Friday 20 February 2009

Madonna Hard Candy


“Raw Sugar.”

Madonna Hard Candy (WARNER BROS.) ****





ผมโตและ...สูงวัยมาพร้อมๆกับเธอ บางคนบอกว่าเธอคือจีเนียสไอคิวติดเพดาน ผมเชื่อแฮะ การที่จะเป็นควีนออฟป๊อบมาได้นานขนาดนี้นั้นมันต้องใช้สมองขนาดเบ้งทีเดียวล่ะ ก็เธอไม่ใช่นักร้องเลิศเลออะไร การแต่งเพลงก็ไม่ได้โดดเด่น เอาล่ะ มาดอนนามักจะมีความฮ็อตอยู่เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่จุดแกร่งที่สุดของเธออยู่ที่เธอรู้เสมอว่าทำอย่างไรถึงจะดัง และเธอก็มักจะทำไอ้อย่างไรนั้นได้เสมอ Hard Candy อาจจะน่าเบื่อและเป็นสูตรสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันนั่นก็แปลว่ามันจะเข้าถึงผู้คนและขายดีเป็นขนมหวานหน้าโรงเรียน อัลบั้มล่าสุดของเธอ Confessions On The Dance Floor เรียกชื่อเสียงกลับมาได้แต่ยอดขายในอเมริกากลับไม่กระฉูด ว่ากันว่าคนอเมริกันไม่ชอบเพลงเต้นแบบไหลลื่นอย่างนั้น คราวนี้เธอเลยไม่เอาแล้ว เพราะอเมริกาก็ยังเป็นเป้าหมายหลักของศิลปินระดับเธออยู่ดี “ใครจะมาทำอัลบั้มใหม่ให้ฉัน และทำให้คนอเมริกันทั้งประเทศรักและซื้อมัน?” ราชินีป๊อบถาม และลิ่วล้อก็ระล่ำระลักตอบกันว่า ดับเบิลทิม(บาแลนด์ บาเลค) ฟาเรลล์ สิครับ และถ้าจะให้เก๋ ก็ต้องเชิญท่านคันเย่มาบ่นซักเพลงด้วย “ดีมาก ไปเอามาให้หมดนั่นแหละ” เดอะควีนบัญชา

แล้วอิมเมจของงานนี้ล่ะ? ไม่แล้ว เธอรู้แล้วว่าเธอไม่อาจแต่งเป็นทหารอย่างใน American Life อีกได้ นั่นย่อมเป็นจุดต่ำสุดในชีวิตการงานของเธออย่างไม่ต้องสงสัย
คุณจะไม่ได้เห็นเธอในชุดแนบเนื้อสีหวานอย่างใน Confessions อีกเช่นกัน ลุคงวดนี้ของเจ๊ต้องดิบและแกร่งขึ้น สีต้องดำเท่านั้น บวกกับบู๊ตยาวส้นสูงปรี้ดและเครื่องประดับแบบพอร์นๆ เธอจะ 50 อยู่แล้ว แต่ก็ยังเชื่อมั่นในเซ็กซ์แอพพีลของตนเต็มเหนี่ยว งานนี้มันเกี่ยวกับความใคร่กระสันหา ความเชื่อมั่น และเฟเมนิสต์ แฟนหนุ่มสาวและชาวเกย์ทั่วโลกของเธอต้องรักงานนี้หัวปักหัวปำว่างั้นสิ

คุณไม่ควรฟังอัลบั้มนี้จากหูฟังจิ๋วๆของไอพ็อดหรือลำโพงคอมราคาประหยัด Hard Candy สมควรจะได้แผดเสียงจากสเตอริโอชุดใหญ่ที่สุดในบ้าน มันก็ไม่ถึงจะเป็นงานระดับหูเพชร แต่มันเป็นงานเต้นที่ทรงพลังที่จะพังบ้านคุณเป็นแถบๆได้ขณะเดียวกันก็ยังมีรายละเอียดดนตรียิบยับผิดวิสัยของงานแดนซ์-ป๊อบทั่วๆไป ต้องชมฝีมือการเป็น executive producer ของเธอที่คุมโทนของแต่ละเพลงได้ไม่แตก ทั้งๆที่ลึกลงไปมันเหมือนการทำสงครามชิงเด่นกันระหว่าง The Neptunes ของฟาเรลล์ วิลเลียมส์และทีมของ Timbaland ส่วนดนตรีนั้น Nat ‘Danja’ Hills รับเหมาเล่นเองเกือบทั้งหมด!


เปิดตัวด้วยซิงเกิ้ลโลกแตก 4 Minutes *** ที่เจ๊ยั่วยวนไปกับจัสติน ทิมเบอร์เลค โปรดักชั่นแบบคลาสสิกทิมเบอร์แลนด์ของแท้ ทั้งเสียงบ่นและจังหวะกลองที่ล็อคกับคีย์บอร์ดเลียนเสียงฮอร์น เป็นงานที่ไม่มีทางไม่ฮิต แต่เพลงที่ cool กว่ากลับเป็นงานโปรดิวซ์ของฟาเรลล์ Give It 2 Me *****มาดอนน่าฉบับร่าเริงย้อนไปถึงยุค Holiday-Everybody จังหวะดิสโก้แบบโมโรเดอร์และเสียงซินธ์ที่เหมือนจะจิกคุณออกไปกระโดดโลดเต้นกลางฟลอร์ มันยังมีเนื้อร้องที่เด็ดดวงที่สุดในอัลบั้ม If it's against the law, arrest me / If you can handle it, undress me ตัวเก็งซิงเกิ้ลต่อไปและกลายเป็น anthem ใหม่ในคอนเสิร์ตของเจ๊ไปเรียบร้อย

Miles Away*** (Timbaland) เพลงรักจังหวะกำลังงาม ปูพื้นด้วยกีต้าร์โปร่ง ทำนองสวยคอรัสหวาน เพลงนี้เธอดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาผิดสังเกต บางคนชี้ว่านี่คงเป็นเพลงที่แต่งให้สามีของเธอ Kanye West พิสูจน์ตัวเองว่าเขาไม่ใช่แค่ rapper ดาดๆใน Beat Goes On**** ที่เขาร่วมแต่งและร้องด้วย (The Neptunes โปรดิวซ์) ใช่ beat goes on และมันลุ่มลึกมีมิติกว่าเพลงของสองทิมอย่างเห็นได้ชัด แต่แล้วสองแทร็คสุดท้าย Devil Wouldn’t Recognize You**** และ Voices*** ที่เป็นงานของ Timberland ก็ช่วยตีตื้นให้เขา จู่ๆมาดอนนาก็ปิดฟลอร์เลิกเต้นและปิดท้ายอัลบั้มด้วยงาน electronic epic pop อย่างน่าประทับใจ รวมคะแนนแล้วต้องให้ทั้งสองค่ายโปรดิวเซอร์เสมอกันไปหวุดหวิด

