Wednesday 14 October 2009

Mark Knopfler: Get Lucky


Mark Knopfler-Get Lucky **** (2009)


ออกจำหน่าย – 14 กันยายน 2009
แนวดนตรี-บลูส์ร็อค คันทรี่ เคลติก
โปรดิวเซอร์- Mark Knopfler, Chuck Ainley, Guy Fletcher

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ กับคำถามถึงการกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง (reunion) ของวง Dire Straits มาร์คตอบอย่างสุภาพว่า เขารู้สึกพอใจกับการตัดสินใจยุติการทำงานของวงหลังจากปี 1995 แต่เมื่อผู้สัมภาษณ์คะยั้นคะยอต่อไปอีกว่านั่นหมายถึงการปฏิเสธเงินหลายล้านเหรียญที่เขาจะหามาได้สบายๆจากการทัวร์เล่นเพลงเก่าๆไม่กี่เดือนเชียวนะ มาร์คตอบว่า ทุกวันนี้เขามีความสุขดีกับการทำแผ่นเสียงให้ดีขึ้น เล่นดนตรีใหม่ๆในการแสดงสด และมีความสุขกับความหลากหลายที่เป็นผลพวงตามมา...

นั่นแปลว่าอย่างน้อยในช่วงเวลานี้ แฟนๆที่โหยหาการกลับมาของ Dire Straits ก็คงต้องรอคอยกันต่อไป...!

แต่แฟนเพลงที่เข้าใจโครงสร้างของ Dire Straits ย่อมทราบดีว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระที่จะคาดหวังกับการกลับมาของวงดนตรีวงนี้ เพราะเกือบทุกอย่างใน Dire Sraits ก็คือชายชื่อ มาร์ค นอฟเลอร์ เขาเป็นผู้กำหนดทิศทางของวง แต่งเพลงทั้งหมด ร้องนำ และแน่นอน...เล่นกีต้าร์ จะมีก็แต่ John Illsley มือเบสเท่านั้นที่พอจะมีบทบาทสำคัญในวงอยู่บ้าง (ทุกวันนี้เป็นที่รู้กันว่าจอห์นอยากให้รียูเนียนใจจะขาด!) เมื่อมาร์คยุบวงก็หมายความว่างานศิลปินเดี่ยวคือทิศทางที่เขาต้องการ เชื่อได้ว่าต่อให้ชื่อวง Dire Straits ยังคงอยู่ มาร์คก็คงจะต้องทำเพลงออกมาในแนวทางนี้ แต่เขาคงไม่อยากให้ชื่อของ Dire Straits มาเป็นอะไรที่ค้ำคออยู่ให้เขาทำงานใหม่ๆได้ไม่ถนัด จึงเป็นเหตุผลที่มาร์คไม่เคยคิดจะเดินย้อนรอยทางตัวเองกลับไป

มาร์ค นอฟเลอร์ ปีนี้อายุ 60 ปีแล้ว เขาสร้างชื่อเสียงมากับวง Dire Straits มาตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกในปี 1977 และประสบความสำเร็จสูงสุดกับ Brothers In Arms อัลบั้มในปี 1985 ที่มีเพลงฮิตสุดยอดอย่าง Money For Nothing….มันทำให้ผู้ชายหน้าผากกว้างและที่คาดศีรษะสีฉูดฉาดคนนี้กลายเป็นร็อคสตาร์ผู้ร้อนแรงที่สุดในวงการดนตรี แต่หลังจากนั้น Dire Straits ก็ออกงาน studio ออกมาอีกอัลบั้มเดียวคือ On Every Street ที่มีแนวทางซึมเซาไม่เหมือนกับ Brothers… ผู้คนยังไม่ทราบว่านั่นคือพิมพ์เขียวของงานเดี่ยวของมาร์คที่จะตามมา

หลังจากนั้นโลกก็รับรู้ว่ามาร์คกลายเป็นศิลปินเดี่ยวและนักทำซาวนด์แทร็คฝีมือดี โดยเริ่มจากอัลบั้ม Golden Heart ในปี 1996 ส่วนงานซาวนด์แทร็คนั้นมาร์คทำมาตั้งแต่ปี 1983 แล้วสำหรับหนังเรื่อง Local Hero ที่มี theme สุดไพเราะ ‘Going Home’

ต่อจาก Kill To Get Crimson เมื่อสองปีก่อน Get Lucky คืองานในนามศิลปินเดี่ยวลำดับที่ 6 ของมาร์ค ซึ่งเท่ากับจำนวน studio album ของ Dire Straits พอดี อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราควรจะทำใจได้แล้วกับการเป็นศิลปินเดี่ยวของเขา แม้ว่าในอดีตมาร์คกับ Dire Straits จะแทบเป็นสิ่งเดียวกันดังที่กล่าวมา แต่ดนตรีของเขาในนามศิลปินเดี่ยวก็แตกต่างออกไปจากของวง น้อยนักที่จะเราจะได้ยินจังหวะร็อคเข้มข้นรวดเร็ว,ท่อนริฟฟ์ของกีต้าร์อันเร้าใจ หรือการโซโลกีต้าร์ระดับเวิร์ลคลาสส์ แต่ดนตรีของมาร์คจะออกไปในแนวลุ่มลึกนิ่มนวล กลิ่นอายของดนตรีคันทรี่ เคลติก และบลูส์อ่อนๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นการบรรเลงประกอบคำบรรยายเนื้อเพลงของมาร์ค อดีตนักข่าวและบัณฑิตด้านภาษาผู้ที่มีเรื่องราวจะเล่าขานไม่ขาดสาย การที่อีกมุมหนึ่งของมาร์คเป็นนักทำสกอร์ประกอบภาพยนตร์นั้นเป็นข้อได้เปรียบของเขาที่ไม่ต้องไปจ้างใครมาเรียบเรียงเครื่องสายหรือออเคสตร้าให้บทเพลงของเขา ทั้งหมดนี้ทำให้บทเพลงของมาร์ค นอฟเลอร์ในยุค solo artist เป็นผลงานของ perfectionist ที่งดงามเรียบง่ายและเต็มไปด้วยรายละเอียดทางดนตรี แต่ฟังโดยผิวเผินไม่ตั้งใจหลายคนอาจจะรู้สึกง่วงเหงา และสงสัยว่าทำไมมาร์คไม่ลองขยับอะไรๆที่มันลื่นไหลอย่าง Sultans Of Swing หรือริฟฟ์โจ๊ะๆแบบ Money For Nothing ให้แฟนเก่าๆฟังกันหายคิดถึงบ้าง

ความโดดเด่นของที่ต่างจากงานเดี่ยวอื่นๆของมาร์คก็คือ Get Lucky มีแนวดนตรี Scottish และ Celtic อย่างเด่นชัด เสียงปี่สก็อตอบอวลไปทั่ว พรสวรรค์ในการเขียนเมโลดี้สวยๆของมาร์คยังไม่หายไปไหน สกอร์ออเคสตร้ามีบทบาทไม่แพ้กันเพียงแต่วาดฉากอยู่เบื้องหลังเงียบๆ เพลงอย่าง Border Reiver, Get Lucky, So Far From The Clyde, Piper To The End และ Before Gas & TV งดงามระดับ****ทุกเพลง โดยเฉพาะ Before Gas & TV ที่มีหลายอย่างในบทเพลงชวนให้คิดถึงบทเพลง Brothers In Arms ในทางดนตรี... (แต่เพื่อนๆหลายคนกลับคิดไปถึงเพลงของคาราวาน!) เนื้อหาเพลงนี้พูดถึงเรื่องราวในอดีตยามเด็กของเขา ก่อนที่มีจะมีโทรทัศน์และรถยนต์ พวกเขามีความสุขกันกับการเล่นกีต้าร์และพูดคุยกันรอบกองไฟ (ยุคนี้คงต้องเป็น Before PC and Internet) ไทเทิลแทร็ค Get Lucky ใครชอบเสียงไนล่อนกีต้าร์ของมาร์คคงถูกใจ เสียงบาริโทนของเขาในวัย 60 ประหนึ่งไวน์ที่บ่มได้ที่ Piper To The End ทำนองสุดยอด เนื้อหาเหมือนจะอำลาวงการ แถมเป็นเพลงสุดท้ายเสียอีก

มาร์คไม่ได้ใจร้ายเกินไปที่จะเล่นเพลงร็อค-บลูส์ที่หนักแน่นขึ้นมาหน่อยให้ฟังกันบ้างใน You Can’t Beat The House และ Cleaning My Gun การเล่นกีต้าร์ของมาร์คในทุกวันนี้ยังคงสำเนียงเฉพาะบุคคลที่เราคุ้นเคยและฝีมืออันเอกอุยังอยู่ครบครัน เพียงแต่เขาเล่นมันเพื่อประกอบบทเพลงเท่านั้นไม่ได้โดดเด่นออกนอกหน้าเหมือนในยุค Dire Straits

นี่คืออัลบั้มฟังสบายๆที่เหมาะแก่การฟังอย่างละเมียดค่อยๆดื่มด่ำทั้งทางด้านดนตรีและเนื้อหา แฟนๆที่ตามงานของมาร์คมาตลอดน่าจะไม่ผิดหวัง ส่วนผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับงานของเขาอาจจะเริ่มที่ชุดนี้ หรือ Sailing To Philadelphia ก็ไม่เลวครับ แต่สำหรับแฟนๆที่ยังยึดมั่นถือมั่นกับ Dire Straits…..

