Saturday 29 November 2008

Chinese Democracy ****


Guns N’ Roses Chinese Democracy ****

ครั้งสุดท้ายที่ Guns N' Roses ออกอัลบั้มที่เป็นเพลงออริจินัลออกมาคือในปี 1991 กับอัลบั้มคู่ที่มีเพลงแน่นขนัด (ตัดเป็นแผ่นเสียงได้สามชุด) Use Your Illusion 1+2 สมัยนั้นนายกฯเรายังชื่อ อานันท์ ปันยารชุน และจวบจนวันนี้ 2008...ฟุตบอลโลกก็ผ่านไปแล้ว4สมัย....ส่วนนายกฯ ...ใครก็ได้ช่วยนับที

แฟนเพลงทุกคนรู้เรื่องราวหลังจากนั้นกันดี Chinese Democracy เป็นอัลบั้มที่มีประวัติศาสตร์การทำงานยาวเหยียด นานพอที่จะทำให้ Axl Rose ไล่ original members ออกไปเกือบหมด (เหลือมือคีย์บอร์ด Dizzy Reed คนเดียวที่รอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ) รวมทั้งสมาชิกใหม่ๆก็เดินสายเข้าออกกันราวกับมาชอปปิ้ง มันผ่านข่าวลือและ deadline นับครั้งไม่ถ้วน จากการเป็นอัลบั้มที่โลกจดจ่อรอคอยจนหลายปีให้หลังกลายเป็นโจ๊กเศร้าๆในวงการดนตรีเวลาที่ใครทำอะไรไม่เสร็จเสียทีก็มักจะยกมันขึ้นมาแซว ถึงขั้นที่หลายคนเชื่อว่าประเทศจีนอาจจะมีประชาธิปไตยจริงๆก่อนอัลบั้มนี้ออกเสียล่ะมั้ง (แต่ที่แน่ๆประเทศจีนสั่งแบนอัลบั้มนี้ไม่ให้วางขายในประเทศเรียบร้อยโรงเรียน...จีนไปแล้ว)

แต่นั่นก็ไม่สำคัญ... ไม่ว่าอัลบั้มนี้จะใช้เวลาสร้างนานแค่ไหน หรือแอกเซิลจะใช้เงินและนักดนตรีไปเท่าไหร่ ประเด็นสำคัญคือ มันออกมาแล้ว Chinese Democracy อัลบั้มที่ต้องแบกความกดดันมหาศาล เราควรตัดสินมันที่คุณภาพดนตรีโดยไม่ต้องไปคิดดอกเบี้ยย้อนหลังกับเวลาที่หายไป เพราะแอกเซิลไม่ได้ยืมเงินคุณไปบันทึกเสียงเสียหน่อย (แต่มันก็อาจจะไม่ใช่เงินเขา)

แม้ว่าจะเหลือสมาชิกหลักคือเขาคนเดียว แต่ Chinese Democracy ก็ยังคงมีซาวนด์ของ Guns N' Roses มากกว่าวงดนตรีอื่นใดในโลก (รวมทั้ง Velvet Revolver) มันคือการเดินทางต่อจาก Use Your Illusion ซาวนด์กีต้าร์ดิบๆและจังหวะแบบ boogie-rock-and-roll หายไปพร้อมๆกับ Slash คงเหลือแต่ความอลังการอู้ฟู่สุดขั้วสุดขีดทางอารมณ์ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแอกเซิล แต่ถ้าเป็นไปได้ แอกเซิลคงอยากให้ Slash ยังอยู่ เพราะพาร์ทกีต้าร์เด็ดๆในหลายเพลงล้วนแล้วแต่เป็น"ทาง"ของนายหัวฟูทั้งสิ้น ขอแสดงความเสียใจไว้ตั้งแต่ตรงนี้สำหรับผู้หวังซาวนด์แบบอัลบั้มแรกในปี 1987 Appetite For Destruction โรสมาไกลเกินกว่าจะกลับไปจุดนั้นแล้ว

Industrial sound แบบ Nine Inch Nails ที่แผ่ซ่านในเพลงสุดท้ายของ GN’R ก่อนหน้าอัลบั้มนี้ Oh My God ที่เป็นซาวนด์แทร็คของหนัง End Of Days (1999) ยังคงพอให้ได้ยินเป็นระยะๆ สลับไปกับซาวนด์ Nu-metal อย่าง Korn และ Linkin Park!

Chinese Democracy มีเพลง 14เพลง แต่ยาวถึง 71นาทีกว่าๆ แทบทุกเพลงยาวเหยียด5-7นาที พอจะสรุปได้ว่าเวลาที่เขาสูญเสียไปอยู่ที่การพยายามทำทุกเพลงให้ perfect ที่สุด ว่ากันว่าแค่เสียงกลองใน title track ที่แอกเซิลอยากให้เหมือนที่ Dave Grohl ฟาดไว้ใน Smell Like Teen Spirit ก็ต้องใช้เวลาสร้างสรรค์และค้นหากันถึงกว่าหกเดือน! หลายต่อหลายเพลงมีโครงสร้างไม่เหมือนเพลงป๊อบร็อคหรือเมตัลธรรมดาๆ คุณจะพบบัลลาดที่ไร้คอรัส การโซโลที่กระจายไปทั่วเพลงทั้งกีต้าร์ไฟฟ้า กีต้าร์สแปนิช เครื่องเป่า เครื่องสายที่ร่ายรำอย่างไม่ไยดีกาละและเทศะ จนบางทีเหมือนว่ามันนึกอยากใส่อะไรก็ใส่เข้ามาหมด 14 ปีกับ 14 เพลงอาจจะแสนนานสุดเวอร์ แต่สำหรับอัจฉริยะกึ่งบ้าอย่าง W. Axl Rose อาจจะน้อยเกินไปด้วยซ้ำสำหรับการไล่จับเสียงในจินตนาการของเขาให้ออกมาเป็นตัวตน

เมื่อเทียบกับ Use Your Illusions แล้ว Chinese Democracy จึงฟังยากกว่าและต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักกับมันมากขึ้น แต่รับรองว่าคงไม่ต้องฟังกันนานเป็นสิบปีถึงจะเข้าถึง

เปิดอัลบั้มด้วยไทเทิลแทร็คและซิงเกิ้ลเปิดตัว Chinese Democracy **** เริ่มด้วยเสียงคีย์บอร์ดเวิ้งว้าง....เสียงพูดคุยเบาๆเป็นภาษา..น่าจะจีน ...ท่อนริฟฟ์กระชั้นสั้นหนัก...และเรารู้สึกว่านี่คืออัลบั้มของ GN’R ในที่สุดเมื่อได้ยินเสียงกรีดร้องตัดหมอกที่เราคุ้นเคยของ Axl ในวัย 46 ปี เขายังรักษาความแหลมคมและแสบสันต์ของน้ำเสียงนรกประทานเอาไว้ได้อย่างน่าชมเชย นี่เป็นแทร็คที่ประกาศก้องถึงความยิ่งใหญ่และทรงพลัง สบายใจได้สำหรับผู้ที่ห่วงว่า Chinese Democracy จะเต็มไปด้วยเพลงบัลลาดแหววๆ ต่อกันด้วย Shackler's Revenge *** ที่มีทุกอย่างที่เหมาะสำหรับการเป็นเพลงประกอบ Computer Game ทั้งจังหวะและเสียงกีต้าร์ และมันก็เป็นซาวนด์แทร็คของเกม Rock Band 2 จริงๆด้วย

Better ***** ซิงเกิ้ลที่สอง เริ่มต้นด้วยดรัมลูปแบบเมทัลลิกและเสียงร้องแบบโรบ็อต ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเพลงที่เป็น GN’R classic... เมโลดี้งดงามและค่อยๆสร้างอารมณ์เข้าสู่ความหนักหน่วงดุดันขึ้นตามลำดับ ในเวลาเกือบห้านาทีมีอะไรเกิดขึ้นมากมายสุดจะคาดเดา นี่เป็นตัวอย่างของการทำเพลงไม่ยึดติดสูตรสำเร็จแต่ก็ยังฟังติดหูได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพลงที่สี่...คงถึงเวลาที่ต้องเอาใจแฟนๆกันแล้ว Street Of Dreams **** (ชื่อเดิม “The Blues”) โหงวเฮ้งน่าจะเป็น November Rain ของอัลบั้มได้ ทำนองเด็ดขาดแบบนี้พลาดยาก แต่ฟังๆไปมันอาจจะหนักเกินกว่าที่จะเป็นเพลงขวัญใจประชานิยมอย่าง "ฝนพฤศจิก"เมื่อ 17 ปีก่อนนั้น โซโลกีต้าร์กลางเพลงโดย Buckethead เจิดจ้าระยับระยิบกับออเคสตร้ากระหึ่มก้อง ขณะที่ November Rain ประหนี่งฝนพรำในลมหนาวปวดร้าวน้ำตาพรั่ง Street Of Dreams กระหน่ำหนักเป็นเฮอริเคนม้วนเดียวจบตายคาที่!

ถ้ายังจำเพลงแรปอุบาทว์ๆ My World จาก Use Your Illusion II กันได้ If The World ****เหมือนจะเป็นการแก้ตัวของแอกเซิล นี่อาจเป็นเพลงเดียวในอัลบั้มที่ไมเคิล แจ็คสันอาจจะนำไปร้องได้ แตกต่างจากเพลงอื่นและถือว่าเป็นการพักหู กลองไฟฟ้าเดินเรื่องไปกับกลองมนุษย์ กีต้าร์สแปนิช กีต้าร์ไฟฟ้า เครื่องสาย คีย์บอร์ด-ลูป และเสียงร้องที่น่าจะเรียกได้ว่า"อ้อน"ที่สุดในอัลบั้มของโรส There Was A Time ***** มันเป็นเพลงที่ถ้าคุณไม่รักมันก็จะเกลียดไปเลย บัลลาดมหากาพย์ที่ไร้คอรัสที่แท้จริง เริ่มด้วยเสียงวงไควร์เคว้งคว้างและโรสร้องไปกับดรัมลูป เครื่องสายกรีดกรายเข้ามา ชักชวนเสียงกลองและกองทัพกีต้าร์ไม่ทราบกำลังพลเดินเท้าเข้ากระหน่ำ โรสร้องเพลงนี้ได้สุดเสียงสังข์ ทุกวลีจากปากราวกับมาจากความรวดร้าวที่ลึกล้ำสุดบรรยาย Buckethead มือกีต้าร์จอมเพี้ยนผู้ฝักใฝ่ในผู้พันแซนเดอร์สฝากฝีมือโซโลไว้อย่างยิ่งใหญ่ Robin Finck ออกมาร่ายมนต์โซโลก่อนในลีลางดงามล่องลอยและปวดร้าว ก่อนที่พ่อหัวเคเอฟซี (Buckethead จะใส่ถังใส่ KFC เป็นหมวกไว้บนหัวเสมอ)จะออกมาสรุปคดีขยี้ปิดศาลในนาทีที่ 4:25 แอกเซิลปล่อยให้เขาใส่ยาวเหยียด มันคือการโซโลที่ดีที่สุดในอัลบั้ม และอาจจะเป็นการโซโลแห่งปี 2008 เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงปิดอัลบั้ม เพราะมันเรียกความรู้สึกว่าไม่ควรมีอะไรต่อจากนี้อีกแล้วหลังจากจบเพลงด้วยเสียงวงไควร์เดิมอีกครั้ง...

ผมคิดว่านั่นเป็นการจบภาคแรกของอัลบั้ม ถ้าไม่เหนื่อยเกิน...ต่อกันที่เพลงที่เจ็ด... Catcher In The Rye ***** ชื่อเพลงมาจากวรรณกรรมคลาสสิกของ J.D. Salinger ที่ดันเป็นหนังสือโปรดสุดๆของผมด้วย โครงสร้างและการเรียบเรียงจัดว่า conservative เมื่อเทียบกับเพลงอื่นๆ ท่อนโซโลที่เคยเป็นของ Brian May คือจุดเด่นแม้จะเปลี่ยนคนเล่นเป็น Bumblefoot และ Robin Finck (มือกีต้าร์วงควีนเคยเข้ามาร่วมบันทึกเสียงด้วยในเพลงนี้ แต่ภายหลังพาร์ทของเขาถูกลบไป) นี่คือเพลงป๊อบที่สุดในอัลบั้ม แต่มันก็ยาวเลยเถิดไปเกือบห้านาที นักวิจารณ์บางคนบอกว่า แอกเซิลมันดูเหมือนจะไม่รู้ว่าจะหยุดตรงไหน ทุกอย่างดูมากเกินไป หรือว่าน้อยเกินไปทั้งนั้นในอัลบั้มนี้ เห็นด้วยครับ แอกเซิลเลือกที่จะทำงานตามใจตัวเอง ไม่ play safe แบบ AC/DC ที่เหมือนเดิมเป๊ะๆ

Scraped *** อินโทรอะแคปเปลลาฟังดูประหลาดยิ่งก่อนที่จะกลายเป็นร็อคแรงๆแบบ Locomotive ในอัลบั้ม Use Your Illusion II Sorry *** บัลลาดอารมณ์สยดสยองที่กลายเป็นเพลงโปรดของแฟนๆอย่างรวดเร็ว (จากโพลล์ใน chinesedemocracy.com) ว่ากันว่าแอกเซิลแต่งเพลงนี้เพื่อกัด Slash โดยเฉพาะ เป็นไปไม่ได้เลยที่ในคอนเสิร์ตแฟนๆจะไม่แหกปากร้องตามในท่อนคอรัส I'm sorry for you.... not sorry for me... Buckethead solo ได้เด็ดขาดอีกครั้ง น่าเสียดายที่เขาถูกตะเพิดออกจากวงไปเมื่อ 4 ปีก่อน Madagascar และ I.R.S. แทร็คที่”หลุด”ออกมาหลายปีแล้วกลับฟังไม่โดดเด่น แต่ Axl ก็ยังเก็บทีเด็ดไว้ปิดท้าย This I Love **** เปียโนบัลลาดคลอเครื่องสายและเสียงร้องใน mode หล่อ-หวาน สลับกับ โหยหา-ปวดร้าว ของโรส และแน่นอนต้องมี killer guitar solo ที่เป็นฝีมือ Robin ฉายเดี่ยว

Chinese Democracy ปิดท้ายด้วยเพลงรักแบบโรสๆ Prostitute ****1/2 ถ้าคุณสงสัยในความเป็นยอดนักร้องของเขานี่คือคำตอบ บทจะเน้นความลึกซึ้งเขาก็ตีบทแตกเป็นชิ้นๆ อารมณ์และเนื้อหาของบทเพลงดูจริงเกินกว่าที่จะเชื่อว่านี่เป็นเรื่องแต่ง จบด้วยเครื่องสายแบบคลาสสิคัล

คงจะโหดร้ายเกินไปมากถ้าจะหวังว่า Chinese Democracy จะเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดที่โลกเคยมีมา เพียงเพราะว่ามันใช้เวลาการทำงานนานไปไม่หน่อย แต่ความจริงคือนี่คืออัลบั้มของวง Guns N' Roses ที่ยังให้ความเมามันส์และอารมณ์สุดขั้วในการฟัง ที่คุณไม่ละอายใจที่จะแหกปากสุดขั้วปอดตามนายโรสไปด้วยและไม่ลืมที่จะ"แอร์กีต้าร์"อย่างลืมตัวเป็นพักๆอีกต่างหาก (แม้ว่าคุณจะไม่ค่อยแน่ใจว่านั่นมันเสียงโซโลจากฝีมือใคร) ถ้าอัลบั้มนี้ไม่ล้มเหลวเกินไปนัก เราอาจจะไม่ต้องรอนานนักสำหรับงานต่อไปของ GN’R เพราะข่าววงในเล่าว่ามีเพลงพอสำหรับอีกสองอัลบั้มรออยู่แล้ว.... จะเชื่อดีไหมเนี่ย

Bob Ludwig มือมาสเตอร์ที่ขายดีที่สุดตลอดกาลรับหน้าที่ทำมาสเตอร์ และนี่ก็เป็นหนึ่งในอัลบั้มร็อคยุคใหม่ที่ยังให้สุ้มเสียงเปิดกว้างเต็มไปด้วยรายละเอียด สรรพเสียงมากมายที่แออัดกันอยู่ในแต่ละเพลงถูกจัดสรรที่ทางกันไว้อย่างมีศิลปะ

เอาล่ะ ถึงแม้จะเชียร์แค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าแท้จริงแล้ว Chinese Democracy คืองานโซโลของ Axl Rose ทุกอย่างเป็นวิสัยทัศน์ ชีวิต และตัวตนของเขา โปรดตัดสินมันที่ตัวดนตรีครับ

Saturday 22 November 2008

Guns N' Roses: Chinese Democracy

This is the information:I'm an Axl fan. No Slash's solo works and Velvet Revolver impressed me much. I love both Appetite For Destrucion and Use Your Illusion. I even like 'The Spaghetti Incident?' If you have a heart like mind then you should love 'Chinese Democracy'. Now what? You haven't heard anything by GN'R in your lifetime? Well, then I've got nothing to say to you.



