเขา goo goo g'joob



10.The Abbey Road medley


หน้าบีของ Abbey Road อัลบั้มสุดท้ายของพวกเขาเริ่มต้นด้วย Here Comes The Sun, Because และจบด้วยเมดเลย์สองชุดใหญ่ๆที่พวกเขาเรียกกันว่า 'The Huge Melody' มันประกอบไปด้วยเพลงสั้นๆที่จอห์นและพอลแต่งไม่เสร็จจับมาเรียงร้อยถักทอเข้าด้วยกัน เมื่อฟังแยกเป็นเพลงๆมันอาจจะไม่มีอะไรยิ่งใหญ่นัก แต่เมื่อมันมารวมกันเป็นเพลงเดียวมันกลับกลายมาเป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์สุดยอดครั้งสุดท้ายของพวกเขา นี่ไม่ใช่เรื่องฟลุค และมันก็ไม่ใช่เมดเลย์พื้นๆที่เอาเพลงมาต่อๆกัน มันมีธีมบางธีมอยู่ในการเชื่อมต่อและตลอดเพลงมีการเล่นกับอารมณ์ของผู้ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ และในที่สุดพวกเขาก็ได้ความรักกลับไป มากมายกว่าที่พวกเขาได้เคยให้ไว้

Elvis Presley | The Complete 50's Masters (3-Final)




Disc: 3 1. That's When Your Heartaches
Begin 2. Take My Hand, Precious Lord 3. It Is No Secret (What God Can Do) 4.
Blueberry Hill 5. Have I Told You Lately That I Love You 6. Is It So Strange 7.
Party 8. Lonesome Cowboy 9. Hot Dog 10. One Night Of Sin 11. (Let Me Be Your)
Teddy Bear 12. Don't Leave Me Now 13. I Beg Of You 14. One Night 15. True Love
16. I Need You So 17. Loving You 18. When It Rains, It Really Pours 19.
Jailhouse Rock 20. Young And Beautiful 21. I Want To Be Free 22. (You're So
Square) Baby I Don't Care 23. Don't Leave Me Now 24. Blue Christmas 25. White
Christmas 26. Here Comes Santa Claus (Right Down Santa Claus... 27. Silent Night
28. O Little Town Of Bethlehem 29. Santa Bring My Baby Back (To Me) 30. Santa
Claus Is Back In Town 31. I'll Be Home For Christmas
ดิสก์สามเริ่มด้วยเพลงกอสเพลที่ตกค้างจากปลายแผ่นที่แล้ว ก่อนเข้าสู่การบันทึกเสียงเพื่อภาพยนตร์เรื่องถัดไป ‘Loving You’ ซึ่งมีเพลงไทเทิลที่ประทับใจไม่เบา รวมทั้งเพลงสนุกๆสไตล์เดิมๆที่ยังไม่มีอะไรสร้างสรรค์ขึ้นกว่าเดิมอย่าง Teddy Bear หรือ Got A Lot O’ Livin’ To Do! One Night เป็นซิงเกิ้ลหน้าเอที่มีการปรับเนื้อร้องให้สุภาพขึ้นกว่าเดิม และดูจะเป็นเพลงโปรดที่เอลวิสนำกลับมาร้องอีกหลายครั้งในภายหลัง ภาพยนตร์เรื่องต่อมาคือ Jailhouse Rock ที่ทุกคนรู้จัก ไทเทิลของมันน่าจะเป็นเพลงที่หนักหน่วงที่สุดในภาพยนตร์ของเอลวิสทั้งหมด Young And Beautiful เป็นเพลงช้ามากๆที่ร้องอย่างไพเราะ ส่วน Treat Me Nice และ Baby I Don’t Care ก็ร่วมกันเป็นเพลงประกอบให้ซาวนด์แทร็คชุดนี้เป็นหนึ่งในงานประกอบหนังที่ดีที่สุดของเขา ว่ากันว่า บิล แบล็คมือเบสตะบะแตกในเพลงหลังสุดนี้ถึงกับขว้างเบสทิ้งเพราะไม่สามารถเล่นได้ถูกซะที แต่เอลวิสกลับเห็นเป็นเรื่องตลกและหยิบเบสตัวนั้นมาเล่นบันทึกเสียงเอง คุณจะได้ฟังเอลวิสร้องเพลงคริสต์มาสเป็นครั้งแรกในเพลงที่ 24 –31 ซึ่งก็ไม่ค่อยต่างจากการร้องเพลงกอสเพลแบบสไตล์เขานัก Leiber/Stoller ที่ขณะนั้นเป็นนักแต่งเพลงป้อนให้เอลวิสประจำได้โชว์ฝีมือการแต่งเพลง ‘Santa Claus Is Back In Town’ สดๆในห้องอัดในช่วงเวลาแค่ 10-15 นาทีตามคำขอของเอลวิสที่ต้องการร้องเพลงคริสต์มาสใหม่ๆบ้าง
Disc: 4 1. Treat Me Nice 2. My Wish Came True 3. Don't
4. Danny 5. Hard Headed Woman 6. Trouble 7. New Orleans 8. Crawfish 9. Dixieland
Rock 10. Lover Doll 11. Don't Ask Me Why 12. As Long As I Have You 13. King
Creole 14. Young Dreams 15. Steadfast, Loyal And True 16. Doncha' Think It's
Time 17. Your Cheatin' Heart 18. Wear My Ring Around Your Neck 19. I Need Your
Love Tonight 20. A Big Hunk O' Love 21. Ain't That Loving You Baby 22. (Now And
Then There's) A Fool Such As I 23. I Got Stung 24. Interview With Elvis

Don’t เพลงช้าที่โรแมนติกที่สุดเพลงหนึ่งของเขา บันทึกเสียงในวันเดียวกับเพลงคริสต์มาสในดิสก์ที่สาม และเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ผุ้ประพันธ์ Leiber/Stoller ภาคภูมิใจ Elvis เริ่มปี 1958 ด้วย King Creole อันเป็นซาวนด์แทร็คที่มีน้ำเสียงต่างออกไปด้วยเครื่องเป่าฉูดฉาดและการวางวงแบบบิ๊กแบนด์ เพลงที่โดดเด่นที่สุดในเซสชั่นนี้คือ Hard Headed Woman และ Trouble

กลับมาที่ Radio Recorders ใน Hollywood วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เอลวิสบันทึกซิงเกิ้ลใหม่ได้หนึ่งแผ่นคือ Wear My Ring Around Your Neck/Doncha’ Think it’s Time เพลงหลังนี่เป็นเพลงโปรดส่วนตัวของผมที่เอลวิสร้องในสไตล์สะอึกสะอื้นอีกครั้ง เขายังได้นำเพลงคลาสสิกของแฮงค์ วิลเลี่ยมส์ ‘Your Cheatin’ Heart’ มาเล่นด้วย แต่กว่าจะออกมาขายก็ถูกดองไว้อีกเจ็ดปี ว่ากันว่าเอลวิสไม่ค่อยพอใจกับการบันทึกเสียงในวันนี้นัก 10 มิถุนายน 1958 เป็นวันสุดท้ายในยุค 50’s ที่เอลวิสเข้าห้องบันทึกเสียงในเพลงที่ 19-23 ในดิสก์นี้ซึ่งต่อมาได้ออกเป็นซิงเกิ้ลล้วนๆ ก่อนที่เขาจะเดินออกจากห้องอัดไปในเช้าตรู่ของวันที่ 11 มิถุนายน เพื่อไปรับใช้ชาติในนาม Private Elvis ทิ้งภาระทั้งหมดไว้ให้ Tom Parker ผู้จัดการ และ Steve Sholes แห่งอาร์ซีเอ ให้จัดการกับเรื่องราวทั้งหมด รอวันที่เขาจะกลับมา ดิสก์สี่ปิดท้ายด้วยบทสัมภาษณ์ยาว 12 นาทีกว่าๆจาก press conference ในวันที่ 22 กันยายน 1958
Disc: 5 1. That's When Your Heartaches Begin (acetate
1953) 2. Fool, Fool, Fool (acetate 1955) 3. Tweedle Dee (live, Texas 1954) 4.
Maybellene (Live, Louisiana 1955) 5. Shake, Rattle And Roll (live Texas 1955) 6.
Blue Moon Of Kentucky (early take) 7. Blue Moon (unreleased outtake) 8. I'm
Left, You're Right, She's Gone (outtake) 9. Reconsider Baby (Million Dollar
Quartet unreleased) 10. Lawdy, Miss Clawdy (Unreleased Outtake) 11. Shake,
Rattle And Roll (Unreleased Outtake) 12. I Want You, I Need You, I Love You
(Unreleased Outtake) 13-16 Live at Las Vegas 1956 13. Heartbreak Hotel 14. Long
Tall Sally 15. Blue Suede Shoes 16. Money Honey 17. We're Gonna Move (Unreleased Outtake) 18. Old Shep (alternate master) 19. I Beg Of You (alternate master) 20.
Loving You (Slow Version) (previously unreleased master) 21. Loving You (Uptempo Version) (previously unreleased alternate take) 22. Young And Beautiful
(previously unreleased alternate master) 23. I Want To Be Free (previously
unreleased alternate master) 24. King Creole (alternate master) 25. As Long As I
Have You (alternate master) 26. Ain't That Loving You Baby (Fast Version)
(outtake)

อ่านในวงเล็บกันเองนะครับ สำหรับความหายากและแปลกประหลาดของแต่ละแทร็คในแผ่นที่ห้านี้ สำหรับแฟนๆที่มีทุกเพลงในสี่แผ่นแรกอยู่แล้ว แผ่นห้านี้แผ่นเดียวก็คงต้องทำให้คุณต้องไปซื้อบอกซ์นี้มาจนได้ จะเรียกว่า”แค่แผ่นเดียวก็คุ้ม”ได้ไหมครับนี่?

