Monday 23 February 2009

The Beatles-Revolution 1 เวอร์ชั่น UNCUT หลุด!





แม้ว่าจะเคยปล่อยงานรวม outtakes ในชื่อ Anthology ออกมาในช่วงกลางยุค 90's เป็นซีดีถึงหกแผ่น ยังไม่รวมถึง Bootleg albums อีกนับไม่ถ้วน (หมายความตามนั้นจริงๆ) แต่ The Beatles ก็ยังมีงานที่น้อยคนนักจะได้ฟังนอนนิ่งอยู่ในโกดัง...เอ๊ย คลังเก็บมาสเตอร์ของอีเอ็มไออีกมากมาย แทบจะทุกเสียงที่พวกเขาบันทึกเสียงกันไว้หลังจากปี 1963 เป็นต้นมายังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

ในบรรดางาน unreleased ทั้งหมดนั้น Revolution Take 20 ที่บันทึกเสียงกันในช่วงบ่ายสองครึ่งถึงตีหนึ่งในวันที่ 4 มิ.ย. 1968 ถือเป็นงานระดับ "จอกศักดิ์สิทธิ์" (Holy Grail) ที่แฟนๆแสวงหากันมานานนับปี นับจากที่ Mark Lewisohn เขียนบรรยายไว้ในหนังสือ Beatles Complete Recording Sessions ของเขาในปี 1988 แต่สิ่งที่แฟนๆจะทำกันได้ก็มีเพียงแค่จินตนาการตามตัวหนังสือของ Mark (ผู้ซึ่งเป็น "คนนอก" ไม่กี่คนที่มีโอกาสได้ฟังเพลงนี้)

บัดนี้ ไม่มีปี่มีขลุ่ยหรือเครื่องดนตรีอะไรนำ จู่ๆ Revolution Take 20 ในแบบเต็มๆไม่ตัดต่อยาวเกือบ 11 นาทีก็หลุดออกมาให้ดาวน์โหลดกันตามบล็อกต่างๆ รวมทั้งฟังกันได้สบายๆใน youtube ไม่มีใครทราบว่ามันมาจากไหนและใครนำพามันออกมา

Beatles มีเพลงชื่อ Revolution อยู่สามเพลงคือ Revolution ที่เป็นซิงเกิ้ลและเต็มไปด้วยเสียงริฟฟ์กีต้าร์ของเลนนอนและแฮริสันแตกพร่าสนั่นตลอดเพลง Revolution 1 ที่อยู่ใน White Album ที่หนักไปทางอคูสติกนิ่มนวลกว่าและช้ากว่า และ Revolution 9 ที่เป็นเพลง Avant-Garde ไร้รูปแบบอยู่ในหน้าสุดท้ายของ White Album เช่นกัน

Revolution Take 20 ที่ว่านี้ก็คือ Revolution 1 ที่ยังไม่ตัดต่อเรียบร้อย มันมีเสียงร้องและท่อนดนตรีบางชิ้นที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน และที่สำคัญมันยาวกว่า official version ถึงเจ็ดนาที

ช่วงเจ็ดนาทีสุดท้ายนี่ล่ะครับคือ climax Beatles โดยเฉพาะ John Lennon หลุดโลกกันสุดขั้วและเต็มไปด้วย sound effects และ tape loops มากมายที่ถั่งโถมกันเข้ามาเป็นระลอก แน่นอน...มีเสียงน่ารักๆของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ชื่อ Yoko Ono รวมอยู่ในเสียง"แปลกๆ" เหล่านั้นด้วย ตลอดเวลาที่บันทึกเสียงเพลงนี้ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า John Lennon นอนร้องอยุ่บนพื้นสตูดิโอตลอดเวลาเพราะเขาต้องการให้เสียงร้องเขาฟังต่างออกไปจากการยืนร้องปรกติ

บางส่วนของช่วงหลุดโลกท้ายเพลงนี้ได้ถูกนำไปใช้ใน Revolution 9 อีกครั้ง ที่คุณฟังแล้วอาจจะนึกถึงได้ ถ้าคุณฟัง Revolution 9 มามากพอ (เกินกว่าหนึ่งครั้ง!??)

