Wednesday 6 May 2009

Bob Dylan: TOGETHER THROUGH LIFE


Bob Dylan Together Through Life (2009)***1/2

Produced By Jack Frost

Genre: Chicago Blues, Country, Mexican Folk


Disc one All songs by Bob Dylan and Robert Hunter, except where noted.
1. "Beyond Here Lies Nothin'" – 3:51 2. "Life Is Hard" – 3:39 3. "My Wife's Home Town" (Willie Dixon/Dylan/Hunter) – 4:15 4. "If You Ever Go to Houston" – 5:49 5. "Forgetful Heart" – 3:42 6. "Jolene" – 3:51 7. "This Dream of You" (Dylan) – 5:54 8. "Shake Shake Mama" – 3:37 9. "I Feel a Change Comin' On" – 5:25 10. "It's All Good" – 5:28


ไม่ว่าคุณจะคิดว่าหนุ่มใหญ่วัย 68 คนนี้จะเป็นกวีที่ทำเพลงได้เยี่ยมที่สุดหรือเป็นร็อคสตาร์ที่เขียนเนื้อเพลงได้ดุจกวีเอก ก็ต้องยอมรับว่าบ๊อบ ดีแลนคือตำนานของอเมริกันไปแล้ว Together Through Life คืออัลบั้มที่ 33 ของป๋า และแม้จะทิ้งช่วงจากอัลบั้มก่อนหน้านี้ Modern Times ถึงสามปี ก็ยังต้องเรียกว่างานนี้ออกมาอย่างรวดเร็วเกินกว่าใครจะคาดหมาย... แม้แต่ Columbia Records และตัวป๋าเอง


ป๋าและลูกทีมเข้าห้องอัดกันเพื่อทำเพลงประกอบหนังเรื่อง My Own Love Song ที่ยังอยู่ในช่วงถ่ายทำอยู่เลย แต่ป๋าทำเพลงเสร็จรอไว้แล้ว นั่นคือบัลลาดเหงาหงอย Life Is Hard แต่ด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลายสบายๆ ป๋าเลยติดลม ทำเพลงต่ออีกอย่างรวดเร็ว 9 เพลงรวด จนได้มาเป็นอัลบั้ม Together Through Life โดยพลัน


ป๋าทำงานในอัลบั้มนี้แบบหนุกๆเอามันส์ไม่เครียด หลังจากทำงานอลังการมาแล้วใน Modern Times แต่ชุดนี้ป๋ามาแบบติดดิน ดนตรีฟังเพลินๆเหมือนซ้อมกันเงียบๆในโรงหนังเก่าๆหรืออาจจะเป็นในบาร์ชายแดนเม็กซิกันตอนย่ำค่ำที่ยังไม่ค่อยมีแขก เสียงแอคคอร์เดียนจากฝีมือของ David Hidalgo แห่ง Los Lobos โดดเด่นตลอดอัลบั้ม และยังได้มือกีต้าร์คนโปรดของผมจาก The Heartbreakers ของ Tom Petty : Mike Campbell มาตอดริฟฟ์และโซโลสวยๆ (เขาเป็นมือกีต้าร์ที่มีเลือกตัวโน้ตได้เพราะพริ้งเสมอมา) เมื่อนำมาผสมกับลูกวงในทัวร์ที่ไม่เคยจบสิ้นของป๋าจึงให้เสียงดนตรีที่เฉียบขาดและกลมกล่อมด้วยฝีมือล้วนๆ


ป๋าแต่งเพลงในอัลบั้มร่วมกับ Robert Hunter แห่ง Grateful Dead เป็นส่วนใหญ่ เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ป๋าไม่ได้เขียนเพลงร่วมกับชาวบ้านแบบนี้ นั่นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เนื้อเพลงใน TTL ดูเบาหวิวไม่ค่อยมีอะไรคมคายในแบบที่จะเอาไปเล่าต่อให้เพื่อนฟังได้เท่ๆแบบในอัลบั้มก่อนๆ อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะเป็นความจงใจของป๋าก็ได้ ที่อยากจะให้โทนของอัลบั้มออกมาอย่างนี้