Yes, it is some hours before its official release date but you should not surprise that the final version was leaked days ago.I want to write a review for it. Though I know I shouldn't now. It takes time. This is not an album you could write a propriate review in a few listens. By the way, I don't need 13 years!



So, what? I listen, listen, listen... and read,read,read many reviews. And some of them made me angry. The fact that it was created in 13 years has nothing to do with its music, you know! Axl didn't use your money to record it. It's his own, man (or at least it's someone that not you)! And should we call this band Guns N' Roses? The only original member is Axl alone, Ok two if you count the keyboard player Dizzy Reed. My final answer is yes, it should be called Guns N' Roses. Reason? Get me ANY band in this f__kin' world that sounds more like GN'R. You understand? It's not like Pink Floyd without Roger Waters , Queen with Paul Rodgers or Led Zeppelin without Robert Plant. That's all wrong.

So, you should judge this album by what it really sounds not how long it took to create or who's in the band or not.



Any GN'R fan who likes a simple hard rock style of early GN'R should stick with Slash's and Velvet Revolver works. This is definitely not a place for you. The music is grand, complex, epic and most important, not created in a standard structure. So no wonder some critics get lost in the mix. They should not be hurry. If he or she wants to find a verse-verse-chorus-solo-bridge-verse stucture...surely they will be disappointed.



You know, any critic who doesn't mention the solos (I think it's Buckethead) in 'There Was A Time' is surely miss the boat. Man, I don't know how many thousands of solo ever passed my ears but this is one of the best, ranked with Randy Rhoades in Ozzy's Mr. Crowley (in 'Tribute'). Yeah, this is the best moment in this album. And Axl howls like he's in deepest pain all over. His voice at 46 is, incredible, better than ever!



You're looking for 'November Rain'? Sorry, dude, you won't find any. Axl didn't need to do that style once more. Personally, I think it's overrated and too simple.



Listen to 'Street Of Dreams' and 'Sorry'. Axl writes his own rule in ballad rock.

As I said, it takes time to digest all of this. So I will finish at this. Like it or not, give it a good amount of time. I believe it's not a bad one. He can make it like AC/DC, sounds like an old band that everyone's waiting for. But Axl takes risk. I don't know if it will success or fail.

Tuesday 11 November 2008

20 Greatest Albums Of 2008































20.Guns N’ Roses -Chinese Democracy
14 ปีที่รอคอย ถึงตอนที่ท่านผุ้อ่านอ่านอยู่อัลบั้มนี้คงออกมาแล้ว แต่ขณะที่เขียนอยู่นี้ผมเพิ่งได้ฟังแค่ไทเทิลแทร็คเพลงเดียว เมื่อนำไปผูกโยงกับเวอร์ชั่นเก่าๆที่เคยหลุดออกมาเป็นระยะทำให้ผมสรุปออกนอกหน้าและไร้เหตุผลรองรับว่ามันน่าจะเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดของปีนี้อีกแผ่น

19.Elvis Costello -Momofuku* คอสเทลโลค้นหาไฟในตัวเจออีกครั้ง ถ้าไม่นับเสียงร้องที่อาจจะไม่สดใสเหมือนวัยหนุ่ม นี่คือร็อคเรียบง่ายแต่เปี่ยมพลังเหมือนงานในยุคแรกของเขา โปรดพิสูจน์ฝีมือการเขียนเนื้อเพลงยังคงปราดเปรื่อง และฝีมือกีต้าร์ที่มักจะถูกมองข้าม

18.Sheryl Crow -Detours* สาวแกร่ง Sheryl กลับไปร่วมงานกับโปรดิวเซอร์คนแรกที่ทำให้เธอโด่งดัง Bill Bottrell Detours เป็นอัลบั้มที่แฟนๆพร้อมจะอ้าแขนรับ มันเป็น classic Sheryl เสียงร้องหวานใส และดนครีโฟล์คร็อคที่ไม่เคยแห้งแล้งเมโลดี้ แม้เนื้อหาจะหนักอึ้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางการเมือง, การเลิกร้างกับแฟนหนุ่ม แลนซ์ อาร์มสตรอง หรือสภาวะจิตใจของเธอขณะรอรับการฉายรังสีรักษามะเร็ง แต่ Crow ก็ยังทำเพลงออกมาได้น่าฟังเสมอ

17.Neil Diamond -Home Before Dark* การร่วมมือกันอีกครั้งของ Neil และ Rick Rubin ดนตรียังคงเป็นในแบบคล้ายที่ Rubin โปรดิวซ์ให้กับ Johnny Cash เน้นกีต้าร์โปร่ง ดนตรีน้อยชิ้น บทเพลงจริงจังตรงไปตรงมา แตกต่างไปจากยุครุ่งเรืองของ Neil พอสมควร

16.Madonna -Hard Candy* ราชินีป๊อบทำอัลบั้มนี้ในแบบ play safe ปิดประตูล้มเหลว ด้วยการจ้างโปรดิวเซอร์ที่ทำงานติดตลาดที่สุด อย่าง Timberland และ Pharrell Williams และแขกรับเชิญงานชุกอย่าง Justin Timberlake มาเป็นหน้าเป็นตาให้ Hard Candy อีกทั้งดนตรีก็เป็นป๊อบสูตรสำเร็จที่คาดเดาได้ กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นงานคุณภาพที่เหนือชั้น เพียงแต่คงไม่มีความจีรังในความทรงจำของแฟนเพลงได้เท่างานเยี่ยมๆของเธอในอดีตอย่าง Ray Of Light หรือ Like A Prayer

15.She & Him- Volume 1* Zooey Deschannel เป็นหนึ่งในดาราหนังไม่กี่คนที่เป็นนักร้องได้อย่างเต็มตัว แถมเธอยังแต่งเพลงเองเสียอีก ‘him’ คือ M.Ward มือกีต้าร์และโปรดิวเซอร์หนุ่มในทาง alternative country Volume One เต็มไปด้วยเพลงรักในแบบยุคคุณป้ายังสาว wall-of-sound แบบ Phil Spector และป๊อบสนุกแบบ Girl Group ที่โด่งดังในยุค 60’s

14.Kean -Perfect Symmetry* เลิกทำตัวเป็นทริโอเปียโนป๊อบไร้กีต้าร์ แต่หันไปเล่นซินธ์ป๊อบแบบ A-Ha และ Pet Shop Boys แถมใส่ดนตรีแน่นขนัด เสียงร้องของ Tom Chaplin ยังคงอิ่มเอิบเฉียบขาด และ Tim Rice-Oxley ก็ยังคงร่ายมนต์ผลิตเมโลดี้เร้าใจได้มากมายเหมือนเดิม

13.Mariah Carey -E=MC2 สมัยเธอดังขึ้นมาคู่กันมากับ Whitney Houston เราก็ติดตามอยู่ว่าใครจะคงกระพันกว่ากันระหว่างสองดีว่าดำ-ขาว แต่ในขณะที่ Whitney ติดยาหมดสภาพไปแล้ว เจ๊ม้าลายของเรายังอยู่ แม้ว่าจะเคยสติแตกหวิดฆ่าตัวตายไปเหมือนกันในยุคตกต่ำ แต่เธอก็กลับมาได้อย่างไม่น่าเชื่อในอัลบั้มที่แล้ว The Emancipation Of Mimi อัลบั้มนี้ยังเดินรอยตามเดิมเป็นป๊อบที่กลมกลืนไปกับฮิปฮอปที่เธอโปรดมานานแล้วพร้อมแขกรับเชิญกระจาย เสียงกระบังลมหวีดหวิวของเธอก็ยังตามมาหลอกหลอนเป็นระยะๆ นี่เป็นงานที่ฟังได้เพลินๆและจับตลาดอเมริกันได้อยู่หมัดเหลือเกิน

12.Rolling Stones -Shine A Light ซาวนด์แทร็คจากหนังคอนเสิร์ตอีกเรื่องของสโตนส์จากการแสดงที่ Bacon Theatre ในปี 2006 ด้วยความที่เป็นสถานที่เล็กและต่อหน้าการกำกับของ Martin Scorsese ทำให้การแสดงของพวกเขาเข้มข้นและโฟกัสเป็นพิเศษ ผมได้ชมหนังเรื่องนี้ในการฉาย “กลางแปลง” ที่ Siam Paragon ในวันที่ 1 พ.ย. แม้สุ้มเสียงจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ต้องบอกว่าสนุกมากๆ มันจะเป็นอัลบั้มที่จะทำให้คุณกลับมาหลงรักร็อคแอนด์โรลอีกครั้ง

11.The Last Shadow Puppets -The Age Of Understatement โปรเจ็คเล่นๆของ Alex Turner แห่ง british punk pop ชื่อดัง Arctic Monkeys และ Miles Kane จาก The Rascals แต่ฟังแล้วโปรดักชั่นหรูหราไม่ใช่งานแก้เหงาธรรมดาๆเลย นอกจากน้ำเสียงของ Alex แล้วงานนี้แทบไม่มีอะไรเหมือน the Monkeys อิทธิพลสำคัญคือ symphonic pop ของ Scott Walker และ David Bowie ในยุคก่อนมี Alex Turner คือนักดนตรี-นักแต่งเพลงที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน เชื่อว่าอัลบั้มที่สามของ Arctic Monkeys ต้องไม่ธรรมดาแน่นอน

10.Slipknot -All Hope Is Gone* เมทัลหน้ากาก9หน่อจากไอโอวาหาจุดลงตัวของตลาดและความรุนแรงหนักหน่วงของดนตรีของพวกเขาพบในอัลบั้มที่ 4 ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะทำเพลงในระดับการทำลายล้างขนาดนี้ให้มีท่วงทำนองติดหูได้ด้วย

9. Randy Newman- Harps And Angles * ปลีกเวลาจากงานซาวนด์แทร็คมาทำงานเดี่ยวอีกครั้ง ไม่มีคำว่าฟอร์มตกสำหรับแรนดี้ นิวแมน เขายังทำดนตรีป๊อบที่มีสุ้มเสียงแบบนิวออร์ลีนส์บ้านเกิดได้น่าฟัง หลายเพลงโชว์ฝีมือการเขียนภาคออเคสตร้าราวกับเป็นซาวนด์แทร็คในบทเพลง

8.Ryan Adams and the Cardinals -Cardinology หลังจากเคยออกถึงสามอัลบั้มในปีเดียว ไรอันทิ้งช่วงห่างจาก Easy Tiger งานเดี่ยวของเขาไปถึง 1 ปี รายงานข่าวว่าเขาเอาชนะปัญหาเหล้ายาได้เด็ดขาด และ Cardinology ก็เป็นหนึ่งในงานยอดเยี่ยมที่สุดที่เขาเคยทำมา ไรอันคือส่วนผสมของแกรม พาร์สันส์ และนีล ยังก์ในวัยหนุ่ม และ Cardinology ก็ยังยืนยันในส่วนผสมนั้น มันคือ classic rock ในแบบที่คนหนุ่มยุคนี้หาใครมือถึงทำได้อย่างนี้แทบไม่มีอีกแล้ว

7.The Ting Tings -We Started Nothing ดูโอจากแมนเชสเตอร์คู่นี้ดูเผินๆเหมือนจะเป็นวงติงต๊องตลกๆธรรมดา Katie White นักร้องและกีต้าร์ผมบลอนด์น่ารักน่าชังและมือกลอง Jules De Martino กลับทำเพลงออกมาได้อย่างน่าเกรงขาม? ลองฟัง That’s Not My Name ซิงเกิ้ลดัง หนึ่งในเพลงป๊อบที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งปีจากเพลงป๊อบพังค์ที่เหมือนจะเอาสนุกเข้าว่าแบบ Mickey ของ Toni Basilแต่ตอนจบกลับโชว์การ counterpoint กันถึง 4 elements! ดนตรีของพวกเขานั้นคงจะ started nothing เหมือนกับที่ออกตัวไว้ แต่สิ่งที่เขาและเธอสานต่อนั้นก็เหลือเฟือแล้ว ได้แต่หวังว่าพวกเขาคงจะเป็น New Blondie มากกว่า New Knack ที่จอดแค่ป้ายแรก

6.B.B. King -One Kind Favor* ราชันย์แห่งบลูส์มาในสุ้มเสียงที่สดดิบที่สุดในรอบหลายปี จากการโปรดิวซ์ของ T-Bone Burnett วัย 83 ไม่เป็นปัญหาใดๆแก่คิงทั้งเสียงร้องและการเล่นกีต้าร์ Lucille ยังกรีดเสียงหวานเศร้าได้เหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา ปู่คิงล้อเล่นกับมรณะกาลของตนเองอย่างไม่ยี่หระใน See That My Grave Is Kept Clean และร่ายมนต์บลูส์ปลิดน้ำตาแฟนๆปิดท้ายด้วย Tomorrow Night นี่คืออัลบั้มที่จะเป็นตำนานบลูส์ในอนาคต

5.AC/DC -Black Ice หายไปหลายปี กลับมาครั้งนี้พวกเขาจับซาวนด์ในแบบ Back In Black ที่ทำให้วงเมทัลออสเตรเลียนนี้กลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีขายดีที่สุดตลอดกาลได้อีกครั้ง ทุกอย่างยังเป็นสูตรเดิมๆ ฮาร์ดร็อคจังหวะกลางๆที่ขายริฟฟ์มันส์ๆ เสียงร้องกรีดเค้น (แต่ในอัลบั้มนี้ Brian Johnson ในวัยนี้กรีดร้องน้อยลงแต่ใส่ความ soulful ที่ไม่ค่อยเคยได้ยินลงไปในเนื้อเสียงของเขาได้อย่างน่าฟัง) และเนื้อหาที่ไม่มีอะไรมากไปกว่า ปัจจัย4ของร็อคแอนด์โรลล์ แต่คุณคิดว่าสูตรนี้ทำกันได้ง่ายๆหรือ และมีใครทำได้อย่างพวกเขาบ้างล่ะ?