Tracklist:
1. "Border Reiver" – 4:35 2. "Hard Shoulder" – 4:33 3. "You Can't Beat the House" – 3:25 4. "Before Gas and TV" – 5:50 5. "Monteleone" – 3:39 6. "Cleaning My Gun" – 4:43 7. "The Car Was the One" – 3:55 8. "Remembrance Day" – 5:05 9. "Get Lucky" – 4:33 10. "So Far from the Clyde" – 5:58 11. "Piper to the End" – 5:47

Friday 25 September 2009

The Beatles In Mono


The Beatles In Mono: The Fab Four Director’s Cut


ถ้ากล่องสีขาวบริสุทธิ์ที่ห่อหุ้มซีดีบางๆ10แผ่นนี้ข้างในเป็นภาพยนตร์ ก็คงไม่ผิดอะไรที่จะเปรียบเปรยว่า The Beatles In Mono นี้เป็นฉบับที่ตัดต่อโดยตัวผู้กำกับเอง เพราะในยุค 60’s ที่เป็นรอยต่อของการบันทึกเสียงแบบ Stereo/Mono The Beatles มักจะใส่ใจใน mono mix เสมอมา จวบจนกระทั่งปี 1968 และในที่สุดพวกเขาก็เลิกสนใจทำ mono mix ไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่อัลบั้มซาวนด์แทร็ค Yellow Submarine ดังนั้นกล่อง The Beatles In Mono นี้จึงหยุดเวลาไว้ที่อัลบั้มสุดท้ายที่มีการทำ mono mix อย่างเป็นทางการ ‘The Beatles’ หรือที่มีชื่อเล่นที่ทุกคนรู้จักกันในนาม ‘The White Album’


กล่องนี้จึงเป็นการรวมเพลงทุกเพลงของ Beatles ที่ได้รับการผสมเสียงในแบบโมโน แต่ไม่ครบทุกเพลงทุกอัลบั้ม ถ้าท่านต้องการสะสมงานของพวกเขาในแบบครบครันโดยไม่สนใจเรื่องมิกซ์ว่าจะเป็นสเตอริโอหรือโมโนก็น่าจะควักตังค์ซื้อ “กล่องดำ” stereo box มากกว่า


แต่ถ้าท่านอยากศึกษาผลงานการบันทึกเสียงของ Beatles อย่างจริงจังและดูดดื่ม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้อง “ฟัง” ดนตรีในกล่องขาวนี้ เพราะมันมีแง่มุมและอารมณ์ที่แตกต่างจากสเตอริโอเวอร์ชั่นอยู่ไม่น้อย


แต่ขอขัดจังหวะในเรื่องของหีบห่อเสียก่อน


นักฟังรุ่นใหม่ๆอาจจะสนใจในเรื่องของหน้าปกแผ่นหรือแม้กระทั่งตัวซีดีเองน้อยลง แต่ในยุคของ Beatles สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและเป็นส่วนร่วมในตำนานของพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะที่ package ของสเตอริโอบอกซ์เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นออริจินัลและการดีไซน์ใหม่ๆที่เสริมเข้ามา แต่อาร์ทเวิร์คในกล่องโมโนนี้กลับเป็นการยึดมั่นกับอดีตอย่างซื่อตรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทุกอย่างของปกซีดีเป็นการถ่ายทอดจากปกแผ่นเสียงทุกกระเบียดนิ้ว ไล่ตั้งแต่โทนสีของหน้าปกที่ออกครึ้มๆไม่ฉูดฉาด ต่างจากสเตอริโออย่างเห็นได้ชัด (โดยเฉพาะ Sgt. Pepper’s) ปกหลัง,สันปก การพับกระดาษใน gatefold,ตัวโลโกกลางแผ่นเสียงที่กลายมาเป็น CD label หรือแม้กระทั่งซองกระดาษที่ใส่แผ่น อะไรที่เคยมีแถมใน White Album หรือ Pepper กล่องนี้ก็มีมาให้หมด


แน่ละ สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่มีผลอะไรกับดนตรีโดยตรง แต่การเสพดนตรีของมนุษย์นั้นซับซ้อนกว่าแค่การฟังอย่างเดียวโดยตัดปัจจัยต่างๆออกไปสิ้น สมองของปุถุชนคนเราไม่ฉลาดถึงขนาดนั้น!


นักฟังรุ่นใหม่ๆอาจจะไม่ได้ความรู้สึกถวิลหาอดีตกับการฟังกล่อง The Beatles In Mono นี้มากเท่ากับผู้ที่เติบโตมากับเสียงแบบนี้ (เท่าที่ได้คุยกับแฟนเพลงรุ่นใหญ่ที่เป็นชาวไทยท่านก็บอกว่าบ้านเรานิยม stereo มาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว ใครฟัง mono ถือว่าหลงยุค) รวมทั้งตัวผมเองด้วย


ผมเคยฟัง Beatles ในแบบโมโนมาพอสมควร จากสี่อัลบั้มแรกของพวกเขาที่ออกมาแบบโมโนตั้งแต่ปี 1987 และ EP Collection รวมทั้งการได้ฟังจากแผ่นเสียงเก่าๆในบางอัลบั้ม แต่นี่เป็นครั้งแรกที่จะได้ฟัง Beatles ในแบบที่พวกเขาอยากให้เราฟังแบบครบชุด


ทีมงาน “รีมาสเตอร์” ให้ข้อมูลว่าในการเตรียมมาสเตอร์ใหม่เพื่อทำกล่องโมโนนี้ พวกเขาแทบไม่ได้ไปดัดแปลงแก้ไขอะไรกับสุ้มเสียงเดิมๆในมาสเตอร์เทปเลย เรียกว่าคงความคลาสสิกเอาไว้ไม่ต่างอะไรจากที่เขาทำกับ artwork ในขณะที่ใน stereo box พวกทีมงานรีมาสเตอร์ได้เหยาะเครื่องปรุงเอาไว้ไม่น้อย

จึงไม่แปลกอะไรที่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว เสียงใน mono box จะบางเบากว่า stereo ที่ส่วนหนึ่งทำเพื่อเอาใจคนใน generation นี้ที่ต้องการความ “ดัง” และพลังของเสียง คุณจึงต้องเร่ง volume ของเครื่องเสียงคุณขึ้นอีกสักเล็กน้อยเมือฟังซีดีจากกล่องขาวนี้


แฟนๆเต่าทองทั่วโลกยังถกกันไม่เลิกแม้จะผ่านมา 40 กว่าปีแล้ว ว่าในแต่ละอัลบั้มเวอร์ชั่นโมโนหรือสเตอริโอเยี่ยมกว่ากัน ในสองอัลบั้มแรก Please Please Me และ With The Beatles พวกเขาบันทึกเสียงกันด้วยแค่เทป 2 แทร็ค ดังนั้นสเตอริโอเวอร์ชั่นของสองอัลบั้มนี้จึงฟังดูแปลกๆไม่เป็นสเตอริโอที่สมบูรณ์แบบ ผมชอบ mono ของ Please Please Me แต่ใน With the Beatles กลับฟังสนุกกว่าในแบบ stereo


A Hard Day’s Night น่าจะให้สุ้มเสียงที่ดีกว่านี้ใน stereo เท่าที่เคยฟังจากแผ่นเสียงเก่าๆ แต่ในรีมาสแตอร์นี้โมโนกลับน่าฟังกว่า Beatles For Sale นั้นยอดเยี่ยมในทั้งสองแบบ Help! Mono นั้นเสียงออกจะกระป๋องหน่อย แต่กลับได้อารมณ์ดิบๆมากกว่า และยังมี Yesterday ที่ใครได้ฟังแบบโมโนแล้วต้องติดใจทุกราย


ห้าอัลบั้มในครึ่งหลังถือเป็นช่วงที่พวกเขาเริ่มกลายเป็นเซียนในห้องอัดเต็มตัว ตั้งแต่Rubber Soul, Revolver, Sgt. Pepper’s, Magical Mystery Tour, White Album ทุกอัลบั้มให้ feel ที่แตกต่างไปจากสเตอริโอ รวมไปถึงความแตกต่างเล็กๆน้อยๆจนถึงมากๆในแต่ละเพลง ถ้าคุณเคยรักอัลบั้มเหล่านี้ในแบบ stereo นี่อาจจะไม่ต่างอะไรกับการได้ใกล้ชิดกับน้องสาวของคนที่คุณรัก...หน้าคล้ายๆกัน แต่มีเสน่ห์ไปคนละแบบ....!!!


