Monday 24 October 2016

In The Now

เสียงกระเส่าที่เรารัก THE LAST BEE GEE



Barry Gibb : In The Now ***1/2
Producer: Barry Gibb & John Merchant
Genre: Pop Rock

“ผมใช้ชีวิตในห้วงเวลา ณ ตรงนี้ การสูญเสียน้องๆของผมทั้งหมดทำให้ผมเป็นอย่างนั้น นี่เป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขที่สุด เพราะว่าการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ทำให้ผมได้เข้าใจในตัวชีวิตจริงๆ”

เราอาจจะคิดว่าการที่พี่ใหญ่แห่งตระกูลกิ๊บบ์, แบรี่ ในวัย 69 ปี ต้องมาเห็นน้องชายของเขาจากไปทีละคน แอนดี้,ในปี 1988 อายุแค่ 30 ปีจากปัญหายาเสพติด, มอริซ ในปี 2003 จากอาการแทรกซ้อนในการผ่าตัดลำไส้ และล่าสุด โรบิน กิ๊บบ์ในปี 2012 (อายุ 62 ปี) ด้วยโรคมะเร็ง น่าจะเป็นความปวดร้าวที่ร้ายกาจสำหรับผู้ชายคนหนึ่ง แทบไม่มีใครคิดว่าจะได้เห็นแบรี่กลับมาเล่นดนตรีอีก ไม่ต้องพูดถึงการออกโซโล่อัลบั้ม ที่ต้องย้อนกลับไปถึงปี 1984 สำหรับอัลบั้มล่าสุดของเขา

แต่หลายอย่างในชีวิตคนเรานั้นพลิกผันกันด้วยทัศนคติและการเลือกมุมในการมอง จากประโยคข้างบน ดูเหมือนว่าแบรี่จะแกร่งพอที่จะพลิกความเศร้าสร้อยทั้งหลายกลับมาเป็นพลังในการทำงานอีกครั้ง แต่โลกจริงๆไม่ได้สวยงามอย่างนั้น  พี่ใหญ่บีจีส์ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างหนักและนั่งจมดิ่งอยู่ในความซึมเศร้าไม่ทำมาหากินอะไรอยู่เนิ่นนาน หลังจากการจากไปของโรบิน จนกระทั่งในปี 2013 เป็นลินดา,คู่ชีวิตยาว 46 ปีของแบรี่ที่ได้สะกิดเขาขึ้นมาจากบ่อโศกนั้นด้วยประโยคง่ายๆ “ทำไมเธอไม่ย้ายก้นของเธอออกมาจากตรงนั้นเสียทีล่ะ?”

นั่นเป็นที่มาของอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกในรอบ 32 ปีของแบรี่ กิ๊บบ์ In The Now