4.Fleet Foxes -Fleet Foxes งานเปิดตัวของหนุ่มฮิปปี้หลงสมัย5คนจากซีแอตเติล มันเป็นอัลบั้มที่ฟังแล้วเหมือนบันทีกเสียงกันในหุบผาซอกหินหรือเทือกเขาลำเนาไพรอันซ่อนเร้นสักแห่งในอเมริกาแทนที่จะเป็นห้องบันทึกเสียงสมัยใหม่ พวกเขาเรียกดนตรีโฟล์คร็อคที่เน้นเสียงประสานโหยหวนของพวกเขาว่า “baroque harmonic pop jams” อาจจะเป็นงานที่ไม่ขายนัก แต่เรื่องคำวิจารณ์รับดาวไปหลายตะกร้าจากทุกสำนัก

3.Duffy -Rockferry สาวเวลช์ร่างเล็กที่โด่งดังมาก่อนจะออกอัลบั้ม และเสียงเธอก็สมคำร่ำลือจริงๆ การร้องของเธอคล้ายนักร้องรุ่นใหญ่หลายคนแต่ที่โดดเด่นออกมาคือสไตล์ของ Dusty Springfield และโทนเสียงจัดจ้านแบบ Cyndi Lauper Bernard Butler อดีตมือกีต้าร์ Suede โปรดิวซ์อัลบั้มนี้ออกมาในแนวดนตรีป๊อบโซลยุค 60’s ในแบบที่เขาถนัด โดยส่วนตัวผมคิดว่าเธอมีเสียงร้องที่น่าทึ่งที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา อย่าแปลกใจว่าทำไมเธอถึงได้มาในอัลบั้มแรกอย่างสมบูรณ์แบบเช่นนี้ เพราะเบื้องหลังการทำงานใน Rockferry นั้นใช้เวลาย้อนกลับไปถึง 4 ปี จึงไม่ถูกนักถ้าจะเรียกเธอว่าเป็น New Amy Winehouse

2.Coldplay -Viva La Vida or Death and All His Friends Brian Eno ก้าวเข้ามารับบทโปรดิวเซอร์ในอัลบั้มนี้ แต่น่าจะเรียกเขาว่าเป็นผู้อำนวยการสร้างน่าจะเหมาะกว่า ไม่มีอีกแล้วสำหรับเพลงอ้อนสาวอย่าง Fix You หรือ In My Place, Viva La Vida เต็มไปด้วยซาวนด์ที่ถักทอสอดประสานหลายซับทับซ้อน มันอาจจะไม่มีเพลงติดหูง่ายๆเหมือนสามอัลบั้มแรก แต่ในภาพรวมของอัลบั้มนี่คือการผจญภัยครั้งใหม่ที่พวกเขาไปใกล้ขอบฟ้ามากขึ้นทุกที เสียงร้องของ Martin ยังทรงเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ของวงเหมือนเดิม

1.Nick Cave and The Bad Seeds -Dig!!! Lazarus Dig!!!* เจ้าพ่อ Gothic Rock วัยครึ่งศตวรรษ เครื่องติดตั้งแต่โปรเจ็กก่อนที่เขาทำกับวง Bad Seeds ชุดเล็กในชื่อ Grinderman, Dig!!! Lazarus Dig!!! ยังคงเต็มไปด้วยเพลงที่ว่าด้วยเรื่องต้องห้ามของเซ็กซ์ ศาสนา และความหายนะ ที่หาใครในโลกเขียนได้อย่างเข้มข้น(และบางทีก็ขำขัน)ได้เท่า Nick Cave ยาก ดนตรีขับเคลื่อนด้วยเบสอ้วนลึกและคีย์บอร์ดไหลลื่นในแบบ The Doors สมทบด้วยกีต้าร์ดิบร้อนฉ่า นี่คือร็อคที่ไร้กาลเวลาโดยสิ้นเชิง

Saturday 11 October 2008

มหาบุรุษแห่งบลูส์




B.B. King One Kind Favor (2008) ****










ทำไมงานรีวิวของผมถึงมีแต่สี่ดาวห้าดาว?


ผมพยายามจะหางานป๊อบ-ร็อคที่น่าสนใจในแต่ละเดือนมาเขียนถึงโดยจะเน้นงานที่ออกใหม่เป็นหลัก แต่ด้วยโควต้าที่จำกัดแค่ฉบับละ2อัลบั้ม มันจึงเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติไปโดยปริยาย งานที่ไม่ได้มาตรฐานหรือน่าผิดหวังแม้บางทีอาจจะมีแง่มุมน่าสนใจ แต่ผมก็เลือกที่จะนำงานที่เปี่ยมคุณภาพมานำเสนอเพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนมากกว่า


เป็นไงครับ ลีลาพอจะมีแววเป็นนักการเมืองได้หรือยัง?


เดือนนี้นอกจาก Harps And Angels ของ Randy Newman ที่โดดเด่นขึ้นมา ก็มีอีกหลายงานที่อยากเขียนถึง Perfect Symmetry ของ Keane, Death Magnetic ของ Metallica งาน debut ของ Glasvegas หรือป๊อบน่ารักๆจาก Emiliana Torriniแต่ผมเลือกเขียนถึงงานของชายชราที่ชื่อ B.B. King มันเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่อยากจะเขียนถึงปูชณียบุคคลแห่ง electric blues นี้สักครั้งขณะที่แกยังมีชีวิตอยู่ (แม้ว่าแกจะไม่ได้รับรู้ก็ตามที) ด้วยอายุที่ปาเข้าไปถึง 83 ขวบ และสุขภาพที่ถดถอยลงเรื่อยๆ ผมล่ะหวาดเสียวทุกครั้งที่เปิดอินเตอร์เน็ต กลัวว่าจะเจอประโยคทำนอง R.I.P. King Of The Blues...


แต่ผมไม่ควรจะเป็นกังวลเลย เพราะปู่บีบีคิงเองก็ตระหนักเรื่องนี้ อาจจะดีกว่าใครๆ ผมเชื่อว่าแกรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างสบายๆด้วยหัวใจที่กว้างขวางราวลุ่มน้ำมิสซิปซิปปี้และทัศนคติในการมองชีวิตในแง่รื่นรมย์มาตลอด แม้ดนตรีที่แกเล่นจะมีชื่อว่า Blues แต่บลูส์จากเสียงร้องและปลายนิ้วของคิง กลับเป็นเหมือนการรำพันกลั่นความรู้สึกจากส่วนลึก ราวกับเป็นการเยียวยารักษาความปวดร้าวมากกว่าจะเป็นการคร่ำครวญไร้สติ นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ยกระดับของคิงให้อยู่ต่างจากศิลปินบลูส์รุ่นเดียวกัน และคงไม่เป็นการเกินเลยไปถ้าจะบอกว่าเขาคือราชันย์แห่งดนตรีบลูส์ที่ไม่มีใครอาจเอื้อมเลื่อยขาเก้าอี้มาตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา


แต่ผมไม่ได้เขียนถึง One Kind Favor เพราะสักแต่ว่ามันเป็นงานของ B.B. King แต่มันเป็นงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาในรอบหลายปี พูดตรงๆว่าถ้านี่เป็นอัลบั้มสุดท้ายของเขา มันก็สุดจะสมเกียรติ ดนตรีบลูส์นั้นจะว่าไปก็ไม่ใช่ดนตรีที่ซับซ้อนหรือมีทางให้โลดแล่นไปมากนัก ตรงกันข้ามมันออกจะเป็นดนตรีที่ซ้ำซากวนไปวนมาด้วยซ้ำทั้งทางด้านเนื้อหาและท่วงทำนอง แต่บลูส์นั้นวัดกันที่ feel ครับ และ One Kind Favor ก็เป็นงานที่โชว์ feel กันล้วนๆ


เหตุผลสามประการที่ทำให้ One Kind Favor กลายเป็นงานบลูส์ที่แทบจะขึ้นหิ้งไปในทันทีนั้นคือ 1.โปรดิวเซอร์ที่ชื่อ T-Bone Burnett ที่เพิ่งสร้างชื่อมากๆจากการทำงานให้ Robert Plant & Alison Krauss, 2.ทีมนักดนตรีระดับพระกาฬที่ประกอบด้วย Dr. John (Piano), Nathan East (Bass) และ Jim Keltner (Drums) และ3.ตัวบทเพลงที่เป็นเพลงบลูส์เก่าแก่ที่ตัวแกเองโปรดปรานตั้งแต่สมัย 1930-1940's แต่ปู่บีบีไม่เคยนำมาบันทึกเสียงมาก่อน (น่าประหลาดยิ่งนัก) ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตัวบีบีเองปล่อยพลังในวัยชราของเขาออกมาได้อย่างน่าขนลุก เสียงร้องของเขาอาจจะอ่อนล้าไปตามวัย แต่มันยังหนักแน่นและดึงทุกอณูอารมณ์ออกมาจากทุกถ้อยวลีอันปวดร้าวที่ถูกขีดเขียนไว้เมื่อนานแสนนานแล้วออกมาได้ เขาอาจจะไม่เล่นกีต้าร์แคล่วคล่องลื่นไหลเหมือนเมื่อสิบปีก่อนในอัลบั้ม Blues On The Bayou (ที่ว่ากันว่าเป็น masterpiece สุดท้ายของแก) แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องซัดกันด้วยอารมณ์เนื้อๆอย่างใน Waiting For Your Call ก็ไม่มีใครในโลกกินแกได้ สำเนียงกีต้าร์แกทั้งหวานและเต็มไปด้วยเมโลดี้ ขณะเดียวกันมันก็เศร้าสุดหัวใจ


เพลงเปิดอัลบั้ม See That My Grave Is Kept Clean ผลงานของ Blind Lemon Jefferson ท่วงทำนองชัฟเฟิลคึกคัก ใครที่ไม่คุ้นเคยกับซาวนด์ของ T-Bone Burnett อาจจะรู้สึกว่ามันหนืดๆและแห้งแล้ง แต่เมื่อคุ้นเคยกับมันแล้วจะพบว่าซาวนด์อย่างนี้มันเหมาะสำหรับ root music อย่าง blues และ country มากกว่าการโปรดิวซ์แบบเนียนเนี้ยบอย่างอัลบั้มหลังๆของคิง เนื้อหาของเพลงและอารมณ์ที่บีบีถ่ายทอดแสดงชัดถึงมนุษย์ผู้ซึ่งบรรลุแล้วในชีวิตอันเปี่ยมคุณค่า เขาไม่แยแสอะไรนักกับวาระสุดท้าย ขอแค่ดูแลหลุมฝังศพให้สะอาดหน่อยก็พอใจแล้ว


ผมปล่อยให้บีบีและลูกวงพาอารมณ์กระเจิงไปกับประวัติศาสตร์แห่งบลูส์อย่างดื่มด่ำ จนถึงเพลงสุดท้าย Tomorrow Night (งานของ Lonnie Johnson) ที่ Elvis Presley เคยนำมาร้อง ประหลาดใจเล็กน้อยที่มีการโซโลแซ็กโซโฟน(เพราะมาก)มาก่อนกีต้าร์ แต่สุดท้ายก็เป็น 'Lucille' กีต้าร์คู่ใจของราชันย์ที่มาปิดสกอร์


สักวันหนึ่งเจ้าของ Lucille ก็คงต้องจากไป และผมไม่อยากให้ใครมาแตะต้องเธออีก และไม่คิดว่าเธอจะยอมส่งเสียงเหมือนเดิมด้วย

Wednesday 8 October 2008

RANDY NEWMAN harps and angels

Randy Newman Harps And Angels ****

คนรุ่นใหม่อาจจะรู้จักหนุ่มใหญ่ใส่แว่นชาวอเมริกันคนนี้ในบทบาทของนักแต่งเพลงให้ภาพยนตร์ของ Disney/Pixar (Toy Story, Bug’s Life, Monster Inc.) แต่แรนดี้ นิวแมนเป็นอะไรมากกว่านั้นมาก่อนหน้านี้ เขาเป็น singer-songwriter คนสำคัญของอเมริกาในรอบสี่สิบปี ในแนวทางที่ต่างออกไปจากศิลปินอย่าง Bob Dylan เนื้อหาที่เขาเขียนจะเต็มไปด้วยการเสียดสีและอารมณ์ขัน ด้วยมุมมองผ่านตัวละครที่”เชื่อถือไม่ค่อยได้”ที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นส่วนมาก แต่บางอัลบั้มของเขาก็เป็นงานเขียนแบบอัตตชีวประวัติจากมุมมองของตัวเองโดยตรงอย่าง Land Of Dreams และ Harps And Angels ก็ดูจะเป็นในแนวทางนั้น

การที่นักฟังรุ่นใหม่จะไม่คิดว่าเขาเคยทำอะไรนอกเหนือจากเพลงประกอบหนังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าเปลกอะไร เพราะงานเพลงใหม่ก่อนหน้านี้ของเขาต้องย้อนกลับไปถึงแปดปีที่แล้วกับ Bad Love (1999) และก่อนนั้นคือ Land Of Dreams (1984) จนหลายคนคิดว่าแรนดี้คงไม่ทำงาน solo อีกแล้ว

การได้ฟัง Harps And Angels ในปีนี้จึงเหมือนได้รางวัลพิเศษจากแรนดี้ หลังจากเขาปล่อยซิงเกิ้ลออกมาเรียกน้ำย่อยเมื่อปีที่แล้ว A Few Words In Defense Of Our Country

Harps and Angels คือแรนดี้ นิวแมนในวัย 65 ปีที่ยังคงเฉียบคมกริบในการเขียนเนื้อหาที่ทั้งเจ็บแสบ ขำขัน และเมื่อถึงเวลาจะซาบซึ้งเขาก็ทำได้ถึงขั้วหัวใจ ท่วงทำนองและการเรียบเรียงยังอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของดนตรีแบบ New Orleans และ Dixieland ที่เขาถนัด แต่ก็มีการหยอด topping รายทางด้วยสีสันทางดนตรีด้านอื่น ที่เหนือชั้นสมเป็น film composer มือเทพคือการเรียบเรียงออร์เคสตร้าที่จับอารมณ์เพลงได้ไม่มีพลาดและรุ่มรวยไปด้วยรสนิยม