การทำโมโนมิกซ์นั้นจะว่าง่ายก็ใช่ เพราะไม่ต้องคิดถึงการวาง image ของเสียงดนตรี แต่ก็จะมีความยากในการทำให้แต่ละเสียงโดดเด่นไม่ซ้อนทับกันจนฟังไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะเมื่อดนตรีมากชิ้นขึ้นอย่าง I Am The Walrus หรือ A Day In The Life แต่ George Martin และทีมงานของเขาก็ฝากผลงานไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่เสียดายก็คือ พวกเขาไม่ได้ทำอัลบั้ม “เพลงหงส์” Abbey Road ไว้ในแบบ mono กล่องนี้จึงเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป


สรุปว่าควรจะหามาฟังกันเป็นอย่างยิ่งครับ สำหรับผู้ที่รักดนตรีของ Beatles ในแบบมากกว่าแฟนเพลงทั่วไป (คือต้องบ้าขึ้นมาอีกระดับ) กล่องนี้ไม่มีการขายแยกแผ่น ถ้าจะซื้อก็ต้องยกกล่องกันอย่างเดียวครับ!

Thursday 17 September 2009

Arctic Monkeys ***-*-*-*-* Humbug


Arctic Monkeys-Humbug ****


แนวดนตรี-Post Punk, Alternative Rock, Psychedelic Rock
Producer: Josh Homme, James Ford* (เฉพาะเพลงที่ 4 และ 7)


Tracklist:

1. "My Propeller" 3:28
2. "Crying Lightning" 3:42
3. "Dangerous Animals" 3:24
4. "Secret Door"* 3:41
5. "Potion Approaching" 3:32
6. "Fire and the Thud" 3:50
7. "Cornerstone"* 3:17
8. "Dance Little Liar" 4:43
9. "Pretty Visitors" 3:40
10. "The Jeweller's Hands" 5:42


ออกจำหน่าย-สิงหาคม 2552




เผลอแว่บเดียว หนุ่มๆจากเชฟฟิลด์ (Alex Turner-vocal, guitar/Jamie Cook-guitar/Nick O’Malley-bass/Matt Helders-drums) กลุ่มนี้ก็เดินทางมาถึงอัลบั้มที่สามแล้ว พวกเขาคือวงดนตรีโพสต์พังค์-ป๊อบที่โดดเด่นที่สุดจากเกาะอังกฤษหลังจาก Franz Ferdinand อัลบั้มแรกของ The Monkeysในปี 2006 Whatever People Says I Am, That's What I'm Not นั้นอัดแน่นด้วยพลังและความสดใหม่ที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้อัลบั้มแรกของ Oasis หรือ The Stone Roses มันเป็นอัลบั้มที่ขายได้ "เร็ว" ที่สุดตลอดกาลในขณะนั้น (ก่อนที่จะถูกทำลายในปีต่อมาด้วยฝีมือของ Leona Lewis) ด้วยแนวคิดทางการตลาดที่หักล้างสูตรสำเร็จเก่าๆอย่างพลิกแผ่นดิน งานที่สอง Favourite Worst Nightmare ตามมาอย่างทันใจในปี 2007 หลายเพลงในนั้นทำขึ้นมาประหนึ่งเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาเล่นยังเล่นดนตรีให้แรงและเร็วกว่าเดิมได้อีก แต่ครึ่งหนึ่งของอัลบั้มก็เริ่มชี้ไปในแนวทางใหม่ที่ผ่อนคลาย,อ่อนโยน และหลอนเวิ้งว้าง....


Alex Turner นักร้องนำและนักแต่งเพลงผู้แทบจะเป็นทุกอย่างของวงร่วมมือกับเพื่อนร่วมวงการ Miles Kane จากวง The Rascals ทำงาน"คั่นเวลา"ออกมาในปี 2008 ในนามของ The Last Shadows Puppets (ที่อดคิดไม่ได้ว่ามันเหมือนจะเป็นงานเดี่ยวของเขากลายๆ) แต่มันเป็นงานที่สำคัญกว่าการเป็นแค่งานคั่นเวลาหรืองานอดิเรก โลกได้ฟังเทอร์เนอร์ในอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างจากความกราดเกรี้ยวของ Arctic Monkeys เขาและไมลส์ทำเพลงย้อนยุค-เล่นกับเครื่องสาย ดนตรีที่อิงได้กับซาวนด์แทร็คหนังคาวบอยอิตาเลียน และการร้องเพลงแบบ crooner มันได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์แทบจะถ้วนหน้า


และ Humbug ก็ควรจะถูกมองว่ามันเป็นการเดินทางของวงที่เป็นรอยบรรจบจาก The Last Shadows Puppets และ Favourite Worst Nightmare พวกเขาแทบจะไม่ใส่ใจกับความดุเดือดของพลังแบบพังค์ หรือการเล่นดนตรีด้วยความเร็วระดับ 150 BPM อย่างใน Brianstorm อีกต่อไป arctic monkeys หันไปทำงานร่วมกับ Josh Homme แห่ง Queens of the Stone Age ในฐานะโปรดิวเซอร์ และมันก็มีอิทธิพลของ Josh ในด้าน soundscape และ guitar soundให้ได้ยินกังวานไปทั่วใน Humbug แต่ไม่มากเกินไปจนทำให้มันกลายเป็น Prince of the stone age เพลงของพวกเขายังคงเป็นเพลงแบบ arctic monkeys ที่คมคาย แม่นยำ ดนตรีแน่นขนัดอันเต็มไปด้วยเมโลดี้ที่ไพเราะอย่างน่าประหลาด...อย่างที่ไม่มีใครจำผิดวง เพียงแต่คราวนี้พวกเขาสุขุมขึ้น หลากหลายและหลักแหลมขึ้น และไม่มีความเร่งร้อน...แทบไม่มี...เหลืออยู่


The Monkeys อาจจะเลือกเพลงอย่าง Pretty Visitors หรือ Potion Approaching ที่ยังมีดีเอ็นเอของความรีบเร่งและริฟฟ์ดุๆแบบสองอัลบั้มแรกมาเป็นเพลงเปิดหัว Humbug เพื่อสร้างความอุ่นใจให้แฟนๆก็ได้ แต่พวกเขาไม่ทำ พวกเขากลับเลือกที่จะนำเสนอแนวทางใหม่โดยพลัน และนับเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเปิดอัลบั้มด้วยเพลงค่อนข้างช้าอย่าง My Propeller อิทธิพลของ Josh ได้ยินชัดมาตั้งแต่หัววัน จังหวะหนักแน่น กีต้าร์ก้องกังวานอยู่ห่างๆ เสียงร้องของเทอร์เนอร์ขรึมลึกล่องลอย ก่อนที่พวกเขาจะกลับมาร้องด้วยเสียงร้องแบบที่เราคุ้นเคยราวกับว่ากลัวแฟนเพลงจำไม่ได้ในนาทีสุดท้าย Crying Lightning ซิงเกิ้ลแรก แม้จะเป็นเพลงป๊อบที่ออกจะประหลาดๆ แต่เมื่อกรอกหูไปไม่กี่รอบคุณก็ไม่อาจหนีมันพ้น พวกเขาร็อคกันหนักขึ้นด้วย Dangerous Animals นี่สิ Arctic Monkeys! เพลงๆเดียวแต่ใส่อะไรต่อมิอะไรเข้ามาอลหม่านไปหมดตั้งแต่อินโทรอะแคปเปลลาหลอนๆ ท่อนสร้อยที่ร้องชื่อเพลงทีละตัวอักษรแบบเชยๆแต่กลับฟังเข้าท่า และเนื้อหาแบบ S&M! Secret Door และ Fire And The Thud เลิกดุดันชั่วคราว มันเป็นความหวานหลอนที่ชวนให้นึกถึง Last Shadow Puppets Cornerstone อาจจะเป็นเพลงรักแท้ๆเพลงเดียวในอัลบั้ม เรื่องราวของผู้ชายที่ตามหาคนรักที่หายไป แต่เจอแต่คนคล้ายๆ และทุกครั้งเขาจะถามหล่อนเหล่านั้นว่า จะให้เขาเรียกเธอด้วยชื่อของแฟนเก่าเขาได้ไหม? Dance Little Liar เทอร์เนอร์ร้องด้วยพลังของคนใกล้หมดสติจากยาสลบขณะที่วิญญาณ John Bonhamเข้าสิงน้องแมทท์ของเราเต็มตัว แทร็คเดียวที่อารมณ์ของเพลงถูกสร้างขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจนถึงไคลแมกซ์ Monkeys ปิดอัลบั้มยาว 39 นาทีนี้ด้วยเพลงยาวเกือบ 6 นาที The Jeweller’s Hand