เอลวิส เพรสลี่ย์กับชื่อเสียงและความนิยมของเขาในบ้านเรานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังขา
ในบรรดาศิลปินรุ่นเดอะด้วยกัน แม้แต่เดอะ บีเทิลส์ก็ไม่อาจเทียบความดังได้ ส่วนใหญ่เพลงที่ฮิตในบ้านเราจะเป็นช่วงที่เขาหันไปร้องเพลงป๊อบในแนวผู้ใหญ่มากขึ้นในยุคซิกซ์ตี้ส์มากกว่า เพลงในยุค 50’s นี้ถูกนำมาร้องและเล่นกันไม่มากนัก แต่ถ้าคุณอยากศึกษางานของเอลวิสในแง่ของความเป็นราชาแห่งร็อคแอนด์โรล นี่คือประวัติศาสตร์ที่พลาดไม่ได้ มันคือ boxset แห่ง boxset ที่ถ้าจะมีการจัดอันดับ Rock’s greatest boxset of all-time The King Of Rock ‘N’ Roll-The Complete 50’s Masters ต้องติดอันดับ 1 ใน 5 อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว เนื้อแท้ของดนตรีก็ยังทรงพลังและให้ความครึกครื้นในการฟังไม่เสื่อมคลายทั้งๆที่เป็นผลงานที่ผ่านห้วงเวลามาแล้วร่วมครึ่งศตวรรษ นี่คือหลักฐานที่ไม่ต้องการการชันสูตรว่าเอลวิสไม่เป็นแต่เพียง icon เท่านั้น (อย่างที่คนทั่วไปในยุคนี้มีแนวโน้มจะคิดกับเขาเช่นนั้น) เขาเป็น true artist ‘The King Of Rock ‘N’ Roll’ ไม่ใช่บ๊อกซ์ที่จะเก็บไว้ขึ้นหิ้งบูชา แต่ควรจะซื้อหามาวางไว้ใกล้มือพร้อมจะเปิดฟังกันเสมอๆ บทเพลงของเอลวิสในชุดนี้สามารถทำให้วันที่ย่ำแย่และเหนื่อยล้าของคุณสดใสขึ้นมาได้-ไม่มากก็น้อย

Elvis Presley | The Complete 50's Masters (2)


Disc: 2 1. Lawdy, Miss Clawdy 2. Shake, Rattle And Roll 3. I Want You, I Need You, I Love You 4. Hound Dog 5. Don't Be Cruel 6. Any Way You Want Me (That's How I Will Be) 7. We're Gonna Move 8. Love Me Tender 9. Poor Boy 10. Let Me 11. Playing For Keeps 12. Love Me 13. Paralyzed 14. How Do You Think I Feel 15. How's The World Treating You 16. When My Blue Moon Turns To Gold Again 17. Long Tall Sally 18. Old Shep 19. Too Much 20. Anyplace Is Paradise 21. Ready Teddy 22. First In Line 23. Rip It Up 24. I Believe 25. Tell Me Why 26. Got A Lot O' Livin' To Do! 27. All Shook Up 28. Mean Woman Blues 29. (There'll Be) Peace In The Valley (For Me)



แผ่นที่สองเป็นการก้าวเข้าสู่จุดสูงสุดของราชาร็อคแอนด์โรลด้วยซิงเกิ้ลเขย่าโลก Hound Dog/Don’t Be Cruel ที่ไม่มีนักฟังคนไหนไม่รู้จัก Hound Dog นั้นทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเพลงจากยุคฟิฟตี้ส์ กีต้าร์ของสก็อตตี้แผดเสียงสนั่น ขณะที่ริธึ่มเซกชั่นจากบิล แบล็ค และ ดีเจ ฟอนตานา ก็หนักแน่นเหมือนรถไฟทั้งขบวน เสียงร้องประสานและเสียงปรบมือจาก The Jordanaires ก็เหมาะเจาะกับบทเพลงอย่างที่สุด เอลวิสร้องอย่างเอร็ดอร่อยในเพลงนี้เทคแล้วเทคเล่าและแต่ละเทคที่ผ่านไปความดิบและคมกริบก็ทวีขึ้นเรื่อยๆ จนเขาถึงที่สุดแห่งความพอใจในเทคที่ 31 ว่ากันว่าทุกคนในห้องถึงกับถอนหายใจด้วยความโล่ง ส่วน ‘Don’t Be Cruel’ นั้นเป็นอีกอารมณ์หนึ่งเลย เอลวิสโชว์ทักษะการร้องด้วยเสียงสูงคล้ายๆ falsetto แต่ไม่ใช่ ทั้งเพลง รวมทั้งการ”เปลี่ยนเกียร์”ของเพลงในวินาทีที่ 48 ด้วยเสียง hmmmmmmmm… ที่ไม่มีใครทำได้เสมอเหมือน Anyway You Want Me เป็นเพลงช้าๆที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักนักที่เอลวิสร้องได้ถึงอารมณ์มากอีกเพลงหนึ่ง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเขาได้มีโอกาสร้องเพลงโซลแท้ๆในยุคนั้นจะเป็นอย่างไร ภาพยนตร์เริ่มเป็นเป้าหมายต่อไปของผู้พันปาร์คเกอร์ ผู้จัดการของเอลวิส และหนังเรื่องแรกของเขาก็คือ ‘Love Me Tender’ ที่ไม่มีใครไม่รู้จักบทเพลงชื่อเดียวกันนี้ ในการบันทึกเสียงของซาวนด์แทร็คนี้เอลวิสต้องไปเล่นดนตรีกับวงที่เขาไม่รู้จักมาก่อนด้วยกฏเกณฑ์บางอย่างทำให้เขาไม่อาจใช้วงดนตรีประจำตัวได้ รวมทั้งไม่มีสิทธิเสียงในการเลือกตัวเพลงนักด้วย ผลออกมาจึงไม่ค่อยประทับใจนัก แต่ก็เป็นโอกาสเดียวที่จะได้ฟังเอลวิสร้องเพลงแบบ hillbilly ในเพลง Let Me กลับมาสู่การทำอัลบั้มด้วยวงดนตรีประจำตัวในวันที่ 1-3 กันยายน 1956 เพลงที่น่าสนใจในเซสชั่นนี้คือ Love Me ทั้งๆที่ผู้แต่งคือ Leiber/Stoller ไม่ค่อยจะแยแสกับตัวเพลงนี้นัก เหมือนเขาจะแต่งให้เป็นเพลงล้อเลียนตลกๆเท่านั้น แต่เอลวิสไม่คิดเช่นนั้น เขามองมันอย่างจริงจัง และสร้างเวอร์ชั่นอมตะออกมาที่ภายหลังผู้ให้กำเนิดก็ต้องเปลี่ยนแปลงความคิด (ในโพลของนิตยสาร Mojo ครั้งหนึ่ง เคยยกให้ประโยคแรกของเพลงนี้เป็นช่วงเวลา”ที่สุด” แห่งการร้องเพลงของเอลวิส) ปกติเพลงในการบันทึกเสียงของเอลวิสที่ปรากฏในแผ่นมักจะไม่ใช่เทคเดียว แต่ใน Old Shep เพลงที่เขาเคยร้องประกวดได้ที่ห้าตอน 10 ขวบ มาสเตอร์คือเทค 1 เด็กอะไรเลือกเพลงเศร้าเป็นบ้าขนาดนี้มาร้อง! Elvis จบปี 1956 ลงด้วยความสำเร็จที่ไม่รู้จะพรรณนาอย่างไรดี เขาเริ่มต้นการบันทึกเสียงในปี 1957 ในวันที่ 12-13 มกราคม โดยมีเป้าหมายที่การทำ เพลงในแนว Gospel ที่เอลวิสหลงใหลมานาน สัก 1 อีพี และซิงเกิ้ลอีกสักเพลงสองเพลง และอีพีที่ว่าก็คือ Peace In The Valley อันประกอบไปด้วย (There’ll Be) Peace In The Valley (For Me), It Is No Secret (What God Can Do),I Believe, Take My Hand, Precious Lord เป็นเรื่องขัดกันอย่างรุนแรงสำหรับนักร้องร็อคแอนด์โรลผู้อื้อฉาวด้วยท่าสะบัดสะโพกที่ผู้ปกครองรับไม่ได้กับการขับร้องเพลงศาสนาที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธา และทำได้อย่างเลิศเลอทั้งสองอย่าง! (ถ้าคุณชอบเขาร้องเพลงสวด แนะนำชุด Amazing Grace) ส่วนซิงเกิ้ลทีเด็ดจากเซสชั่นนี้คือ ‘All Shook Up” ที่มาในสไตล์ ‘Don’t Be Cruel’ และเป็นไปได้ว่า The Beatles จะนำคำว่า ‘Yeah’ อันกระฉ่อนโลกมาจากเพลงนี้ อันเต็มไปด้วยเสียงบ่งบอกอารมณ์ที่ไม่มีในพจนานุกรมเหล่านี้เต็มไปหมด