ท่ามกลาง 10 เพลงป๊อบใน Harps and Angels ที่มีการเรียบเรียงดนตรีอย่างมีชั้นเชิงน่าสนใจ แต่สองแทร็คที่โดดเด่นขึ้นมากลับเป็นเพลงบัลลาดช้าหวานที่มีเครื่องดนตรีน้อยชิ้น Losing You แรนดี้ใช้คำง่ายๆบรรยายเรื่องราวความรักที่แสนจะธรรมดาแต่ด้วยวิธีการร้องและเล่นเปียโนของเขาทำให้ทุกถ้อยคำมีความหมายอย่างน่าประหลาด โดยเฉพาะประโยคที่ว่า When you’re young and there’s time you forget the past/ You don’t think but you will but you do/ But I know that I don’t have time enough/ and I’ll never get over losing you ส่วน Feels Like Home เป็นเพลงที่แรนดี้แต่งไว้นานแล้วและก็มีศิลปินอื่นนำไปร้องกันหลายเจ้าแต่เขาไม่เคยบันทึกเสียงมาก่อน ถือเป็นงานระดับ masterpiece อีกชิ้นของแรนดี้ ผมคิดเอาเองว่าแรนดี้อาจจะจงใจเลือกสองเพลงนี้ไว้ในอัลบั้มเพื่อเป็นเหมือนการบันทึกความรู้สึกของชีวิตรักของเขา ด้านหนึ่งใน Losing You ที่เป็นการอาลัยรักเก่าของภรรยาคนแรก ส่วน Feels Like Home คือความสุขสงบในชีวิตรักทุกวันนี้ “I never thought I’d love anyone so much…” เป็นเพลง “ขอแต่งงาน” ที่ไม่เลวนะครับ

ท่านผู้อ่านอาจจะฟัง Harps And Angels อย่างเพลิดเพลินไปกับอรรถรสและลีลาทางดนตรีที่มีให้อย่างเหลือเฟือและการบันทึกเสียงที่ยอดเยี่ยม (นิตยสาร Stereophile เพิ่งยกให้เป็น album of the month) แต่ถ้าให้ความสำคัญกับเนื้อหาไปด้วยจะทำให้ฟังสนุกยิ่งขึ้นไทเทิลแทร็ค Harps And Angels เล่าถึงประสบการณ์เฉียดตายของผู้เล่าที่แรนดี้นำมาเล่าอย่างฮาแต่ขมวดปมได้อย่างน่าคิดว่าเขาคิดว่ามันมีชีวิตหลังความตายจริงๆและเมื่อยังมีโอกาสคุณก็ควรทำชีวิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่งั้นเมื่อถึงวันนั้น คุณอาจจะไม่ได้ยินได้เห็น ‘Harps and angels’ มารับ แต่จะกลายเป็น trombones, kettle drums, pitchforks and tambourines แทน

A Few Words In Defense Of Our Country ในอัลบั้มนี้เป็นคนละเวอร์ชั่นกับ iTunes single ดนตรีเป็นคลาสสิคนิวแมนแท้ๆ เปียโนพริ้งพราย ทำนองไพเราะ และการร้องแบบกึ่งพูด คนไม่ชอบ George Bush ฟังแล้วรับรองต้องสะใจถึงขั้นก๊าก แรนดี้แกทำทีเหมือนจะเห็นใจบุชด้วยการบอกว่าถึงแม้ผู้นำเราจะแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน แต่ในโลกก็ยังเคยมีผู้นำที่เฮงซวยกว่านี้อีกเยอะ ก่อนแกจะร่ายยาวถึง ฮิตเลอร์ สตาลิน ซีซาร์..ฯลฯ Korean Parents ว่าถึงความห่วงไยที่มีต่อเด็กๆอเมริกันที่วันๆเอาแต่เล่นเกมและเรื่องไร้สาระ ดนตรีตะวันออกที่สอดแทรกเข้ามาทำได้เก๋ไก๋ทีเดียว A Piece Of The Pie ดนตรีซับซ้อนเอะอะราวกับเป็นภาพยนตร์ในตัว เพลงนี้ก็แดกดันสังคมอเมริกันอีกล่ะ แต่มาจี้เส้นเอาตรงมาใช้พี่ Jackson Browne ของผมมาเป็น punch line เสียนี่! Easy Street สลับอารมณ์ด้วยดนตรีที่เรียบง่ายฟังสบาย แต่เนื้อหาก็ยังแฝงนัยให้ขบอยู่ไม่วาย

ไม่ว่าท่านจะรู้จักแรนดี้ นิวแมนจากงานคลาสสิคในยุค70’s อย่าง 12 Songs และ Good Old Boys หรือจากงานซาวน์แทร็คหนังแอนิเมชั่น นี่เป็นอัลบั้มที่คุณจะไม่น่าจะผิดหวัง 10 แทร็คอาจจะน้อยไปนิดเมื่อดูจากตัวเลข แต่น้ำหนักชั่งเมื่อเช้าตาชั่งคุณภาพดนตรีชี้ไปที่ขวาสุดครับ




Wednesday 10 September 2008

Slipknot ALL HOPE IS GONE










Slipknot All Hope Is Gone ***1/2






อย่าปล่อยให้หน้ากากและชุด jumpsuit ที่ผู้ชายเก้าคนเหล่านี้สวมใส่ทำให้คุณไขว้เขวว่า Slipknot เป็นแค่พวกขาย image ไปวันๆ นับจากอัลบั้มแรกอย่างเป็นทางการในชื่อเดียวกับวงในปี 1999 เผลอแว่บเดียว พวกเขากลายเป็นวง metal รุ่นใหญ่ไปแล้ว All Hope Is Gone คืองานชุดที่สี่ของพวกเขา และนี่เป็นงานชุดแรกของ Slipknot ที่ขึ้นอันดับ 1 ในบิลบอร์ด

Vol.3 (The Subliminal Verses) อัลบั้มก่อนหน้านี้ในปี 2004 ที่ได้ Rick Rubin มาเป็นโปรดิวเซอร์เป็นงานที่ได้รับทั้งคำชมเชยและเสียงบ่น พวกเขาทำเพลงที่มีท่วงทำนองมากขึ้นและใส่ใจในรายละเอียดของดนตรีมากกว่าพลังและความรุนแรงในสองอัลบั้มแรก All Hope Is Gone แม้จะทิ้งช่วงจาก Vol.3 เกือบ 4 ปี แต่ก็เหมือนเป็นการเดินทางที่ต่อเนื่อง พวกเขาไม่ใช้บริการของ Rick Rubin อีกต่อไป แต่เปลี่ยนโปรดิวเซอร์เป็น Dave Fortman ผู้เคยทำงานให้กับ Mudvayne และ Evanescene มาก่อน

แม้จะมีการปล่อยข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า All Hope Is Gone จะเป็นงานที่หนักหน่วงและมืดหม่นที่สุดเท่าที่ Slipknot เคยทำมา แต่เนื้องานจริงๆกลับเป็นการผสมผสานความก้าวร้าวและอลหม่านในงานยุคแรกกับความเข้าถึงตลาดในวงกว้างของ Vol.3

ผลที่ได้คือ All Hope Is Gone คือความลงตัวครั้งสำคัญของงานของหัวหอก metal อดไม่ได้ที่จะนำไปเปรียบเทียบกับ อัลบั้ม ‘Black Album’ งูสปริงของ Metallica (ที่เพิ่งออกอัลบั้มใหม่ตามมาติดๆและกลับมาคืนฟอร์มอย่างน่าชื่นใจ) แฟนๆที่ยังชื่นชมกับอัลบั้มแรกและ Iowa อัลบั้มที่สองโดยไม่อยากให้พวกเขาเปลี่ยนแนวคงจะรับไม่ได้กับ All Hope Is Gone แต่ถ้าทำใจยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงและประเด็นที่ว่าการทำอะไรในเชิงพาณิชย์ไม่ใช่เรื่องเสียหาย คุณจะเห็นว่า All Hope Is Gone คือหลักชัยครั้งสำคัญของดนตรีหนักกะโหลกบนถนน mainstream








Slipknot ฟอร์มวงตั้งแต่ปี 1995 พวกเขาสร้างชื่อเสียงในแง่ image และฝีมือดนตรีมาพร้อมๆกัน อาจวิเคราะห์ได้ว่าแนวดนตรีของพวกเขาเป็นการหล่อหลอมอิทธิพลจากวงเมทัลรุ่นพี่อย่าง Slayer, Korn, AC/DC ลีลาการ rap อย่าง Beastie Boys ความหมกมุ่นในด้านมืดและซาตานอย่าง Black Sabbath และการสร้างรูปลักษณ์อย่าง Kiss (เป็นไปได้ว่าหลังจาก Kiss มา พวกเขาเป็นวง “ปิดหน้าปิดตา” ที่โด่งดังที่สุดในวงการดนตรี สำหรับเรื่องนี้พวกเขาตอบโต้คำครหาว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจได้อย่างเจ็บปวด ว่าจริงแล้วมันเป็นเรื่องตรงข้าม พวกเขาต้องการปิดบังตัวตนที่แท้จริงของสมาชิกโดยให้ผู้ฟังสนใจในดนตรีมากกว่าต่างหาก หน้ากากของพวกเขายังมีการเปลี่ยนรูปแบบพัฒนาไปทุกครั้งที่ออกอัลบั้มใหม่ ต่างจาก Kiss ) วิธีการร้องของสมาชิกหมายเลข 8 Corey Taylor นั้นก็น่าสนใจ ที่โดดเด่นที่สุดคือเสียงแบบ ‘growled’ (เสียงกดต่ำเหมือนนสำรอกเนื้อเพลงอยู่ในกระบังลม) สลับกับการ rap แต่ใน All Hope Is Gone ก็มีหลายเพลงที่ Corey ร้องแบบคนธรรมดา!

สำหรับผู้ใส่ใจในคุณภาพของการบันทึกเสียง และดนตรีอย่าง metal อาจจะไม่ใช่แนวที่เหมาะกับหูทองเท่าไหร่นัก แต่ All Hope Is Gone น่าจะเป็นอัลบั้มที่ชาวหูทองกับหูเหล็กไปด้วยกันได้ ต้องขอบคุณฝีมือการมิกซ์ของทีมงานที่ประกอบด้วย Jeremy Parker, Colin Richardson, Matt Hyde และการทำมาสเตอร์ของมือรุ่นเก๋าอย่าง Ted Jensen ที่ทำให้ดนตรีโกลาหลอลเวงเหล่านี้มีสุ้มเสียงออกมาแยกแยะน่าฟังในระดับหนึ่ง (อย่าไปเปรียบกับดนตรีอย่าง Jazz หรือ Classical) และถ้าคุณต้องการทดสอบ woofer ล่ะก็นี่เป็นอัลบั้มที่คุณจะได้ฟังเสียง double bass drums ฝีมือของ Joey Jordison กันอย่างเกินอิ่ม!

สิ่งสำคัญที่สุดในความเปลี่ยนแปลงของ Slipknot ที่เริ่มจาก Vol.3 ถึง All Hope ที่อาจจะทำให้วงเป็นที่ยอมรับในวงกว้างอาจจะอยู่ที่กีต้าร์ พวกเขาให้ความสำคัญกับท่อนริฟฟ์และการโซโล่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การโซโล่กีต้าร์ดูเหมือนจะเป็นศิลปะที่สูญหายไปในยุคของ nu-metal สำหรับคนที่โตมากับเพลงร็อคที่มีโซโลยาวเหยียดนี่นับเป็นข่าวดี ลองฟัง Sulfur แทร็คที่สามที่มี killer riffs ชวนให้คิดถึง Tony Iommi ขณะที่ Psychosocial ซิงเกิ้ลที่สองมีทุกอย่างของปัจจัยในการเป็นเพลงฮิต แต่ก็ยังไว้ลายด้วยการดวลกีต้าร์และกลองบน time signature ที่ซับซ้อนที่อาจทำให้เซียนแอร์กีต้าร์เล่นตามไม่ถูก Dead Memories คือตัวอย่างของ Slipknot ที่ปราศจากเสียงร้องแบบสำรอก หลายคนฟังแล้วนึกถึง Enter Sandman ของ Metallica ส่วน Snuff เป็นอคูสติกบัลลาดหน้าตาเฉยชนิดที่แฟน Iowa แทบร้องไห้



All Hope Is Gone คือความเติบโตของวงร็อควงหนึ่งที่น่าสนใจ แฟนที่ผิดหวังมักจะแดกดันว่าชื่ออัลบั้มหมายถึงความสิ้นหวังของแฟนเพลงที่จะให้พวกเขากลับไปเล่นแนวเดิมๆ แต่สิ่งที่พวกเขาพูดถึงจริงๆในตัวเพลงคือความสิ้นหวังของสังคมและการตอบโต้กับความรุนแรงและถ้อยคำไร้สัจจะของผู้นำ เบื้องหลังความเมามันของบทเพลงทั้งหมดนี้ เนื้อหาที่พวกเขาต้องการสื่อออกมาก็เป็นสิ่งที่ท่านผู้ฟังน่าจะใส่ใจไปด้วยครับ
Note: โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าการใส่หน้ากากและการแต่งตัวเป็น gimmick ของพวกเขานั่นแหละ แต่ผมชอบนะ เพราะคิดว่ามันเป็นศิลปะที่ผสมผสานความสะอิดสะเอียนกับความงดงามเข้าด้วยกันอย่างน่าทึ่ง!