อ้าว ดูเหมือนผมจะลืมพูดถึงนักร้อง,เจ้าของอัลบั้มไปเสียนี่ เสียงร้องของเธอย้อนกลับไปในยุค Like A Virgin อีกครั้ง คุณชอบไหมล่ะ เสียงเล็กๆบางๆเซ็กซี่แบบยุค boytoy นั่น รีวิวใน allmusic อัดเธอว่านี่เป็นงานที่หาได้ยาก...มาดอนน่าที่ไร้ชีวิตชีวา พูดไปก็ถูก เสียงร้องเธอไม่มีความรู้สึกเอาเสียเลย แต่ผมก็บอกคุณแล้วนี่นา มาดอนนาไม่ใช่ยอดนักร้องซักหน่อย

ต้องสรุปกันหน่อยล่ะ นี่เป็นงานป๊อบแดนซ์ชั้นยอดในแบบเอาใจตลาดอเมริกันเต็มที่ อาจจะไม่เหนือชั้นอย่าง Ray Of Light หรือ Like a Prayer แต่ถ้าเธอเล็งเป้าไปที่เชิงพาณิชย์ล้วนๆงานนี้ก็ปิดประตูล้มเหลว แล้วจะซีเรียสหรือทำเป็นไม่หิวโหยไปไย บุกเข้าไปร้านขนมหวานของเธอ เต้นให้สุดเหวี่ยง และ Give It 2 Her.

ขอปิดท้ายด้วยเนื้อเพลงอีกท่อนของเพลง Give It 2 Me
When the lights go down and there's no one left I can go on and on and on
ใครจะมาใครจะไป มาดอนนาก็ยังคงอยู่ ต่อไปต่อไปต่อไป....

Motown The Complete #1s Boxset


Various Artists-Motown: The Complete NO.1’s ****


ออกปี-2008
จำนวน-10 แผ่น (digipacks)
Compilation produced by Harry Weinger
Mastered By Kevin Reeves



สนนราคาของบอกซ์ MotownThe Complete #1s นั้นปาเข้าไปเกือบๆครึ่งหมื่น
มันก็ไม่ได้แพงเกินซีดีทั่วไปหรอกครับ แต่เป็นเพราะกล่องซีดีชุดนี้บรรจุซีดีไว้ถึง
10 แผ่นด้วยกัน
แฟนเพลงที่จะเป็นเจ้าของบอกซ์นี้จึงต้องเป็นผู้มีรายได้เกินกว่าที่จะต้องการความจุนเจือจากรัฐบาลหรือนักการเมืองใดๆ
นั่นเป็นประการแรก ด่านแรกที่ต้องผ่าน ถ้าคุณไม่มีปัญหาในการซื้อซีดี 10
แผ่นพร้อมๆกันแล้ว ก็ต้องถามตัวเองว่าคุณชอบเพลงในสไตล์ "โมทาวน์" ขนาดไหน
กล่องนี้เหมาะสำหรับคนที่เป็นแฟนเข้ากระดูกของโมทาวน์ที่สะสมทุกอย่าง
หรือไม่ก็เป็นผู้คิดจะเริ่มฟังแต่อยากเก็บเฉพาะเพลงสุดฮิตของค่ายนี้เอาไว้เปิดฟังรวดเดียว
(ใช้เวลากว่าครึ่งวันถ้าคุณเปิดไม่หยุด)
ก่อนที่ท่านจะคิดว่าผู้เขียนเป็นพวกไหนกันแน่ ก็ขอประกาศขอบคุณ คุณสัมพันธ์
โตสว่างไว้ตรงนี้เสียเลย ที่ให้ยืมแผ่นชุดนี้มาเขียนครับ!


ถ้านับว่าเพลงที่ขึ้นอันดับ 1 คือเพลงที่มีคุณค่ามีราคากว่าเพลงดาษๆทั่วไปล่ะก็ กล่องนี้ไม่แพงหรอกครับ เพราะมันรวมเพลงที่ขึ้นสู่ยอดชาร์ตเข้าไว้ด้วยกันมากกว่า 200 เพลง ผมไม่คิดว่าจะมีกล่องซีดีชุดไหนจะมีเพลงอันดับ1เอาไว้ในชุดมากมายขนาดนี้ ใครพบวานบอกด้วยนะครับ


แต่เดี๋ยวก่อน! เรื่องอันดับ 1 นี่ต้องดูคำจำกัดความกันหน่อย ในกล่องนี้ คำว่าอันดับ 1 ของเขานั้นกว้างไพศาล กินความไปถึงทุกชาร์ต (ทุกแนวดนตรี) ของทุกประเทศที่ทีมงานคนทำกล่องพอจะหามาได้ (นี่ขนาดไม่มีประเทศไทยนะ) แถมเพลงโมทาวน์ที่ไม่เคยขึ้นอันดับ1โดยตัวศิลปินโมทาวน์เอง แต่ศิลปินค่ายอื่นเอาไปร้องแล้วขึ้นที่1ได้ ก็ยังมารวมเอาไว้ในกล่องนี้ในฐานะโบนัสแทร็คด้วย ไม่งั้นเราคงไม่ได้มีเพลงดีๆอย่าง Dancing In The Street หรือ This Old Heart Of Mine ในกล่องนี้ (ไม่น่าเชื่อว่าเพลงระดับดังมากๆหลายเพลงกลับไม่เคยขึ้นอันดับ 1 ) นั่นเป็นเรื่องสนุกๆทางสถิติ แต่เพลงอันดับ1มันก็คือเพลงที่ฮิตที่สุดในเวลานั้นๆจากการรวบรวมข้อมูลของใครบางคน และมันก็หลายสิบปีมาแล้ว คุณค่าจริงๆของเพลงสองร้อยกว่าเพลงในกล่องนี้ไม่ได้อยู่ตรงนั้นเลยครับ