Elvis Presley The Complete 50's Masters (1)


Elvis PresleyThe King Of Rock ‘N’ Roll
The Complete 50’s Masters (RCA 66050-2/4) released date- 1992





เมื่อสักสองสามปีก่อน รายการเกมโชว์ชื่อดัง-“แฟนพันธุ์แท้”ได้จัดการแข่งขันเพื่อหาสุดยอดแฟนของราชาร็อคแอนด์โรลผู้ยิ่งยงผู้นี้ ผมจำไม่ได้แล้วล่ะว่าใครได้แชมป์ไป
แต่จำได้ดีว่าหนึ่งในของรางวัลสำหรับผู้ที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศคือ สิ่งที่พิธีกรบอกว่าหายากเหลือเกินและผู้ที่ได้ไปต้องสูดปากซี้ดด้วยความสะใจในความยิ่งใหญ่ของรางวัลนี้
รางวัลที่ว่าก็คือ boxset นี้ล่ะครับ ผมเห็นผู้ชนะเลิศทำหน้าปูเลี่ยนๆ ไม่ใช่ว่า
boxset นี้ไม่ดี ความสุดยอดของมันไม่มีใครกล้าปฏิเสธ และผมก็ไม่คิดว่าจะมีแฟนตัวจริงของเอลวิสคนไหนจะมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากมัน พูดง่ายๆก็คือคุณแฟนพันธุ์แท้คนนั้นก็ต้องเป็นเจ้าของมันอยู่ก่อนแล้วอย่างแน่นอนที่สุด


บอกซ์นี้ปรากฎแก่สายตาชาวโลกในปี 1992 ก่อนหน้านี้งานของเอลวิสไม่เคยได้รับการจัดระเบียบให้เป็นเรื่องเป็นราว อาร์ซีเอจับเพลงของเดอะคิงมารวมกันให้เปรอะไปหมด และการที่จะเก็บงานของเอลวิสให้ครบถ้วนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเงินตราอย่างมหาศาลทีเดียว จนกระทั่ง The King Of Rock ‘N’ Roll-The Complete 50’s Masters ออกมาถมช่องว่างตลาดตรงนี้ให้เต็ม 140 แทรคในซีดีห้าแผ่นนี้อาจจะไม่ใช่ทุกสิ่งที่เอลวิสบันทึกเสียงไว้ในยุคฟิฟตี้ส์ มันอาจจะตกหล่นแผ่นอะซิเตทบางส่วนที่มาค้นพบภายหลัง และ alternate takes อีกมาก รวมทั้งจาก sun sessions แต่ก็พูดได้เลยว่ามาสเตอร์ทั้งหมดที่ออกมาในนามของเขาในยุค50’s ได้ถูกรวบรวมไว้ ณ ที่นี้หมดแล้ว แผ่นที่ห้าจะรวมเพลงหายากที่คัดสรรแล้วและการแสดงสดในยุคนั้นเอาไว้ในชื่อ Rare and Rockin’ ส่วนอีกสี่แผ่นจะเป็นการไล่เรียงตามห้วงเวลานับตั้งแต่เอลวิสเดินเข้ามาบันทึกเสียงใน Sun studio ที่เมมฟิสเป็นครั้งแรกเพื่อร้องเพลงอัดแผ่นให้คุณแม่ของเขา, การบันทึกเสียงใน Sun sessions กับ Sam Philips ทุกเพลงที่ออกมาเป็นซิงเกิ้ลและที่ไม่ได้ออกด้วยที่นักวิจารณ์และแฟนเพลงหลายคนยกย่องว่าเป็นจุดสูงสุดในอาชีพของเอลวิส จวบจนเขาย้ายไปค่ายใหญ่กว่า-อาร์ซีเอและก้าวเข้าสู่บัลลังก์แห่งร็อคแอนด์โรลอย่างแท้จริง จนกระทั่งเซสชั่นสุดท้ายแห่งยุค 50’s ในเดือนมิถุนายน 1958 ก่อนที่เขาจะปิดฉากความยิ่งใหญ่ของความเป็นราชาร็อคด้วยการหั่นผมและจอนอันลือลั่นจนสั้นจู๋เดินเข้าสู่กองทัพเพื่อรับใช้ชาติ และ-บางคนเคยเอ่ยเปรียบเปรยไว้-เสียชีวิตแห่งราชาในนั้น เพราะแม้ว่าเขาจะยังคงสร้างงานอันยอดเยี่ยมได้อีกมากมายหลังจากยุค 50’s แต่พลังแห่งความเป็นร็อคแอนด์โรลอันฉกรรจ์กร้าวนั้น ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงในยุคนี้เท่านั้น

Disc: 1 1. My Happiness 2. That's All Right 3. I Love You Because 4. Harbor Lights 5. Blue Moon Of Kentucky 6. Blue Moon 7. Tomorrow Night 8. I'll Never Let You Go (Little Darlin') 9. I Don't Care If The Sun Don't Shine 10. Just Because 11. Good Rockin' Tonight 12. Milkcow Blues Boogie 13. You're A Heartbreaker 14. Baby Let's Play House 15. I'm Left, You're Right, She's Gone 16. Mystery Train 17. I Forgot To Remember To Forget 18. Trying To Get To You 19. When It Rains, It Really Pours 20. I Got A Woman 21. Heartbreak Hotel 22. Money Honey 23. I'm Counting On You 24. I Was The One 25. Blue Suede Shoes 26. My Baby Left Me 27. One-Sided Love Affair 28. So Glad You're Mine 29. I'm Gonna Sit Right Down And Cry (Over You) 30. Tutti Frutti