นักฟังเพลงป๊อบยุค60’s-80’s คงมีไม่ถึงหนึ่งคนที่ไม่รู้จักดนตรีของ Bee Gees พวกเขาเริ่มต้นจากเพลงแนวโฟล์คป๊อบที่มีเมโลดี้สวยงามอย่าง Massachusetts, To Love Somebody และ I Started A Joke ในยุค 60’s แต่ Bee Gees มาครองโลกในยุค70’s เมื่อแบรี่ค้นพบการร้องเสียงหลบแหลมสูง (falsetto) ของเขาขณะอยู่ในไมอามี่ (แบรี่บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรหรอก เขาเอาแบบมาจากการร้องของ the Stylistics) มันเข้ากันเหมาะเจาะกับดนตรีฟังกี้-ดิสโก้ของพวกเขา ซึ่งเริ่มต้นด้วย Jive Talkin’ ในปี 1975 หลังจากนั้นเพลงฮิตก็พรั่งพรูมาจากสามพี่น้องอย่างไม่มีอะไรหยุดยั้ง จุดสูงสุดของพวกเขาอยู่ที่ soundtrack Saturday Night Fever ในปี 1977 ด้วยเพลงที่เป็นคัมภีร์แห่งดิสโก้อย่าง Stayin’ Alive (คริส มาร์ตินบอกว่ามันคือ “Greatest song of all-time.”) และ Night Fever รวมถึงบัลลาดเสียงประสานชวนฝันที่แสนสวยงาม-How Deep Is Your Love เมื่อมาถึงจุดสูงสุดก็ต้องแปลว่าจากนี้ไปคือขาลง Bee Gees ไม่อาจสร้าง fever ในคืนวันเสาร์ไปได้ตลอดกาล แบรี่หันไปจับงานโปรดิวเซอร์และเขียนเพลง ประสบความสำเร็จพอสมควร กับอัลบั้ม Guilty ของ Barbra Streisand, เพลง Islands In The Stream ที่ร้องโดย Kenny Rogers และ Dolly Parton รวมถึง Heartbreaker ที่เขาประพันธ์ให้ Dionne Warwick แต่แม้งานของ Bee Gees จะไม่กระหึ่มโลกเหมือนเดิม ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะทำงานออกมาไม่ได้เรื่อง งานของ Bee Gees ยังเป็นป๊อบที่ได้มาตรฐานเสมอ โดยเฉพาะอัลบั้ม This Is Where I Came In ในปี 2001 ที่ยอดเยี่ยมจนหลายคนยกย่องว่าเทียบเท่ากับงานชิ้นเอกของพวกเขา น่าเสียดายที่มันเป็น studio album ชุดสุดท้ายชอง Bee Gees เพราะสองปีหลังจากนั้น Maurice ก็จากไป และ Barry กับ Robin ก็ไม่คิดจะทำงานร่วมกันอีก

ครับ,และเมื่อยิ่งเหลือแบรี่คนเดียว ความรู้สึกของแฟนเพลงก็คือทุกอย่างจบแล้ว ไม่มีใครหวังอะไรอีก แต่หลายสิ่งในชีวิตมันก็มาถึงได้ทั้งๆที่ไม่ได้มีใครหวัง ไม่ใช่ไม่อยากได้ แต่ไม่คิดว่าจะมีสิทธิได้

แบรี่ไม่ได้มีความคิดจะทำให้งานโซโล่ชุดนี้ของเขาเป็นการคืนชีพของ Bee Gees ทั้งๆที่เขาอาจจะหาใครๆมาเลียนเสียงประสานแบบโรบินกับมอริซก็น่าจะพอได้ แต่มันจะมีประโยชน์อะไรกับการทำเช่นนั้น ตรงข้าม เขาใช้ In The Now เป็นการบำบัด,เป็นจดหมายถึงแฟนเพลง เป็นบันทึกเรื่องราวในชีวิตและความเห็นต่างๆที่เขาอยากจะให้โลกได้รับรู้ ถ้ามันจะเหมือนบีจีส์อยู่ดี ก็คงต้องโทษเสียงร้องของเขา มันอาจจะไม่สูงปรี๊ดทรงพลังจนน่าขนลุกเหมือนยุคที่เขาร้อง Tragedy แต่เสียงหวานบีบเล็ก กระเส่าสร้อย แบบที่ไม่อาจเป็นใครอื่นนอกจากแบรี่— มันยังอยู่อย่างเกือบสมบูรณ์แบบ อีกทั้ง pop sense ของเขาก็ยังพอไปวัดไปวาได้ อย่าไปหวังว่ามันจะ catchy เท่าเพลงดังๆของ Bee Gees ก็แล้วกัน

ดนตรีใน In The Now ไม่ใช่ดิสโก้,ไม่ใช่โฟล์คป๊อบ แต่เป็นป๊อบร็อคที่เจือคันทรี่เล็กน้อย บางเพลงออกไซคีดีลิกพอให้ตื่นตาตื่นหู มันคงไม่ใช่ดนตรีที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆหรือเปลี่ยนโลกหรอก แต่แค่ได้ฟังแบรี่ กิ๊บบ์ ร้องเพลงป๊อบเพราะๆให้เราฟัง แค่นั้นยังไม่พอหรือ