คงไม่ต้องบรรยายว่าเพลงแบบโมทาวน์เป็นอย่างไร ทุกท่านคงเคยฟังเพลงดังๆอย่าง My Girl ของ Temptations, Stop! In The Name Of Love ของ The Supremes หรือ I Heard It Through The Grapevine ของ Marvin Gaye กันมาแล้ว โมทาวน์ยุคแรกผลิดเพลงฮิตกันเป็นอุตสาหกรรมจริงๆ แทบจะไม่สำคัญว่าศิลปินคนร้องจะเป็นใคร เพราะทุกเพลงต้องผ่านคิวซีของทีมผลิตโมทาวน์มาก่อน นโยบายของโมทาวน์ในยุคนั้นไม่มีการพูดถึงศิลปะหรือการทำเพลงเอาใจตัวเอง ทุกเพลงทุกอัลบั้มมีเป้าหมายอย่างเดียวคือเพลงฮิตติดตลาด เนื้อหาของบทเพลงก็แทบจะเป็นเรื่องรักๆใคร่ๆล้วนๆ แต่เพลงแบบนี้แหละ ที่อยู่ยงคงกะพันมาจนถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกับเพลงหวานๆโหลๆของ Carpenters ไม่ว่าคุณจะทำเพลงเอาใจตลาดหรือเพลงฟังยากจริงจัง ถ้าคุณภาพของบทเพลงมันดีจริง ผมคิดว่ามันย่อมมีที่ทางในดวงใจของแฟนเพลงอยู่เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน มีข้อสังเกตนิดนึงว่าการเขียนเนื้อเพลงของโมทาวน์จะมีลักษณะการดำเนินเรื่องคล้ายๆเพลงคันทรี่ของคนขาวอยู่เหมือนกัน ซึ่งทีมแต่งเพลงของค่ายก็ออกมายอมรับ ด้วยเหตุผลที่ว่ามัน “ติดดิน” ดี อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เพลงของค่ายนี้มีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ เพลงส่วนใหญ่เล่นแบ๊คอัพด้วยวงดนตรีวงเดียวกันคือ The Funk Brothers


Berry Gordy บิดาแห่งโมทาวน์คือผู้ริเริ่มและประธานตัวจริงตลอดกาลของโมทาวน์ เขาได้ไอเดียในการทำเพลงแบบนี้จากการไปมองสายพานการผลิตรถยนต์ ที่เริ่มจากโครงเปล่าๆก่อน แล้วค่อยๆใส่เครื่องเคราลงไปทีละชิ้น จนเมื่อสุดสายพาน ก็จะได้รถยนต์ที่มีคุณภาพทัดเทียมกันทุกคันไปทุกครั้ง ก็สมดีกับชื่อ Motown ที่มาจาก motor town - เมืองดีทรอยท์ที่ๆค่ายนี้ตั้งอยู่อันเป็นเมืองผลิตรถตัวยงของอเมริกายุคนั้น กอร์ดี้เป็นนักแต่งเพลงมือดีมาก่อนด้วย เขาเป็นนักธุรกิจตัวยงที่มีนโยบาย win-win ในทุกสถานการณ์ การคัดเลือกทีมงานของกอร์ดี้ก็ถือว่าสุดยอด ทั้งการเลือกตัวศิลปิน และนักแต่งเพลง โมทาวน์ในยุค 60's และข้ามมาถึง 70's จึงเป็นโรงงานผลิตเพลงฮิตที่ไม่มีใครกล้าต่อกร


กล่อง Complete #1s นี้ทำเป็นแพ็คเกจใส่ไว้ในกล่องรูปบ้านเล็กๆที่ชื่อว่า Hitsville USA อันจำลองมาจากที่ทำงานดั้งเดิมของค่ายนี้ ไม่น่าเชื่อว่าบ้านเล็กๆนั้นจะเป็นออฟฟิซที่ทำงานทุกอย่างในยุคแรกของโมทาวน์ออกมา คุณภาพเสียงของเพลงในกล่องนี้ผ่านการรีมาสเตอร์เป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบ แต่หลายๆแทร็คสุ้มเสียงกระจ่างใสและมีน้ำมีนวลมากกว่าที่เคยฟังจากที่ใดๆมาก่อน แม้ว่าซีดีแผ่นหลังๆในกล่องนี้อาจจะไม่มีความคลาสสิกเท่ายุคแรก เพลงก็จะไม่ค่อยมีเอกลักษณ์ในแบบโมทาวน์เท่าไหร่แล้ว แต่โดยรวมแล้วนี่ก็ยังเป็นกล่องรวมเพลงที่สมบูรณ์ที่สุดชุดหนึ่งครับ ถ้าคิดว่ามันแพงเกินไป ก็ลองไปเลือกหากล่องที่เล็กลงกว่านี้ได้ เห็นมีแบบ 3 หรือ 5 แผ่น ฉลองครบ 50 ปีของค่ายนี้ด้วย


ทุกวันนี้ค่ายโมทาวน์ก็ยังอยู่ดี แม้จะไม่ใช่โรงงานผลิตเพลงฮิตอีกต่อไปแล้ว แต่ก็อย่าประมาทชายชราชื่อ Berry Gordy ในวัย 80 ปี ได้ข่าวว่าเขาเพิ่งกลับมาจากการเกษียณอายุอีกครั้ง เพื่อทำงานกับศิลปินหญิงวัยรุ่นหน้าใหม่ที่ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อแซ่ มีแต่เสียงกระซิบจากเจ้าพ่อโมทาวน์ว่า เธอคนนี้คือปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ ถ้าไม่ใช่ราคาคุยก็ต้องจับตามองกันล่ะครับ


ทิ้งท้ายไว้ด้วย 10 เพลงโมทาวน์ที่ผมรักที่สุดครับ และคิดว่ามันคงเป็นตัวแทนของ”เสียงแห่งโมทาวน์” ได้เป็นอย่างดี และแน่นอนมันต้องเคยเป็นเพลงอันดับ1ที่ไหนสักแห่งในโลกมาก่อน และอยู่รวมในกล่องนี้ด้วย


1.My Guy-Mary Wells
2.My Girl-The Temptations
3.I Second That Emotion-Smokey Robinson
4.I Want You Back-Jackson 5
5.Please Mister Postman-The Marvelettes
6.Let's Get It On-Marvin Gaye
7.For Once In My Life-Stevie Wonder
8.Just My Imagination-The Temptations
9.Penny Lover-Lionel Richie
10.You Are The Sunshine Of My Life-Stevie Wonder

Taylor Swift+++ Fearless


Taylor Swift-Fearless (2008)****




จะให้พูดอย่างไรดีสำหรับ Taylor Swift นี่คือปรากฏการณ์ของดนตรี ผู้หญิงคนนี้ช่างสมบูรณ์แบบ เธอมีทุกสิ่งที่จะทำให้เธอเป็นสตาร์ สาวน้อยแนชวิลล์ผมบลอนด์กับกีต้าร์และน้ำเสียงน่ารักๆ....นั่นก็น่าจะเพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ ยัง....เธอยังแต่งเพลงเองเกือบทั้งหมดใน Fearless อัลบั้มที่สองของเธอนี้อีกด้วย และที่สำคัญที่สุด เพลงที่เธอแต่งนั้นมันยังเยี่ยมยอดทั้งสิ้น!