บอกซ์นี้เริ่มขึ้นด้วยเพลง ‘My Happiness’ ที่เป็นการบันทึกเสียงในห้องอัดครั้งแรกของเอลวิสที่ Memphis Recording Service ของ Sam Philips เจ้าของ Sun Records ในวันหนึ่งของฤดูร้อนของปี 1953 ขณะหนุ่มเพรสลี่ย์อายุได้ 18 ปี เขาร้องคนเดียวสดๆและเล่นกีต้าร์คลอไปด้วย และบันทึกเสียงลงแผ่นครั่ง (acetate) โดยมีด้านหลังของแผ่นคือเพลง ‘That’s When Your Heartache Begins’ (อยู่ในแผ่นที่ห้าของบอกซ์นี้) ทุกวันนี้เริ่มจะเป็นที่เชื่อกันว่าเอลวิสไม่ได้ไปบันทึกเสียงให้แม่ของเขาตามที่ตำนานเล่า แต่เป็นการโปรโมทตัวเองให้”ใครสักคน” ที่กำลังมองหานักร้องสักคนไปบันทึกเสียงมากกว่า ในวันนี้ที่เอลวิสได้พูดคุยกับ Marion Keisker เจ้าหน้าที่หญิงที่ทำงานให้แซม และบทสนทนาระหว่างเขาและเธอก็กลายเป็นอมตะไปแล้ว “เธอร้องเพลงประเภทไหน?” Marion ถาม “ผมร้องทุกประเภท” “เธอมีเสียงร้องเหมือนใครล่ะ?”“ผมเสียงไม่เหมือนใคร” แม้คำตอบของเอลวิสอาจจะดูเว่อร์ไปนิดในฤดูร้อนของปีนั้น แต่ในอีกไม่กี่ปีถัดมา ใครจะปฏิเสธถึงความสามารถในการร้องเพลงได้หลายรูปแบบและในขณะเดียวกันก็ดำรงในความเป็นเอกลักษณ์ของน้ำเสียงที่ใครฟังก็ต้องจำได้และ-ไม่มีใครทำได้เหมือน การโปรโมทตัวเองของเอลวิสในวันนั้นดูจะไม่ได้เรื่องอะไร แม้ว่ามารีออนจะโน้ตไว้ในสมุดบันทึกของเธอว่า “นักร้องบัลลาดชั้นดี จับตา” ก็ตาม มกราคมปีต่อมา เอลวิสก็แวะเข้ามาบันทึกเสียงแบบเดิมนี้อีกครั้งในเพลง ‘I’ll Never Stand In Your Way” และ ‘It Wouldn’t Be The Same Without You” (ทั้งสองเพลงไม่มีในบอกซ์นี้ แต่อยู่ใน ‘Sunrise’ และ ‘Platinum: A Life In Music”) 26 มิถุนายน ความพยายามของเขาก็เป็นผล เมื่อมารีออนโทรไปเรียกเขา ถามว่าเขาจะมาที่สตูดิโอตอนบ่ายสามได้หรือไม่? ซึ่งเอลวิสได้กล่าวติดตลกภายหลังว่า เขาไปโผล่ที่นั่นทันทีที่เธอวางหูโทรศัพท์ลง แซม ฟิลิปส์ได้ลองทดสอบการร้องเพลงของเอลวิสในวันนั้น และเขาก็พบว่าเด็กคนนี้มีอะไรบางอย่างแต่เขายังไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร สิ่งหนึ่งที่แซมมั่นใจว่าตัวเขาเองมีคือ-พรสวรรค์ในการมองหาพรสวรรค์ในตัวใครสักคน และถ้าคนๆนั้นมีพรสวรรค์ดังว่า แซมก็มีอีกความสามารถหนึ่งที่จะดึงเอาพรสวรรค์ของคนๆนั้นออกมาให้ได้ แซมไม่อาจทำได้ในวันนั้น แต่ในอีกราวสิบกว่าวันต่อมา เขาก็ค้นพบสิ่งนั้นในตัวเอลวิส เขาแนะนำให้เอลวิสได้รู้จักกับมือกีต้าร์ในสังกัดของเขา Scotty Moore และมือเบส Bill Blackและหลังจากได้ไปแจมกันเล็กน้อยที่บ้านของสก็อตตี้ในวันอาทิตย์ต่อมา ในวันที่ 5 มกราคม 1954 เอลวิส เพรสลี่ย์, สก็อตตี้ มัวร์ และ บิล แบล็ค ก็ได้อยู่ในห้องบันทึกเสียงของ Sun Studio ใน Memphis ร่วมกันเป็นครั้งแรก และ 18 เพลงในดิสก์1นี้ก็คือประวัติศาสตร์ที่ทริโอวงนี้ทำเอาไว้ ตั้งแต่เพลง ‘That’s All Right’ ที่เกิดมาจากการแจมเล่นๆโดยแท้ แต่กลายมาเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอันดับต้นๆในประวัติศาสตร์ร็อคแอนด์โรลไปแล้ว จนกระทั่งเพลงสุดท้ายคือ ‘When It Rains, It Really Pours’ เอลวิสและสหายอาจจะไม่ใช่ผู้คิดค้นดนตรีร็อคแอนด์โรล แต่ผลงานทั้งหมดที่พวกเขาร้องและเล่นกันไว้ในนี้ก็เป็นอะไรที่ฉีกขนบเดิมของดนตรีอเมริกัน เป็นพลังแห่งจังหวะและเสียงร้องที่ผสมผสานความเป็นคันทรี่ กอสเพล และดนตรีของคนดำเข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนกับพวกเขาเล่นเพลงแบบนี้มาชั่วชีวิต ซึ่งความลื่นไหลและเป็นธรรมชาติดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอีกเลย หลังจากเอลวิสถูก “ซื้อตัว” ไปอยู่กับอาร์ซีเอแล้ว ไม่ว่าโปรดิวเซอร์หรือวิศวกรจะพยามเท่าไหร่ก็ไม่อาจสร้างเสียงแบบ “ซันซาวนด์” ได้อีก



เอลวิสเริ่มชีวิตการบันทึกเสียงให้อาร์ซีเออันเป็นสังกัดสุดท้ายในชีวิตของเขาในวันที่ 10 มกราคม 1956 ด้วยความเป็นศิลปินดาวรุ่งที่ทุกคนจับตามอง และยังย้ายสังกัดมาด้วยค่าตัวที่แพงเป็นประวัติการณ์ทำให้การบันทึกเสียงในวันนั้นค่อนข้างจะตึงเครียด แต่เอลวิสเองดูจะผ่อนคลาย ในสองวันนี้พวกเขาบันทึกเสียงกันห้าเพลง รวมทั้งเพลงบลูส์พันธุ์ทาง ‘Heartbreak Hotel’ ที่กลายมาเป็นซิงเกิ้ลแรกอันยิ่งใหญ่และหนึ่งในเพลงประจำตัวของเขาในยุคแรก ‘I Got A Woman’ เป็นการนำเพลงของเรย์ ชาร์ลส์มาตีความเป็นร็อคแอนด์โรลได้อย่างสนุกสนาน ในเซสชั่นที่สองของอาร์ซีเอ ทีมงานพยายาม”เพลย์เซฟ” ด้วยการนำเพลง ‘Blue Suede Shoes’ ที่กำลังโด่งดังของคาร์ล เพอร์กินส์มาบันทึกเสียง ในกรณีที่ ‘Heartbreak Hotel’ แป้ก พวกเขาวางแผนจะออกเพลงนี้เป็นซิงเกิ้ล แต่ทุกวันนี้แทบไม่มีใครจำเวอร์ชั่นของเพอร์กินส์ได้แล้ว ถ้าใครอยากจะลองฟังว่าเทคนิคการร้องแบบ”เอลวิส” นั้นมีอะไร และเป็นอย่างไรบ้าง ผมขอแนะนำให้ฟังได้ใน ‘One-Sided Love Affair’ ที่เอลวิสร้องประชันไปกับเปียโนบูกี้อันเร่าร้อนของ Shorty Long คุณจะได้ฟังเอลวิสขุดทุกอย่างที่เขามีออกมา การร้องแบบสะอึกๆ การเน้นวลีและตัดคำในประโยคแบบแปลกๆ ทำเสียงเล็กเสียงใหญ่สลับกันไปอย่างรวดเร็ว ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงนี้ ผมก็อดยิ้มไปกับความสนุกของเขาไม่ได้ เอลวิสดูจะถูกชะตากับเพลงที่เป็นงานประพันธ์ของ Arthur Crudup เพราะใน ‘So Glad You’re Mine’ เขาก็ร้องได้ยอดเยี่ยมพอๆกับที่ทำไว้ใน ‘That’s All Right’ ดิสก์หนึ่งจบลงที่การ cover เพลงประจำตัวของ Little Richard ‘Tutti Frutti’ ซึ่งแม้ว่าเอลวิสจะโยกอย่างเมามันส์อย่างไร ก็ยังไม่ได้ความ”คลั่ง”กับที่ตาริชาร์ดกรี้ดเอาไว้

Hidden Tracks


คุณคงเคย...เปิดแผ่นซีดีทิ้งเอาไว้ ฟังจนเงียบไป นึกว่าจบแล้ว แต่เวลาผ่านไปสิบห้านาทีขณะที่คุณกำลังล้างจานเพลินๆ กลับมีเสียงดนตรีที่คุณสาบานว่าไม่เคยได้ยินมาก่อนแผดขึ้นมา ฟังไปฟังมา มันก็เพลงของไอ้วงที่เราเปิดเมื่อกี้นี่หว่า....




นั่นละครับ hidden track ปัญหาคือมันจะซุกจะซ่อนไปทำไม ทำให้เสียภาษีน้อยลง หรือว่าไปขโมยเพลงใครเขามา


ไม่น่าเชื่อครับ ในบางกรณี การซุกเพลงเกิดขึ้นเพราะเหตุผลดังกล่าวจริงๆ เช่นในบางอัลบั้ม live ของ The Ramones หรือ The Spaghetti Incident? ของ GNR ที่เอาเพลงของชาร์ลส์ แมนสันมาเล่น (Look at your game, girl) อันถือเป็นเรื่องน่าประนามที่เอาเพลงของฆาตกรโหดมาเผยแพร่


แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะซุกเพื่อความสนุกสนานมากกว่า หรือไม่ก็เพลง hidden track นั้นไม่เข้าพวกกับเพลงอื่นๆในอัลบั้มก็เลยต้องซุกแยกออกไป


คำจำกัดความของ hidden track ก็คือเพลงหรือบางส่วนของดนตรีที่ถูกบันทึกไว้ในแผ่นเสียง ซีดี หรือ เทป ด้วยกรรมวิธีในการที่จะทำให้ผู้ฟังทั่วไปไม่อาจจะค้นหาหรือแม้แต่ทราบว่ามันมีอยู่ได้ ส่วนใหญ่การซุกเพลงจะเป็นไปด้วยความจงใจ แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่เป็นความบกพร่องโดยสุจริต (สาบาน!)