แฟนเพลงที่ยังหวังว่าพวกเขาจะยังเล่นเพลงพังค์ป๊อบร็อคผสมริฟฟ์เท่ๆถล่มทลายกันด้วยพลังคนหนุ่มเหมือนสองอัลบั้มแรกก็เป็นอันต้องผิดหวังอย่างไม่ต้องสงสัย นี่คือการเติบโตของวงอย่างแกร่งกล้าที่เสียงไม่น้อยกับการสูญเสียแฟนเก่า มันเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการฟังมากกว่าสามสี่รอบขึ้นไป ด้วยรายละเอียดของดนตรีที่มากมายและทางเดินของการประพันธ์ที่ซ้อนซับและซ่อนเงื่อนงำเรียงรายไว้ตามรายทาง อเล็กซ์ เทอร์เนอร์ยกระดับการเขียนเนื้อเพลงของเขาไปอีกขั้นหนึ่งที่เล่นกับการใช้สัญลักษณ์และการสร้างฉากในบทเพลง อีกทั้งหลายเพลงยังเต็มไปด้วยความมืดหม่นของบรรยากาศฟิล์มนัวร์และความคุกรุ่นในกามวิสัยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันก็ยังมีการใช้คำง่ายๆและกินใจอย่างใน Cornerstone หรือประโยคทีเด็ดอย่าง "What came first, the chicken or the dickhead?" ใน Pretty Visitors ฝีมือกลองของ Matt Helders ยังคงเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่ควบคู่ไปกับเสียงร้องของอเล็กซ์ แมทท์มีอะไรหลายอย่างที่ชวนให้คิดถึง John Bonham และ Keith Moonแม้โครงสร้างดนตรีจะไม่เปิดโอกาสให้เขาโชว์ได้มากนัก และฝีมือกีต้าร์ของ Jamie Cook ก็พัฒนาไปอีกขึ้นทั้งในแง่เทคนิคฝีมือและแนวคิดในการใช้เสียงจากกีต้าร์ของเขาเพื่ออารมณ์ของบทเพลง


ผลงานนี้ได้พิสูจน์ว่าการตัดสินใจใช้บริการของ Josh Homme เป็นความคิดที่ถูกต้อง นี่เป็นก้าวที่ไกลที่สุดนับจากพวกเขาออกอัลบั้มแรกมา ถ้าท่านยังไม่เคยฟังงานของพวกเขามาก่อนจะเริ่มจาก Humbug นี้ก็ไม่น่าจะผิดหวังอะไร แต่ถ้าจะให้สนุกก็น่าจะตามเก็บกันตั้งแต่อัลบั้มแรก คงไม่เกินเลยเกินไปถ้าจะบอกว่าแค่ถึงตอนนี้พวกเขาก็กลายเป็นตำนานหนึ่งของ British Rock แล้วครับ

Monday 20 July 2009

Michael Jackson The Stripped Mixes


ดูจากวันออกจำหน่ายของซีดีชุดนี้คงจะไม่ต้องอธิบายกันมาก - 7 ก.ค. 2009


โมทาวน์ทำงานชิ้นนี้ออกมาเพื่อตักตวงผลประโยชน์จากความตายของไมเคิลอย่างไม่ต้องมีความเขินอายใดๆกันแล้ว ปกติฝรั่งเค้าจะค่อนข้างถือเรื่องนี้นะ ยังไงก็ควรจะทิ้งช่วงนานกว่านี้สักหน่อย หรือว่ายุคสมัยนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว คงไม่มีใครมาถือสาเรื่องกาละเทศะหรือมารยาท-รสนิยมอะไร ขืนออกเดือนหน้าคนก็อาจจะลืมไมเคิลไปหมดแล้ว
อัลบั้มนี้มี 11 เพลง ล้วนเป็นเพลงเก่าที่ไมเคิลร้องไว้ในงานเดี่ยวหรือกับพี่ๆวง Jackson 5 สมัยเขายังอยู่กับโมทาวน์ แต่ความ"พิเศษ"ของมันก็คือ แต่ละเพลงจะมิกซ์ดนตรีมาไม่ครบและกดเสียงดนตรีให้เบาบาง ขับเสีัยงร้องของไมเคิลและพี่ๆให้โดดเด่นชัดเจนขึ้น มันหากินกันง่ายๆอย่างนี้เองนะเนี่ย


เฮ้อ แต่ถึงจะเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่า 11 เพลงในเวอร์ชั่นเปลื้องผ้านี้ มันสุดแสนจะไพเราะจริงๆ Ben และ I'll Be There ราวกับจะเป็น unplugged version ส่วน I Want You Back ก็เพลิดเพลินไปกับการร้องของไมเคิลและพี่ๆที่ตั้งใจและละเอียดมากๆกับทุกโน้ต เพลงที่ไม่ดังนักอย่าง We Got A Good Thing Going หรือ With A Child's Heart ก็หวานซึ้งตรึงใจ ส่วน Who's Loving You นั้น...ตายไปเลยกับการขับร้องแบบหยุดหัวใจผู้ฟังของไมเคิล


น่าเสียดายที่ยุคหลังๆของไมเคิล น้อยครั้งนักที่เขาจะโชว์เสียงร้องจับใจอย่างนี้.... สรุปว่านี่เป็นอัลบั้มที่ชุบมือเปิบอย่างหน้าตาเฉยไปหน่อย แต่คุณค่าของดนตรีก็คุ้มค่าครับ ซื้อๆเขาหน่อยเถอะครับ โมทาวน์ไม่ได้มีงานขายดิบขายดีอะไรมานานแล้ว.....


ฟังพรีวิวได้ที่ http://www.amazon.com/The-Stripped-Mixes/dp/B002GF37GG

Monday 13 July 2009

KING OF POP

MICHAEL
The Greatest Entertainer Who Ever Lived

“ผมพบเขาครั้งแรกตอนเขาอายุ 12 ขวบ ไมเคิลเป็นเหมือนน้องคนเล็กของผม เขามีเวทมนตร์ทั้งปวงในตัวเขา ไมเคิลมีพลังในการเชื่อมต่อกับสิ่งอัศจรรย์เหล่านั้น มันเหมือนกับมีเทียนที่กำลังลุกโชนอยู่ในวิญญาณของคุณ เขาเป็นบุคคลที่มีความซับซ้อนในตัวตนอย่างยิ่ง แต่ผมไม่เคยพบศิลปินคนไหนที่ไม่เป็นเช่นนั้น ผมยังไม่เคยเจอสักคน ศิลปินที่ปรับตัวเองได้เป็นอย่างดี : นั่นเป็นคำที่ไปด้วยกันไม่ได้เลย”

-ควินซี่ โจนส์ ,โปรดิวเซอร์ Off The Wall, Thriller และ Bad


King of POP




There’s Elvis, there’s Beatles and there’s MJ.

นั่นคือคำอธิบายที่สั้นที่สุดที่ผมพอจะคิดได้สำหรับความยิ่งใหญ่ของ Michael Jackson ไม่นึกไม่ฝันเลยว่าจะต้องมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับความตายของเขาใน Around Music ฉบับนี้ เล่มที่แล้วยังเขียนถึงเขาอยู่เลยด้วยความเป็นห่วงไยว่าแกจะไหวหรือเปล่า กับคอนเสิร์ตใหญ่ 50 รอบ และสังขารขนาดนั้น และไมเคิลก็ไม่ได้อยู่พิสูจน์ด้วยซ้ำว่าเขาจะไหวหรือไม่

การจากไปของไมเคิลอาจจะไม่มีผลกระทบต่อวงการดนตรีอะไรนัก เพราะเขาก็แทบจะไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมานับสิบปีแล้ว แต่ถ้าคุณสงสัยถึงความยิ่งใหญ่ของเขา ลองมองไปรอบๆและหา King Of Pop คนต่อไปให้ผมหน่อยเถิด ชายหนุ่มผู้มีความสามารถและพรสวรรค์ตั้งแต่วัยเยาว์ เสียงร้องที่เลอเลิศ การเต้นที่สามารถหยุดหัวใจคนทั้งโลก และผลงานดนตรีที่เข้าถึงได้ทุกซอกทุกมุมของจิตใจมนุษย์ทุกหมู่เหล่า อย่าแปลกใจที่คุณไม่อาจหาได้ ผมพยายามแล้ว และพบว่า มันไม่มี มันจะไม่มี King Of Pop อีกต่อไป ฉายานี้ไม่ว่าเขาจะตั้งให้ตัวเองหรือไม่ แต่มันก็ได้ติดตัวเขาไปสู่สรวงสวรรค์แล้ว