Fearless ใช้เวลาแค่สองเดือนสุดท้ายในปี 2008 ในการที่จะกลายเป็นอัลบั้มที่ขายถล่มทลายที่สุดในอเมริกา เป็นรองแค่ Tha Carter III ของ Lil Wayne และ Viva La Vida ของ Coldplay เท่านั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร มีอะไรที่จะทำให้คุณไม่รัก Taylor Swift ได้เล่า? จากคุณสมบัติที่กล่าวมาทั้งหมดข้างบนนั้น

Fearless เป็นอัลบั้มคันทรี่-ป๊อบที่เน้นไปที่ความเป็นป๊อบมากกว่าคันทรี่ คุณจะไม่ได้ยินเสียงแบนโจหรือแมนโดลินมากนักแต่จะหนักไปทางไวโอลินมากกว่า แน่นอนว่ากีต้าร์เป็นเครื่องดนตรีที่โดดเด่นที่สุด แต่อารมณ์ของบทเพลงก็ยังคงเป็นคันทรี่อยู่ดี Taylor เขียนเพลงจากประสบการณ์ของเธอเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่น่าเชื่อว่าด้วยอายุแค่นี้เธอจะมีเรื่องราวให้เขียนได้มากมาย (เธอเกิดปี 1989 ตอนที่ท่านผู้อ่านอ่านอยู่นี้ก็เพิ่งย่างเข้าปีที่20เท่านั้น) แน่นอนว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องรักๆใคร่ๆกับหนุ่มๆในมุมมองและฉากหลังที่ต่างกันออกไปในแต่ละเพลง Hey Stephen คือลีลาการจีบหนุ่มแบบเว้ากันซื่อๆ Stephen คงต้องเป็นคนที่ใจแข็งมากทีเดียวถ้าจะปฏิเสธรักจาก Taylor โดยเฉพาะประโยคทอง Hey Stephen I could give you fifty reasons why I should be the one you choose/ All those other girls, well they’re beautiful/ but would they write a song for you เอากับเธอสิครับ Taylor หัวเราะเบาๆหลังจบประโยคนี้ Love Story ซิงเกิ้ลแรกจากอัลบั้ม ความรักแบบโรมิโอกับจูเลียตที่ Taylor เขียนฉากจบแบบ happy ending ให้ เธอเล่าเบื้องหลังไว้ใน website ส่วนตัวว่า “นี่คือตอนจบที่สาวๆอยากให้เป็น รวมทั้งฉันด้วย คุณต้องการผู้ชายที่ไม่แคร์ว่าใครจะว่าอย่างไร แค่บอกว่า “Marry me, Juliet, I love you, and that’s all I really know.เท่านั้นแหละ” The Way I Loved You เรื่องของความรักกับหนุ่มที่แสนจะเพอร์เฟ็ค ช่างเอาใจ เป็นคนมีเหตุผล เข้ากับพ่อแม่ได้ดี แต่ใจของแม่สาวน้อยกับไพล่ไปคิดถึงอีกรักหนึ่งกับอีกหนุ่มที่แม้รักกับเขาจะไม่สมบูรณ์และเต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง แต่มันก็เป็นสีสันที่เธอลีมไม่ลง... I miss screaming and fighting and kissing in the rain….and that’s the way I loved you Fearless ความรักแบบหัวปักหัวปำของสาวน้อยที่ไม่เกรงกลัวใดๆทั้งสิ้น Taylor เขียนเนื้อเพลงด้วยถ้อยคำง่ายๆสั้นๆแต่เห็นภาพ I don’t know why but with you I’d dance in a storm in my best dress, Fearless… เนื้อเพลงอย่างนี้จะไม่ให้โดนใจวัยรุ่นได้ยังไง ในยุคที่ใครๆก็ดาวน์โหลดเพลงกัน แต่อัลบั้มนี้ก็ยังขายดีเหมือนให้ฟรี

Fearless ไม่ได้มีแค่เพลงรักเท่านั้น Fifteen คือบทเรียนที่เธออยากย้อนเวลากลับไปแนะนำตัวเองยามยังเป็นเด็กน้อยด้อยประสบการณ์สมัยปี 1 ไฮสคูล (เพลงนี้เธอทำให้เพื่อนวัยเรียน Agibail ดังไปด้วย เพราะเธอเอ่ยชื่อจริงในเพลงนี้แถมเอารูปมาลงด้วย) และเธอแต่ง The Best Day ให้คุณแม่ เธอเล่าว่าแอบแต่งและบันทึกเสียงเพลงนี้โดยไม่ให้แม่รู้ และทำวิดีโอโดยใช้ภาพของครอบครัวมาประกอบ เปิดให้แม่ดูตอนคริสต์มาส คงยากเหลือเกินที่คุณแม่จะกลั้นน้ำตาอยู่ (และเธอก็ร้องไห้จริงๆ)

Taylor ไม่ใช่นักร้องเสียงดังอย่าง Carrie Underwood เธอเลือกที่จะกระซิบกระซาบและครวญเนื้อเพลงมากกว่าการตะโกนโชว์พลัง นั่นเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ Fearless เป็นอัลบั้มคันทรี่ป๊อบฟังสบายที่ยอดเยี่ยมที่สุดชุดหนึ่งในรอบหลายปี ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นจากอัลบั้มแรกของเธอในปี 2006 อนาคตของเธอสดใสอย่างที่ไม่ต้องให้โหรท่านใดทักทาย

Lee Ann Womack | Call Me Crazy


Lee Ann Womack: Call Me Crazy ***1/2
ออกปี-2008
โปรดิวเซอร์- Tony Brown
มาสเตอร์ โดย- Bob Ludwig