กรรมวิธีในการซุกเพลงถ้าเป็นในแผ่นไวนีล ส่วนมากก็ใช้วิธีหลอกกันดื้อๆด้วยการไม่ใส่ชื่อเพลงลงบนปกซะงั้น แต่บางเจ้าก็ลงทุนทำแผ่นเสียงเป็น double-grooved โดยเพลงที่จะซุกถูกซ่อนไว้ในร่องที่สอง (บอกตามตรงว่าผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจ)


พอมาเป็นซีดี ก็มีลีลาในการซุกได้น่าเกลียดยิ่งขึ้นแต่ก็มีบางรายยังใช้วิธีซุกแบบเดิมๆคือไม่ใส่ชื่อเพลงบนปก แต่มีแทร็คขึ้นตามปกติในเครื่องเล่น เช่น Train In Vain ของ The Clash ใน London Calling แต่เพลงนี้ดั้งเดิมในไวนีลเป็นการซุกโดยสุจริต เพราะพวกเขาใส่เพลงนี้เข้ามาในวินาทีสุดท้าย ปั้มชื่อเพลงไม่ทัน (เชื่อมันไหม)


วิธีการซุกที่เป็นที่นิยมสุดๆก็คือใส่เพลงที่ต้องการซ๋อนแอบเอาไว้หลังอีกเพลงนึง (ส่วนมากจะเป็นเพลงสุดท้าย) โดยทิ้งช่วงเป็นความเงียบงันนานๆหลายนาที อาทิเช่น Endless, Nameless ของ Nirvana ใน Nevermind


อีกวิธีที่แสบสันต์และเชื่อว่าหลายคนยังไม่คาดว่ามันจะมาไม้นี้ ก็คือการซุกซ่อนเอาไว้หน้าแทร็ค 1 หรือจะเรียกว่าแทร็ค 0 ก็ได้ วิธีการฟังเพลงซุกแบบนี้ต้องเปิดเพลงแรกก่อนแล้วกดปุ่มรีไวน์ถอยหลังจนเกินเข้าไปในแทร็ค 0 หรือเรียกว่าช่วง pregap อัลบั้มใหม่ของ Damien Rice ก็ใช้วิธีการนี้ และรวมถึงอัลบั้ม Think Tank ของ Blur ด้วย


วิธีการใส่แทร็คสั้นๆที่ไม่มีเสียงอะไรหลายๆแทร็คก่อนที่จะได้ฟังแทร็คที่ซุกเอาไว้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง อัลบั้ม Broken ของ Nine Inch Nails ให้เราฟังหกเพลงหลักแล้วก็ยัดแทร็คเงียบๆมาอีก 91 แทร็ค ก่อนที่จะมีเพลงซุกซ่อนอยู่อีกสองเพลง


บางทีก็มีพวกสิ้นคิดใช้วิธีนี้-แทร็คที่ซุกซ่อนจะเล่นได้เฉพาะเมื่อใส่ซีดีเข้าไปในคอมพิวเตอร์เท่านั้น
The Beatles อาจจะเป็นศิลปินคนแรกที่เล่นพิเรนแบบนี้ กับเพลง Her Majesty ใน Abbey Road (แต่ตอนหลังในยุคซีดีกลับมีชื่อเพลงนี้บนปก) หรือบางคนก็นับ Can You Take Me Back ที่เป็นเพลงสั้นๆระหว่าง Cry Baby Cry และ Revolution9 บางทีอาจจะต้องย้อนกลับไปถึงปี 1967 กับ Sgt. Pepper's ที่มีการเล่นกับ groove ใน Sgt. Pepper's Inner Groove หรือเสียง high frequency noise หลัง A Day In The Life
น่าขำที่บางทีเพลง hidden tracks เหล่านี้กลับกลายเป็นเพลงฮิตกว่าเพลงที่ไม่ซุกเสียอีก เช่น Can't Take My Eyes Off You ของ Lauryn Hill หรือ Big Yellow Taxi ของ Counting Crows

Elvis- Ultimate Gospel


Elvis Presley Ultimate Gospel
Rock and Roll with God


ครั้งแรกที่ผมบอกบ.ก.อนุสรณ์ว่าอยากจะขอรีวิวอัลบัมนี้ ท่านตอบอนุญาตอย่างไม่ลังเล เพราะคงไม่มีใครแย่งเขียนแน่(น่าดีใจดีไหม?) แถมกล่าวสำทับว่า "แค่ชื่อ(ของอัลบัม) ก็ไม่ขายแล้ว" นั่นน่ะสิครับ นักฟังทั่วๆไป เห็นชื่อว่านี่เป็นซีดีรวมเพลง "สุดยอดแห่งเพลงศาสนาของราชาร็อคแอนด์โรล" คงไม่ใช่คำโฆษณาที่ดีนักสำหรับซีดีแผ่นหนึ่งแน่ๆ ซึ่งในความเห็นของผม น่าเสียดายเหลือเกินถ้าใครจะมองข้ามงานเยี่ยมๆของเอลวิส เพรสลีย์ในรูปแบบนี้ไป ด้วยข้อหาเพราะว่ามันเป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าของชาวคริสต์เท่านั้น โดยเนื้อหา แน่นอนเพลง Gospel ก็ต้องเป็นไปในทำนองนั้นทุกเพลง ในรูปแบบของความเชื่อ ความศรัทธา เป็นแกนหลัก แต่ Gospel ไม่ได้มีแนวดนตรีที่แยกออกมาอย่างชัดเจน มันก็มีพื่นฐานมาจาก บลูส์ คันทรี่ โซล ริธึ่มแอนด์บลูส์ ที่เราคุ้นเคยกันนี่แหละ บางเพลงใน Ultimate Gospel นี้ ยังออกไปแนวเกือบๆจะร็อคแอนด์โรลด้วยซ้ำไป (เพลงคริสต์มาสก็เป็นเพลง gospel ในกรอบหนึ่งเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าจะเข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายกว่ามาก) ในชีวิตการบันทึกเสียงของเอลวิส เขาร้องเพลงไว้หลายรูปแบบ แต่ไม่มีดนตรีแนวไหน ที่เขาจะมีโอกาสโชว์เสียงบาริโทนนุ่มลึก,ร้องด้วยความมั่นใจและแทบไม่ผิดพลาดแม้แต่โน้ตเดียว อย่างในแนวเพลง Gospel นี้ ซีดีแผ่นนี้เป็นการรวมเพลง Gospel เด่นๆที่เขาร้องไว้ในแผ่นเดียวเป็นครั้งแรก หลังจากเคยรวมเป็นแบบสองซีดีในชุด Amazing Grace และรวมสามแผ่นแบบ complete ใน Peace In The Valley สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการฟังเพลงดังๆของเขาเท่านั้น ลองถามตัวเองว่าชอบเพลง 'Crying In The Chapel' ที่หาได้ในรวมฮิตทั่วไปของเดอะ คิง หรือเปล่า? ถ้าชอบ เชื่อว่าคุณจะชอบอัลบัมนี้ครับ (เกร็ด-ไม่น่าเชื่อว่า 'Crying In The Chapel' เป็นเพลงที่ถูกคัดออกจาก session และ Lp 'His Hand In Mine' แต่มาโด่งดังเมื่อถูกตัดเป็นซิงเกิลในเวลาต่อมา)แต่สำหรับแฟนที่ตามงานของเอลวิสมาพอสมควรและมีเพลงในชุดนี้เกือบครบหรือว่าครบแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณจะได้ถ้ายอมควักตังค์ซื้อมันมา ก็คืออาร์ทเวิร์คที่งดงามเล่นสีขาวครีม และคุณภาพเสียงที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นอีก จากการรีมาสเตอร์ครั้งล่าสุดของเอ็นจิเนียร์มือดีคนหนึ่งของวงการ Vic Anesini (น่าสนใจที่ว่า RCA ยอมให้เอางานชิ้นนี้ไปให้วิกทำมาสเตอร์ที่ Sony Studio) และใช้วิธีการ transfer ด้วยระบบ DSD อันลือลั่น จากการฟังเปรียบเทียบกับชุด Amazing Grace พบว่าหลายเพลงเสียงอิ่มเอิบและกระจ่างใสขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ครับโดยเฉพาะงานที่มาจากยุค 70's Ultimate Gospel มีเพลงทั้งหมด 24 เพลง สองเพลงมาจาก EP Peace In The Valley ในปี 1956 หกเพลงมาจาก Lp How Great Thou Art, เจ็ดเพลงเท่าๆกันมาจาก Lp His Hand In Mine,He Touched Me เพลงทั้งหมดถูกนำมาเรียงลำดับใหม่ไม่ได้เรียงตามเวลาการบันทึกเสียง แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกสะดุดในอารมณ์แต่อย่างใดจากการทำมาสเตอร์อันสุดจะเนียนเนี้ยบ ทุกเพลงจะมีเสียงนักร้องชายประสานอยู่เบื้องหลังเสียงร้องอันยิ่งใหญ่ของเอลวิส โดยมี The Jordanaires วงประสานเสียงคู่บุญของเอลวิส และ The Imperial Quartet เป็นตัวหลัก มีทั้งการร้องประสานแบบควอเต็ท ('Milky White Way', 'Crying In The Chapel') หรือแบบวงไควร์ที่ใช้จำนวนนักร้องจำนวนมากกว่า ('How Great Thou Art')ถ้าจะไม่หาว่าเชียร์กันเกินไป ผมอยากจะบอกว่ามีอยู่บางช่วง บางนาที ของซีดีแผ่นนี้ ที่เอลวิสร้องได้ดี สื่ออารมณ์และความศรัทธาในวิญญาณเขาออกมา จนผมแทบที่จะอยากลองไปเข้าโบสถ์ของชาวคริสต์(อีก)สักครั้งเลยทีเดียว นี่อาจจะนับว่าเป็นการหาเสียงให้พระเจ้าที่ประสบความสำเร็จได้ไหม? เอลวิสเคยกล่าววาทะอมตะเกี่ยวกับความหลงใหลในดนตรีเพื่อพระเจ้าของเขาไว้ว่า "เขารู้จักและร้องเพลง Gospel ทุกเพลงที่เคยมีการแต่งขึ้นมาได้หมด" มันอาจจะไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว แต่ทุกคนที่ใกล้ชิดกับเขาในเยาว์วัยก็ยืนยันถึงความผูกพันกับดนตรีในโบสถ์นี้ของเขาตั้งแต่เล็กแต่น้อย รวมทั้งตอนมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว เขาก็ยังชอบที่จะปลุกเพื่อนๆนักดนตรีขึ้นมายามดึกดื่นเพื่อร้องเล่นขับขานบทเพลงเหล่านี้อยู่เสมอๆ ซีดีนี้จะเป็นไกด์นำทางที่ยอดเยี่ยมให้คุณเดินทางไปสู่ดนตรีที่ The King Of Rock 'N' Roll สนุกกับมันที่สุดครับ ถ้าจะมีข้อติอยู่บ้างก็คือ มีอีกหลายเพลง Gospel ที่ดีมากๆที่เอลวิสร้องเอาไว้ แต่กลับไม่ได้ถูกคัดมารวมในซีดีนี้ เช่น 'Stand By Me', 'I Believe',ทั้งๆที่ยังมีเนื้อที่ในซีดีเหลืออีกหลายนาที แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่แผ่นรวมเพลงต้องเจอข้อหานี้เป็นประจำอยู่แล้ว ไม่มีแผ่น Compilation ใดที่ "สมบูรณ์แบบ" สำหรับ "ทุกคน"

