Tuesday 26 January 2016

"Blackstar"

David Bowie

****
Producers: David Bowie and Tony Visconti
Genre:  Art Rock, Jazz
Released: January 8th 2016
Tracklist
1.
"Blackstar"  
9:57
2.
4:52
3.
"Lazarus"  
6:22
4.
4:40
5.
"Girl Loves Me"  
4:51
6.
"Dollar Days"  
4:44
7.
"I Can't Give Everything Away"  
5:47

“มีข่าวมาว่า ตำนานดนตรี เดวิด โบวี่อาจจะเสียชีวิตแล้วด้วยวัย 69 ปีจากโรคมะเร็ง”

ผมกวาดสายตาเห็นประโยคที่ไม่น่าเชื่อนี้จากเฟซบุ๊คตอนบ่ายวันจันทร์อันเงียบงันนั้น เป็นไปไม่ได้ เขาเพิ่งออกอัลบั้มใหม่ ที่ยอดเยี่ยมมากๆ และยังดูเท่แข็งแรงเกินคนวัยใกล้ 70 ทั่วไป มันน่าจะเป็นข่าวลือมากกว่า ไม่กี่นาทีจากนั้น ทุกๆอย่างก็ได้รับการยืนยัน เราสูญเสียเดวิดไปแล้วจริงๆในวันที่ 10 มกราคม 2016 เพียงแค่สองวันหลังจากอัลบั้มใหม่ (Blackstar) ออกวางจำหน่าย...ในวันเกิดของเขา

เป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายนักสำหรับแฟนเพลง พวกเราสูญเสีย Lemmy ผู้นำวง Motorhead และ Natalie Cole ก่อนหน้านี้ไปไม่นานและหลังจากโบวี่ 1 สัปดาห์ Glenn Frey แห่ง Eagles ก็เดินทางตามไปอีกคน

ในช่วงเวลาแห่งความอึ้งนั้น ภาพความทรงจำเก่าๆที่ผมมีต่อเขาฉายออกมาในสมองอย่างต่อเนื่องและสับสน เริ่มจากการแสดงของเขาที่กรุงเทพฯที่ได้มีโอกาสไปชม,ความดังมากมายของ Let’s Dance, หนังบางเรื่องที่ได้ดูเขาฝากฝีมือไว้ ภาพตัดไปที่แผ่นเสียง,เทป,ซีดีต่างๆ และวันเวลามากมายที่ผมจมอยู่กับดนตรีของเขาตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา

คนเราเกิดมาก็ต้องตายกันทั้งนั้น จริงๆแล้วความโศกเศร้าของเราส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่เพียงพอ เรายังอยากได้ฟังงานใหม่ๆดีๆจากศิลปินที่เรารักอีก

แต่ในกรณีของโบวี่ เราน่าจะได้จากเขามามากเกินพอแล้ว

 เป็นผลงานอัลบั้มชุดที่ 26 ของเขา นับจากอัลบั้มแรก “David Bowie” ในปี 1967 ในบรรดา 25 อัลบั้มก่อนหน้านี้ หลายต่อหลายชุดเป็นผลงานระดับขึ้นหิ้งของวงการ ที่นักฟังเพลงควรสดับและสะสม อย่างน้อยคุณก็ควรได้ฟังมันกันก่อนสัมผัส

อาทิ Hunky Dory, The Rise and Fall of Ziggy Stardust and the Spiders From Mars, Aladdin Sane, Low, Heroes, Scary Monsters, Let’s Dance…. รวมถึงงานล่าสุดก่อนหน้านี้สามปี The Next Day ที่เป็นการกลับมาออกงานใหม่ หลังจากไม่มีงานสตูดิโอเลย 10 ปีเต็ม

