Monday 7 December 2015

อย่างนี้สิบลูส์



Buddy Guy | Born To Play Guitar *****
Release: July 2015
Genre: Electric Chicago Blues
Producer: Tom Hambridge

ผมเกิดที่ลุยเซียน่า
ตั้งแต่สองขวบ
แม่บอกพ่อว่า
“ไอ้หนูของเรามันมีแววบลูส์นะ”
ผมเติบโตอย่างรวดเร็ว
และจากนั้น,ได้เดินทางมาแสนไกล
มีอย่างหนึ่งที่โคตรจะแน่นอนก็คือ
ผมนั้นเกิดมาเพื่อเล่นกีต้าร์
ผมสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง
และทุกๆคนก็รู้จักชื่อผม
ผมเกิดมาเล่นกีต้าร์
พี่น้องเอ๋ย, ผมมีบลูส์ในสายเลือด
เหล่าสาวๆในชิคาโก้
พวกหล่อนรักผมปานจะกลืนกิน
แต่ด้วยความรักในกีต้าร์
มันทำให้ผมต้องออกจากบ้านไปแสนไกล
ผมสร้างชื่อ
ใครๆก็รู้จักผม
ผมเกิดมาเล่นกีต้าร์
และมีบลูส์วิ่งพล่านในสายเลือด
สายกีต้าร์ทั้งหก
ขึงตึงเรียบร้อยเตรียมพร้อมอยู่ในเจ้าเครื่องจักรตัวแสบของผม
จ่ายให้ผมสิ
แล้วผมจะทำให้ไอ้เจ้านี่กรีดร้องให้คุณฟัง
ผมจะเล่นมันต่อไปเรื่อยๆ
และในวันสิ้นลม
กีต้าร์ลายจุดนี้จะวางสงบบนหลุมศพของผม
ผมสร้างชื่อมาตั้งแต่ยังละอ่อน
และทุกคนรู้จักชื่อผม
“บัดดี้กาย, นั่นแหละเขา”
คุณก็รู้ว่าผมเกิดมาเพื่อเล่นกีต้าร์
ผมมีบลูส์วิ่งพล่านในสายเลือด

