Friday 25 September 2009

The Beatles In Mono


The Beatles In Mono: The Fab Four Director’s Cut


ถ้ากล่องสีขาวบริสุทธิ์ที่ห่อหุ้มซีดีบางๆ10แผ่นนี้ข้างในเป็นภาพยนตร์ ก็คงไม่ผิดอะไรที่จะเปรียบเปรยว่า The Beatles In Mono นี้เป็นฉบับที่ตัดต่อโดยตัวผู้กำกับเอง เพราะในยุค 60’s ที่เป็นรอยต่อของการบันทึกเสียงแบบ Stereo/Mono The Beatles มักจะใส่ใจใน mono mix เสมอมา จวบจนกระทั่งปี 1968 และในที่สุดพวกเขาก็เลิกสนใจทำ mono mix ไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่อัลบั้มซาวนด์แทร็ค Yellow Submarine ดังนั้นกล่อง The Beatles In Mono นี้จึงหยุดเวลาไว้ที่อัลบั้มสุดท้ายที่มีการทำ mono mix อย่างเป็นทางการ ‘The Beatles’ หรือที่มีชื่อเล่นที่ทุกคนรู้จักกันในนาม ‘The White Album’


กล่องนี้จึงเป็นการรวมเพลงทุกเพลงของ Beatles ที่ได้รับการผสมเสียงในแบบโมโน แต่ไม่ครบทุกเพลงทุกอัลบั้ม ถ้าท่านต้องการสะสมงานของพวกเขาในแบบครบครันโดยไม่สนใจเรื่องมิกซ์ว่าจะเป็นสเตอริโอหรือโมโนก็น่าจะควักตังค์ซื้อ “กล่องดำ” stereo box มากกว่า


แต่ถ้าท่านอยากศึกษาผลงานการบันทึกเสียงของ Beatles อย่างจริงจังและดูดดื่ม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้อง “ฟัง” ดนตรีในกล่องขาวนี้ เพราะมันมีแง่มุมและอารมณ์ที่แตกต่างจากสเตอริโอเวอร์ชั่นอยู่ไม่น้อย


แต่ขอขัดจังหวะในเรื่องของหีบห่อเสียก่อน


นักฟังรุ่นใหม่ๆอาจจะสนใจในเรื่องของหน้าปกแผ่นหรือแม้กระทั่งตัวซีดีเองน้อยลง แต่ในยุคของ Beatles สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและเป็นส่วนร่วมในตำนานของพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะที่ package ของสเตอริโอบอกซ์เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นออริจินัลและการดีไซน์ใหม่ๆที่เสริมเข้ามา แต่อาร์ทเวิร์คในกล่องโมโนนี้กลับเป็นการยึดมั่นกับอดีตอย่างซื่อตรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทุกอย่างของปกซีดีเป็นการถ่ายทอดจากปกแผ่นเสียงทุกกระเบียดนิ้ว ไล่ตั้งแต่โทนสีของหน้าปกที่ออกครึ้มๆไม่ฉูดฉาด ต่างจากสเตอริโออย่างเห็นได้ชัด (โดยเฉพาะ Sgt. Pepper’s) ปกหลัง,สันปก การพับกระดาษใน gatefold,ตัวโลโกกลางแผ่นเสียงที่กลายมาเป็น CD label หรือแม้กระทั่งซองกระดาษที่ใส่แผ่น อะไรที่เคยมีแถมใน White Album หรือ Pepper กล่องนี้ก็มีมาให้หมด


แน่ละ สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่มีผลอะไรกับดนตรีโดยตรง แต่การเสพดนตรีของมนุษย์นั้นซับซ้อนกว่าแค่การฟังอย่างเดียวโดยตัดปัจจัยต่างๆออกไปสิ้น สมองของปุถุชนคนเราไม่ฉลาดถึงขนาดนั้น!


นักฟังรุ่นใหม่ๆอาจจะไม่ได้ความรู้สึกถวิลหาอดีตกับการฟังกล่อง The Beatles In Mono นี้มากเท่ากับผู้ที่เติบโตมากับเสียงแบบนี้ (เท่าที่ได้คุยกับแฟนเพลงรุ่นใหญ่ที่เป็นชาวไทยท่านก็บอกว่าบ้านเรานิยม stereo มาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว ใครฟัง mono ถือว่าหลงยุค) รวมทั้งตัวผมเองด้วย


ผมเคยฟัง Beatles ในแบบโมโนมาพอสมควร จากสี่อัลบั้มแรกของพวกเขาที่ออกมาแบบโมโนตั้งแต่ปี 1987 และ EP Collection รวมทั้งการได้ฟังจากแผ่นเสียงเก่าๆในบางอัลบั้ม แต่นี่เป็นครั้งแรกที่จะได้ฟัง Beatles ในแบบที่พวกเขาอยากให้เราฟังแบบครบชุด