ความยิ่งใหญ่ของเดวิด โบวี่ อยู่ที่ความไม่หยุดนิ่งในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งในแง่ image และ ดนตรี แต่การที่ใครสักคนจะเปลี่ยนเสื้อผ้าไปเรื่อยๆทุกครั้งที่ออกงานใหม่คงไม่ใช่อะไรยิ่งใหญ่นัก ถ้าเขาไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้นอย่างเต็มไปด้วยศิลปะ และฝีมือ โบวี่ยังเป็นนักประพันธ์และนักร้องชั้นยอดอีกด้วย

ทิ้งช่วงห่างจาก The Next Day เพียงแค่สามปี เราจึงออกจะตื่นเต้นพอสมควร และค่อนข้างมั่นใจว่า เดวิด โบวี่ กำลังเครื่องติด พร้อมสร้างสรรค์ยุคใหม่ของผลงานอันยอดเยี่ยมอีกครั้ง The Next Day เป็นงานชั้นดี แต่ก็เหมือนจะเป็นการกลับมาเคาะสนิม+อุ่นเครื่องมากกว่า เพราะสุ้มเสียงของมันคล้ายคลึงกับงานยุคเก่าๆของเขาในช่วงเวลาต่างๆกันไปแต่กับ มันเป็นการเดินทางที่สดใหม่ มันมืดหม่นมากมาย มันเต็มไปด้วยกลิ่นอายของแจ๊ซ ไม่ใช่แจ๊ซแบบโทนี่ เบ็นเน็ต แต่เป็นโมเดิร์น, อวองการ์ดแจ๊ซที่หลุดพ้นจากกรอบไปไกล

โบวี่ให้เวลาเราแค่สองวันกับความเข้าใจว่านี่คือการเริ่มต้นยุคใหม่ของเขา ความตายของเขา เป็นเสมือนคำเฉลยหลายๆอย่างใน

มีบทเพลงเพียง 7 เพลงในเวลา 41 นาทีกว่าๆใน และสองเพลงในเจ็ดนั้น เป็นเพลงเก่าที่เคยออกเป็นซิงเกิ้ลและรวมอยู่ในชุดรวมเพลง Nothing Has Changed เมื่อปี 2014 นั่นอาจหมายถึงโบวี่ทราบดีว่าเวลาของเขาเหลือไม่มากแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบทุกอย่างที่มีอยู่ในเวลาจำกัดนั้น

ข่าวว่า เขารับรู้ภาวะโรคร้ายนี้มา 18 เดือนแล้ว

แฟนๆทุกคนเชื่อว่าโบวี่รู้ดีว่านี่คืออัลบั้มสุดท้ายของเขา อาจจะไม่ถึงกับกำหนดเวลาว่าจะตายหลังจากออกอัลบั้มแค่สองวัน แต่ messages มากมายในอัลบั้มมันบ่งชี้ไปทางนั้น

โบวี่ เลือก Tony Visconti โปรดิวเซอร์คู่บุญที่ทำงานกันมาตั้งแต่ยุคแรกๆอย่าง The Man Who Sold The World, Diamond Dogs, Young Americans และ Scary Monsters มาร่วมงานอีกครั้ง ต่อเนื่องจาก The Next Day ในชุดที่แล้ว

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อัลบั้มนี้มีความแตกต่างที่โดดเด่นคือทีมนักดนตรี

ก่อนหน้านี้ในปี 2014 โบวี่ทำเพลง Sue ร่วมกับ Maria Schneider นักประพันธ์และเรียบเรียงดนตรีแจ๊ซวงใหญ่ที่เขาอยากร่วมงานมานาน ในเพลงนั้น Donny McCaslin เล่นแซ็กโซโฟน และมาเรียก็แนะนำให้โบวี่ลองไปฟังวงของดอนนี่เล่นดูในผับแห่งหนึ่งในนิวยอร์ค โบวี่ก็เดินทางมาที่บาร์ 55ในนิวยอร์คตามคำแนะนำนั้น และก็เป็นอย่างที่มาเรียว่า วงแจ๊ซเล็กๆของดอนนี่นั้นมีฝีมือที่เยี่ยมประทับใจโบวี่เอามากๆ (มีคลิปการแสดงของวงของดอนนี่ใน youtube)