Sunday 7 September 2008

Alison Krauss: a hundred miles or more

Alison Krauss/A Hundred Miles Or More :A Collection *****


เมื่อคุณนึกถึงนักร้องสาวในสไตล์ดนตรีคันทรี่-โฟล์คที่มีเสียงหวานใสไร้ที่ติประหนึ่งคริสตัลเจียระไน ในยุค 70's คงต้องเอ่ยนามของ Emmylou Harris


แต่ถ้าเป็น 90's เป็นต้นมา ต้องเป็นสาวบลอนด์คนนี้ Alison Krauss


Alison ผสมผสานดนตรีโฟล์คกับบลูกราสอย่างอิงแอบแนบเนียนและขับขานด้วยเสียงร้องประหนึ่งนกไนติงเกล นอกจากเป็นนักร้องชั้นยอดแล้วเธอยังเป็นโปรดิวเซอร์และมือ fiddle ระดับครูอีกด้วย


ตั้งแต่ออกผลงานแรก Too Late To Cry ในปี 1987 เป็นต้นมา Alison ได้เก็บเกี่ยวรางวัลแกรมมี่มากมายจนแทบไม่มีที่เก็บ และนี่คือผลงาน"รวมเพลง"ของเธอ แต่ A Hundred Miles Or More: A Collection ไม่ใช่งานรวมเพลงเอกที่เป็น vol.2 หรือ update version ของ Now That I've Foud You งานรวมฮิตที่สร้างชื่อให้เธอเป็นที่รู้จักในปี 1995 (มีเพลง cover ของ Beatles "I Will" ที่โด่งดังในบ้านเรา)


แต่ A Hundred Miles เป็นงานรวมเพลงใหม่ที่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนของเธอ บวกกับผลงานที่เธอไปร้องไว้ในอัลบั้มของศิลปินอื่นและงานซาวนด์แทร็ค รวมแล้วเป็น 16 แทร็คที่น่าจะถูกใจทั้งแฟนประจำและขาจร


ถึงแม้จะเป็นงานต่างกรรมต่างวาระ แต่เอกภาพของบทเพลงและคุณภาพในการบันทึกเสียงก็ทำได้อย่างราบรื่นกลมกลืนน่าฟัง วิศวกรทำมาสเตอร์ได้มือเก๋าของวงการ Doug Sax มาช่วยดูแล ชื่อของ Sax ยังการันตีได้เหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา (งานหลังๆของ Sax มักจะเป็นการทำมาสเตอร์ร่วมกับน้องๆ อาจเป็นเพราะประสาทหูเริ่มถดถอย และแผ่นนี้เขามาสเตอร์ร่วมกับ Sangwook "Sunny" Nam ที่ The Mastering Lab ใน California)


สำหรับหูทองผู้นิยมปลดปล่อยอารมณ์ไปในโหมด "หลงเสียงนาง" ผมแนะนำอย่างยิ่งให้เติมอัลบั้มนี้เข้าไปใน collection ของท่านครับ เพราะทุกๆแทร็คในอัลบั้มคุณจะได้ฟังเสียงร้องโซปราโนที่อ่อนหวานชวนเคลิ้มฝันของ Alison กันแบบเต็มอิ่ม นี่นับเป็นงาน solo album แรกของเธอนับจาก Forget About It ในปี 1999

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวง backup คู่บุญของเธอจะไม่ได้มาแสดงฝีมือเลย อย่างน้อยพวกเขาก็ได้มาร่วมบรรเลงในแทร็คที่สนุกสนานที่สุดในอัลบั้ม Sawing On The Strings มันคือเพลงที่คุณควรจะเปิดให้เพื่อนฟังถ้าเขาถามว่าดนตรี bluegrass เป็นอย่างไร

ถ้าไม่ได้ Sawing On The Strings ที่เป็นแทร็คเก่าจากปี 2004 มารวมใน collection นี้ อัลบั้มคงจะง่วงเหงาเกินไปหน่อย เพราะที่เหลือเป็นเพลงช้าอ้อยสร้อยแทบทั้งสิ้น จะมีอีกแทร็คที่กระฉึกกระฉักขึ้นมาหน่อยคือ Missing You ที่ Alison ร้องคู่กับเจ้าของเพลงต้นฉบับ John Waite มันคือเพลงสุดฮิตของเขาย้อนกลับไปในปี 1984 Alison เป็นแฟนเพลงของ John อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว การร้องคู่นั้นจะว่าง่ายก็ได้ แต่ถ้าสักแต่ว่ามาแบ่งเนื้อร้องให้สลับกันร้องมันก็มักจะเป็น duet ที่น่าเบื่อและเสียเวลาฟัง แต่ Missing You เวอร์ชั่นนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งสองสามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้บทเพลงและนำพามันสู่มิติใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง แทบจะทำให้คุณลืมเวอร์ชั่นโซโลของ John ไปเลย เพลงนี้มาจากอัลบั้ม Downtown...Journey Of A Heart ของ John (2007) ตัว Alison เองก็ติดลมชวน John มาร้องในอัลบ้ัมนี้โดยเฉพาะเป็นการปิดอัลบั้ม Lay Down Beside Me เพลงที่ Don Williams เคยร้องไว้และขึ้นถึงอันดับ3ในปี 1979

เพลงเปิดอัลบั้มก็เป็นงานของ Don Williams เช่นกัน You're Just A Country Boy (ชื่อเดิม I'm Just A Country Boy) เพลงนี้เคยขึ้นอันดับ1ในปี1977 และนี่เป็นหนึ่งในเพลงที่บันทึกเสียงใหม่เอี่ยมในอัลบั้ม ที่เธอนำมาไว้ที่ด้านหน้าทั้งหมด ซึ่งนอกจากเพลงแรกนี้ก็มี Simple Love, Jacob's Dream และ Away Down The River ถ้าเพลงเหล่านี้เป็นเข็มทิศชี้ทางเดินของศิลปินสาวในอนาคต ก็อาจบอกได้ว่าเธอคงจะหยิบ fiddle หรือ violin,viola ขึ้นมาเล่นน้อยครั้งลง และมุ่งเอาดีกับการเป็นนักร้องเสียงหวานเป็นสวีทอลิสเสียมากกว่า ทั้ง 4 แทร็คนี้เธอโปรดิวซ์เองครับ

O Brother, Where Art Thou? ภาพยนตร์ในปี 2000 ทำให้ผู้คนหันมาสนใจดนตรี bluegrass กันอย่างไม่เคยมีมาหลายปีดีดัก และแน่นอนว่า Alison ย่อมร่วมในขบวนการนี้ด้วย Down To The River To Pray เป็น acapella ที่เธอร้องนำนักร้องสมทบอีกหลายชีวิต สองในนั้นมีชื่อดังๆอย่าง Sam Philips และ Gillian Welch

Baby Mine เพลงน่ารักๆที่มีต้นตอจากซาวนด์แทร็คหนังการ์ตูนของดิสนีย์ Dumbo Alison ร้องเพลงนี้ไว้ในอัลบั้ม The Best Of Country Sing The Best Of Disney (1996)

อีกสามเพลงที่มาจาก soundtrack แท้ๆ I Give You To His Heart จาก The Prince Of Egypt (1998) และจาก Cold Mountain (2003) 2 เพลงคือ You Will Be My Ain True Love ที่มีสติงมากระซิบเสียงประสานและ The Scarlet Tide จากการประพันธ์ของ Elvis Costello

สิ่งหนึ่งที่ Alison เหมือนกับ Emmylou Harris คือเธอโปรดปรานในการร้อง duet และใครๆก็อยากจะ duet กับเธอ (โดยเฉพาะ Robert Plant แห่ง Led Zeppelin ที่ยอมเลือกที่จะระงับ reunion tour กับเพื่อนแก่ๆและมาออกตะลอนกับสาว Alison แทน) ลองฟังเธอร้อง How's The World Treating You ที่เธอร้องกับ James Taylor และ Whiskey Lullaby กับสุดหล่อ Brad Paisley เพื่อยืนยันความเป็นยอดนักร้องคู่ของเธอ

และถ้าความดีเด่นของอัลบั้มนี้ยังไม่พอเพียง เธอยังโชว์ความสามารถในการขับร้องเพลงแนว celtic กับ The Chieftains ไว้ในเพลงพื้นบ้าน Molly Ban (2002) เพลงนี้ The Corrs ก็เคยนำมาร้องเช่นกัน

แฟนเก่าของ Alison Krauss and the Union Station ที่คาดหวังจะได้ฟังเธอสีซอและร้องเพลงบลูกราสเยอะๆอาจจะผิดหวังไปบ้าง แต่เชื่อว่างานนี้จะได้แฟนใหม่ๆอีกมากมาย หลังจากที่เธอออกอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในชีวิต Raising Sand กับ Robert Plant แฟนๆเพลงป๊อบร็อคคงจะหันกลับมาฟังงานของเธอกันมากขึ้น และถ้าชอบเสียงของเธอเป็นทุน A Hundred Miles Or More จะไม่ทำให้คุณผิดหวังอย่างไร้ข้อกังขาใดๆ

Track List:

You're Just A Country Boy
Simple Love
Jacob's Dream
Away Down The River
Sawing On The Strings
Down To The River To Pray
Baby Mine
Molly Ban
How's The World Treating You
Scarlet Tide
Whiskey Lullaby
You Will Be My Ain True Love
I Give You To His Heart
Get Me Through December
Missing You
Lay Down Beside Me

Wednesday 27 August 2008

B.B. King: One Kind Favor


B.B. KING One Kind Favor ****



สถาบันแห่งดนตรีบลูส์ท่านนี้อายุอานามปาเข้าไป 82 ปีแล้ว อัลบั้มหลังๆของปู่บีบีดูจะถดถอยไปพอสมควร แต่แฟนๆก็คงให้อภัยสำหรับคนหนุ่มอายุปูนนี้

ไม่มีใครคิดว่าปีนี้ปู่จะกลับมาพร้อมกับอัลบั้มบลูส์เปลือยๆแบบเข้มข้นถึงใจอย่าง One Kind Favor ที่นิตยสาร Rolling Stone ถึงกับออกปากชมว่า "นี่ไม่ใช่อัลบั้มที่ดีที่สุดของบีบีคิงในรอบหลายปีเท่านั้น มันยังเป็นงานในห้องอัดที่เยี่ยมที่สุดชุดหนึ่งในชีวิตการทำงานของเขา"

งานหลังๆของบีบีมักจะอยู่ในความควบคุมของโปรดิวเซอร์ Simon Climie ผู้เชี่ยวชาญด้าน sequencing และ programming อีกทั้งยังพิสมัยในความ"เนียน"ของเนื้อเสียงแบบไม่มีออกนอกลู่นอกทาง จะหวังสำเนียงดิบๆจากงานโปรดิวซ์ของไซมอนนั้นยากเต็มที

ดังนั้นการเปลี่ยนตัวโปรดิวเซอร์มาเป็น T Bone Burnett (ผลงานหลังๆที่ผมชอบมากของเขาคือการโปรดิวซ์ให้ Robert Plant & Alison Krauss และซาวนด์แทร็ค Across The Universe)ที่มีแนวทางแทบจะตรงกันข้ามกับไซมอนจึงส่งผลกระทบอย่างชัดเจน One Kind Of Favor ไม่มีอะไรหรูหรา ดนตรีน้อยชิ้นเน้นฝีมือ จากผู้อาวุโสมากฝีมืออย่าง Dr. John ที่เปียโน Nathan East-Bass และ Jim Keltner กลอง

ปู่บีบีของเราดูกระชุ่มกระชวยเป็นพิเศษทั้งน้ำเสียงและการเล่นกีต้าร์อันเป็นธรรมชาติของนักดนตรีทุกผู้เมื่อได้อยู่ในบรรยากาศที่เป็นใจ

นี่อาจจะเป็นงานชิ้นสุดท้ายของปู่ก็เป็นได้ แต่บุรุษผู้ผ่านอะไรต่อมิอะไรมาเหลือเฟืออย่างปู่ดูเหมือนจะไม่หวั่นไหวอะไรต่อวาระสุดท้าย ไม่งั้นท่านคงไม่เลือกเพลง See That My Grave Is Kept Clean ของ Blind Lemon Jefferson มาเปิดอัลบั้ม มันเป็นการมองความตายด้วยมุมมองของนักดนตรีบลูส์ได้สะอารมณ์และเท่ชมัด ...ผมไม่ขออะไรมาก...แค่ดูแลหลุมศพให้สะอาดก็พอแล้ว....


ชื่นใจแทนแฟนๆและตัวปู่ครับที่สามารถผลิตงานชั้นยอดออกมาได้อีกครั้ง!!
------------------------------------
"See That My Grave Is Kept Clean" (Blind Lemon Jefferson)
"I Get So Weary" (T-Bone Walker)
"Get These Blues Off Me" (Lee Vida Walker)
"How Many More Years" (Chester Burnett)
"Waiting For Your Call" (Oscar Lollie)
"My Love Is Down" (Lonnie Johnson)
"The World Is Gone Wrong" (Walter Vinson and Lonnie Chatmon)
"Blues Before Sunrise" (John Lee Hooker)
"Midnight Blues" (John Willie "Shifty" Henry)
"Backwater Blues" (Big Bill Broonzy)
"Sitting On Top Of The World" (Walter Vinson and Lonnie Chatmon)
"Tomorrow Night" (Lonnie Johnson)






Sunday 24 August 2008

Metallica แสดงที่ St. Petersburg 2008


ผมต้องยอมรับว่าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้อันเหนียวแน่นของ Metallica แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแสดงของพวกเขายังทรงพลังและเต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนในการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม และถึงแม้อัลบั้มหลังๆของพวกเขาจะออกทะเลกันไปเรื่อยๆ แต่บนเวทียังหาใครกินพวกเขายาก ยิ่งช่วงหลังได้ข่าวว่าดูแลตัวเองกันดีไม่สำมะเลเทเมาเหมือนตอนวัยรุ่น ก่อนขึ้นเวทีบางคนยังเล่นโยคะอีกด้วย




ขออนุญาตแนะนำไฟล์บันทึกการแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการที่พวกเขาไปเล่นในรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้วนี้เองมาให้ฟังกันครับ เป็นไฟล์ที่ได้จาก soundboard คุณภาพเสียงจึงอยู่ในระดับดีมากๆ (ผมยังคิดว่าถ้าได้มือดีๆมา remaster อีกสักหน่อยเป็นงาน official ได้สบายครับ)


อัลบั้มใหม่ของพวกเขาที่ได้ Rick Rubin พ่อกูรูเครายาวมาโปรดิวซ์ให้คงจะใกล้ออกเต็มทีแล้วล่ะมั้งครับ?
setlist
CD1:01 - Creeping Death02 - For Whom The Bell Tolls03 - Ride The Lightning04 - Harvester Of Sorrow05 - Kirk Solo #106 - The Unforgiven07 - Leper Messiah08 - And Justice for All09 - No Remorse10 - Fade to Black
CD2:01 - Master Of Puppets02 - Whiplash03 - Kirk Solo #204 - Nothing Else Matters05 - Sad But True06 - One07 - Enter Sandman08 - Last Caress09 - Motorbreath10 - Seek and Destroy

download

40 ปี White Album - 1





เป็นธรรมเนียมไปแล้วสำหรับนิตยสาร MOJO ที่ต้องลงเรื่องใหญ่อัลบั้มครบรอบ40ปีของ Beatles ทุกปีมาตั้งแต่ปี 2006 เริ่มต้นด้วย Revolver และมีซีดีพิเศษแถมให้เป็นเพลง cover โดยศิลปินยุคใหม่ยกอัลบั้ม (ผมค่อนข้างประทับใจ Revolver Reloaded มาก แต่ปีที่แล้วกับ Sgt. PEPPER’S ไม่ค่อยดีเท่าไหร่) ปีนี้เป็นปีของอัลบั้ม ‘The Beatles’ หรือชื่อเล่นๆที่ทุกคนรู้จักกันดีกว่าชื่อจริงว่า The White Album

อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มคู่ MOJO ก็เลยพิเศษทำเป็นสองเล่มต่อเนื่องกันสองเดือน และซีดีก็แถมเป็นสองแผ่นไล่ตามอัลบั้มจริงด้วย (ซีดีผมยังฟังไปไม่ถึงรอบจึงยังไม่ขอวิจารณ์อะไร) หน้าปกเล่นโทนขาวหม่นเหมือนสีปกอัลบั้มนี้ที่ผ่านการกัดกร่อนของห้วงเวลามาแล้วพอสมควร ไม่เชื่อไปดูได้ปกแผ่นเสียงเก่าๆของอัลบั้มนี้จะออกสีนี้กันแล้วทั้งนั้น