ELVIS AT SUN



Elvis Presley Elvis At Sun*****



ที่ ถนนยูเนียนสาย 706 เมมฟิส เทนเนสซี เป็นที่ตั้งของ Sun Studios มันคือสถานที่กำเนิดของการบันทึกเสียงเพลงร็อคแอนด์โรลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในช่วงปี 1954-1960 แซม ฟิลิปส์ ได้โปรดิวซ์งานสำคัญๆของดนตรีร็อคอะบิลลี่, บลูส์ ,คันทรี่และ ป๊อบของศิลปินอย่าง คาร์ล เพอร์กินส์, เจอรี่ ลี ลูอิส, จอห์นนี่ แคช , ชาร์ลี ริช และแน่นอน- เอลวิส เพรสลีย์


ความสำเร็จของเอลวิส ไม่ใช่ความสำเร็จแบบข้ามคืน แต่มันเป็นแบบข้ามปี นับจากที่เขาเข้ามาใช้บริการบันทึกเสียงร้องลงแผ่นส่วนตัวครั้งแรกจนกระทั่งแซม ฟิลิปส์ เรียกตัวเขาเข้ามาทดสอบเสียง และ ‘Elvis At Sun’ คืองานบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับพกพาที่จับเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่เอลวิส, สก็อตตี้ มัวร์ มือกีต้าร์ และ บิล แบล็ค มือเบส (ดับเบิ้ลเบสตัวใหญ่ๆ) ได้ร่วมมือกันบันทึกเสียงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในห้องอัดของซันเป็นครั้งแรก (That’s All Right) ในเดือนกรกฎาคม 1954จนกระทั่งวันสุดท้ายที่เอลวิสประกาศก้องในสตูดิโอว่าเขาถูกรีลแมดริด…เอ๊ย…อาร์ซีเอ ซื้อตัวไปแล้วในสัปดาห์แรกของเดือนพ.ย. 1955 ทำให้การบันทึกเสียง When It Rains, It Really Pours จบลงแบบวงแตกดื้อๆกลางคัน


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรวมเพลง 19 เพลงนี้มาขายกัน แต่ความสนุกในการฟัง ‘Elvis At Sun’ อยู่ที่การเรียงเพลงแบบวันต่อวันและมี liner notes ที่ละเอียดยิบและ updated สุดๆไว้ให้อ่านประกอบ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนเดินทางไปกับเอลวิสตามห้วงเวลาเหล่านั้นด้วย ได้เห็นพัฒนาการในการร้องเพลงของเขาจากเรียบๆและบางครั้งดูจะไร้จุดหมายแน่ชัด ค่อยๆเพิ่มความมั่นใจและใส่ลีลาอันเหนือชั้นขึ้นตามลำดับ มุขที่สร้างความประทับใจให้แฟนเพลงที่สุดอาจจะเป็นเพลงที่ 11 ‘Milkcow Blues Boogie’ ที่เอลวิสร้องในแบบบลูส์มาตรฐานในตอนต้นสองสามประโยค แต่แล้วเขาก็สั่งให้ทุกคนหยุด บอกเพื่อนๆว่า “ช้าก่อนสหาย มันไม่สะใจข้าฯเลย เราลองมาเปลี่ยนแนวกันแบบสุดๆ เพื่อความเมามันส์กันเถิด…” (Hold it fellas, that don’t move me, let’s get real, real gone for a change) หลังจากนั้นเอลวิสก็สาธิตการโขยกเสียงร้องขึ้นลง octave ราวกับขี่ม้าพยศจนจบเพลง สนุกจริงๆ (ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันว่านั่นเป็นมุขสดๆหรือเปล่า?)

เพลงทั้ง 19 เพลงนี้ไม่ได้ออกมาขายทั้งหมดในเวลานั้น แต่เอลวิสออกงานเหล่านี้เป็นซิงเกิ้ลแค่ห้าชุด รวมเพลงทั้งหมดสิบเพลง(หน้า-หลัง) และแต่ละแผ่นจะมีเอกลักษณ์คือ หน้าหนึ่งจะออกไปทางบลูส์ อีกหน้าจะออกไปทางคันทรี่ ส่วนอีก 9 เพลงที่เหลือนี้ส่วนมากจะเป็นเพลงบัลลาดช้าๆที่เอลวิสโปรดปรานและแซมก็ปล่อยให้เขาร้องและบันทึกเสียงไปทั้งๆที่ทราบอยู่แล้วว่าคงไม่มีศักยภาพพอที่จะออกเป็นซิงเกิ้ล (เช่น Tomorrow Night, Blue Moon, I Love You Because) มีนักข่าวเคยถามว่าทำไมแซมถึงปล่อยให้เขาร้องบัลลาดมากมายขนาดนั้น เสียเวลาจะตาย แซมตอบว่า “ผมไม่กล้าพอที่จะห้ามเขา”