ป๋าดีแลนนั้นหลุดพ้นจากกรอบของเทรนด์ใดๆมานานแล้ว ดนตรีของป๋าไม่เคยต้องอิงความนิยมอะไรทั้งสิ้น และงานชิ้นนี้ตามคำบอกเล่าของป๋าเองก็เป็นความพยายามทำให้ซาวดน์ออกมาเหมือนการบันทึกเสียงของ Chess และ Sun Records ในยุค 50’s และ 60’s เสียงร้องของป๋าเคยแหบและกวนประสาทอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ก็ต้องใช้สุภาษิต “ลางเนื้อชอบลางยา” สำหรับเสียงของป๋า เพราะขณะที่นักฟังส่วนหนึ่งทำหน้าเหยเกทุกครั้งที่ได้ยินเสียงของท่านป๋าแต่แฟนๆอีกฟากกลับยกให้นี่เป็นหนึ่งในนักร้องที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่โลกเคยมีมา ส่วนตัวอยากจะบอกว่า ถ้ามีโอกาสให้ท่านร้องเพลงของป๋าในคาราโอเกะเถิดครับ โอกาส “เกิด” มีสูงแน่!


ทุกคนเห็นพ้องกันว่ายุคสุดคลาสสิกของป๋านั้นอยู่ในยุค 60’s ที่ความคิดสร้างสรรค์และพลังของแกอยู่ในขั้นฟัดกับ The Beatles ได้ แต่หลังจากนั้นงานของป๋าก็ทรงๆทรุดๆจนไม่มีใครคาดหวังอะไรกับแกนักแล้ว จนกระทั่งการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ใน Time Out Of Mind และตามมาด้วย ‘Love And Theft’ และ Modern Times ที่กู้ชื่อเสียงของป๋ากลับมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ทั้งสามอัลบั้มนั้นก็มีแนวทางที่ต่างกันอยู่พอสมควร และมันก็ต่างจาก TTL


Together Through Life คืออัลบั้มที่เต็มไปด้วยความรัก ทั้งในแง่ ความสุข ความสูญเสีย ความหวัง และความปวดร้าว


ป๋าเปิดอัลบั้มอย่างสุดโจ๊ะ(ขออภัยที่ต้องใช้คำวิเศษณ์เชยๆ เพราะมันเหมาะจริงๆ) Beyond Here Lies Nothing**** เพลงรักของจิ๊กโก๋วัยดึก ที่ยืนยันกับสาวของเขาว่า ไม่มีอะไรทำให้เขามีความสุขไปกว่าการอยู่กับเธออีกแล้ว กลอง แอคคอร์เดียน และกีต้าร์ วาดลวดลายกันในจังหวะคล้ายคลึงกับ All Your Love ของ John Mayall ขณะที่ทำนองไปทาง Unchained My Heart ของ Ray Charles หรือคุณอาจจะคิดถึงเพลงบลูส์เก๋าๆพวกนี้ได้อีกเป็นร้อย เพราะเพลงแนวนี้ก็ไม่ค่อยหนีกันเท่าไหร่ และจะว่าไป...ป๋าก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วในด้านเขียนทำนองคล้ายๆเพลงชาวบ้าน (ก็บอกแล้วว่าแกเป็นกวี)


Life Is Hard*** คงต้องรอดูว่าผู้กำกับจะทำหนังประกอบเพลงนี้ได้ดีแค่ไหน! แต่นี่เป็นบัลลาดที่คร่ำครวญถึงความปวดร้าวในชีวิตที่ปราศจากคนรัก ดนตรีงดงามละเมียด


My Wife’s Hometown*** บลูส์แบบ Willie Dixon ที่ป๋าคงไม่อยากมีปัญหาด้านลิขสิทธิ์มากเลยใส่ชื่อ Dixon เป็นเครดิตผู้แต่งเพลงด้วยเสียเลย เสียงร้องทรมานใจมนุษย์ของป๋าเข้มข้นขึ้น แต่ฟังๆไปก็มีฮา เมื่อพบว่าบ้านเกิดของภรรยาของป๋าก็ไม่ใช่อื่นไกล : hell


ฟังมาสามเพลงก็พอจะคาดได้แล้วว่างานนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ด้านดนตรีแน่นอน แต่ใน If You Ever Go To Houston***1/2 ดนตรีกลับฉีกแนวออกไป ป๋าเล่าเรื่องเกี่ยวกับความรักที่สูญหาย แอคคอร์เดียนนำทางอย่างโดดเด่น