ไมเคิลมีช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนาน เพราะเขาออกผลงานชิ้นแรกตั้งแต่อายุแค่ 10 ขวบกับพี่น้องแจ็กสันจวบจนอัลบั้มสุดท้ายที่ค่อนข้างจะล้มเหลว Invincible ในปี 2001 ถ้าชีวิตเขาเป็นกราฟ มันก็คงจะพุ่งขึ้นๆตั้งแต่ปี 1968 และเริ่มปักหัวลงในยุค 90’s แฟนๆทุกคนตั้งความหวังไว้ว่าคอนเสิร์ตใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในเดือนก.ค.นี้จะเป็นการกลับมาอีกครั้งของเขา ผมยังจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน ได้เขียนรีวิว DVD ‘68 Comeback Special ของ Elvis Presley ยังเปรียบเทียบสถานการณ์ไว้เลยว่าการกลับมาดังของเอลวิสตอนนั้น มันยากเข็ญยิ่งพอๆกับการกลับมาของไมเคิล แต่เขาก็เกือบทำได้ มีคลิปสั้นๆและรูป3-4รูปจากการซ้อมของเขาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตแค่ 2 วัน ที่ใครดูแล้วก็ต้องบอกว่าน่าเสียดายจริงๆ เพราะดูไมเคิลมีความสุขและพร้อมที่จะกลับมายิ่งใหญ่

ขณะที่เขียนอยู่นี้ก็ยังไม่มีการสรุปแน่ชัดว่าไมเคิลเสียชีวิตจากการฆาตกรรมหรือการได้รับยาเกินขนาด แต่มันก็อาจจะไม่สลักสำคัญเท่าใดนัก อย่างไรเขาก็จากไปแล้ว ทิ้งไว้แต่ผลงานมากมายทั้งการบันทึกเสียงและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งงดงาม น่าทึ่ง จนไปถึงน่าอึ้ง แต่นั่นก็คือชีวิตที่หลากหลายของบุรุษผู้หนึ่ง ที่คุณไม่อาจคาดหวังอะไรที่ธรรมดาๆจากเขา

ในงาน memorial ของเขาที่ Staple Center ,L.A. Berry Gordy ผู้ก่อตั้งโมทาวน์และเป็นผู้เซ็นสัญญาไมเคิลกับพี่ๆเป็นคนแรก ได้กล่าวประโยคที่ทำให้โลกต้องตะลึงไว้ว่า “สำหรับไมเคิล คำว่า king of pop มันดูจะน้อยเกินไป อย่างเขานั้น ผมอยากจะเรียกว่า เขาเป็น... the greatest entertainer who ever lived…”

และนี่คือบทสรุปของชีวิต 50 ปีของเขา อ่านแล้วก็ตัดสินใจกันเองนะครับว่าเขาคู่ควรกับฉายาไหนดี
(ข้อมูลจาก Time Magazine)

1958 ไมเคิล แจ็กสันเกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 1958 ที่ Gary, Inde. เขาเป็นลูกคนที่ 7 ของพี่น้องทั้งหมด 9 คน
1966 ไมเคิล รับตำแหน่งนักร้องนำของวง The Jackson 5 ตั้งแต่อายุแค่ 8 ขวบ เดิมตำแหน่งนี้เป็นของ Jermaine สมาชิกคนอื่นๆคือ Marlon, Jackie และ Tito
1967 The Jackson 5 ชนะการประกวด amateur-night contest ที่ Apollo Theater
1968 วงออกซิงเกิ้ลแรก ‘Big Boy’ ในสังกัด Steeltown
The Jackson 5 ผ่านการ audition ของ Motown ซึ่งต่อมาพวกเขาได้ออกอัลบั้มในสังกัดนี้อีกมากกว่าครึ่งโหล
1969
เด็กๆย้ายไปอยู่แคลิฟอร์เนีย และได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยการแสดงที่ the Daisy ไนท์คลับในเบเวอรี่ฮิลล์ และหลายวันต่อมาพวกเขาก็เล่นเป็นวงเปิดให้ The Supremes
The Jackson 5 แสดงครั้งแรกในรายการ Ed Sullivan Show
The Jackson 5 ออกอัลบั้มแรก Diana Ross Presents The Jackson 5 ขึ้นถึงอันดับ 5 แต่ซิงเกิ้ล I Want You Back ที่ร้องนำโดยหนูน้อยไมเคิลวัย 11 ขวบทะยานขึ้นสู่อันดับ 1
1970 3 ซิงเกิ้ลต่อมาของ The Jackson 5 คือ ABC, The Love You Save และ I’ll Be There ขึ้นถึงอันดับ 1 ทั้งหมด ไม่เคยมีศิลปินใดทำได้เช่นนี้มาก่อน
1971 ไมเคิลออกซิงเกิ้ลในฐานะศิลปินเดี่ยวเป็นครั้งแรก Got To Be There ไปได้ถึงอันดับ 4 และออกอัลบั้มชื่อเดียวกันนี้ในปีต่อมา ขึ้นถึงอันดับ 14
1972 ไมเคิลวัย 14 มีซิงเกิ้ลอันดับ 1 เพลงแรกในเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหนูที่มีพลังจิต ‘Ben’
1976
พี่น้องแจ็กสันออกจาโมทาวน์สู่อ้อมกอดของ CBS records และถูกบีบให้เปลี่ยนชื่อวงเป็น The Jacksons
เปิดตัวรายการทีวี The Jacksons ทาง CBS เวลาเดียวกันนี้ แรนดี้ น้องคนสุดท้องเข้ามาแทนที่เจอร์เมน
1978 ไมเคิลแสดงหนังเรื่อง The Wiz โดยรับบทเป็นหุ่นไล่กา หนังไม่ประสบความสำเร็จ แต่มันก็ทำให้ไมเคิลได้พบกับ ควินซี่ โจนส์ในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้
1979
ไมเคิลประสบอุบัติเหตุดั้งจมูกหัก ระหว่างการซ้อมเต้น นี่อาจเป็นการเริ่มต้นของการทำศัลยกรรมที่จะตามมาอีกมากในอนาคต
Off The Wall ออกจำหน่าย อัลบั้มนี้ขายไปได้มากกว่า 20 ล้านชุด มันเป็นหนี่งในสามอัลบั้มที่เขาทำงานกับ ควินซี่ โจนส์ และมีเพลงท็อปเทนถึงสี่เพลง ถือเป็นการเปิดศักราชการทำงานเดี่ยวของไมเคิลอย่างแท้จริง
1980
ไมเคิลได้รับรางวัลแกรมมี่ตัวแรก Best R&B Male Vocal Performance ในเพลง Don’t Stop ‘Till You Get Enough แต่ไมเคิลไม่พอใจที่อัลบั้มไม่ได้รางวัลอะไรเลย
อัลบั้ม Triumph ของ The Jacksons ได้รางวัลแผ่นเสียงทองคำขาว
1982
ไมเคิลโปรดิวซ์เพลง Muscles ให้ไดอาน่า รอสส์ ไปได้ถึงอันดับ 10 ในชาร์ต
ไมเคิลให้เสียงบรรยายและร้องเพลงใน E.T. The Extra-Terrestrial storybook album มันได้รับรางวัลแกรมมี่ในปี 1984 ในสาขา Best Recording for Children
ออกอัลบั้ม Thriller ขายได้มากกว่า 104 ล้านชุด อยู่ในอันดับ 1 37 สัปดาห์ มีเพลงอันดับ 1 สองเพลง และเจ็ดเพลงเป็นท็อปเทน จากโพลล์ของ MTV เร็วๆนี้ มันคือ “อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล”