ถ้าท่านเคยฟังเพลงในชุดนี้จากอัลบั้มอื่นๆมาก่อนแล้ว เมื่อท่านได้ฟังมันจาก ‘Elvis At Sun’ ท่านอาจมีความรู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างตั้งแต่วินาทีแรกของเสียงกีต้าร์ในเพลง ‘Harbor Lights’ ทีมงานวิศวกรเสียงได้ทำงานอย่างหนักและน่าพิศวงในการที่จะหาทาง reproduced บทเพลงเหล่านี้ให้ได้เสียงออกมาใกล้เคียงกับแผ่นดั้งเดิมของซันให้ได้มากที่สุดโดยใช้ source ที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้และเทคโนโลยีดิจิตัลที่ทันสมัยที่สุดบวกกับ “หู” ของมนุษย์ โดยแต่ละเพลงจะใช้ลีลาในการรีมาสเตอร์ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่อุปสรรค อาทิเช่น ‘Blue Moon Of Kentucky’ เป็นเพลงที่ทางอาร์ซีเอไม่เคยได้มาสเตอร์ตัวจริงจากซันเลย ในปี 1955 อาร์ซีเอทำมาสเตอร์เองจากแผ่น 78rpm ของซันซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นเพลงที่บันทึกเสียงได้แย่อยู่แล้วด้วยการทำ compression และ echo แบบเกินขอบเขต แต่นั่นยังไม่แย่เท่าไหร่ อาร์ซีเอดันไป compress มันเพิ่มเข้าไปอีก และมาสเตอร์นี้ก็ถูกนำมาใช้โดยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทีมงานวิศวกรของ ‘Elvis At Sun’ ทำมาสเตอร์ของ ‘Kentucky’ ขึ้นมาใหม่จากแผ่น 78rpm ดั้งเดิมของซันอีกครั้ง (ใช้หลายๆแผ่นโดยเลือกช่วงที่สภาพเสียงดีที่สุดในแต่ละแผ่นมามิกซ์กันเนื่องจากพวกเขาไม่มีแผ่น 78rpm ของเพลงนี้แผ่นไหนที่สมบูรณ์ 100 % อยู่ในมือเลย)


นั่นเป็นเรื่องทางเทคนิคซึ่งอาจจะต้องใช้ประสบการณ์และเครื่องไม้เครื่องมือในการรับฟังที่พิเศษกว่าปกตินิดหน่อยถึงจะสัมผัสความแตกต่างของมันได้ ถึงอย่างไรอาหารจานนี้ก็อร่อยและมีคุณค่าทางอาหารอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการทาง GMO (เกี่ยวกันไหมเนี่ย) แต่ก็ขอชื่นชมและนับถือทีมวิศวกรทีมนี้ครับ(นำทีมโดย เคแวน บัดด์) ที่มีความพยายามในการที่จะดึงประวัติศาสตร์ที่ดูจะสลายไปตลอดกาลแล้วกลับมาในสถานการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้


(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.elvisrecordings.com/ )


อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบใน Elvis At Sun ก็คือบทความยาว 2 หน้าเต็มๆของลูกชายของแซม ฟิลิปส์ คุณ นอกซ์ ฟิลิปส์ ที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ทั้งๆที่เขาอายุแค่ 9 ขวบ ลองยกมาให้ดูนิดนึง

“ผมจะไม่มีวันลืมคืนนั้นที่พ่อของผม, แซม ฟิลิปส์ นำแผ่นเสียงแผ่นแรกของเอลวิสกลับมาบ้าน มันเป็นแผ่นเสียงแบบหมุน 45รอบต่อนาทีของ ‘That’s All Right’ และ ‘Blue Moon Of Kentucky’ และเขาก็ตื่นเต้นสุดขีด พ่อต้องการให้แม่ของผม เบ็กกี้ ,น้องชายผม เจอรี่ และตัวผมเอง รีบเข้ามาฟังมันเดี๋ยวนั้นเลย ผมไม่แน่ใจว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนกันระหว่างภาพที่ตราแผ่นเสียงสีเหลืองของซันหมุนติ้วอยู่บนเครื่องเล่นไฮ-ไฟของเราขณะที่เสียงเพลงจากแผ่นนั้นดังก้องออกมา หรือ ใบหน้าที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นของพ่อผม ราวกับมันเป็นสิ่งที่พ่อรอคอยมานานแสนนาน ราวกับมันเป็นความแตกต่างที่พ่อได้สวดอ้อนวอนขอมาตลอด , ผมแยกมันไม่ออก ทั้งสองอย่างดูเหมือนจะผสมกลมกลืนกันเข้าไปอยู่ในเหล่านาทีอันน่าระทึกนั้น และผมคิดว่าในห้วงเวลานั้น, ทุกอย่างเปลี่ยนไป”

ลมหายใจสุดท้ายของยอดนักแซ็กแห่งยุคสมัย "ไมเคิล เบร็คเกอร์"



MICHAEL BRECKER 1949-2007




ไมเคิล เบร็กเกอร์ นักเทเนอร์แซ็กคนสำคัญของยุคสมัย (บางคนยกย่องว่าเขาเป็นนักแซ็กคนสำคัญที่สุดหลังจากยุคของโคลเทรน-บ้างก็ว่าหลังจากเวน ชอร์ตเตอร์ก็พอ....แต่บางคนก็ว่าเขาดีแต่เทคนิคแต่เล่นไม่ค่อยมีอารมณ์)ได้จากเราไปด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เป็นผลจากโรค myelodysplastic syndrome (โรคนี้ทำให้ไขกระดูกไม่ยอมผลิตเม็ดเลือดที่มีสุขภาพดีออกมา) ตั้งแต่ต้นปีแล้ว เขามีอายุแค่ 57 ผมตามงานของไมเคิลมาแทบไม่ขาดตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกที่เขาออกกับ GRP (ถ้าจำไม่ผิดสมัยม.4) แต่อัลบั้้มสุดท้าย...Pilgrimage ที่ออกมาหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว...ผมไม่ได้รีบร้อนที่จะหามาฟังเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะผมยังไม่พร้อมที่จะยอมรับว่าเขาไม่ได้อยู่กับเราแล้ว

แต่ในที่สุด...มันก็มาอยู่ในมือผมแล้ว ถึงแม้จะหาดาวน์โหลดได้ไม่ยาก แต่ผมคงไม่ทำร้ายจิตใจไมค์แบบนั้นและมันก็เป็นงานที่ยอดเยี่ยมเกินคาด เป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของเบร็กเกอร์ที่ผมฟังมา และเข้าข่ายจะเป็น "อัลบั้มแห่งปี" โดยส่วนตัวของผมด้วย ไมเคิลออกอัลบั้มใหม่ทีไร ผมก็มักจะอดให้เขาติดโผยอดเยี่ยมไม่ได้เสียที

Pilgrimage มี 9 แทร็คที่เป็นผลงานการประพันธ์ของเบร็กเกอร์ล้วนๆ เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาตั้งแต่บันทึกเสียงมา เหตุผลคือ ช่วงก่อนหน้านี้ เขาป่วยหนัก จนไม่อาจซ้อมเป่าแซ็กได้เกินห้านาที ไมเคิลเลยใช้เวลาที่นอนเจ็บไปแต่งเพลงซะไมเคิลชวนเพื่อนห้าคนในสี่ตำแหน่งดนตรีที่เคยร่วมเล่นกับเขามาก่อน ที่่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นทีม all star jazz ในยุคนี้เริ่มจาก Pat Metheny-Guitars, Herbie Hancock, Brad Mehldau-Pianos, John Patitucci-Bass, และ Jack DeJohnetteแต่ละคนถ้าเป็นนักการเมืองก็ดีกรีระดับห้วหน้าพรรคทั้งสิ้น

ข่าวรายงานว่า ไมเคิลเล่นแซ็กบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ด้วยความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง แต่สาบานได้ว่าคุณไม่มีทางจับได้จากผลงานที่เขาเล่นใน9แทร็คทั้งหมด ตรงข้าม ไมเคิลเล่นด้วยความคล่องแคล่ว ทรงพลัง และเต็มไปด้วยเทคนิค สร้างสรรค์ดูเหมือนจะเป็นฟอร์มที่สดกว่าที่เขาเคยทำมาด้วยซ้ำ (วันแรกที่ซ้อมกันเฮอร์บีถึงกับตะโกนถามว่า นายแน่ใจหรือว่านายยังป่วยอยู่?) ใครที่เคยดูแคลนฝีมือของเขาไว้ว่าไม่ใช่ของจริงคงต้องถอนคำพูดซะดีๆ ส่วนเทพทั้้งห้าก็เล่นกันสมราคา โดยเฉพาะแพ็ท เมธินีที่ปล่อยสุดฝีมือบนกีต้าร์หลายๆตัวที่เขาขนเข้ามาโชว์ ส่วนแจ็คกับจอห์นก็เข้าขากันดีเหลือเกิน เฮอร์บีและแบรดผลัดกันที่ตำแหน่งเปียโน ด้วยสไตล์ที่ต่างกันตามอารมณ์ของเพลง