ฉบับที่แล้วผมเพิ่งเขียนถึงสาวน้อยคันทรี่ Taylor Swift ไปหมาดๆ ก็ว่าจะไม่เขียนถึงแนวนี้บ่อยนัก เพราะเกรงว่าแฟนแนวนี้อาจจะไม่มาก แต่อัลบั้มนี้ของ Lee Ann มันยอดเยี่ยมเหลือเกินจนอดไม่ได้ที่จะต้องให้อภิสิทธิ์ตัดหน้าชาวบ้านเข้ามาแนะนำกัน

Lee Ann ไม่ใช่สาวรุ่นอย่าง Taylor เธออยู่ในวงการมากว่าสิบปีแล้ว (ปัจจุบันอายุ 42 ปี) และนี่ก็เป็นอัลบั้มที่หกของเธอ เธอเข้ามาวงการมาพร้อมๆกับนักร้องคันทรี่สาวอีกคนหนึ่งคือ LeAnn Rimes (เขียนต่างกันเล็กน้อย) ที่กำลังดังมากๆในตอนนั้น จนทีมงานของ Womack อยากจะให้เธอเปลี่ยนชื่อเพราะกลัวว่าแฟนๆจะสับสน แต่ Womack ก็ยืนยันจะใช้ชื่อจริงที่พ่อแม่ตั้งให้มา นับว่าเธอมีความมั่นใจในตัวเองสูงจริงๆ ว่าความสามารถของเธอเป็นสิ่งสำคัญกว่าชื่อแซ่ใดๆ และถึงตอนนี้เธอก็ได้พิสูจน์แล้วครับว่าเธอไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือใช้ชื่อปลอมใดๆเลย ผลงานของเธอคือใบเบิกทางและประกาศนียบัตรขั้นสูงสุด

Lee Ann Womack เป็นผู้หญิงที่ร้องเพลงด้วยน้ำเสียงที่มีมวลและเนื้อเสียงละเอียด
แทบทุกประโยคของเธอนั้นจะเจือความเศร้าหมองปนอยู่เสมอๆ และเธอก็ใช้มันได้เป็นประโยชน์อย่างสุดคุ้มจริงๆ แทบทุกเพลงใน Call Me Crazy มีแต่เรื่องราวของหัวใจที่แหลกสลาย การหย่าร้าง และอารมณ์เมามาย ซึ่งต้องบอกว่าน้ำเสียงของเธอรับใช้เนื้อหาของเพลงแบบนี้ได้อย่างวิเศษ (ก็ไม่ถึงกับเศร้ากันทั้งชุดหรอกนะครับ ยังพอมีเพลงให้ความหวังกันอยู่บ้าง) แต่ความเศร้าที่คุณจะพบในอัลบั้มนี้ผมคิดว่ามันเป็นแบบ bittersweet นะครับ คือไม่ใช่ความเศร้าที่ซีเรียสชวนปลิดชีพตัวเอง แต่เป็นความขมขื่นลึกๆที่เหมือนกำลังถูกเยียวยาด้วยเสียงดนตรีมากกว่าน่ะครับ

ใครที่ไม่ได้ใส่ใจในดนตรีลูกทุ่งอเมริกันนักอาจจะไม่ทราบว่า เรื่องโศกตรมเหล่านี้เป็นเนื้อหาหลัก ในเพลงคันทรี่ที่นิยมกันมากมาตั้งแต่สมัย Hank Williams แล้ว เรียกว่าถ้าจะโหวตนับเสียงกันจริงๆ ผมคิดว่าจำนวนเพลงคันทรี่เศร้าๆมีไม่น้อยกว่าเพลงสนุกสนานชมต้นไม้ใบหญ้าแน่ๆครับ

ถ้าคุณเป็นแฟนดนตรีแนวนี้อยู่แล้ว และชอบเพลงคันทรี่เศร้าๆแบบ Patsy Cline, Tammy Wynette ก็คงไม่ต้องคิดกันมาก คุณน่าจะชอบอัลบั้มนี้แน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าดนตรีในอัลบั้มจะโบราณเท่าของแพ๊ตซี่และแทมมี่นะครับ สุ้มเสียงเป็นคันทรี่ป๊อบยุคใหม่ทีเดียว

อย่างที่บอกไว้ว่า เธอเป็นคนเนื้อเสียงละเอียด การร้องของเธอจึงไม่ใช่โหวกเหวกโชว์พลังปอด แต่เป็นในแนวเหมือนพูดคุยเล่าเรื่องราวให้กันฟังแบบเพื่อนคุยกัน การฟังเพลงคันทรี่นั้นถ้าเป็นไปได้อยากให้อ่านเนื้อเพลงไปด้วยนะครับ (เป็นสิ่งที่ผมพูดแทบทุกครั้งเวลาแนะนำเพลงแนวนี้) เนื้อเพลงรับรองแปลไม่ยาก และไม่มีการใช้การตีความซับซ้อน แต่เมื่อคุณทราบความหมายของมัน เพลงที่ว่าไพเราะอยู่แล้ว ก็จะยิ่งซาบซึ้งขึ้นไปอีก และเพลงธรรมดาๆก็อาจจะฟังดูดีขึ้นเป็นเท่าตัว ยิ่งสมัยนี้เนื้อเพลงหากันง่ายแค่คลิก (ในกรณีที่ในซีดีไม่แจกเนื้อเพลงมาด้วยนะครับ)

อีกนิดหนึ่งสำหรับการร้องของเธอ Lee Ann มีความสามารถหนึ่งที่นักร้องระดับพระกาฬทุกคนต้องมี คือการดึงให้ผู้ฟังคล้อยตามไปกับเนื้อหาได้ หรือพูดด้วยภาษาแบบทุกวันนี้ก็คือ ให้เราอินไปกับสิ่งที่เธอร้อง หลายเพลงในอัลบั้มนี้ทำให้ผมรู้สึกเศร้าสร้อยไปกับเธออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับการฟังนักร้องคนไหนร้องมาเป็นเวลานานแล้ว คิดว่าถ้าเป็นคนฟังที่ใจอ่อนหน่อย หรือมีประสบการณ์คล้ายๆกับเนื้อเพลงคงได้น้ำตาไหลพรากกันไม่ยาก