สมัยอัลบั้มนี้ออกจริงๆผมเพิ่งอายุได้ขวบเดียว และตอนจะหามันมาฟังในยุคกลาง 80’s ในบ้านเราในรูปแบบเทปคาสเซ็ตต์กลับกลายเป็นของหายาก หรือจะพูดว่าหาไม่ได้เลยก็ว่าได้ แม้แต่เทปผี มันจึงกลายเป็นอัลบั้มแรกที่ผมได้ฟังครั้งแรกจากแผ่นไวนีลที่ไปหิ้วเข้ามาจากอเมริกา สังกัด Capitol, Stereo รู้สึกจะเป็นแผ่นฮอลแลนด์ แต่เสียงดีเชียวล่ะ ทุกวันนี้ผมยังริปมันจากแผ่นนี้ไว้ฟังใน iPod อยู่ แม้จะมีเสียงซู่ซ่าคลิกๆแก๊กๆมั่งก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหารบกวนอะไร (บางคนได้ยินเสียงพวกนี้ไม่ได้ ต้องรีบหา software มาทำการกลบเกลื่อนเป็นการใหญ่)

White Album เป็นอัลบั้มที่เป็นอะไรที่แตกต่างจาก Sgt. Pepper’s กันแบบสุดขั้วโลกเหนือ-ใต้ ขณะที่ Pepper สร้างขึ้นมาจากความร่วมมือร่วมใจและมันสมองที่อยู่ใน Creative Peak, White เป็นงานที่งอกเงยออกมาจากรอยร้าวของความสัมพันธ์ในวงและการทำงานแบบแทบจะเป็นงานโซโล่ Pepper มีความเป็น perfectionist และ concept album แต่เสน่ห์ของ White คือความ imperfection และความหลากหลายอย่างสุดขอบสเป็คตรัม 30 เพลงในอัลบั้มนี้ครอบคลุมแนวทางต่างๆมากมายจนแทบไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นผลงานของวงดนตรีวงเดียว ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือแม้ว่ามันจะไปคนละทิศละทางแต่เมื่อรวมอยู่ในซีดีสองแผ่นนี้แล้วกลับเป็นการฟังที่ต่อเนื่องไม่รู้สึกถึงความแตกต่างกันของแต่ละเพลง ตำนานเล่าว่าพวกเขาใช้เวลามากเป็นวันๆในการเรียงแทร็ค เพื่อให้ได้ลำดับในการฟังอันยอดเยี่ยมเช่นนี้




ก่อน White Album พวกเขาออกซิงเกิ้ล Hey Jude/Revolution มาเรียกขวัญแฟนๆกันก่อน Revolution เป็นเพลงแรกที่ John หันมาเขียนแนวการเมืองและ/หรือสันติภาพอย่างเต็มตัว แต่เวอร์ชั่นในซิงเกิ้ลนี้ไม่เหมือนใน White Album (กีต้าร์ดังและแหบกร้าวรวมทั้งจังหวะที่ดุดันกว่าหลายเท่า) ส่วน Hey Jude นั้นไม่อยู่ในอัลบั้มเลยด้วยซ้ำ มันเป็นหนึ่งในซิงเกิ้ลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล ทั้งๆที่มีความยาวถึง 7 นาที กว่าๆ ทางสังกัดเองยังลังเลว่าด้วยความยาวขนาดนี้มันจะเวิร์คหรือในการตัดเป็นซิงเกิ้ล แต่จอห์นย้อนกลับให้อย่างอหังการ์ว่า “มันต้องเวิร์ค เพราะเราบอกว่ามันจะเวิร์ค” และมันก็เวิร์คจริงๆ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบารมีของพวกเขา แต่ส่วนสำคัญก็คงต้องยกให้ความเป็น anthem ที่สมบูรณ์แบบของมัน ผมคิดเล่นๆว่าถ้าเพลงนื้มาอยู่ใน White Album ด้วยจะดีไหม นั่นหมายความว่าต้องมีเพลงถูกตัดออกไปสองสามเพลง และสมดุลของอัลบั้มจะเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย เพราะ Hey Jude จะโดดเด่น...อาจะเกินไป มาคิดดูแล้วก็ไม่น่าจะเอามันเข้ามารวมล่ะครับ รวมทั้งไอเดียของหลายๆคนที่อยากให้ White เป็นแค่อัลบั้มเดี่ยวแล้วคัดแต่เพลงเด่นๆมาแค่ 13-15เพลง ผมก็ไม่เห็นด้วยนะ ความมันส์ในการฟังอัลบั้มนี้อยู่ที่ความหลากหลายกระจัดกระจายของเพลงทั้ง 30 เพลง และเพลงอย่าง Why Don’t We Do It In The Road, Long, Long, Long, Don’t Pass Me By, Wild Honey Pie จะไปอยู่ที่ไหนได้ดีและน่าฟังเท่าในอัลบั้มแผ่นคู่นี้อีกเล่า


แฟนๆยุคนั้นอยู่ห่างไกลจากยุคข่าวสารลึกล้ำและรวดเร็วของยุคปัจจุบันมาก ทุกคนจึงฟังอัลบั้มนี้ด้วยความชื่นชม ไม่มีใครทราบว่าเบื้องหลังการทำงานนั้นพวกเขากดดันและเคร่งเครียดกันขนาดไหน

วันนี้ดึกแล้วขอจบแบบห้วนๆแค่นี้ก่อน ไว้จะมาเล่าเกี่ยวกับอัลบั้มนี้กันยาวๆต่อนะครับ

The Golden Age Of Download




ไม่ต้องกังวลไปครับ บทความนี้จะไม่พยายามลงลึกเรื่องเทคนิคทางคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตที่วุ่นวายน่าเบื่อ แค่อยากจะเล่าถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไปในวงการ “แลกเปลี่ยนไฟล์” ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา และท่านอาจจะได้พบกับของเล่นใหม่ที่เชื่อว่า music lover ทุกคนเจอเข้าให้ต้องติดหนึบ

การ share files แบบ p2p หรือคอมต่อคอมที่ "ดูเหมือนว่า"ไม่ต้องมีตัวกลาง เป็นความคลาสสิกของวงการดาวน์โหลด กับ Napster ที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว (ปัจจุบันก็ยังมีชื่อนี้อยู่ แต่กลายเป็นเว็บโหลดเพลงลิขสิทธิ์แบบเหมาเก็บเงิน) หลังจาก Napster เปลี่ยนแนวไปก็มีโปรแกรมอื่นๆที่ดำเนินรอยตามอีกมากจนไม่มีทางไล่ฟ้องไล่ปิดไหว อาทิ Kazza, Limewire และอีกเพียบ

ตั้งแต่ปี 2001 โลกของการแชร์ไฟล์ก็เปลี่ยนไปด้วยการเข้ามาของ Bittorrent ที่ใช้โปรโตคอลใหม่เฉพาะตัวสามารถทำให้ผู้ใช้สามารถโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ๆได้ในเวลาที่น้อยลง ประกอบกับความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยุคของ bittorent จึงไม่มีใครโหลด “เพลง” มาฟังกันต่อไป อย่างต่ำต้องเป็น “อัลบั้ม” และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บางไฟล์จะเป็นการโหลดกันทั้ง entire discography ของศิลปินนั้นๆ! อานิสงค์หนึ่งของ torrent ก็คือแนวโน้มที่จะทำไฟล์ mp3 ให้มีคุณภาพสูงขึ้นหรือทำเป็น looseless ไปเลย เพราะไม่ต้องไปกังวลว่าจะมีปัญหาในการดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ๆ คำโบราณๆที่กระแนะกระแหนถึงความด้อยคุณภาพของ mp3 จึงไม่อาจนำมาใช้ในปัจจุบันได้เต็มปาก

แน่นอนที่กล่าวมาทั้งหมดคือ free download ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์ ขณะที่อีกฝั่งของค่ายเพลง iTunes ก็ยังคงทำเงินเป็นล่ำเป็นสันจากการโหลดนี้ สาวก iPod ส่วนหนึ่งคือคำตอบของความสำเร็จ แม้จะต้องเสียเงินพอๆกับไปซื้อซีดีก็ตามที

ขณะที่ torrent ยังคงเดินหน้าต่อไปแม้จะมีอุปสรรคบ้างเพราะตัวมันก็สร้างความเดือดร้อนให้ระบบในบางครั้ง (ใครเคยเล่น torrent จะทราบดีว่าถึงจุดหนึ่งคุณจะโหลดกันไม่บันยะบันยัง ทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องคิดเลยว่าที่โหลดเอาไว้นั้นยังไม่ได้ฟัง ดู หรือใช้งานเสีย 90% โหลดไว้ก่อน ไม่รู้ใครสอนไว้)

แต่ torrent ก็ยังมีจุดอ่อน ถ้าคุณต้องการหาอัลบั้มใหม่ของ Coldplay หรือ Madonna นั้นไม่ยากเลย เพราะมีผู้ร่วมป้อนข้อมูลกันเยอะ แต่ถ้าคุณเกิดอยากฟังงานอัลบั้มเก่าๆของ The Fixx เมื่อปี 1983 หรืออัลบั้มเพลงคลาสสิกเสียงดีๆในสังกัด Living Stereo ผมรับรองเลยว่าเหงื่อตกแน่ และต่อให้หา “หัวเชื้อ” นั้นเจอ ถ้ามีผู้ร่วมสังคายนา ‘seed’ ใน torrent นั้นๆไม่มากบางทีก็โหลดกันเป็นชาติ

ช่องว่างนี้เองทำให้น้องใหม่อย่าง one-click hoster เข้ามาเสียบ


One-click hoster คือผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต ที่รับฝากไฟล์ต่างๆจากลูกค้าที่จะ upload ขึ้นมาไว้ และจะส่ง URL ให้กลับไป ลูกค้าก็จะสามารถนำ URL นั้นไปแปะไว้ในเว็บไซต์ตัวเอง หรือบอกเพื่อนๆให้ดาวน์โหลดกันได้ โดยทั่วไปจะเป็นไฟล์ขนาดใหญ่กว่าที่จะส่งให้กันทาง e-mail

ฟังดูเหมือนเป็นการถอยหลังเข้าคลองและเป็น anti-p2p โดยสิ้นเชิง บริษัทที่ทำ one-click hoster จะได้เงินจากค่าโฆษณา และค่าสมาชิกที่ลูกค้าจ่ายให้ถ้าต้องการยกระดับตัวเองเป็น premium ที่จะโหลดได้เร็ว ไม่ต้องรอนาน และไร้ลิมิต

ความแตกต่างที่ชัดเจนของ one-click hoster กับ Torrent คือความเป็นเอกเทศและเสถียรภาพกว่า ความเร็วในการโหลดก็อยู่ในขั้นเร็วตามอัตภาพของผู้ใช้งานและไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่น

ไม่น่าเชื่อว่ากระบวนการนี้จะมาแรงมากๆในสองปีหลังนี้ ทำให้หลายคนเริ่มถอยจาก bittorrent มาเล่นแนวนี้กันบ้างแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันประจวบเหมาะกับการโตอย่างสุดๆของ blogger ทั่วโลก (คุณยายข้างบ้านผมยังมี blog ใน wordpress เลย)

ถ้าคุณจะเปิด music blog แล้วมีเพลงให้เพื่อนๆดาวน์โหลดจาก collection ของคุณเอง ไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการใช้บริการฝากไฟล์ของ one-click hoster ทั้งหลาย

เจ้าที่ดังที่สุดตอนนี้อย่าง rapidshare.com และ megaupload.com เขาอ้างว่าวันๆจะมีไฟล์ไหลเวียนในเว็บของเขาร่วม....(กลั้นหายใจ)....สองแสนกิ๊กกะไบท์.... และทั้งสองเว็บก็ติดอันดับ top20 ของเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลกอย่างไม่น่าแปลกใจอะไร

อ้อ แต่ทั้งสองเจ้านั้นเค้าไม่รับฝากงานที่มีลิขสิทธิ์ที่คุณไม่ได้เป็นเจ้าของหรอกนะ ถ้ามีใครท้วงติงมาเขาก็จะลบไฟล์ทันที เพียงแต่ว่าถ้าไม่มีใครโวยเขาก็เฉยๆ ดูเหมือนกฎหมายจะเปิดช่องไว้ตรงนี้ว่าผู้รับฝากไฟล์ดิจิทัลในโลกอินเตอร์เน็ตไม่ต้องมีหน้าที่เป็นตำรวจเสียเอง ย่อหน้านี้คุณตีความกันได้ใช่ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้น

สองสามปีที่ผ่านมา จึงมี music blogs ที่มีเพลงให้โหลดผ่านทาง one-click hosters นี้มากมาย และเริ่มมีการประสานกันเป็นเครือข่าย มี forum ที่อุทิศตนให้ rapidshare โดยเฉพาะ บาง website update ไฟล์ใหม่ๆที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์เพิ่ง “อัพ” ขึ้นไปสดๆกันแบบวันต่อวัน (วันละสามเวลาด้วยซ้ำ)

เราจะไม่พูดถึงงานลิขสิทธิ์ที่หาซื้อกันได้อยู่แล้ว แต่นี่เป็นโอกาสทองที่คุณจะได้ฟังงานหายากที่เลิกผลิตไปแล้ว หรือไม่เคยเป็นซีดีมาก่อน และงานแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการที่หลายต่อหลายชิ้นมีคุณค่าทางดนตรียิ่งไปกว่างาน official เสียอีก

นิตยสารดนตรีอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลที่สุดอย่าง Rolling Stone ยังเคยชี้โพรงให้กระรอกด้วยการแนะให้ผู้อ่านไปหางาน remasters ของ Beatles ที่ทำกันเองโดยแฟนๆโดยบอกกันโต้งๆให้ไป search ใน Google ด้วยคีย์เวิร์ดว่า Beatles megaupload ทำให้งานนี้ megaupload ได้ลูกค้าใหม่ไปหลายล้าน

การค้นหาใน Google ทำได้ แต่อาจจะไม่ได้ผลที่น่าพึงพอใจนัก สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ files เพลงแต่ละอันที่ผู้ใช้ upload ขึ้นไปไม่ได้มีการทำ index ที่ดีพอ รวมทั้งชื่อไฟล์ที่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นงานอะไร อันนี้เป็นความจงใจของผู้อัพ เพราะถ้าบอกชื่อโจ๋งครึ่มโอกาสที่จะถูกลบทิ้งก็สูงขึ้นตามลำดับ