1983
· Billie Jean ซิงเกิ้ลที่สองจาก Thriller moonwalk ขึ้นสู่อันดับ 1 ด้วยเสียงร้องไมเคิลที่มาจากการบันทึกเสียงอันน่ามหัศจรรย์เพียงเทคเดียว มันอยู่ในอันดับ 1 ถึง 7 สัปดาห์
· เปิดตัวมิวสิกวิดีโอ Beat It ทาง MTV ทำให้ไมเคิลเป็นศิลปินอาฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่มีผลงานออกทางช่องนี้
· ไมเคิล moonwalk เป็นครั้งแรกที่งานฉลองครบรอบ 25 ปีโมทาวน์ ผู้ชมแทบคลั่งเมื่อเห็นเขาเคลื่อนตัวถอยหลังราวกับไร้น้ำหนักจากฝั่งถึงอีกฝั่งเวทีในขณะร้องเพลง Billie Jean วันนั้นเขาใส่ถุงมือสีขาวฝังเพชร-ข้างเดียว
· MTV ฉาย Thriller mini-movie ยาว 14 นาที มันเป็นมิวสิกวิดีโอที่แพงที่สุดในขณะนั้น
1984
· กินเนสส์บุ๊คบันทึกไว้ว่า Thriller เป็น อัลบั้มของศิลปินเดี่ยวที่ขายดีที่สุดตลอดกาล
· ไมเคิลประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ศีรษะด้วยความรุนแรงระดับสองและสามขณะถ่ายทำโฆษณาเป๊บซี่ในแอลเอ
· ไมเคิลหอบแกรมมี่กลับบ้านแปดตัว Beat It ได้ Record of the Year ขณะที่ Thriller เป็น Best album
· The Jacksons เริ่มออกทัวร์ในชื่อ Victory Tour ในแคนซัสซิตี้ นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ไมเคิลทัวร์กับพี่น้อง
1985
· ไมเคิลบันทึกเสียงร่วมกับศิลปินดังหลากหลายแห่งยุค 80’s ในเพลง We Are The World ที่เขาแต่งร่วมกับ Lionel Richie เพื่อองค์กรการกุศล USA for Africa มันขายไปได้ 7 ล้านชุด
· ไมเคิลซื้อลิขสิทธิ์เพลงของ ATV Music ซึ่งในนั้นมีเพลงของ Beatles รวมอยู่ด้วย ในราคา 47.5 ล้านเหรียญ
1986
· ไมเคิลต่อสัญญากับเป๊บซี่เป็นเงิน 15 ล้านเหรียญในช่วงเวลาสามปี
· เปิดฉายหนังสามมิติ Captain EO ที่ไมเคิลนำแสดง จากการกำกับของ Francis Ford Coppola ที่ Disney’s Epcot Center ในฟลอริดา ฉายจนถึงปี 1994
1987
ออกอัลบั้ม Bad ขายไปได้ 32 ล้านชุด ได้รางวัลแผ่นเสียงทองคำหลายแผ่น และเป็นอัลบั้มเดียวที่มีเพลงอันดับ 1 ถึงห้าเพลง
1988
ไมเคิลซื้อทุ่งกว้าง 2,700 เอเคอร์ใกล้กับ Santa Ynez แคลิฟอร์เนียในราคา 17 ล้านเหรียญ และตั้งชื่อมันว่า Neverland ตามการ์ตูนเรื่อง Peter Pan เขาสร้างสนามเด็กเล่นในนั้นและเลี้ยงสัตว์แปลกๆอย่าง งูpythons และแมงมุม tarantulas
1991
· ไมเคิลเซ็นสัญญาประวัติการณ์กับโซนี่เป็นเงิน 65 ล้านเหรียญสำหรับ MJ label, ภาพยนตร์ และอัลบั้ม 6 ชุด คาดกันว่าสัญญานี้จะสร้างเงินได้ถึง 1 พันล้านเหรียญ
· Elizabeth Taylor แต่งงานกับสามีคนที่ 7 Larry Fortensky ที่ Neverland
· Dangerous ออกวางแผง ขายได้ประมาณ 30 ล้านชุด พร้อมกับวิดีโอ Black or White ที่สร้างความฮือฮาในเนื้อหาที่รุนแรงและมีนัยทางเพศ
1993
· ไมเคิลพูดในการให้สัมภาษณ์ออกรายการของ Oprah Winfrey ว่าที่สีผิวของเขาขาวขึ้นๆไม่ได้เกิดจากการตั้งใจฟอกสี แต่เป็นเพราะเขามีความผิดปกติทาง เซลล์สร้างสีผิว
· ได้รับรางวัล Grammy’s Legend award
· แสดงช่วงพักครึ่งเวลา Super Bowl ที่ Rose Bowl Stadium
· ครอบครัวของเด็กที่เคยอยู่ที่ Neverland ฟ้องศาลว่าไมเคิลล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ไมเคิลตัดตอนทัวร์ Dangerous ของเขาและออกทีวีปฏิเสธ คดีนี้ตกลงกันนอกศาลและคาดว่าไมเคิลต้องจ่ายถึง 20 ล้านเหรียญ
1994
แต่งงานกับ Lisa Marie Presley ลูกสาวคนเดียวของ Elvis ทั้งคุ่หย่ากันในเดือนมกราคม 1996
1995
· ออกอัลบั้ ม History: Past, Present and Future---Book 1 ขายไปได้ประมาณ 20 ล้านชุด
· เข้าโรงพยาบาลในนิวยอร์คหลังจากหมดสติระหว่างซ้อมเพื่อรายการพิเศษทางเคเบิลทีวี
1996
แต่งงานกับนางพยาบาลชื่อ Debbie Rowe ไม่เคยอยู่ด้วยกัน แต่มีลูกสองคน หย่าร้างไปในปี 1999
1997
· กำเนิดลูกชายคนแรก Michael Joseph Jackson Jr. หรืออีกชื่อว่า Prince Michael
· The Jackson 5 ได้รับการเสนอชื่อเข้า The Rock and Roll Hall of Fame
1998
กำเนิดลูกสาว Paris Michael Katherine Jackson
2001
· ไมเคิลเข้าสู่ Rock and Roll Hall of Fame ในฐานะศิลปินเดี่ยว
· ออกอัลบั้ม Invincible ขายไปได้ 10 ล้านชุด
2002
· กำเนิดลูกคนที่สาม Prince Michael Jackson II (ชื่อเล่น ‘Blanket’) จากแม่อุ้มบุญที่ไม่มีใครทราบว่าเป็นใคร และไมเคิลเองก็บอกว่าเขาไม่เคยพบตัว
· ไมเคิลถูกฟ้องจากอดีตผู้ให้คำแนะนำทางการเงินเป็นเงิน 12 ล้านเหรียญด้วยข้อหาที่ไม่จ่ายค่าจ้าง คดีถูกตกลงกันนอกศาลอีกครั้ง
· ไมเคิลสร้างความอื้อฉาวด้วยการอุ้ม Blanket มาที่ระเบียงโรงแรมในเบอร์ลินเพื่ออวดแฟนๆอย่างน่าหวาดเสียว
2003
· ไมเคิลเปิดเผยในรายการทีวี Living with Michael Jackson ว่าเขาเคยชวนเด็กๆมาค้างคืนที่เนเวอร์แลนด์ โดยนอนบนเตียงเขา แต่ไม่มีอะไรทางเพศเกิดขึ้น แค่ให้นมร้อนๆและคุ๊กกี้เท่านั้น
· ถูกฟ้องว่าล่วงละเมิดเด็ก 12 ขวบที่ป่วยเป็นมะเร็ง คดีจะตัดสินในเดือนมกราคม 2005
2004
มีรายงานว่าไมเคิลไม่อาจจ่ายหนี้ที่ยืมมาจาก Bank Of America เป็นจำนวนเงิน 70 ล้านเหรียญ
2005
ไมเคิลรอดพ้นทุกข้อกล่าวหาคดีล่วงละเมิดเด็ก หลังจากการตัดสิน ไมเคิลหายตัวไปและไปโผล่อีกทีที่บาห์เรน
2008
· ไมเคิลถูกยึดกรรมสิทธิ์ Neverland หลังค้างหนี้ชำระ 24.5 ล้านเหรียญ
· เชื้อพระวงศ์บาห์เรนที่ให้ที่อยู่แก่ไมเคิลหลังคดีละเมิดเด็กฟ้องไมเคิล 7 ล้านเหรียญฐานผิดสัญญาที่ตกลงกันไว้ คดีนี้ก็ตกลงกันนอกศาลอย่างรวดเร็วเช่นเคย
2009
· ประกาศการออกคอนเสิร์ตอำลา ‘final curtain call’ ที่ O2 ในลอนดอน ตั๋ว 750,000 ใบหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
· เสียชีวิตในลอสแอนเจอลิส ในวันที่ 25 มิถุนายน


10 Things you may not know about Michael

ในเพลง Man in the Mirror ใน Concert DVD – Live in Bucharest คุณสามารถที่จะได้ฟังท่อนที่เพิ่มเติมขึ้นมาในช่วงตอนจบ “Stand up for your brother, stand up for your sister”, “Run home and tell your mother, run home and tell your sister…”
และใน DVD ชุดนี้เช่นกันที่คุณจะได้ยินท่อนเพิ่มเติมในเพลง Billie Jean “she loves the city life”
ในเพลง Smooth Criminal จากภาพยนต์เรื่อง Moonwalk จะมีท่อน verse และท่อนดนตรี เพิ่มเติมที่ไม่ได้อยู่ในอัลบั้มเวอร์ชั่นใน Bad
เพลง You’re not Alone เพลงแรกในประวัติ์ศาตร์ Billboard ที่ขึ้นไปถึงอันดับหนึ่งในสัปดาห์แรกที่ออกจำหน่าย
อัลบั้ม Thriller เป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในโลก สำหรับในสหรัฐอเมริกา มันเคยเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดจนเมื่ออัลบั้มรวมฮิตของ The Eagles เบียดมันตกลงมา
ท่าหุ่นยนต์เป็นท่าที่ไมเคิ่ลเต้นออกทีวีครั้งแรกในเพลง Dancing Machine ในรายการ Soul Train ในปี 1974
เพลง We are here to Change the World ในหนังสามมิติเรื่อง Caption EO สามารถหาฟังได้ใน The Ultimate Collection และ King of Pop ซีดี
ในตอนที่อัลบั้ม Dangerous ออกวางขาย มีกลุ่มคนร้ายพร้อมอาวุธบุกเข้าไปขโมยซีดี 30,000 ชุดที่สนามบินแห่งนานาชาติใน Los Angeles
เพลง This Place Hotel ของวง The Jacksons จากอัลบั้มต้องถูกเปลี่ยนชื่อ ซึ่งในตอนแรกเพลงนี้มีชื่อว่า “Heartbreak Hotel” ซึ่งไปซ้ำกับเพลงของ เอลวิส เพรสลี่ย์
เพลง “What More Can I Give แต่งโดยไมเคิ่ล มีแผนในการออกจำหน่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ที่ตึกเวิร์ดเทรดถล่ม โดยมีศิลปินชื่อดังมาร่วมร้องด้วยกว่า 30 ชีวิต อย่าง Usher, Mariah Carey และ Celine Dion แต่โดยตอนหลังก็มีปัญหาและไม่ได้อออกวางจำหน่ายอย่างที่ตั้งใจไว้