ไทเทิลแทร็ค—คือธีมหลักที่แบรี่ต้องการจะบอกคนฟังไปพร้อมๆกับบอกตัวเอง เขาอยากจะอยู่ใน ณ บัดนี้เท่านั้น คุณไม่อาจเปลี่ยนอดีต และคุณไม่เคยรู้ชัดว่าอนาคตจะมีอะไร, Grand Illusion เนื้อหาค่อนข้างเป็นปรัชญา ว่าด้วยความสงสัยในการดำรงอยู่ของสิ่งหนึ่งหรือมันคือภาพหลอนที่เรา (ถูกบังคับให้)ปรุงแต่งขึ้นมา Star Crossed Lovers มุมมองของยอดนักเขียนเพลงรักเมื่อเขาก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่เจ็ดแห่งชีวิต แทร็คนี้อาจจะเรียกได้ว่าเชยสิ้นดี แต่ผมพนันได้ว่านี่คือเพลงที่จะถูกหูคนไทย (อย่างน้อยก็ที่สุดในชุดนี้) เพราะมันมีทุกอย่าง... ความแช่มช้อยและมั่นคงของจังหวะ ความลงตัวของท่วงทำนอง และ อา...เสียงร้องของแบรี่ ยังสะกดคนฟังได้อยู่หมัดเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน Home Truth Song ฮึกเหิมเร้าใจจนน่าส่งให้ เดอะ บอส Bruce Springsteen ร้อง เนื้อเพลงเป็นแบบที่ต้องสายเก๋าชีวิตจริงๆถึงจะร้องได้อิน Shadows เป็นอีกแทร็คที่น่าจะดังตาม Star Crossed Lovers ได้

ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ของแบรี่ ในการที่จะจัดเรียงสามเพลงสุดท้ายเป็นเพลงเกี่ยวกับการสูญเสียทั้งสิ้น  The Long Goodbye การลาจากของเขากับน้องๆ มันช่างยาวนานและปวดร้าว Diamond ถ้าน้ำตาไหลออกมาเป็นเพชร ป่านนี้เขาคงร่ำรวยไปแล้ว (อันนี้อาจจะมีคนแย้งว่าแล้วตอนนี้จนหรือ) ส่วน End of the Rainbow น่าจะเป็นเพลงที่มีความหมายที่สุดต่อแบรี่ เขาเคยร้องเพลงนี้ให้โรบินฟัง ในวันท้ายๆแห่งชีวิต ปลอบประโลมน้องชายว่า อย่ากังวลไปเลย ความฝันของเราได้เป็นจริงแล้ว นี่คือจุดปลายของสายรุ้ง

ก่อนจะเขียนรีวิวนี้ ผมแวะเข้าไปทัวร์ YouTube ชมคลิปการแสดงของแบรี่กับ Coldplay ในงาน Glastonbury ปีนี้ ในเพลง To Love Somebody และ Stayin’ Alive และต่อด้วยการแสดงเพลง Jive Talkin’ ของแบรี่และวง ในรายการของ Jools Holland แบรี่ชราไปตามสภาพ ผมที่ดกหนาก็เบาบางลง ตรงข้ามกับหน้าท้องที่หนานุ่ม แต่มาดแบบนั้น... เสียงแบบนั้น...  จู่ๆผมก็น้ำตาริ้นขึ้นมา ความเข้าใจเดิมๆในความยิ่งใหญ่ของ Barry Gibb ของผมคงไม่ถูกต้องเสียแล้ว

เขายิ่งใหญ่กว่านั้น , ณ เวลานี้

Tracklist:

1.
"In the Now"  
4:51
2.
"Grand Illusion"  
4:40
3.
"Star Crossed Lovers"  
3:18
4.
"Blowin' a Fuse"  
4:44
5.
"Home Truth Song"  
5:07
6.
"Meaning of the Word"  
4:31
7.
"Cross to Bear"  
6:00
8.
"Shadows"  
4:33
9.
"Amy in Colour"  
4:26
10.
"The Long Goodbye"  
2:38
11.
"Diamonds"  
5:17
12.
"End of the Rainbow"  
4:09