การจะหางานดนตรีในสาระบบนี้จึงยังมิอาจทำได้เป็นระบบอย่าง torrent ที่มี search engine มากมาย รูปแบบของการค้นหาจึงออกไปทาง portal site หรือปากต่อปาก ลิงค์ต่อลิงค์มากกว่า แม้จะเสียเวลาไม่น้อยแต่ก็เป็นอะไรที่เพลิดเพลินอย่างยิ่งของ music lover อย่างที่บอก ถ้าใครยิ่งรักดนตรีมานานหรือหลากหลายเท่าไหร่โอกาสที่จะถอนตัวไม่ขึ้นจากวงการนี้ยิ่งมากเป็นเท่าตัว

Recommened Music Blogs

ถ้าคุณมี internet high-speed ระดับ 1 mb ขึ้นไปและเนื้อที่ฮาร์ดดิสก์เหลืออย่างน้อยก็ กิ๊กสองกิ๊ก ลองไปทัวร์ตาม blog เหล่านี้ดูครับ อย่างไรก็ตามผมมั่นใจว่าผู้อ่านระดับ GM2000 คงไม่คิดจะโหลดกันเป็นอาชีพอยู่แล้ว ต่อให้คุณภาพเสียงจะดีขึ้นแค่ไหนก็คงไม่อาจเทียบได้กับแผ่นไวนีลหรือซีดีจริงๆในมือ ก็ถือเสียว่าเป็น “ของเล่น” ทำเพลินๆแล้วกันนะ ที่คัดมานี้เป็นเพียงแค่ทรายกำมือเดียวจากชายหาด และอย่าแปลกใจที่คุณจะรู้สึกตัวอีกทีเมื่อยู่กลางมหาสมุทรของ mp3 แล้ว

Ultimate Bootleg http://www.theultimatebootlegexperience.blogspot.com/รวมงานแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการไว้เยอะที่สุดตั้งแต่รุ่นเก๋าอย่าง Led Zeppelin ยัน Coldplay เจ้าของ blog น่าจะคัดงานมาลงพอสมควร คุณภาพใช้ได้ถึงยอดเยี่ยมเกือบทั้งหมด

Beatles Family http://octaner.blogspot.com/อะไรอะไรอะไรที่เกี่ยวกับ Beatles มีให้คุณโหลดกันอาน

New Brasilmidia http://newbrasilmidia.blogspot.com/คนบราซิลเป็นคนขยันหรือว่าตกงานกันเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบ ช่างอัพบล็อกกันได้เป็นเรื่องเป็นราวดีเหลือเกิน บล็อกนี้จะมีศิลปินฝรั่งปนละตินปนกันไป ทีเด็ดคือเต็มไปด้วยไฟล์แบบ “ยกมาทั้งชีวิต”

Jenzen Brazil http://jensenbrazil.blogspot.com/ อีกเจ้าจากบราซิล จับฉ่ายขนานแท้ มีทุกแนวและปริมาณมหาศาลอบย่างเหลือเชื่อ

Floodlitfootprint http://floodlitfootprint.blogcu.com/ บล็อกขวัญใจของนักเขียนดนตรีชื่อดังของบ้านเราคนหนึ่ง แฟนป๊อบ-ร็อคยุค 60-70’s กรี้ดสลบแล้วต้องรีบฟื้นมาโหลดต่อ

VinylHunt http://vinylloungehut.blogspot.com/ เจ้าของบล็อกเป็นวิศวะหนุ่มอเมริกัน ชอบไปหาแผ่นเสียงมือสองเด็ดๆมาริปเป็นเอ็มพีสามมาให้ฟังกัน ส่วนมากเป็นแผ่นที่ไม่มีซีดีวางขาย ออกไปในแนว lounge, easy listening มีหลายบล็อกที่ริปจากไวนีล แต่ของ VinylHunt นี้จะทำได้เนียนสุด ต้องให้เครดิตการ edit ของเขาครับ

80’s History http://historyofthe80s.blogspot.com/2008บล็อกของยุค 80’s นี้เยอะมาก เริ่มต้นที่นี่แล้วไปต่อยอดได้จากลิงค์เพื่อนบ้าน แล้วคุณจะคิดถึงเทปพีค็อกเก่าๆสมัยเยาว์วัย

Grumpy Boss http://grumpyscorner.blogspot.com/ ลุงกรัมปี้มีจานเด็ดคืองานรวมเพลงแบบ theme โดยแกเลือกเพลงเอง เช่นอัลบั้มวันฝนตก อัลบั้มรวมเพลงที่ใช้ชื่อสาวๆ อัลบั้มสำหรับฟังบนเครื่องบิน แกรวมเพลงได้เจ๋งจริงครับ

80’s Mixtape http://80s-tapes.blogspot.com/search/label/1982เจ้านี้มาแปลก ริปจากเทปรวมฮิตเก่าๆยุค 80’s ที่แกสะสมไว้ บางไฟล์ได้ยินเสียงเนื้อเทปชัดเจน

Crime Lounge http://thecrimelounge.blogspot.com/ เจ้าพ่อเจมส์บอนด์และซาวนด์แทร็คหนังสอบสวน-ฆาตกรรม เป็นบล็อกที่ดีไซน์เนี้ยบที่สุดบล็อกหนึ่ง

Lounge Legend http://loungelegends.blogspot.com/ อิ่มไปเลยสำหรับคอเพลงบรรเลงฟังสบายๆอย่าง Ray Conniff, James Last

Willfully Obscure http://wilfullyobscure.blogspot.com/ เจาะไปที่วงฝีมือดีแต่ไม่มีบุญพอจะดังในยุค 80-90’s หาฟังและซื้อยากจริงๆครับ

Crossroads Club http://crossroadsclub27.blogspot.com/ บลูส์เป็นหลัก

Singin’ and Swingin’ http://singinandswingin.blogspot.com/ เพลงหนังและเพลงแสตนดาร์ดเก่าๆยุค 60’s ลงไป

The Disco Vault http://thediscovaults.blogspot.com/ แผ่นเสียง 12 นิ้วและ extended mix ของเพลงดิสโก้ดังๆ

ถ้าท่านผู้อ่านมีอะไรจะปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เชิญได้ที่ winstonbkk@gmail.com ครับ

Saturday 23 August 2008

She & Him Volume One



She & Him : Volume One ****
หวานใสแบบ60’s






Zooey Deschanel และ M. Ward โตมากับเพลงของ The Ronettes, Nina Simone และ The Carter Familyเหมือนกัน สาว Zooey เองยังเล่าว่าความทรงจำที่เก่าแก่ที่สุดของเธอก็คือการนั่งดูหนัง The Wizard Of Oz และพยายามร้องเพลง Over the Rainbow ตามไปด้วยตอนเธออายุสองขวบ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่อัลบั้ม Volume One ของคนหนุ่มสาวอย่าง She & Him จะอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของดนตรีป๊อบของยุคซิกซ์ตี้ส์ เมื่อโลกยังอ่อนเยาว์และบทเพลงยังใสซื่อบริสุทธิ์ การได้ฟังอัลบั้มนี้ในปี 2008 จึงเหมือนเป็นสายลมเย็นที่พัดผ่านมาให้ชื่นใจยามโลกดนตรีอบอ้าวไปด้วยดนตรีที่หนักอึ้งขมึงเกลียว(ซะเป็นส่วนใหญ่)

ความเป็นดาราฮอลลีวู้ดของ Zooey (Almost Famous, ELF) อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ She & Him แต่เชื่อเถิดว่าเธอไม่ได้ใช้ความเป็นดาราเป็นจุดขายใน Volume One นี้อย่างแน่นอน ผู้กำกับ Martin Hynes เสนอให้ Zooey จับคู่กับ M. Ward นักร้องนักแต่งเพลงและนักกีต้าร์เพื่อบันทึกเสียงเพลง When I Get To The Border เพลงเก่าของ Richard Thompson เพื่อประกอบภาพยนตร์ The Go-Getter ให้เขา ทั้งคู่ปิ๊งกันในทางดนตรีโดยทันที Zooey ชื่นชมในความเป็นอัจฉริยะของ Ward และเมื่อ Ward ได้ฟัง demo ของ Zooey เขาก็รู้โดยทันทีว่านี่คือบทเพลงที่เหลือเชื่อ ทั้งคำว่า “เหลือเชื่อ” และ “อัจฉริยะ” นั่นเป็นคำที่ทั้งสองเยินยอกันเองนะครับ “เธอและเขา” เริ่มเข้าห้องอัดบันทึกเสียงอัลบั้ม Volume One นี้กันในปี 2006-7

ความสามารถทางดนตรีของ Ward อาจจะไม่ถึงกับอัจฉริยะ และเพลงที่ Zooey แต่งเกือบทั้งหมดในอัลบั้มนี้ก็ออกจะห่างไกลกับคำว่าเหลือเชื่อ แต่ She & Him เป็นองค์ประกอบทางเคมีที่ให้ผลลัพธ์แสนสุนทรีย์หรับคนที่รักดนตรีแนวนี้ Ward เคยเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมให้ Jenny Lewis ในอัลบั้ม Rabbit Fur Coat มาก่อน ถ้าท่านเคยฟังอัลบั้มนั้นมันก็มีสุ้มเสียงที่คล้ายกับ Volume One พอสมควร อย่างไรก็ตามสตาร์ของอัลบั้มย่อมเป็น She

เสียงร้องของ Zooey อาจจะทำให้ระบบความทรงจำในสมองของคุณวิ่งพล่านเพื่อหาข้อมูลที่ฝังลึกอยู่ว่าเสียงเธอเหมือนใครหนอ เสียงเธอหวานแหลมเล็กคล้าย Carly Simon มีจังหวะการแบ่งวรรคตอนเหมือน Karen Carpenter แต่ฟังทั้งหมดอีกทีก็เหมือนๆจะน่าจะใช่ Carole King ในวัยเยาว์ที่สุด อย่างไรก็ตามเราไม่มีนักร้องสาวเสียงร้องและวิธีการร้องแบบนี้ให้ฟังมานานแล้ว บทเพลงใน Volume One เต็มไปด้วยเนื้อหาใสๆเข้ากับแนวเพลง แต่ต้องชมการเลือกฉากหรือประโยคสั้นๆในเนื้อเพลงที่ใส่เข้ามาอย่างเหมาะเจาะ อาทิ การขี่จักรยานแบบสองคนอยู่คนเดียวเหงาๆใน Black Hole หรือการนั่งคอยอยู่บนหิ้งเหมือนตุ๊กตาใน Why Do You Let Me Stay Here?




อิทธิพลในการทำเพลงแบบ Phil Spector มีให้เห็นตั้งแต่แทร็คแรก Sentimental Heart เปียโนตอกย้ำในจังหวะบัลลาดช้าหวาน เสียงประสาน Ahhhh ให้อารมณ์ซิกซ์ตี้ส์สุดๆ เสียดายที่สั้นไปนิด Why Do You Let Me Stay Here? ซูอี้ร้องด้วยเสียงแบบ ‘flirt’ ที่นิยมกันในยุคนั้นได้อย่างน่ารักน่าชัง This Is Not A Test พักจากเรื่องรักมาเป็นเพลงให้กำลังใจผู้ฟัง ชีวิตไม่ใช่การทดสอบ จะดีจะร้ายจะสูงเสียดฟ้าหรือต่ำลงเหวสุดท้ายก็ผ่านไป “The summit doesn't differ from the deep, dark valley, And the valley doesn't differ from the kitchen sink. “ Ward พรมคอร์ดกีต้าร์โปร่งไปตามจังหวะปานกลาง เสียงคอรัสซ้อนทับหลายชั้นรองรับเสียงร้องไร้ที่ติของ Zooey นอกจากซิกซ์ตี้ส์ป๊อบแล้วดนตรีค้นทรี่แนชวิลล์ก็ยังเป็นหนึ่งในส่วนผสมที่ออกหน้าออกตาหลายเพลง Change Is Hard โดดเด่นด้วยเสียงสไลด์และสตีล ส่วน Got Me นั้นยิ่งดิ่งลึกลงไปในความเป็นคลาสสิกคันทรี่ยิ่งกว่า

แต่ที่ถูกใจผมที่สุดน่าจะเป็น I Was Made For You ที่ She & Him สวมวิญญาณ Girl Group กันสุดฤทธิ์ เสียงร้องของ Zooey ก๋ากั่นล้อไปกับเสียงประสาน doo dub-dee-dubb ของเหล่าลูกคู่ เนื้อร้องก็ต้องประมาณ....” I was takin' a walk When I saw you pass by I thought I saw you lookin' my way So I thought I'd give you a try /When I saw you smile I saw a dream come true So I asked you, maybe Baby whatcha gonna do?” พฤติกรรมแบบนี้ ถ้าเป็นยุค 60’s ต้องถือว่าเป็นสาวมั่นสุดๆแล้ว

Volume One มีเพลง cover สามเพลงคือ You Really Got A Hold On Me ของ Smokey Robinson, I Should Have Known Better ของ John Lennon & Paul McCartney และเพลง tradition Swing Low, Sweet Chariot สองเพลงแรกเล่นกันสบายๆเหมือนนักศึกษาล้อมวงเล่นกันยามหัวค่ำ ส่วนเพลงสุดท้ายที่เป็นโบนัสแทร็คเหมือนเดโมที่บันทึกเสียงกันริมน้ำที่ไหนสักแห่ง (ได้ยินเสียงเหมือนน้ำซัดเข้าฝั่งเบาๆตลอดเพลง)

Zooey ยืนยันว่านี่ไม่ใช่ side project ดูจากชื่ออัลบั้มก็คงจะหวังได้ว่าจะได้ฟังงานชื่นมื่นจากสองหนุ่มสาวคู่นี้กันอีก

หมายเหตุ-ถ้าท่านรู้สึกว่าเสียงเปียโนอัลบั้มนี้มันเพี้ยนๆชอบกล จงปรบมือให้ตัวเอง เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เป็นความจงใจของศิลปินเพื่อให้ได้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์-เขาว่าอย่างนั้นนะ

Miles Davis Kind Of Blue





















โดนัลด์ ฟาเกน (สตีลลี่ แดน)...."มันคือ sex wallpaper"
คลินท์ อีสต์วู้ด "เอานิวเอจไปไกลๆ ผมขอแค่ Kind Of Blue"
ควินซี่ โจนส์ "มันคือน้ำส้มยามเช้าของผมที่ต้องดื่มทุกวัน"
ดวน ออลแมน "ไอเดียจากการโซโลยาวเหยียดของผม มาจาก Kind Of
Blue"







ใครๆก็ชื่นชม Kind Of Blue หลายคนบอกว่า ถ้าคุณจะมีซีดีแจ๊สแค่แผ่นเดียว ก็ต้องเป็นแผ่นนี้ (แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ดนตรีแจ๊สหลากหลายเกินกว่าที่จะอ้างอิงด้วยอัลบั้มนี้อัลบั้มเดียว) และเมื่อไหร่ที่มีการจัดโพลล์อัลบั้มแจ๊สยอดเยี่ยมตลอดกาล ผมยังไม่เคยเห็นอัลบั้มนี้พลาดอันดับ 1 ไปได้เสียที
แต่อาจจะไม่ทุกคนที่คลั่งไคล้มัน....