King of POP

Sunday 12 July 2009

Michael Jackson THRILLER *****


Michael Jackson-Thriller (1982) *****


Producer-Michael Jackson, Quincy JonesGenre-Pop, Funk ,Soul ,R&B , Disco, Light Rock

ครั้งสุดท้ายที่ผมตรวจสอบดู มีการเขียนรีวิวถึงอัลบั้ม Thriller ของไมเคิล แจ็กสันนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 15 ล้านครั้ง นี่นับเฉพาะที่ Google ค้นหาในโลกไซเบอร์ ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะมันออกจำหน่ายมา 27 ปีแล้ว และมันก็เป็นอัลบั้มที่....ขายดีที่สุดในโลก


แล้ว...ยังจะมีอะไรให้เขียนถึงอีกหรือ ที่ผู้รีวิวท่านอื่นไม่ได้กล่าวถึงไปแล้ว อาจจะไม่มีอีกแล้ว มันน่าจะเป็นอัลบั้มที่ถูกชำแหละออกมาแล้วทุกแง่ทุกมุมตั้งแต่ดนตรี,เนื้อหา,เบื้องหลัง และความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามผมก็ยังอยากเขียนถึงมันอีกครั้ง ในแง่มุมมองของผม หลังจากไมเคิลเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝันเพียงไม่กี่สัปดาห์ เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาเป็นครั้งสุดท้าย


เพราะนี่คือผลงานชิ้นเอกที่ไมเคิลมอบไว้ให้แก่มนุษยชาติ นื่คือสิ่งที่พวกเราควรจดจำมากกว่าท่าเต้นสารพัด (ที่ล้วนแล้วแต่มหัศจรรย์) หรือข่าวอื้อฉาวทั้งปวง (ที่ก็มหัศจรรย์ไม่แพ้กัน) ถ้าไมเคิลไม่ได้ทำอะไรอีกแล้วหลังจาก Thriller ผมก็ยังคิดว่าเขาคู่ควรกับฉายา ราชาแห่งเพลงป๊อบอยู่ดี


ครั้งแรกที่ผมได้ฟัง Thriller ก็น่าจะเป็นเย็นวันหนึ่งในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ จากเทปคาสเซ็ตต์ (ปิศาจ) ที่ซื้อมาจากแผงเทปที่ไหนสักแห่ง ก็เหมือนกับอัลบั้มพิเศษทุกอัลบั้มที่คุณยังจำได้ดีถึงครั้งแรกที่ได้ยินมัน แม้ว่าใครๆก็ว่านี่เป็นงานที่เอาใจตลาดแบบออกนอกหน้า แต่สำหรับผมในตอนนั้นก็ไม่คิดว่ามันเป็นงานตลาดอะไร หลายเพลงฟังไม่เข้าหู หลายเพลงออกจะน่าเบื่อ จะมีก็แต่ Beat It, Billie Jean และ The Girl Is Mine เท่านั้นที่ชนะใจผมได้แทบจะทันที แต่เมื่อให้เวลากับมัน ความยอดเยี่ยมของทั้งเก้าแทร็คก็ค่อยๆคลี่คลายให้โสตสดับ และดูเหมือนจะไม่มีการหยุดหย่อนที่จะปล่อยกัมมันตรังสีอันน่าพิศวงออกมาไม่จบสิ้น


ไม่มีใครคิดหรอกครับตอนนั้น ว่ามันจะกลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในโลก คุณภาพของดนตรีในทั้ง 9 เพลงย่อมเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มันขายดีและขายได้ยาวนานขนาดนั้น แต่การวางแผนทางการตลาด และมิวสิกวิดีโอที่ยอดเยี่ยมก็ย่อมมีส่วน และเราต้องไม่ลืมท่าเต้น Moonwalk ในเพลง Billie Jean ที่ไมเคิลเปิดตัวท่าแดนซ์ที่ระบือโลกที่สุดตลอดกาลนี้บนเวทีในงานฉลองครบรอบ 25 ปีของโมทาวน์


อัลบั้มก่อนหน้านี้ของไมเคิล Off The Wall ได้รับคำยกย่องและยอดขายในแบบที่ใครๆก็ต้องชื่นใจ แต่สำหรับไมเคิล-ไม่ เขารู้สึกว่าการที่อัลบั้มนั้นไม่ได้ Album Of The Year ในงานแกรมมี่เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เขาสร้าง Thriller ขึ้นมาด้วยความหวังแรงกล้าที่จะให้มันเป็นอัลบั้มที่ทุกเพลงนั้นเป็นเพลงเอก เฉกเช่นเดียวกับ The Nutcracker ของ ไชคอฟสกี้ และทำให้คนผิวสีอย่างเขากลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ที่บรรดาสื่อต้องมาคุกเข่าอ้อนวอนขอทำข่าวหรือถ่ายปกหนังสือ


ถึงทุกวันนี้คุณก็รู้ดีว่าไมเคิลทำได้แค่ไหน


โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่า Thriller เป็นอัลบั้มที่ไร้ที่ติ และมันก็มีเพลงที่อ่อนอยู่ในนั้นบ้าง เช่น Baby Be Mine หรือสำหรับบางคน-The Girl Is Mine ที่ออกเป็นซิงเกิ้ลแรก แต่ความสมบูรณ์แบบและหลากหลายของเจ็ดเพลงที่เหลือช่วยดึงเกรดเฉลี่ยของ Thriller ขึ้นมาเข้าใกล้ 4.00 ไมเคิลและควินซี่ โจนส์ต่อยอดจาก smooth funk pop ของ Off The Wall กลายมาเป็น black music ลูกผสมที่เต็มไปด้วยโมเมนตัมมหาศาล มันพร้อมที่จะเจาะตลาดในทุกเหลี่ยมมุมของโลกดนตรี ไมเคิลแต่ง 4 ใน 9 เพลงทั้งหมดของอัลบั้ม และการเขียนเนื้อร้องของเขาก็พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง หลายเพลงเต็มไปด้วยความหวาดระแวงและความอึดอัดใจในการเป็นป๊อบสตาร์ที่กลายเป็นปมในจิตใจของเขาอันไม่อาจคลี่คลายได้จนวาระสุดท้าย


The Girl Is Mine เป็นซิงเกิ้ลแรกด้วยบารมีของ Paul McCartney แท้ๆ ว่ากันว่ามันทำให้อัลบั้มนี้เกือบล่ม เพราะกระแสตอบรับไม่แรงเอาเสียเลย ก่อนที่ซิงเกิ้ลที่สอง Billie Jean จะช่วยกู้หน้าได้ทัน แต่ใครจะทราบเล่าว่าถ้า Billie Jean ออกเป็นซิงเกิ้ลแรกจะเกิดอะไรขึ้น? แน่ใจได้หรือว่ามันจะไม่ล้มเหลว The Girl… เป็นเพลงที่ถ้าคุณไม่รักก็จะเกลียดไปเลย หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพลงรักปัญญาอ่อน แต่แฟนสี่เต่าทองอย่างผมย่อมถูกจริตเป็นธรรมดา ไมเคิลแต่งเพลงนี้ในแบบพอลๆได้อย่างเนียนสนิท และถ้าคุณจ้องมองลงไปให้ลึก การเรียบเรียงและคิวการร้องในเพลงคู่เพลงนี้ถือว่าไม่เหมือนเพลงร้องคู่ทั่วไปที่ผลัดกันร้องไปกลับ ตรงข้ามมันเต็มไปด้วยชั้นเชิงและลีลาที่เป็นธรรมชาติราวกับเป็นบทสนทนา