ฉะนั้น อาจจะตั้งชื่อเทคนี้ไว้เล่นๆได้ว่า Revolution 1+9

ปัญหาที่น่าสะพรึงกลัวอีกข้อเดียวก็คือ ที่เราได้ฟังอยู่นี้มัน "ของจริง" หรือเปล่า หรือว่าเป็นฝีมือเซียนออดิโอบางคนที่ตัดต่อแต่งเติมและสร้างเสริมขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากหนังสือของ Lewisohn น่ากลัวเหมือนกันนะครับ เพราะเทคโนโลยีดิจิตัลในเรื่องพวกนี้มันรุดหน้าไปมากเหลือเกิน

คุณก็ตัดสินเอาเองแล้วกันครับ แต่ผมน่ะตัดสินใจแล้วครับ

More Info

Led Zeppelin: Life Before Led (1)


เส้นทางชีวิตของนักดนตรีสี่คนสมาชิกของ Led Zeppelin ไขว้กันไปมาอย่างสะเปะสะปะเล็กน้อย ก่อนที่ค้อนของพระผู้เป็นเจ้าจะเขี่ยจิมมี่ เพจ, จอห์น พอล โจนส์, โรเบิร์ต แพลนต์เข้ามาอยู่รวมกัน บทความนี้จะเล่าเรื่องความเป็นมาของเหตุการณ์ก่อนที่จะเป็น Led Zeppelin อย่างที่เรารู้จักกันดี

9 มกราคม 1944 เด็กชาย เจมส์ แพทริค เพจ ถือกำเนิดขึ้นที่ Heston, Middlesex เขาเป็นสมาชิกคนแรกของวงทื่ลืมตาดูโลก เลส พอลเป็นกีต้าร์ตัวแรกของเขาที่เพจได้มาในแบบมือสอง มือกีต้าร์คนโปรดของเขาในช่วงวัยรุ่นคือ เจมส์ เบอร์ตัน, เช็ท แอทกินส์ และ คลิฟฟ์ กัลลัพ (อยู่ในวงของจีน วินเซ็นต์) แผ่นเสียงแผ่นแรกในชีวิตของหนุ่มเพจคือ The Girl Can’t Help It ของ ลิทเทิล ริชาร์ดในปี 1957

นีล คริสเตียน roadie ของวง Red E Lewis & The Red Caps เป็นคนแรกที่เห็นแววในตัวเพจในปี 1959 เขาใช้ลูกตื้ออ้อนวอนให้ผู้ปกครองของเพจปล่อยให้ลูกชายมาเล่นดนตรีกับวง (ต้องออกจากโรงเรียนมาเลย) ด้วยค่าตัว 15 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ต่อมาคริสเตียนกับเพจก็ฟอร์มวงกันเองในชื่อ Neil Christian & The Crusaders

เพจเริ่มสร้างสุ้มเสียงของเขาเองหลังจากเล่นในวงกับนีลมาได้สักปีสองปี และในปี 1962 เขาก็รู้สึกว่าเขาโตเกินกว่าที่จะอยู่ในวง Crusaders อีกต่อไป (เพจและวงมีซิงเกิ้ลออกมาหนึ่งแผ่นชื่อ The Road To Love)

ด้วยความเหนื่อยล้าและปัญหาสุขภาพจากการตรากตรำทัวร์กับ Crusaders ทำให้เพจกลับมาเข้าโรงเรียน Sutton Art School แต่ก็ยังเล่นดนตรีอยุ่เป็นช่วงๆกับวง The Cyril Davies All Star ไมค์ ลีนเดอร์ โปรดิวเซอร์และนักเรียบเรียงของเดกกาเรคคอร์ดส์ประทับใจการเล่นของเพจกับวงนี้และชักชวนเพจให้มาเล่นกีต้าร์ในเพลง Your Mama’s Out Of Town ของ The Carter-Lewis Group นั่นเป็นการเริ่มต้นของการเป็นนักกีต้าร์รับจ้างในห้องอัดของเพจ (session musician) และการเป็น “มือปืนห้องอัด” นี้เองที่ทำให้เขาได้พบกับ อนาคตเลด เซพพลินอีกคน

จอห์น บาลวิน คือชื่อดั้งเดิมของจอห์น พอล โจนส์ เขาโผล่มายังโลกที่ Sidcup, Kent ในวันที่ 3 มกราคม 1946 พ่อแม่ของเขาเป็น Musical Comedy (พ่อของโจนส์มีรสนิยมทางดนตรีกว้างขวางมาก ทำให้จอห์นดูดซับดนตรีหลากหลายตั้งแต่รัชมานินอฟยันชาร์ล มิงกัส หรือ บิ๊ก บิล บูซซี่)

จอห์นเริ่มจับเครื่องดนตรีที่เปียโน, ออร์แกน และกีต้าร์ ก่อนที่จะมาพบว่าสิ่งที่เขาชอบที่สุดคือเสียงทุ้มลึกของกีต้าร์เบส อายุ 14 จอห์นเริ่มออกทัวร์กับพ่อแม่ของเขา และในปี 1963 เขาเข้าประจำการในฐานะมือเบสของ Jet Harris & Tony Meehan (เพจเคยเล่นกีต้าร์ให้วงนี้ในเพลง ‘Diamonds’ ซึ่งถือเป็นเพลงอันดับ1เพลงแรกของเพจในฐานะมือกีต้าร์เซสชั่น) แต่วงนี้ก็อยู่ได้แค่ 18 เดือน จอห์น พอล โจนส์ เลยหันไปเป็นมือเบสรับจ้างเต็มตัว