ทีมงาน “รีมาสเตอร์” ให้ข้อมูลว่าในการเตรียมมาสเตอร์ใหม่เพื่อทำกล่องโมโนนี้ พวกเขาแทบไม่ได้ไปดัดแปลงแก้ไขอะไรกับสุ้มเสียงเดิมๆในมาสเตอร์เทปเลย เรียกว่าคงความคลาสสิกเอาไว้ไม่ต่างอะไรจากที่เขาทำกับ artwork ในขณะที่ใน stereo box พวกทีมงานรีมาสเตอร์ได้เหยาะเครื่องปรุงเอาไว้ไม่น้อย

จึงไม่แปลกอะไรที่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว เสียงใน mono box จะบางเบากว่า stereo ที่ส่วนหนึ่งทำเพื่อเอาใจคนใน generation นี้ที่ต้องการความ “ดัง” และพลังของเสียง คุณจึงต้องเร่ง volume ของเครื่องเสียงคุณขึ้นอีกสักเล็กน้อยเมือฟังซีดีจากกล่องขาวนี้


แฟนๆเต่าทองทั่วโลกยังถกกันไม่เลิกแม้จะผ่านมา 40 กว่าปีแล้ว ว่าในแต่ละอัลบั้มเวอร์ชั่นโมโนหรือสเตอริโอเยี่ยมกว่ากัน ในสองอัลบั้มแรก Please Please Me และ With The Beatles พวกเขาบันทึกเสียงกันด้วยแค่เทป 2 แทร็ค ดังนั้นสเตอริโอเวอร์ชั่นของสองอัลบั้มนี้จึงฟังดูแปลกๆไม่เป็นสเตอริโอที่สมบูรณ์แบบ ผมชอบ mono ของ Please Please Me แต่ใน With the Beatles กลับฟังสนุกกว่าในแบบ stereo


A Hard Day’s Night น่าจะให้สุ้มเสียงที่ดีกว่านี้ใน stereo เท่าที่เคยฟังจากแผ่นเสียงเก่าๆ แต่ในรีมาสแตอร์นี้โมโนกลับน่าฟังกว่า Beatles For Sale นั้นยอดเยี่ยมในทั้งสองแบบ Help! Mono นั้นเสียงออกจะกระป๋องหน่อย แต่กลับได้อารมณ์ดิบๆมากกว่า และยังมี Yesterday ที่ใครได้ฟังแบบโมโนแล้วต้องติดใจทุกราย


ห้าอัลบั้มในครึ่งหลังถือเป็นช่วงที่พวกเขาเริ่มกลายเป็นเซียนในห้องอัดเต็มตัว ตั้งแต่Rubber Soul, Revolver, Sgt. Pepper’s, Magical Mystery Tour, White Album ทุกอัลบั้มให้ feel ที่แตกต่างไปจากสเตอริโอ รวมไปถึงความแตกต่างเล็กๆน้อยๆจนถึงมากๆในแต่ละเพลง ถ้าคุณเคยรักอัลบั้มเหล่านี้ในแบบ stereo นี่อาจจะไม่ต่างอะไรกับการได้ใกล้ชิดกับน้องสาวของคนที่คุณรัก...หน้าคล้ายๆกัน แต่มีเสน่ห์ไปคนละแบบ....!!!


การทำโมโนมิกซ์นั้นจะว่าง่ายก็ใช่ เพราะไม่ต้องคิดถึงการวาง image ของเสียงดนตรี แต่ก็จะมีความยากในการทำให้แต่ละเสียงโดดเด่นไม่ซ้อนทับกันจนฟังไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะเมื่อดนตรีมากชิ้นขึ้นอย่าง I Am The Walrus หรือ A Day In The Life แต่ George Martin และทีมงานของเขาก็ฝากผลงานไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่เสียดายก็คือ พวกเขาไม่ได้ทำอัลบั้ม “เพลงหงส์” Abbey Road ไว้ในแบบ mono กล่องนี้จึงเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป


สรุปว่าควรจะหามาฟังกันเป็นอย่างยิ่งครับ สำหรับผู้ที่รักดนตรีของ Beatles ในแบบมากกว่าแฟนเพลงทั่วไป (คือต้องบ้าขึ้นมาอีกระดับ) กล่องนี้ไม่มีการขายแยกแผ่น ถ้าจะซื้อก็ต้องยกกล่องกันอย่างเดียวครับ!