เพลงแรก Last Call ที่ซ่อนชื่ออัลบั้มไว้ในเพลง เล่าถึงแฟนเก่าที่จะโทรหาเธอเพียงแค่ตอนเมามายและร้านเหล้าใกล้ปิดเท่านั้น ลองนึกถึงอารมณ์ของฝ่ายหญิงที่ต้องอดกลั้นไม่ยอมรับสายทั้งๆที่ใจก็อยากจะรับสิครับ นั่นคือสิ่งที่ Lee Ann บรรยายออกมาในเพลง เศร้าถึงใจจริงๆ Either Way เรื่องของคู่รักที่อยู่ด้วยกันแบบซังกะตาย เธอจะอยู่หรือไปฉันก็ไม่รักเธออยู่ดี คอรัสโดดเด่นมาก น่าตัดเป็นซิงเกิ้ล เนื้อเพลงท่อนหนึ่งเก๋มาก... I’ve passed the point of give a damn/and all my tears are cried. ฉันผ่านจุดที่จะแยแสอะไรไปหมดแล้ว และน้ำตาทั้งหมดที่มีก็ร้องออกไปสิ้นแล้ว เช่นกัน ใครคิดถึง Keith Urban หวานใจของ Nicole Kidman ฟังเสียงประสานของเขาให้หายคิดถึงได้ใน The Bees ที่ออกไปทาง gospel country rock (เป็นเพลงที่แหวกแนวไปจากเพลงอื่นและสร้างสรรค์ที่สุดในแผ่น) และ George Straits คันทรี่คนดังก็มาร้องคู่ด้วยใน Everything But Quits ซึ่งคงจะมีผลให้อัลบั้มขายดีขึ้นจากแฟนๆของ George แต่ผมว่ามันเป็นส่วนเกินๆของอัลบั้มอย่างไรไม่ทราบ แถมเนื้อหาก็ยังออกหวานๆไม่ค่อยไปกันกับเพลงโศกาอาดูรอื่นๆในอัลบั้มเลย

แม้ว่าโทนโดยรวมจะเศร้าสร้อย แต่ก็ยังมีเพลงในแง่บวกอยู่ไม่น้อยอย่าง The Story of My Life, I Found It In You, New Again ซึ่งเป็นไม่กี่เพลงที่เธอมีส่วนแต่งเพลงด้วย

นี่คืออัลบั้มคันทรี่ร่วมสมัยที่น่าฟังที่สุดแผ่นหนึ่งที่ออกเมื่อปีที่แล้ว แนะนำสำหรับคนชอบเสียงร้องหวานเศร้าๆในแบบลูกทุ่งอเมริกันครับ มันอาจจะไม่ใช่งานที่ดังมากนักของเธอเมื่อเทียบกับผลงานเก่าๆ แต่นั่นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับความดีงามของบทเพลงในอัลบั้มเลย จริงไหมครับ

Girls Aloud-- Out Of Control


Girls Aloud-Out Of Control ****




Girls Aloud เป็นวง “สาวสร้าง”ของแท้ ที่ถือกำเนิดขึ้นหน้าจอทีวีต่อหน้าผู้ชมนับล้านในรายการทีวี Popstars: The Rivals ในเดือนพ.ย.ปี 2002 และสาวห้าคนที่ถูกคัดมาเรียงตามลำดับในแต่ละสัปดาห์ มีนามว่า Cheryl Tweedy, (เปลี่ยนเป็น Cole แล้ว) Nicola Roberts, Nadine Coyle, Kimberley Walsh และ Sarah Harding


ภาระแรกของห้าสาวคือการประชันกับอีกวงที่เป็น Boy Band ซึ่งคัดมาจากงานเดียวกัน ชื่อวง One True Voice ว่าซิงเกิ้ลของใครจะขึ้นอันดับหนึ่งในช่วงคริสต์มาสได้ (ไม่มีคู่แข่งอื่นเลยหรือก็ไม่ทราบ?) ผลก็คือ Sound Of The Underground ของสาวๆ Girls Aloud เป็นผู้คว้าชัยในการประชัน โดยครองอันดับ 1 ได้ถึง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน เพลงนี้ยังเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของสาวๆกับทีม production ที่มีชื่อว่า Xenomania หนุ่มๆ One True Voice ออกซิงเกิ้ลได้อีกแผ่นสองแผ่นก็พับฉากเก็บไปเรียบร้อยในปี 2003


แต่ใครจะเชื่อว่า Girls Aloud จะยืนยงคงกระพันมาได้ถึงปี 2008 มิหนำซ้ำชื่อเสียงของเธอยังโด่งดังไม่มีตก และ Xenomania ก็ยังคงอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสาวๆมาตลอดนับจากนั้นมา ซิงเกิ้ลดังแทบทุกแผ่นของ Girls Aloud เป็นผลงานการโปรดิวซ์ของทีมงาน Xenomania ทั้งสิ้น พวกเธอมีเพลงติดท็อปเท็นในอังกฤษ 19 เพลง 4 เพลงไปได้ถึงอันดับ 1 ลักษณะการทำงานของทีมโปรดักชั่นและศิลปินคุ่นี้ทำให้คิดถึง The Supremes ในยุค Motown Classics หรือทีมแต่งเพลงของ Stock, Aitken & Waterman ในยุค 80’s กับศิลปินอย่าง Kylie หรือ Rick Astley


ทีม Xenomania ประกอบไปด้วย Brian Higgins, Nick Coler, Giselle Sommerville, Miranda Cooper ( Moonbaby, ), Lisa Cowling, Tim Powell, และ Matt Gray. นอกจากศิลปินตัวหลักอย่าง GA แล้วพวกเขายังทำเพลงให้ Sugababes, Texas,Kylie, Franz Ferdinand, Annie, Gabriella Cilmi และที่โด่งดังที่สุดคือเพลง Believe ของ Cher

ถึงแม้ Xenomania จะทำเพลงได้สุด catchy แค่ไหน แต่ก็ต้องให้เครดิตกับสาวๆ Girls Aloud ด้วย แม้พวกเธอจะไม่ใช่สุดยอดนักร้องไร้เทียมทาน หรือมีเสน่ห์โดดเด่นเฉพาะตัวแบบ Spice Girls แต่ Girls Aloud มีความพอดีในหลายๆมิติ พวกเธอร้องเพลงได้ดีทุกคนและมีน้ำเสียงแตกต่างกันพอแยกออก character ที่วางไว้ก็ออกไปทางสวยมีคลาส เซ็กซี่พองามแต่ไม่โป๊น่าเกลียด เพลงที่ทีมงานทำให้ก็ช่างลงตัวกับภาพลักษณ์และวัยวุฒิของสาวๆยิ่ง เพลงของ Girls Aloud เป็น electric pop dance ที่มักจะ upbeat ชวนเต้น และรุ่มรวยเมโลดี้ติดหูหนึบหนับ