This Dream Of You ****เป็นเพลงรักอีกเพลงในอัลบั้มที่ฟังดูดีกว่า Life Is Hard ป๋าบอกว่าเพลงนี้พยายามแต่งในแบบ Doc Pomus ถ้าเพลงนี้มีมิวสิกวิดีโออาจไม่ต้องมีอะไรมากกว่าป๋านั่งซดวิสกี้ในซาลูนเก่าๆอย่างบ้าคลั่งด้วยความอกหักในรัก ป๋าร้องเพลงนี้ได้ปวดร้าวสุดๆครับ เพลงเดียวในอัลบั้มที่ป๋าฉายเดี่ยวในการแต่ง


Shake Your Mama*** เป็น fast blues ที่เหมือนพยายามจะ sexy ก็แก้ง่วงได้เหมือนกัน


I Feel A Change Comin’ On**** เดี๋ยวนี้พอเพลงมีคำว่า change เข้ามาเกี่ยวก็จะพาลคิดไปเองว่าพูดถึง Obama แต่เพลงนี้ไม่ใช่หรอกครับ ก็เป็นเพลงรักอีกเหมือนกัน (แม้ว่าป๋าเองก็เป็นหนี่งในศิลปินที่ชื่นชมโอบ่าม่าออกนอกหน้า) เยี่ยมทั้งทำนองและเนื้อหาที่นานๆจะได้เห็นดีแลนจีบสาวแบบเว้ากันซื่อๆ "If you wanna live easy/Baby, pack your clothes with mine." แฟนๆของ If Not For You คงจะชอบ และผมคิดว่าถ้าจะเปิดอัลบั้มนี้ทางวิทยุเมืองไทยก็น่าจะเลือกเพลงนี้นะ


ก่อนที่จะมีนักวิจารณ์ผู้ชาญฉลาดออกมาปรามาสว่าป๋าหมดน้ำยาในการเขียนเพลงระดับคลาสสิกแล้ว ป๋าก็แปะเพลง สุดท้ายของอัลบั้มด้วย It’s All Good ****ที่เหมือนทุกคนในวงพร้อมใจกันอมฮอลล์รสซ่าหรือฉีดยากระตุ้นประสาทเข้าเส้น มันคือ Desolation Row แห่งยุค 2000’s ด้วยการเขียนเนื้อเพลงแบบดีแลนแท้ๆ (ในแบบหนึ่ง...) นั่นหมายความว่า บางทีสิ่งที่ดีแลนบอกเขากำลังหมายความในแบบตรงข้ามโดยสิ้นเชิง


ในการให้สัมภาษณ์เร็วๆนี้ ถามว่าป๋าคิดว่าอัลบั้มใหม่ของป๋าเป็นไงในความเห็นของป๋าเอง“ผมคิดว่าแฟนๆของผมน่าจะชอบมัน นอกจากนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”


อัลบั้มนี้เป็นแผ่นแรกในรอบ39ปีของป๋าที่ขึ้นอันดับ 1 ในอังกฤษ....


หมายเหตุ. ในเวอร์ชั่นพิเศษของอัลบั้มนี้จะมีดีวีดีบทสัมภาษณ์ของป๋าเอง และซีดีอีกแผ่นที่เป็นบันทึกจากรายการ Theme Time Radio Hour ที่ป๋าเป็นดีเจเอง โดยแต่ละครั้งป๋าจะเปิดเพลงที่มีเนื้อหาเป็น theme เดียวกัน ในแผ่นที่แถมมาให้นี้เป็นใน theme Friends & Neighbors ต้องยอมรับว่าป๋าจัดเพลงได้เก่งไม่แพ้แต่งเพลงเลย! (ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนอาจจะชอบแผ่นแถมนี้มากกว่า!)


Disc two Theme Time Radio Hour: Friends & Neighbors 1. "Howdy Neighbor" (J. Morris) – Porter Wagoner & The Wagonmasters 2. "Don't Take Everybody to Be Your Friend" (M.Gabler/R. Tharpe) – Sister Rosetta Tharpe 3. "Diamonds Are a Girl's Best Friend" (L. Robin/J. Styne) – T-Bone Burnett 4. "La Valse de Amitie" (O. Guidry) – Doc Guidry 5. "Make Friends" (E. Mcgraw) – Moon Mulligan 6. "My Next Door Neighbor" (J. McCain) – Jerry McCain 7. "Let's Invite Them Over" (O. Wheeler) – George Jones & Melba Montgomery 8. "My Friends" (C. Burnett/S. Ling) – Howlin' Wolf 9. "Last Night" (W. Jones) – Little Walter 10. "You've Got a Friend" (C. King) – Carole King 11. "Bad Neighborhood" (Caronna/M. Rebennack) – Ronnie & The Delinquents 12. "Neighbours" (M. Jagger/K. Richards) – The Rolling Stones 13. "Too Many Parties and Too Many Pals" (B. Rose/M. Dixon/R. Henderson) – Hank Williams 14. "Why Can't We Be Friends" (S. Allen/H. Brown/M. Dickerson/J. Goldstein/L. Jordan /C. Miller/H. Scott/L. Oskar) – War

Yes,Pet Shop Boys.