และพวกเขาก็กลายมาเป็นนักดนตรีหลักใน : Donny McCaslin เล่นแซ็กโซโฟน,ฟลุต และเครื่องเป่าไม้,Ben Monder กีต้าร์, Jason Lindner คีย์บอร์ด, Tim Lefebvre เบส และ Mark Guiliana กลอง

Visconti เล่าว่า โบวี่สามารถหานักดนตรีร็อคที่เขารู้ใจมาเล่นในแนวแจ๊ซได้ไม่ยาก แต่การที่ได้คนหนุ่มพวกนี้ที่มาจากแจ๊ซแท้ๆมาเล่นร็อค นั่นมันทำให้ทุกอย่างต่างกันออกไป

แม้โบวี่จะเตรียมเพลงเป็นเดโมที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาจากบ้าน แต่การทำงานของเขาและวงใน นั้น เป็นไปแบบแจ๊ซมาก แดนนี่เล่าว่าโบวี่บอกเสมอในการบันทึกเสียงว่าเขาเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าสุดท้ายอัลบั้มนี้จะออกมาอีท่าไหน

พวกเขาบันทึกเสียงกันตั้งแต่ปลายปี 2014 และเสร็จสิ้นประมาณกลางปี 2015 ระหว่างนั้นนักดนตรีอาจจะพอมองออกว่าโบวีมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ไม่มีใครคิดว่ามันจะมากขนาดนั้น

ภาพปกของ เหมือนจะเล่นง่าย แต่โดดเด่นดึงความรู้สึกและคงคิดมาเยอะมาก ดาวสีดำดวงใหญ่แทนชื่ออัลบั้ม ส่วนดาวที่แยกเป็นเสี่ยงๆด้านล่าง เป็นสัญลักษณ์ที่จงใจให้อ่านว่า “BOWIE” หรือถ้าคิดมากกว่านั้นอาจจะหมายถึงโบวี่กำลังจะดับสลายเป็นเสี่ยงๆ

เป็นปกที่เท่พอๆกับการล้อเลียนตัวเองในปกชุดที่แล้วเลย (The Next Day ล้อ “Heroes”)

การเปิดอัลบั้มด้วยไทเทิลแทร็คแนวโปรเกรสซีพร็อคยาวเกือบ 10 นาที ที่ไม่มีอะไรเป็นเชิงพาณิชย์สักนิด เท่ากับเป็นการประกาศว่านี่ไม่ใช่งานเอาใจตลาดแน่นอน ทุกเพลงของโบวี่เปิดโอกาสให้ตีความได้ เพราะเขาแทบไม่เคยบอกใครถึงความหมายที่แท้จริงของแต่ละเพลง แม้แต่คนใกล้ชิดมากๆอย่าง Visconti Blackstarมีบีทแบบดนตรีอาราบิกที่ซับซ้อน คีย์บอร์ดและเสียงแซ็กโซโฟนฉวัดเฉวียน โบวี่ร้องเพลงนี้เหมือนเล่าเรื่องลึกลับที่เขาเปิดเผยได้เพียงบางส่วน แต่ก็ยังมีท่อนกลางที่ผ่อนคลายและสดใส และถ้าท่านคิดว่าเอ็มวีของเพลงนี้จะทำให้เข้าใจอะไรๆดีขึ้น ท่านอาจคิดผิด มันเป็น 10 นาทีที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วกว่าที่มันควรจะเป็น