Out Of Control เป็นอัลบั้ม studio ลำดับที่ห้าของ GA อย่าหวังว่าพวกเธอจะเปลี่ยนแนวทางแต่อย่างใด ทั้ง 12 เพลงยังคงเป็น pop dance สุด catchy ที่มีโปรดักชั่นเข้มข้นจาก Xenomania เช่นเคย The Promise ซิงเกิ้ลเปิดตัวในสไตล์ Phil Spector ข้ามเวลามาโปรดิวซ์ ซินเธอะไซเซอร์รับบทพาร์ทที่ควรจะเป็นเครื่องเป่า สาวๆทั้งห้าแบ่งกันร้องคนละท่อนสองท่อน ความ pop ของมันทำให้ทำใจลำบากว่าท่อนเวิร์สหรือคอรัสที่ไพเราะกว่ากัน Loving Kind ป๋า Neil Tennant และ Chris Lowe แห่ง Pet Shop Boys บรรจงแต่งให้ร่วมกับทีม Xenomania แน่นอนย่อมมีกลิ่นของ PSB และชวนให้คิดถึง Call The Shots ซิงเกิ้ลสุดฮ็อทจากอัลบั้มที่แล้ว Tangled Up (ที่ผมยกให้เป็น pop single แห่งปี 2007) music video ของเพลงนี้ก็ทำได้เฉียบ โดยเฉพาะการตีความเนื้อร้องที่ว่า I buy you flowers I pour you wine แต่ใน clip พวกเธอสาดไวน์กันซะ.... สาวๆคงหวังจะน็อคแฟนๆในยกแรกเพราะเพลงที่สาม Rolling Back The Rivers In Time ก็เป็น Girls Aloud Classic พร้อมใบรับประกัน ที่น่าจะจ่อคิวซิงเกิ้ลต่อจากสองแทร็คแรก Johnny Marr อดีต The Smiths แอบมาเล่นกีต้าร์ให้

Brian Higgins หัวหน้าทีม Xenomania เคยคุยไว้ว่า หลักการของทีมงานเขาคืออะไรก็ได้ที่น่าสนใจในวงการดนตรีเขาจะเอามาใส่ในเพลงได้หมด แต่มีข้อแม้ว่าต้องให้บุรุษไปรษณีย์ผิวปากตามไปด้วยนะ ใน Out Of Control จึงไม่ได้มีแต่ pop สูตรสำเร็จซ้ำซาก Untouchable คือ dance epic ที่ยาวเหยียดถึงหกนาทีกว่า แต่เต็มไปด้วยสีสันตลอดเพลงจนไม่รู้สึกถึงความยาวเกินปกติเพลงป๊อบ Fix Me Up ฟังกี้และเซ็กซี่ที่สุดในอัลบั้ม Live In The Country ในแนว Drum ‘n’ Bass ที่นึกว่าสูญพันธุ์ไปแล้วแถมมีเซอร์ไพรซ์ด้วย sound effect ราวกับเป็น Pink Floyd ถึงยังไงแนวที่ GA ทำได้มันส์ที่สุดก็คือเพลง dance กระฉึกกระฉักเร็วจี๋อย่าง Miss You Bow Wow ปิดอัลบั้มด้วย We Wanna Party ที่มีชื่ออัลบั้ม “Out Of Control” ซ่อนอยู่

Out Of Control ไม่ได้อยู่เหนือการควบคุมเหมือนกับชื่ออัลบั้ม มันยังคงเป็น Girls Aloud ที่ catchy, dancy เหมือนเดิม แม้ลึกๆในเนื้อหาและเสียงร้องอาจจะอ่อนหวานและเศร้าสร้อยขึ้นตามวัย หลายคนอาจมองข้ามพวกเธอไปเพราะมองว่าเป็นแค่วงที่อุปโลกขึ้นมาหรือเป็นแค่เด็กสร้างของวงการ แต่ดนตรีก็คือดนตรี ไม่ว่าเบื้องหลังจะเป็นอย่างไรปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือหนึ่งใน best party album ในรอบปีครับ

Lily Allen is back!


Lily Allen It’s Not Me, It’s You ดนตรีย้อนยุค แต่เธอคือตัวตนแห่งยุคสมัย





"ตัวแม่" แห่ง myspace generation กลับมาแล้วหลังจากอัลบั้มแรกเมื่อปี 2007 Alright, Still สร้างชื่อเสียงให้เธอสุดๆจนทำให้มีศิลปินทำนองเดียวกับเธอดำเนินรอยตามกันมากมาย แต่ไม่มีใครที่จะแสบสันต์และน่ารัก+ขำขันได้เหมือนกับต้นตำรับ Kate Nash นั้นอาจจะทำดนตรีได้เยี่ยมมีมิติลึกซึ้งกว่าเธอ แต่เธอก็ดูจะหลุดโลกและห่างไกลแฟนเพลงไปหน่อย ขณะที่กับลิลลี่นั้นเด็กๆจะรู้สึกผูกพันและลุ้นไปกับชีวิตของเธอเหมือนดู reality Show เธอมีหน้าตาที่ไม่ถึงกับสวย แต่ก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร บางทีเธอก็ปล่อยตัวให้อ้วนจัด แต่ไม่กี่วันต่อมาเธอผอมเพรียวมาเชียว ทั้งหมดนี้เหมือนเป็นการออกแบบชีวิตให้เธอมาเป็นขวัญใจวัยรุ่นโดยแท้


ประวัติของเธอนั้นออกจะโชกโชน ทวนให้ฟังอีกครั้งว่าเคยย้ายโรงเรียน 13 ครั้ง และมีอาขีพเป็นเภสัชกรที่เกาะ Ibiza ตอนอายุ 15 คงไม่ต้องบอกว่าเธอขายยาอะไรนะครับ การที่เธอไม่ค่อยได้เรียนหนังสือเป็นเรื่องเป็นราวและย้ายโรงเรียนบ่อย ทำให้ลีลลี่ขาดเพื่อน ต้องหันเข้าหาดนตรีเป็นที่พึ่ง และวงโปรดของเธอคือ The Special, T.Rex, และ Happy Mondays คงจะพอบอกได้ว่าแนวดนตรีสกาป๊อบของเธอมาจากไหนกัน