Pet Shop Boys-Yes (2009)***1/2

Released date: เมษายน 2009

Producer: Pet Shop Boys, Xenomania

แนวดนตรี: Synth Pop


Tracklist: (ในวงเล็บคือชื่อผู้ประพันธ์)
1. "Love etc." (Tennant/Lowe/Higgins/Cooper/Powell/Parker)3:32

2. "All over the world" (Tennant/Lowe/Tchaikovsky)3:51

3. "Beautiful people" (Tennant/Lowe) 3:42

4. "Did you see me coming?" (Tennant/Lowe)3:41

5. "Vulnerable" (Tennant/Lowe) 4:47

6. "More than a dream" (Tennant/Lowe/Cooper/Higgins/Resch/Jones) 4:57

7. "Building a wall" (Tennant/Lowe) 3:50

8. "King of Rome" (Tennant/Lowe) 5:31

9. "Pandemonium" (Tennant/Lowe) 3:43

10. "The way it used to be" (Tennant/Lowe/Cooper/Higgins/Coler) 4:44

11. "Legacy" (Tennant/Lowe 6:21



จะว่าไปผมก็ฟังดนตรีของ Neil Tennant และ Chris Lowe มาตั้งแต่พวกเขาเริ่มดังกันใหม่ๆในเพลงสุดฮิตอย่าง West End Girls, It’s A Sin, Rent หรือ What Have I Done To Deserved This? ที่ทำให้เด็กเกรียนรุ่นนั้นได้รู้จักกับเสียงร้องสุดคลาสสิกของท่านแม่ Dusty Springfield


ใครจะไปคิดว่าคู่ดูโอท่าทางตลกๆทำเพลงน่ารักๆเต้นๆป๊อบๆอย่างนี้จะอยู่ยงคงกระพันมาจนจะ 30 ปีเข้าไปแล้ว!


Yes เป็นอัลบั้มที่ 10 ของพวกเขา และเป็นข่าวดีของแฟนๆเก่าแก่โดยแท้ที่ PSB กลับมาเล่นดนตรีดิสโก้-ซินธ์ป๊อบในแบบดั้งเดิมของพวกเขากันอีกครั้ง หลังจากพยายามเล่นแนวลึกล้ำหม่นหมองในอัลบั้มก่อน Fundamental แต่ผลตอบรับไม่ดีนัก แฟนพันธุ์แท้หลายคนยกให้นี่เป็นงานที่ดีที่สุดของวงนับตั้งแต่ Very ในปี 1993


Yes, Pet Shop Boys. แค่ชื่ออัลบั้มก็เหมือนบอกกลายๆแล้วว่า นี่ล่ะจ้ะ เพ็ท ช็อป บอยส์ ขนานแท้กลับมาแล้ว ปกอัลบั้มเรียบง่ายและชื่ออัลบั้มที่สั้นจู๋อย่างที่พวกเขาชอบทำ และแม้ว่า PSB จะกลายเป็นตำนานในการทำเพลงป๊อบของอังกฤษไปแล้ว แต่พวกเขาก็ยอมสลัดอีโก้ออกไป(บางส่วน) เพื่อทำงานร่วมกับทีมงานใหม่ๆ ในอัลบั้มนี้พวกเขาโปรดิวซ์ร่วมกับ Brian Higgins แห่งทีมโปรดักชั่น Xenomania ( ผู้โปรดิวซ์ให้ Sugababes, Girls Aloud) และได้มือดีอย่าง Johnny Mars อดีต The Smiths มาเล่นกีต้าร์และฮาร์โมนิกาให้ รวมทั้ง Owen Pallett ผู้เคยฝากผลงานกับ Arcade Fire และ The Last Shadow Puppets มาเขียนสกอร์เครื่องสายให้ด้วย (เพลง ‘Beautiful People’ ออกมาในแนว Last Shadow Puppets ไปเลย)
Pet Shop Boys เคยร่วมงานกับ Xenomania ให้เราฟังมาก่อนหน้านี้แล้วในเพลง The Loving Kind ของ Girls Aloud (เคยรีวิวไปแล้ว) ก็พอจะบอกได้ว่าเป็นการจับคู่ที่ไม่น่าจะมีปัญหา จะว่าไปถ้าไม่มีข้อมูลก็แทบจะไม่รู้สึกว่างานอัลบั้ม Yes นี้เป็นการโปรดิวซ์ร่วมกับ Xenomania เพราะซาวนด์ของทั้งคู่ก็ไม่ได้หนีกันนักอยู่แล้ว