31 พฤษภาคม 1948 คุณแม่ของจอห์น เฮนรี่ บอนแฮมใช้เวลาถึง 26 ชั่วโมงในการคลอดบุตรชายคนนี้ จอห์นเกือบเอาชีวิตไม่รอด หัวใจเขาไม่เต้นในตอนเกิด แต่น่าอัศจรรย์ที่แพทย์และพยาบาลสามารถช่วยชีวิตเขาไว้ได้ ไม่นานนักพลังทั้งมวลก็มาสู่ตัวบอนแฮม หลังจากเขาได้ดูหนังเรื่องหนึ่งของมือกลองตำนานแจ๊ส จีน ครุปปาที่ท่านโชว์การโซโลกลองไปบนกลองทุกชิ้น บอนแฮมก็ไม่รีรอที่จะเลียนแบบฮีโร่ของเขา ในวัยห้าขวบ บอนแฮมเข้ายึดเครื่องครัว ใช้มืดและซ่อมฟาดไปบนกล่อง,กระป๋อง และอะไรก็ได้แถวๆนั้น ก่อนที่บองโซจะทำลายข้าวของในครัวหมด ทางบ้านก็ซื้อสแนร์ดรัมให้เขาตอนอายุ 10 ขวบ และทยอยซื้อให้จนครบชุดในอีกห้าปีต่อมา แม้มันจะอยู่ในสภาพเหมือนโบราณวัตถุสนิมเขรอะ แต่ก็ไม่มีอะไรหยุดเขาจากความปรารถนาในการจะเป็นดรัมเมเยอร์....เอ๊ย...ดรัมเมอร์...ได้

หลังจากคุณครูใหญ่เขียนไว้ในสมุดพกว่าเขา “เป็นคนกวาดถนนที่ดียังไม่ได้เลย” บอนแฮมก็เริ่มออกเล่นกับวงท้องถิ่นตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยเริ่มจากวง The Blue Star Trio และ Terry Webb & The Spiders เสียงกลองของเขาได้รับการบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในเพลง She’s A Mod ของThe Senators ในปี 1964 วงต่อมาในช่วงสั้นๆของเขาคือ A Way Of Life ที่เล่นในแนวของครีม/จิมมี่ เฮนดริกซ์ ก่อนที่เขาจะมาอยู่กับวงที่เน้นแนวบลูส์มากขึ้นอย่าง Crawling King Snakes ที่ๆที่เขาได้พบกับนักร้องนาม โรเบิร์ต แพลนต์

แพลนต์แหกปากร้องครั้งแรกในชีวิตที่ Bromwich, Worcestershire ในวันที่ 20 สิงหาคม 1948 พ่อเขาเป็นวิศวกร แพลนต์เริ่มต้นมากับดนตรีโฟล์คอเมริกันก่อนที่จะก้าวมาสนใจบลูส์และโซล แผ่นเสียงแผ่นแรกของเขาคือ Shop Around ของ สโมคกี้ โรบินสันในต้นปี 1960 สามปีต่อมาเขาก็เริ่มที่จะออกมาร้องเพลงให้ชาวบ้านฟังเองบ้าง “ผมเป็นไอ้นักร้องที่ไว้เคราไม่ขึ้นผู้ซึ่งเคยเล่นฮาร์โมนิกาและร้องแต่เพลงเก่าๆของมัดดี้ วอเตอร์ส” แพลนต์อธิบายตัวเองในยุคนั้นไว้อย่างนั้น

หลังจากออกจากวง The Crawling King Snakes แพลนต์ก็ไปร้องและเล่นให้วงต่างๆอีกหลายวงในเบอร์มิงแฮม เขาออกซิงเกิ้ล You Better Run กับวง Listen ในปี 1966 และยังออกงานเดี่ยวอีกสองเพลงคือ Our Song/Long Time Coming

1968 แพลนต์และบองโซโคจรมาพบกันอีกครั้งในวง Band Of Joy ระหว่างการทัวร์ครั้งหนึ่งของวง แพลนต์ได้พบกับยอดนักร้องอีกคน-- เทอรี่ รีด ซึ่งแพลนต์ชื่นชมและประทับใจสไตล์การร้องของเทอรี่มากๆ หนึ่งปีต่อมา เทอรี่เป็นบุคคลสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตของแพลนต์และบอนแฮมไปโดยสิ้นเชิง