   และแล้วเราก็มาอยู่ในยุค Post-B.B. King แต่โชคดีเรายังมีบัดดี้ กาย  Muddy  Waters สั่งเสียกายไว้ด้วยประโยคสุดท้ายก่อนเขาเสียชีวิตว่าให้กาย “รักษาดนตรีบลูส์เอาไว้ต่อไป” และกายก็นำประโยคนี้มาใช้อีกครั้งหลังการจากไปของ B.B. King  (เขาพูดไว้ในการให้สัมภาษณ์หลังคิงตาย) ครับ,เราจะมาฟังกันว่า ผู้ชายวัย 79 คนนี้จะยังถือคบเพลิงแห่งบลูส์ต่อไปได้หรือไม่
   เนื้อเพลงด้านบนถอดความมาจากไทเทิลแทร็คของอัลบั้มที่ 28 ของเขา “Born To Play Guitar” และมันก็แทบจะเป็นชีวประวัติในเพลงบลูส์ของเขาที่สรุปความเป็นบัดดี้ กายไว้ได้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที จากเพลงนี้,กายทำให้เราอุ่นใจว่าเขายังแข็งแรงในน้ำเสียงอันดุดันและเผ็ดร้อน รวมทั้งเสียงจาก ’57 Stratocaster ของเขาก็ยังครบเครื่องเช่นเดิม กายได้โปรดิวเซอร์ที่ร่วมงานกันมานานตั้งแต่ยุค Skin Deep (2008) อย่าง Tom Hambridge มารับหน้าที่อีกครั้ง ทอมยังช่วยแต่งเพลงในอีกหลายแทร็คด้วย
   Born To Play Guitar ดูจะไม่มีคอนเซพท์อะไรพิเศษ ต่างจากอัลบั้มหลังๆของกาย กล่าวคือมันก็เป็นเพียง 14 เพลงในแนวทางของบัดดี้ กายที่โลดแล่นไปกับอารมณ์บลูส์ผสานไปกับแนวดนตรีต่างๆที่ไม่ทำให้มันเป็นงานบลูส์ซ้ำซากอย่างที่บางคนตราหน้ามันไว้ (และมันก็เป็นจริงในหลายกรณี) แต่ทีเด็ดของมันคือ ทั้ง 14 เพลงล้วนเป็นเพลงที่แต่งมาได้อย่างเด็ดดวงและเล่นด้วยฝีมือระดับ... น่าจะดีที่สุดในโลกแล้ว
   เสียงร้องของกายฟังดูสั่นเทาขึ้นเล็กน้อยแทบจับไม่ได้ เมื่อเทียบกับงานเก่าๆ แต่สำหรับดนตรีบลูส์ มันเป็นอะไรที่พิเศษที่ความชราภาพกับไม่ใช่ปัญหาใดๆในการแสดงออก แทร็คแรกเป็น straight blues ที่เรียบเรียงอย่างโปร่งบาง เปิดโอกาสให้กายโชว์อารมณ์ลุ่มลึกทั้งเสียงร้องและกีต้าร์ ก็ได้แต่หวังว่าวันที่กีต้าร์ลายจุดของเขาจะถูกวางบนหลุมฝังศพของเจ้าของจะยังคงอีกนานกว่าจะมาถึง ‘Wear You Out’ บูกี้บลูส์ระดับพรีเมี่ยมที่ได้แขกรับเชิญจาก ZZ Top-Billy Gibbons มาร่วมสังฆกรรม เสียงแหบกร้านและริธึ่มกีต้าร์อันเมามันส์ทำให้เพลงนี้ดุเดือดสุดๆ Kim Wilson จาก Fabulous Thunderbirds มาเป่าฮาร์โมนิก้าให้สองเพลงใน “Too Late’ และ ‘Kiss Me Quick’ (คนละเพลงกับของเอลวิส) และมันก็ช่วยเสริมส่งเสียงกีต้าร์ของกายเป็นอย่างดี (หีบเพลงปากเป็นเครื่องดนตรีที่กายชอบประชันด้วยมาแต่ไหนแต่ไร) ‘Back Up Mama’ เนื้อหาอย่างฮาแบบรุ่นเดอะ ทำนองว่า ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้นกายจึงไม่คิดว่ามันเป็นความผิดอะไรที่เขาจะมี “มาม่าสำรอง” ไว้อีกคน ในอีกเมืองนึง เผื่อมาม่านัมเบอร์วันไม่อยู่ เพลงนี้ยังมีท่อนโซโล่ที่สวยงามที่สุดในอัลบั้มอีกด้วย
   ในโลกของบลูส์นั้น มันไม่ใช่สถานที่ของความสะอาดสะอ้านหรือจรรยาใดๆ และนอกเหนือจากความเห็นเรื่องมาม่าสำรองแล้ว การบำบัดความทุกข์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ถือเป็นเรื่องชอบธรรมใน Blues World เสมอ ในอัลบั้มนี้กายนำเสนอแบบเผื่อให้เลือกตามใจชอบเลยด้วย ‘Whiskey, Beer & Wine’ แถมกำชับอีกว่ามันเป็นตัวยาของเขาที่จะแก้ได้ทุกปัญหาในชีวิต! ‘Crying Out In One Eye’ เสียงร้องแบบซื่อๆของกายในเพลงนี้เด็ดมาก พอๆกับเนื้อหาที่มีท่อนฮุคที่”การร่ำไห้ด้วยตาข้างเดียว” ใช่ครับ กายกำลังถูกแม่สาวหลอกบีบน้ำตาว่าอาลัยเขาเหลือแสน แต่จริงๆแล้วเขากำลังจะถูกทิ้ง เสียงทีมเครื่องเป่ามาถูกที่ถูกเวลา ทำให้อารมณ์ลัพธ์กระหึ่มขึ้นไปอีก แต่ใน ‘Thick Like Mississippi Mud’ กายใช้เครื่องเป่าเต็มที่เสียยิ่งกว่า ให้ความรู้สึกแน่นเหนียวเหมือนโคลนในมิสซิสซิปปี้จริงๆ เจ้าแม่แขกรับเชิญร้องคู่ Joss Stone กรีดกรายมากรุ้มกริ่มกับพี่กายของเราใน ‘(Baby) You’ve Got What It Takes’ ที่เป็นอีกครั้งที่หนูจอสส์ร้องได้สุดๆทั้งจังหวะจะโคนและน้ำเสียงอันยั่วยวนแต่ทรงพลัง ในขณะที่พี่กายดูจะลดวัยลงไปประมาณ 40 ปีในการ duet กับชี ฟังแล้วก็บ่นในใจอีกครั้งว่าเมื่อไหร่จอสส์จะทำเพลงแนวนี้แบบเน้นๆในอัลบั้มตัวเองเสียที (ล่าสุดออกไปแนวเร็กเก้แล้ว) ‘Turn Me Wild’, ‘Crazy World’ และ ‘Smarter Than I Was’ เป็นสามเพลงโชว์ฝีมือที่ต้องฟังกันนานๆหน่อย โดยเฉพาะเพลงหลังนี่ดาร์คเอาเรื่อง และโดดเด่นด้วยการประชันกีต้าร์กันสามตัว (กาย,Bob Britt และ Rob McNelley)

   แขกรับเชิญคนสุดท้ายคือ Van Morrison ที่มาร่วมขับร้อง ‘Flesh and Bone’ อันเป็นเพลงที่กายอุทิศให้ B.B. King ชีวิตเป็นอะไรที่มากไปกว่าเนื้อหนังและกระดูก แม้จะตายไปแล้วแต่วิญญาณนั้นยังดำรง ท่อนโซโลสั้นๆก่อนจบเพลงนั้นฟังดูเหมือนกายจะเล่นในสไตล์ของคิงเป็นการทำความเคารพครั้งสุดท้าย ปิดท้ายด้วย ‘Come Back Muddy’ ที่เขียนถึง Muddy Waters ผู้มีศักดิ์เป็นอาจารย์ของกาย

   นี่เป็นครั้งที่สองที่ผมเขียนถึงกายใน GM2000 และคราวนี้ผมไม่มีอะไรจะติติงเขาได้ ห้าดาวเต็มๆครับ สำหรับ Born To Play Guitar และถ้าคิงและวอเตอร์สมีโอกาสได้ฟังงานชุดนี้ไม่ว่าในทางใด เขาทั้งสองคงสบายใจว่ายังไงเสีย This damn blues is still alive แน่นอนในมือของ Buddy Guy

Tracklist:

01 Born To Play Guitar
02 Wear You Out feat. Billy Gibbons
03 Back Up Mama
04 Too Late feat. Kim Wilson
05 Whiskey, Beer & Wine
06 Kiss Me Quick feat. Kim Wilson
07 Crying Out Of One Eye
08 (Baby) You Got What It Takes feat. Joss Stone
09 Turn Me Wild
10 Crazy World
11 Smarter Than I Was
12 Thick Like Mississippi Mud
13 Flesh & Bone with Van Morrison (Dedicated to B.B. King)
14 Come Back Muddy