อ่านใน JazzLife เล่มสองปกป้าเอลล่า ที่คุณอนันต์เขียนถึงอัลบั้มนี้ไว้อย่างลึกซึ้งในเชิงโครงสร้างดนตรีแล้วก็นึกทึ่ง Flamenco Sketches เล่นกับโครงสร้างของ mode อย่างเมามัน โดยมีการเปลี่ยนโมดถึงห้าโหมดต่อเนื่องกันให้นักดนตรีแต่ละคนโซโลกันเพลินๆ



แต่ในคอลัมน์เดียวกันก่อนหน้านั้น คุณอนันต์ได้ไปสัมภาษณ์อาจารย์ดนตรีสองท่านเกี่ยวกับ Kind Of Blue นี้ และมีความเห็นที่น่าสนใจหลายประเด็น



เมื่อคุณอนันต์ถามถึง Flamenco Sketches ที่เป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม อาจารย์ท่านแรกสารภาพว่าเขามักจะไปไม่ถึงเพลงนี้ หลับไปก่อน ส่วนอีกท่านกล่าวสั้นๆว่า เขาก็ชักเริ่มง่วง และให้ข้อมูลเพียงว่ามันเป็นการ"ใช้โหมดเขียน"



ยังมีอีกความเห็นเกี่ยวกับ So What ที่อาจารย์ท่านหนึ่งแสดงความสงสัยว่าทำไมการโซโลในเพลงนี้จึงดูอั้นๆ ขณะที่เวอร์ชั่นอื่นของ So What ที่ออกมาทีหลังมีการ "สอย" (เขาใช้คำนี้) กันยับมากกว่านี้ ทั้งที่เพลงก็เปิดช่องให้มากมาย อีกความเห็นของอาจารย์บอกว่า คนเล่นแซ็กในอัลบั้มนี้ดูเกร็งๆเหมือนโดนโปรแกรม อาจเป็นเพราะต้องมาเล่นอะไรที่ไม่คุ้นเคย



อาจารย์ทั้งสองท่านมีความเห็นตรงกันว่าชอบ Blue In Green ที่สุดในอัลบั้ม และท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยว่าอัลบั้มนี้เป็นงานที่ฟังง่ายเหมาะสำหรับเยาวชน



และที่คนอ่านสามารถรู้สึกได้แม้ว่าอาจารย์ทั้งสองท่านจะไม่กล่าวออกมาตรงๆคือ Kind Of Blue ไม่ใช่งานโปรดของท่านแหงๆ



ไมลส์นำทีมนักดนตรีของเขาในยุคนั้นรวมกับเขาแล้วก็เจ็ดคนเข้าห้องอัดที่ Columbia Studios สองรอบในเดือนมีนาคมและเมษายน 1959 โดยไม่มีการซ้อมเพลงเหล่านี้มาก่อน ทุกคนได้รับทราบแต่โหมดและโครงสร้างหลวมๆ ที่เหลือเป็นการมั่วเอ๊ยอิมโพรไวส์หน้างานล้วนๆ ไมลส์เล่นทรัมเป็ต จอห์น โคลเทรน เทเนอร์แซ็ก แคนนอนบอล แอดเดอร์ลีย์ อัลโตแซ็ก บิล อีแวนส์ เปียโน วินตัน เคลลี่ เปียโน (เฉพาะแทร็ค Freddie Freeloader) พอล แชมเบอร์ส เบส และ จิมมี่ คอบบ์ กลอง ทุกคนได้รับการยอมรับว่าเป็นจอมยุทธผู้เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธประจำกายในระดับสูงสุดของแจ๊สบู๊ลิ้ม



โดยส่วนตัวผมใช้เวลากับอัลบั้มนี้อยู่หลายปีถึงจะเข้าถึงอารมณ์ของมันได้ ผมเห็นด้วยว่ามันไม่ใช่อัลบั้มสำหรับมือใหม่ฟังแจ๊สที่อาจจะหลับคาเครื่องได้อย่างง่ายดาย และมันไม่เหมาะสำหรับคนที่ชอบอะไรเร่าร้อนเผ็ดมันไม่ว่าจะรูปแบบไหนอย่างแน่นอน ตรงข้าม...แน่นอน...มันเหมาะสำหรับคนที่ชอบเหม่อลอยปล่อยอารมณ์ลอยโลด ทำอะไรทอดหุ่ยซึมเซา.... ในบางเวลา....(อย่างผม)



ความเห็นของอาจารย์สองท่าน อาจจะสร้างการถกเถียงในหมู่คนรัก Kind Of Blue กันวุ่นวาย แต่เมื่อไตร่ตรองดู นั่นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ Kind Of Blue เป็นอมตะ ไม่ว่าจะเป็นการไม่"สอย"กันยับใน So What การเล่นแซ็กโซโฟนที่เรียบง่ายเหมือนผ้าพับไว้ของทั้งสองตำนานแซ็ก หรือความง่วงเหงาหาวนอนของโทนโดยรวมของอัลบั้ม ทั้งหมดนั้นคือเสน่ห์ของ Kind Of Blue



รีวิวในอะเมซอนอันนึงเขียนได้ถูกใจผมมาก
"วันฝนตก...ผมเปิด Kind of Blue....ทะเลาะกับแฟน....เปิด Kind of Blue....รู้สึกสบายๆ....เปิด Kind Of Blue....."



ใช่เลย! ความอัศจรรย์ของมันคือดูมันจะเป็นซาวน์แทร็คหรือแบคกราวนด์มิวสิกให้กับอารมณ์และสถานการณ์ต่างๆได้หลากหลายอย่างน่าประหลาด มันเป็นอัลบั้มโปรด"หลังวิ่ง"ของผมตลอดกาล และท่อนโซโลอันเพราะพริ้งสวยงามนั่น ไม่ว่าจะใน So What หรือ All Blues ไม่ว่าผมจะฟังกี่ร้อยหน ก็ยังไม่เคยจำมันได้เสียที มันคือความคุ้นเคยที่ยังเคลือบแคลงด้วยความคาดไม่ถึงอยู่ร่ำไป
Kind Of Blue ในความเห็นของผม มันไม่ใช่ซีดีแจ๊สแผ่นเดียวที่คุณต้องมี แต่ถ้าคุณมีมัน มันจะทำให้คุณต้องเสียเงินกับดนตรีแนวนี้ตามมาอีกสุดประมาณ แต่ถึงคุณจะตะบันซื้อไปอีกกี่แผ่น คุณก็จะพบว่า โลกนี้ยังไม่มีภาคสองของ Kind Of Blue....








บทความนี้เคยลงไว้ใน oknation.net /blog/adayinthelife

Note: อีกไม่นานนี้ ทาง Sony จะออก Kind Of Blue boxset มาให้เสียเงินกันอีก ข่าวว่าจะมี outtake แปลกๆนิดหน่อย อาทิ false start take ของ Freddie Freeloader (จะยาวกี่วินาทีหนอ) รวมทั้งดีวีดีเบื้องหลังและสารคดี

Guillemots-RED


Guillemots-Red ***1/2

The Complex Dance!



Fyfe Dangerfield ผู้นำวงมาดเซอร์จากเกาะอังกฤษ Guillemots ไม่ซ่อนเร้นเป้าหมายของการทำอัลบั้มที่สองของวง เขาต้องการงานที่ตีแสกหน้าผู้ฟังด้วยบีทอันหนักแน่นของริธิ่มแอนด์บลูส์ งานเต้นรำบนทำนองที่ติดหูพร้อมจะตรึงใจผู้ฟังแม้ได้ยินเพียงครั้งเดียวในวิทยุ ทางต้นสังกัดยังโฆษณาทับไปอีกว่ามันจะเป็นงานที่น่าตื่นเต้นที่ไม่ได้ฟังกันมานานนับตั้งแต่ Prince ทำงานแหวกแนวบ้าดีเดือดของเขาในยุค 80’s

ข่าวนี้สร้างความมึนให้ผมพอสมควร เพราะในอัลบั้ม Through The Windowpane ที่ออกมาในปี 2006 มันไม่ใช่ Guillemots อย่างที่กล่าวในย่อหน้าแรกเลย บรรยากาศในอัลบั้มแรกนั้นออกเย็นยะเยือก เต็มไปด้วยเครื่องสายเข้มข้นและเสียงฮาร์โมนีซับซ้อน จำได้ว่าปีนั้นผมยกให้ Sao Paolo แทร็คสุดท้ายยาว 11 นาทีกว่าๆเป็นหนึ่งในเพลงแห่งปี การเล่นกับออเคสตร้าในเพลงนี้ทำให้นึกถึงยุครุ่งเรืองของคลาสสิคัลร็อค นอกจากนั้นยังมีเพลงสวยๆอย่าง Little Bear ที่เนิบนวยนาดจนไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะนำมาเปิดอัลบั้ม (เพลงโปรดของเซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์) และ Train To Brazil ที่เล่นกับเครื่องเป่าอย่างครื้นเครง

Guillemots ตั้งวงกันมาตั้งแต่ปี 2004 โดยผู้ก่อตั้งวงก็คือนาย Fyfe นั่นเอง เป็นคนหนุ่มที่น่าจับตาทีเดียว เพราะหมอนี่ครบเครื่องทั้งแต่งเพลงได้ลึกเกินวัย เขียนสกอร์ออเคสตร้าด้วยตัวเอง และเสียงร้องก็ไม่ธรรมดา เขายังเล่นทั้งกีต้าร์และคีย์บอร์ดด้วย สมาชิกหลักคนอื่นๆก็มี MC Lord Magrão - เล่นกีต้าร์และเบส Aristazabal Hawkes – ดับเบิลเบสและเพอร์คัสชั่นและ Greig Stewart ตีกลอง (มีคนหลังที่ชื่อไม่น่าตื่นเต้นอยู่คนเดียว) และยังมีทีมเครื่องเป่าเสริมอีกสองคน Through The Windowpane ได้เข้าชิง Mercury Prize ในปี 2006 แต่ก็ได้แค่ที่สอง ไม่อาจต้านความแรงของ Whatever People Say I Am, That’s What I’m Not ของ Arctic Monkeys ได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวทางของ Guillemots ในอัลบั้มแรกนั้นจะหลากหลายจับทางยาก แต่คงไม่มีโหรท่านไหนกล้าทำนายว่าอัลบั้มสองของพวกเขาจะออกแนว Timbaland ขนาดนี้ นิตยสาร NME ผู้ทรงอิทธิพลของอังกฤษไม่รีรอที่จะถล่มงานชุดนี้เสียไม่เหลือความดีงาม แถม Uncut เครือเดียวกันก็แจกให้แค่สองดาวซึ่งถือว่าสอบตก ถ้ามองอย่างใจเป็นกลาง ผู้ที่จะผิดหวังกับงานนี้อย่างผิดสังเกตก็คือผู้ที่เคยชื่นชมกับอัลบั้มแรกของวงนั่นเอง

Red ที่ตั้งชื่อตามความร้อนแรงของ content ข้างใน มีด้วยกัน 11 แทร็ค และกว่าครึ่งในนั้นเดินเครื่องด้วยจังหวะที่หนักหน่วงแบบ dance music แต่มันไม่ใช่ dance ธรรมดา เพราะ Guillemots ไม่ได้คายพิษสงเสียหมด ดนตรีของพวกเขายังซับซ้อน มีทางเดินคอร์ดแปลกๆ สำเนียงแปร่งหู และการใช้เครื่องดนตรีที่ไม่มีใครคาดฝันในทุกๆเพลง เสียงร้องของ Fyfe ค่อนข้างจะคล่องตัวและเอาอยู่ในทุกแนว ไม่ว่าจะเป็น falsetto ใน Standing On The Last Star ร็อคตะโกนๆในซิงเกิ้ลแรก Get Over It หรือบัลลาดอ่อนช้อยอย่าง Falling Out Of Reach และ Word

ทั้งหมดนี้ทำให้ Red กลายเป็นงานที่จะเอาไว้เต้นก็คงพอได้ แต่มันก็ไม่ค่อยเหมือนธรรมชาติของเพลง Dance ที่ดนตรีจะไม่ซับซ้อนและแทรกสรรพคุณทางดนตรีไว้มากมายขนาดนี้ ผมก็คาดเดาไม่ถูกเหมือนกันว่าผู้ฟังจะยอมรับมันได้ขนาดไหนทั้งแฟนเก่าและใหม่ แต่ถ้าไม่ติดกับงานแรกเกินไป Red น่าจะจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับงานล่าสุดของ Muse และ Beck ได้ คือเป็นงานร็อคคุณภาพในจังหวะจะโคนที่ชวนขยับแข้งขาพองาม

กลิ่นอายของบีทแบบ World Music บนเสียงกลองที่กระหน่ำหนักหน่วงยังพอจับได้อยู่ สำเนียงอารบิกและภารตะมีมาให้ได้ยินเป็นระยะๆตั้งแต่แทร็คแรก Kriss Kross คีย์บอร์ดกระหึ่มและบีทที่ถาโถมไม่ปราณีปราศรัยเป็นการต้อนรับอย่างไม่ให้ตั้งตัวต่อด้วย Big Dog โซลย้วยๆที่ใครฟังก็คงอดคิดถึงจอร์จ ไมเคิลไม่ได้ (โปรดิวเซอร์ของ Red เคยทำงานกับไมเคิลมาก่อน) พักเหนื่อยกันด้วย Falling Out Of Reach ที่น่าจะเป็นเพลงที่ธรรมดาที่สุดและไพเราะที่สุดในอัลบั้มโดยมี Word ตามมาติดๆแต่เพลงหลังนี่อาจจะต้องทนรำคาญเสียงกีต้าร์ไฟฟ้าที่เล่นครืดคราดคลอเบาๆไปตลอดเพลงอยู่พอสมควร

Clarion เด่นด้วยคีย์บอร์ดเป็นเสียงซีต้าร์ที่เล่นซ้ำเป็นริฟฟ์แต่สำเนียงดันออกไปทางจีนๆ...ทำไปได้ Last Kiss เปลี่ยนบรรยากาศเป็นเสียงคอรัสสาวๆบ้างแต่จังหวะก็ยังเร่งร้อน Cockateels ค่อยทำให้แฟนเก่าใจชื้นขึ้นหน่อยด้วยดนตรีอลังการในแบบที่พวกเขาเคยทำไว้ เสียงประสานนักร้องหญิงแบบ Arcade Fire สลับกับเครื่องสายหวือหวาน่าฟังมากครับ ปิดท้ายเรียบๆด้วย Take Me Home ที่เป็นคนละเพลงกับของ Phil Collins แต่เป้าประสงค์ดูจะใกล้เคียงกัน

Guillemots เลือกทำงานที่สองในแบบที่ต่างจาก The Feeling พวกเขากล้าที่จะฉีกแนวออกไปจากเดิมค่อนข้างมาก แต่ก็ยังคงซาวนด์หลักๆให้ยังพอจำกันได้ Red เป็นงานที่อาจจะฟังดูฉูดฉาดในรอบแรกๆแต่มีรายละเอียดมากมายที่ต้องฟังกันหลายรอบจึงจะเก็บความดีงามขึ้นมาได้หมดครับ