‘Tis a Pity She Was a Whore โบวี่ฉลาดพอที่จะรู้ว่าเขาจะต้องใส่อะไรที่มันอัพบีทหน่อยในแทร็คถัดมา หลังจากความเครียดแทบคลั่งในแทร็คแรก! นี่เป็นหนึ่งในสองเพลงที่เคยบันทึกเสียงมาแล้ว เวอร์ชั่นแรกโบวี่เป็นคนเป่าแซ็กโซโฟนเอง แต่เวอร์ชั่นนี้เป็นแดนนี่ กลองของมาร์คหนักแน่นโดดเด่น เป็นความหลอนอันเมามัน นึกถึงบางแทร็คใน Kid A ของ Radiohead

Lazarus ซิงเกิ้ลที่สองที่เอ็มวีดูจะมีเนื้อหาต่อเนื่องจาก และสื่ออะไรหลายอย่างถึงความเจ็บป่วยของโบวี่ แค่ประโยคแรกก็ชัดเสียยิ่งกว่าอะไร “Look up here, I’m in heaven…I got scars that can’t be seen” และการวางท่อนเวิร์สของโบวี่ก็ดูเหมือนจะเป็นไปตามเหตุการณ์ในชีวิตจริงย้อนหลังไปอย่างชาญฉลาด โดยเริ่มจากชีวิตหลังความตายของเขาก่อน จังหวะเนิบๆตลอดเพลงแต่ไม่น่าเบื่อเลย (Lazarus ในภาษากรีกแปลว่า “พระเจ้าคือความช่วยเหลือของฉัน” และในไบเบิ้ล เขาจะคืนชีพมาได้หลังจากตายไป 4 วัน) เอ็มวีสำหรับเพลงนี้ ไม่เหมาะสำหรับคนขวัญอ่อนที่ยังทำใจไม่ได้กับการจากไปของเขาจริงๆ บอกได้แค่นี้

Sue (or In  a Season of Crime) ปรับกระบวนจากการเรียบเรียงสำหรับวงออเคสตร้า 17 ชิ้นในเวอร์ชั่นเดิมที่มาเรียเรียบเรียงไว้ เหลือเพียงวง 4-5 คน แทร็คนี้เน้นริฟฟ์กีต้าร์หนักแน่นของ Ben Monder และเสียงจากเอ็ฟเฟ็คสารพัดของเขาในแบ็คกราวด์ นี่คือเพลงที่มิกซ์ได้อย่างเหลือเชื่อ ฝีมือ Tom Elemhirst (มือมิกซ์สุดฮ็อตแห่งยุคที่ทำงานให้กับ Adele)

 Girl Loves Me โบวี่เล่นกับการใช้ภาษาที่มาจากหนังสือคลาสสิค A Clockwork Orange ความเป็นแจ๊ซดูจะลดน้อยลงกว่าแทร็คอื่น แต่ความหลอนกลับยังไม่หยุดหย่อน

Dollar Days…. เปียโน แซ็กโซโฟน... บัลลาด... นี่น่าจะเป็นเพลงที่ไพเราะและเศร้าสร้อยที่สุดในอัลบั้ม โบวี่อาจจะเขียนเนื้อร้องว่า “I’m dying to…” แต่แฟนเพลงหลายคนคงได้ยินว่า I’m dying too…. มากกว่า การเชื่อมต่อแทร็คนี้เข้ากับแทร็คสุดท้าย I Can’t Give Everything Away ทำได้อย่างไร้ที่ติ เสียงฮาร์โมนิกามาจากท่วงทำนองในเพลง “A New Career In  A New Town” จากอัลบั้ม Low เขากำลังบอกเราว่า เขาไม่อาจเปิดเผยได้ทุกสิ่งทุกอย่าง....

ความลับนั้นคืออะไรถ้าไม่ใช่ความจริงที่ว่า นี่(จะ)เป็นเพลงสุดท้ายในอัลบั้มสุดท้ายของเดวิด โบวี่ และเขาไม่ได้จากเราไปไหนไกล เพียงแค่ไปได้อาชีพใหม่ในเมืองใหม่ เท่านั้นเอง