เสน่ห์ของลิลลี่คือการเขียนเนื้อเพลงที่เถรตรง กล้าพูดในเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครกล้าเอ่ยถึงในเพลงปีอบ แต่เธอมีลีลาที่ทำให้มันออกมาดูไม่หยาบคายหรืออนาจารแต่ออกไปทางฮาๆน่ารักมากกว่า ในอัลบั้มชุดที่สองนี้เธอคงไม่อยากย่ำเท้าอยู่กับที่ เนื้อหาจึงเริ่มเขยิบไปในเรื่องอื่นๆที่เป็นระดับสูงและวงกว้างขึ้น เช่น วัฒนธรรมการใช้ยาเป็นว่าเล่น บ่วงของความเป็นป๊อบสตาร์ เพลงรักพ่อที่ไม่วายจิกนิดๆ เพลงด่าจอร์จบุช(ช้าไปหน่อยนะ) และยังแถมเขียนเพลงถึงพระเจ้าอีกเพลง ต้องยอมรับว่าเธอกล้าและเก่งทีเดียวที่จะไม่เพลย์เซฟกับเพลงรักวัยรุ่นแบบเดิม แม้ว่ามันจะดูไม่ใช่ทางเธอเท่าไหร่ แต่ลีลลี่ก็ทำได้ไม่เลว


อย่างไรก็ตาม แนวทางแสบๆของเธอก็ยังเป็นอะไรที่อีหนูทำได้ดีที่สุด Not Fair ดนตรีออกคันทรี่กวนๆ เนื้อเพลงยกย่องชายคนรักทุกอย่าง เสียอย่างเดียวที่เรื่องบนเตียงเขาไม่ได้เรื่อง Who'd Have Known เพลงรักในรูปแบบคล้าย Littlest Things ในงานชุดแรก บทเธอจะซึ้งขึ้นมา ลีลลี่เขียนเนื้อได้ราวกับแต่งเรื่องสั้นดีๆสักเรื่องให้เราอินไปกับเธอด้วย และ Never Gonna Happen เป็นเพลงสลัดรักที่ออกจะสุภาพแต่ร้ายลึก Back To The Start เป็นเพลงที่ 80's จ๋าๆสุดๆ เนื้อหาเป็นในแนวนางตัวร้ายสารภาพรัก


ไม่อยากบอกเลยว่าเพลงที่สร้างสรรค์และตลกสุดๆคือ F-ck You ที่น่าจะด่าจอร์จ บุชเป็นหลัก ต้องไปฟังเองครับถึงจะทราบว่ามันขำตรงไหน เพลงนี้ไม่รุนแรงเหมือนชื่อเพลงหรอกครับ นี่เป็นคำใบ้


งานนี้โปรดิวซ์โดย Greg Kurstin แห่ง The Bird And The Bee ผู้เคยทำงานกับเธอมาแล้วในอัลบั้มแรก เป็นความประสงค์ของเธอเองที่อยากให้อัลบั้มนี้มีโปรดิวเซอร์คนเดียวไม่ใช่จับฉ่ายเหมือนงานก่อน ถ้าจะเอาความต่อเนื่องและเป็นหนึ่งเดียวล่ะก็ได้เลย แต่มันก็สู้ความหลากหลายและสดใสเหมือนงานแรกไม่ได้ นี่มักจะเป็นปัญหาของการออกแผ่นที่สองของศิลปินที่ดังมากๆจากชุดแรก


ถ้าจะจินตนาการว่างานนี้ออกมาเมื่อสิบหรือยี่สิบปีก่อนที่ไม่มีความใกล้ชิดอะไรกันมากระหว่างศิลปินกับคนฟัง- มันจะประสบความสำเร็จไหม ผมก็คิดว่ามันคงดังอยู่ดี เพราะเพลงส่งเหลือเกิน เด็กคนนี้เขียนและทำเพลงได้ติดหูสุดๆ แทบทุกเพลงของเธอเราร้องตามได้ก่อนจะฟังจบรอบแรกเสียอีก ชุดใหม่นี้แนวสกาลดลง แต่ออกไปทางอีเล็กโทรป๊อบแบบ 80's บางเพลงก็ไปในแนว jazz เก่าๆ และมีคันทรี่บางๆอีก 1 เพลง แต่ไม่ต้องห่วง เด็กๆที่รักเพลงป๊อบร่วมสมัยรับได้สบายๆทุกคน แต่จะว่าไปอิทธิพลของพี่เกร็กโปรดิวเซอร์ก็ไม่น้อยเลย ลองไปฟังอัลบั้มใหม่ของ The Bird And The Bee สิครับ ซาวนด์แกชัดมาก


ในเว็บของเธอจะมีการปล่อยเทปมัลติแทร็คแยกชิ้นดนตรีให้แฟนๆโหลดไปทำรีมิกซ์กันเองแล้วส่งกลับมาประกวด เป็นไอเดียที่เก๋มาก http://www.lilyallenmusic.com/lily/remix เป็นที่ทราบกันว่ามัลติแทร็คเหล่านี้สมัยก่อนศิลปินเขาหวงกันจะตาย แต่นั่นมันความคิดเดิมๆแล้วครับ อะไรที่กระตุ้นยอดขายและความสนใจได้ ต้องทำหมดล่ะครับยุคนี้ อ้อ คนที่จะโหลดมัลติแทร็คได้ต้องได้"โค้ดลับ"จากแผ่นซีดีอัลบั้มก่อนนะครับ

แถมเมื่อสองวันก่อนเธอเขียนบล็อกอ้อนแฟนๆยังกะนักร้องลูกทุ่งให้ซื้อแผ่นเธอเยอะๆ เพราะเธออยากติดอันดับ 1 เหลือเกิน.... อ่านดูไม่น่าเชื่อว่านี่คือคนเดียวกับที่เคยเปิดหน้าอกโชว์หัวนมที่สามทางรายการโทรทัศน์! (มีคลิปใน youtube แต่ไม่อยากเอามาแปะ)


ดนตรีในชุดนี้ย้อนยุค แต่นี่คือเสียงจากไอคอนแห่งเจเนอเรชั่นนี้ครับ


Everyone's At It 4:19*** The Fear 3:27 ***Not Fair 3:21 ****22 3:05 ***I Could Say 4:03 ***Back To The Start 4:11 ****Never Gonna Happen 3:26 ****F-ck You 3:35 *****Who'd Have Known 3:48 ****Chinese 3:27 ***Him 3:15 ***He Wasn't There 2:52 ***