Xenomania อาจจะช่วยทำให้เพลงของ PSB กระชับและมีบีทที่กระชุ่มกระชวยสดใสขึ้น แต่ละเพลงดูจะไม่ลังเลที่จะกระโจนเข้าสู่ท่อนคอรัสเพื่อจะรัดคอผู้ฟังให้อยู่หมัด กล่าวคือ เพลงป๊อบยุคนี้ไม่จำเป็นอีกแล้วว่าจะต้องมีท่อนเวิร์สสองท่อนแล้วจึงคอรัส ผมเชื่อว่า Yes ที่ไม่มี Xenomania ก็คงไม่เลวร้าย แต่ไม่น่าที่จะติดหูและแพรวพรายขนาดนี้


Yes ไม่ได้มีแต่เพลง upbeat ล้วนๆแต่อย่างใด PSB ยังหยอดเพลงที่ลุ่มลึกเชื่องช้า (และอาจจะน่าเบื่อ) เอาไว้เป็นระยะๆ แต่เพลงที่เป็น highlights จริงก็คือเพลงสนุกสนานชวนเต้นรำของพวกเขานั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็น Love, etc. ****ซิงเกิ้ลแรกที่กระหึ่มฮึกเหิมชวนให้คิดถึงวันคืนที่พวกเขา cover เพลง Go West ของ Village People, All Over The World*** สะดุดหูด้วยการขอยืมธีมจาก The Nutcracker ของ คีตกวี Tchaikovsky มาใช้ในช่วงอินโทร โดยเนื้อหามันคือ Silly Love Songs ของ PSB, Did You See Me Coming?**** อีกเพลงที่ชื่อเพลงสองง่ามสองแง่อย่างที่พวกเขาชอบทำ ดนตรีในเพลงนี้สดใสสวยงามเหลือเกิน แต่เพลงเอกจริงๆต้องยกให้ Pandemonium ***** ที่เหมือนกับจับ Stock/Aitken/Waterman ทีมสร้างเพลงป๊อบสำเร็จรูปชื่อดังแห่งยุค 80’sไปทำงานในยุคโมทาวน์แล้วเขียนเพลงมาให้ Pet Shop Boys เล่น นี่เป็นเพลงที่ผมภูมิใจเสนอยกให้เป็นเพลงคลาสสิกเพลงล่าสุดของพวกเขาครับ! ปิดอัลบั้มด้วยเพลงยาวเหยียด Legacy*** ที่แสดงถึงความลึกล้ำของฝีมือคีย์บอร์ดของ Chris Lowe อย่างแท้จริง


นอกจากฝีมือการเขียนท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนระดับเจ้าสำนักและเนื้อเพลงที่คมคายแหวกโลกที่เป็นจุดเด่นเสมอมาของพวกเขาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชมเสมอมาสำหรับ PSB ก็คือการใช้ซินเธอะไซเซอร์และคีย์บอร์ดได้อย่างชาญฉลาด พวกเขาทำให้เครื่องดนตรีสังเคราะห์เหล่านี้มีชีวิตชีวาไม่แพ้เครื่องดนตรีอคูสติกแท้ๆ และไม้ตายเด็ดๆทั้งสามท่าของพวกเขาที่กล่าวมาในย่อหน้านี้ก็ยังอยู่ดีใน Yes


แฟนเก่ารุ่นบุกเบิกของ PSB คงกระดี้กระด้ากันไปแล้ว ส่วนนักฟังที่ไม่เคยสัมผัสงานของพวกเขาก็สามารถเริ่มต้นได้ที่นี่เลยครับ จะฟังเพลินๆยามพักผ่อนหรือจะใช้ประกอบการเต้นรำก็เข้าทีทั้งนั้นสำหรับ Yes