เพลงที่ฟังแล้วอึ้งที่สุดคงจะเป็นบัลลาด When Can I Kiss You Again? ที่ไมเคิลเอามาจากคำถามของลูกชายของเขาเองที่พูดกับเขาตอนที่ไมเคิลรับการรักษาและต้องระวังการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด มันเป็นเพลงช้า (แต่ก็จะว่าไปมันก็ออกจะซํบซ้อนกว่าที่จะเรียกได้ว่าบัลลาด) เพลงเดียวในอัลบั้มที่เต็มไปด้วยเพลงจังหวะปานกลางถึงเร็วตลอดแผ่น

ไมเคิลอยู่ไม่ถึงขั้นตอนการมิกซ์อัลบั้มนี้ เขาเสียชีวิตหลังจากบันทึกเสียงเสร็จไม่กี่วัน ซูซานภรรยาของไมเคิลบอกว่าที่เขาบันทึกเสียงนี้ได้จนเสร็จถือเป็นสปิริตของไมเคิลโดยแท้ เพราะโดยเนื้อแท้ของสุขภาพของเขานั้นมันไม่ไหวแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะอัดเสียงให้เสร็จทำให้ไมเคิลยืนหยัดอยู่ได้

ถ้าคุณอยากฟังอัลบั้ม Jazz ยุคใหม่ที่มีแต่เพลงออริจินัล บรรเลงโดยยอดคนของแต่ละตำแหน่งดนตรีด้วยปฏฺิภาณและปฏิสัมพันธ์ชั้นอ๋อง และบันทึกเสียงอย่างเฉียบขาด แนะนำอัลบั้มสุดท้ายของไมเคิลนี้ครับ ส่วนเรื่องความสะเทือนใจอาลัยอาวรณ์ในตัวศิลปินแทบไม่มีผล ผมหมายถึงอัลบั้มนี้มันดีเด่นในตัวอยู่แล้วโดยไม่ต้องการอะไรมาเป็นแรงเสริม

Revolver การทดลองเป็นไปตามสมมติฐาน




Revolver อัลบั้มที่ 7 ของ The Beatles ซึ่งถ้าจะนับจริงๆมันเป็นอัลบั้มที่เจ็ดในช่วงเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้นนับจากแผ่นลองเพลย์แผ่นแรก Please Please Me ตอนต้นปี 1963 สามปีที่ผ่านมาแม้จะไม่ได้อยู่ในห้องอัดเสียงกันนานนักแต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้อะไรต่างๆมากมายในสตูดิโอนับจากวันแรกที่แม้แต่ใส่หูฟังเล่นกีต้าร์ไปด้วยก็ยังทำไม่ค่อยถนัด จวบจนวันนี้ที่พวกเขาถึงขั้นชี้นิ้วสั่งวิศวกรบันทึกเสียงได้




จะบอกว่า Revolver เป็นงานแนว"ทดลอง"ของสี่เต่าทองก็ว่าได้ พวกเขาลองอะไรแปลกๆหลายอย่างในการบันทึกเสียง ดนตรีในแต่ละเพลงก็หลากหลายไปคนละแนวแทบจะสิ้นเชิง ด้านเนื้อหาก็ทำได้น่าสนใจ ใช้คำสั้นกระชับและมีมุมมองที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อนในแทบทุกเพลง


หน้าปกเป็นฝีมือภาพลายเส้นของ Klaus Voorman เพื่อนเก่าสมัยเยอรมันของพวกเขาผนวกกับงานตัดปะ collage ที่เคลาส์ทำเอง เป็นปกอัลบั้มของ Beatles ที่ผมว่า cool ที่สุดแล้วครับ คือมันอาจจะไม่อลังการเท่า Sgt. Pepper's หรือคลาสสิกแบบ Abbey Road แต่มันเท่น่ะ...


ซึ่งก็ไม่น่าแปลกที่ผมจะรู้สึกอย่างเดียวกันกับตัวงานดนตรีข้างใน


จอร์จ แฮริสันไม่ค่อยได้มีบทบาทนักในฐานะนักแต่งเพลงในวง แต่งานนี้เพลง Taxman ของเขากลับได้รับเกียรติตัดริบบิ้น เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับคนขับแท็กซี่ แต่ต่อว่าการขูดรีดภาษีของรัฐบาลอังกฤษยุคนั้นได้อย่างมันส์ปากเขาล่ะ ว่ากันว่าจอห์นมีส่วนช่วยเขียนเนื้อด้วยบางส่วน เสียงเบสของพอลโดดเด่นขึ้นกว่างานเก่าๆอย่างชัดเจน (อาจเป็นเพราะเขาเปลี่ยนมาใช้ rickenbacker หรืออาจเป็นเพราะฝีมือเอ็นจิเนียร์คนใหม่-Geoff Emerick) แถมท่อนโซโลกีต้าร์พอลก็ยังรับบทนำอีก (ข่าววงในบอกว่าจอร์จพยายามเล่นอยู่หลายชั่วโมงแต่ไม่เวิร์ค ก็เลยต้องให้พอลลองบ้าง ซึ่งเขาทำได้อย่างง่ายดาย สร้างความเซ็งให้จอร์จพอสมควร) จอร์จยังได้โควต้าอีกสองเพลง เขาส่งเพลงแขกเต็มตัว Love You To เข้าประกวด จอร์จเล่นซีต้าร์ ริงโก้เคาะแทมโบรีน ร่วมกับนักดนตรีอินเดียอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนอีกเพลงของจอร์จไปโผล่ที่หน้าสอง I Want To Tell You


ฝีมือการแต่งเพลงของพอล แมคคาร์ทนีย์รุดหน้าเข้าขั้นเทพ แต่ละเพลงในอัลบั้ม Revolver ของพอลเหมือนจะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง Eleanor Rigby ที่เล่นกับเครื่องสายและเนื้อหาอย่างกล้าหาญ Here, There And Everywhere เป็นคลาสสิกป๊อบที่ทั้งจอห์นและพอลก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเพลงที่ดีที่สุดของพอล Yellow Submarine เพลงsing-along ที่ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ ฟังครั้งเดียวก็ต้องร้องตามได้ ริงโก้รับบทร้องนำ กลางเพลงพวกเต่าทองเล่นกับซาวนด์เอ็ฟเฟ็คกันสนุก Good Day Sunshine เพลงง่ายๆของพอลที่แต่งและบันทึกเสียงกันอย่างรวดเร็วเป็นเพลงเปิดหน้าสอง For No One บัลลาดคลาสสิกแสนเศร้า โดยเฉพาะเสียงเฟรนช์ฮอร์นหม่นหมองนั่น (อลัน ซีวิลเป็นคนเป่า ปกติเขาเป็นนักดนตรีคลาสสิกวง Philharmonia พอมาเป่าเพลงนี้เขาก็ดังไม่รู้เรื่องไปเลย) พอลเล่นกับเครื่องเป่าอีกครั้งในเพลงที่ออกจะฟังกี้หน่อยๆ Got To Get You Into My Life ซึ่งพอลอุทิศให้ที่รัก...กัญชา พอลเริ่มต้นเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตกับทรัมเป็ต นั่นอาจจะทำให้เขากลับมาเล่นกับพวกเครื่องเป่าอยู่หลายครั้งในดนตรีของ Beatles


จอห์น เลนนอน เพลงของเขาอาจจะมีคุณค่าหรือความงดงามทางดนตรีสู้พอลไม่ได้ แต่หลายเพลงใน Revolver เขาก็ขโมยซีนไปไม่น้อย ตั้งแต่เพลงยานคางที่มีกีต้าร์ย้วยยอกย้อน I'm Only Sleeping ร็อคดิบๆเจือกีต้าร์โทนอินเดีย She Said She Said (ริงโก้ฟาดกลองได้ราวกับ Elvin Jones) ป๊อบไร้สาระแต่ทำนองสุกสว่างอย่าง And Your Bird Can Sing (เพลงนี้ตัวจอห์นเองเกลียดมาก) หรือจะเป็นเพลงอุทิศให้พ่อค้ายาอย่าง Dr. Robert อันมีเสียงประสานหลอนโคตร


และเพลงสุดท้าย Tomorrow Never Knows ก็คือมหากาพย์แห่งการทดลองทางกการบันทึกเสียงแห่งยุค พวกเขาประเคนความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีล่าสุด ณ ตอนนั้นลงไปในเพลงนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำดับเบิลแทร็คเสียงร้องแบบเทียม การส่งผ่านเสียงร้องผ่านลำโพงของออร์แกนเพื่อให้ฟังดูเหมือนองค์ดาไลลามะส่งเสียงเทศน์ลงมาจากยอดเขาตามที่จอห์นปรารถนา การเล่นกับเทปลูปอย่างเมามัน แถมเนื้อหาฟังแล้วอยากจะฉีดเอฟรีดินเข้าปากคนร้องให้ตายๆไปซะ!


ถ้า Revolver เป็นงานทดลอง ผลการทดลองที่ได้ก็คงเป็นไปตามสมมติฐานครับ