และ Billie Jean… แน่นอนว่านี่คือเพลงที่ทำให้ไมเคิล แจ็กสัน เป็นไมเคิล แจ็กสัน และคือหนึ่งในซิงเกิ้ลที่น่าจดจำที่สุดแห่งทศวรรษ 80’s มีไม่กี่เพลงในโลกที่คุณจะจำมันได้ทันที แค่ได้ยินเสียงกลองสองสามแต็กในช่วงอินโทร จังหวะ light funk, ท่อนเบสไลน์บันลือโลกจากฝีมือของ Louis Johnson, เสียง Lyricon จากปากของ Tom Scott และกีต้าร์นวลเนียนของ Dean Parks ช่วยกันสร้าง history of pop กี่ล้านคนที่เคยโลดแล่นบนแดนซ์ฟลอร์ไปกับเพลงนี้ แต่น่าขันที่เนื้อหาของเพลงไม่ได้รื่นเริงไปด้วยเลย ไมเคิลเขียนจากเรื่องจริงที่เคยถูกหญิงแฟนเพลงยัดข้อหาเป็นพ่อของเด็กให้ … but the kid is not my son… เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่พวกเขาบันทึกเสียงกันตอนทำอัลบั้ม Thriller ว่ากันว่า Bruce Swedien เอ็นจิเนียร์ของอัลบั้มต้องมิกซ์เพลงนี้ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าตามความต้องการของควินซี่และไมเคิล จนสุดท้ายพวกเขาก็ได้มิกซ์ที่ 91 ที่ทุกคนคิดว่ามัน ‘hot’ ที่สุดแล้ว แต่จู่ๆควินซี่ก็ทำหน้าเจ้าเล่ห์ และขอให้บรูซกลับไปเปิดมิกซ์ #2 อีกครั้งหนึ่ง ผลก็คือทุกคนในห้องอัดออกสเตปร่ายรำไปกับมันอย่างไม่อาจห้ามใจ และนั่นก็คือมิกซ์ที่เราได้ยินกันในทุกวันนี้!(มีเวอร์ชั่นจากแผ่น 12 นิ้วของ Billie Jean ที่ยาว 6:24 นาที ซึ่งมันก็คือเวอร์ชั่นเต็มๆของเพลงที่ยังไม่ถูกตัดต่อ ลงให้เหลือสี่นาทีกว่าๆเพื่อให้เหมาะกับอัลบั้ม แนะนำให้หามาฟังกันนะครับ เพราะมันคือ Billie Jean ที่สมบูรณ์ที่สุด)


แต่ Billie Jean ไม่ได้เปิดตัวครั้งแรกในแทร็คที่ 6 นี้ ไมเคิลเอ่ยนามเธอมาครั้งหนึ่งแล้วในเพลงแรกของอัลบั้ม Wanna Be Startin’ Somethin’ ฟังกี้แดนซ์ที่เร่าร้อนเสียจนในบางช่วงเหมือนกับเพลงจะคุมตัวเองไม่อยู่ ราวกับรถยนต์ที่พร้อมจะหลุดโค้งทุกเมื่อ ไมเคิลกราดเกรี้ยวกับความสับสนและข่าวลือที่กดดันชีวิตป๊อบสตาร์ แต่ก็สรุปไว้อย่างผู้กำชัยว่า ma ma se ma ma coo sa? นี่คือแทร็คที่ไม่อาจวางไว้ที่อื่นได้เลยนอกจากขอบนอกสุดของแผ่นเสียงหน้าเอ


คนผิวสีทำเพลงร็อค? ไมเคิลอาจจะไม่ใช่คนแรกแน่นอน แต่ไม่มีใครทลายตลาดได้อย่างสิ้นเชิงได้เหมือนกับที่เขาทำไว้กับ Beat It ป๊อบร็อคที่หนักแน่นด้วยริธิ่มเซ็กชั่นระดับพระกาฬอย่าง Steve Lukator, Paul Jackson และ Jeff Porcaro เมโลดี้ที่ไม่ได้เขียนไว้ให้ใครลืม และสุดท้ายคือแขกรับเชิญ-นักกีต้าร์ที่ร้อนแรงที่สุดบนพิภพ(ขณะนั้น) Eddie Van Halen การโซโลของเอ็ดดี้ในเพลงนี้ถือว่าทำดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะเขาใส่ความเป็นตัวเองและเทคนิคต่างๆลงไปอย่างงดงามและเมามันส์ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าไอ้หมอนี่มาเล่นโชว์ออฟเกินหน้าเกินตาเจ้าของบ้านแต่อย่างใด ผลลัพธ์ก็คือนี่เป็นเพลงที่ทำให้คนขาวและชาวร็อคต้องมาควักกระเป๋าซื้ออัลบั้มของคนผิวสีอย่างไมเคิล และทำให้แฟนไมเคิลเองได้ตระหนักถึงความยอดเยี่ยมของการโซโลกีต้าร์ระดับเซียน และเหนือไปกว่านั้น แม้เพลงนี้จะเร้าอารมณ์แค่ไหน แต่มันเป็นบทเพลงที่ต่อต้านความรุนแรงโดยสิ้นเชิง


น่าเสียดายที่เพลงปิดอัลบั้มไม่ใช่เพลง Thriller เพราะผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเพลงปิดที่ยิ่งใหญ่ได้ ซิงเกิ้ลสุดท้ายของอัลบั้มที่มีกระแสของมิวสิกวิดีโอยาว 14 นาทีหนุนหลัง ผลงานการประพันธ์ของ Rod Temperton ที่ตอนแรกจะให้ชื่อ Starlight เป็นความคมคายยิ่งนักของผู้แต่งที่ผูกเรื่องของหนังสยองขวัญไปโยงไยกลายเป็นเพลงรักไปได้ในที่สุด ไมเคิลร้องด้วยเสียงที่น่าตื่นเต้นแทรกด้วยเสียงสะอึกอันกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขาในเวลาต่อมาเป็นระยะๆก่อนที่เพลงจะปิดท้ายอย่างสุดยอดด้วยเสียง “แร็ป” ของ Vincent Price และการระเบิดหัวเราะที่ก้องไปทั้งโลก


Human Nature และ The Lady In My Life เป็นสองเพลงช้าที่น่าประทับใจซึ่งไมเคิลได้โชว์เสียงร้องใสปิ๊งของเขาเหมือนวันวานยุคโมทาวน์อีกครั้ง และ P.Y.T. ก็สนุกสนานไปกับเหล่าคอรัสที่ไม่ใช่ใครอื่น สองสาวแจ็กสัน Janet และ La Toya นั่นเอง


ค่อนชีวิตที่ผมฟัง Thriller มา คงไม่อาจคาดคะเนได้ว่ามันกี่ร้อยกี่พันรอบแล้ว แต่ทั้ง 9 เพลงนี้ก็ยัง ‘thrill’ ผมได้อยู่
“Cause I can thrill you more than any ghost would dare to try.”


Tracklist ทุกเพลงแต่งโดยไมเคิล แจ็กสัน เว้นแต่ที่มีวงเล็บต่อท้าย


1. "Wanna Be Startin' Somethin'" 6:02 2. "Baby Be Mine" (Rod Temperton) 4:20 3. "The Girl Is Mine" (with Paul McCartney) 3:42 4. "Thriller" (Temperton) 5:57 5. "Beat It" 4:17 6. "Billie Jean" 4:54 7. "Human Nature" (John Bettis, Steve Porcaro) 4:05 8. "P.Y.T. (Pretty Young Thing)" (James Ingram, Quincy Jones) 3:58 9. "The Lady in My Life" (Temperton) 4:59


Note-มีซีดีสามเวอร์ชั่นของอัลบั้มนี้ คือเวอร์ชั่นแรกที่ไม่มีเพลงแถม (ตอนนี้อาจจะหายากแล้ว ว่ากันว่าตอนไมเคิลตายใหม่ๆเวอร์ชั่นนี้บางแผ่นมีให้ประมูลในอีเบย์ในราคาเฉียดร้อยเหรียญ) และเวอร์ชั่นครบรอบ 21 ปีที่มีสัมภาษณ์ควินซี่ โจนส์ ,เดโมเพลง Billie Jean และเพลง Someone In The Dark จากหนัง E.T.และเวอร์ชั่นครบรอบ 25 ปีที่มีเพลงรีมิกซ์ใหม่ร้องกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ถ้าเป็นแฟนจริงก็ต้องเก็บให้เรียบ!

Thursday 11 June 2009

MANIC STЯEET PЯEACHEЯS : JOUЯNAL FOЯ PLAGUE LOVEЯS



Manic Street Preachers-Journal For Plague Lovers (2009)****



ถ้าไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลยแล้วมีคนโยนอัลบั้มใหม่(ชุดที่9) ของ Manics นี้มาให้เราฟัง สิ่งแรกที่เราประทับใจคงจะเป็นหน้าปก แม้หลายคนอาจจะมองว่ามันสยองๆไปหน่อย แต่เราว่ามันเตะตาชมัด แววตาของเด็กเลือดกลบปากคนนี้มันช่างไร้อารมณ์และเวิ้งว้างเสียจริง (ภาพนี้เดิมชื่อว่า 'Stare' เป็นผลงานการร่ายแปรงของ Jenny Saville ในปี 2004-5 เธอเคยเขียนปก The Holy Bible ให้วงมาก่อน อันเป็นอัลบั้มสุดท้ายของริชี่ เจนนี่เป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านภาพเลือดสาดๆและไขมันเละๆที่ไม่ค่อยมีใครอยากข้องเกี่ยว)



เมื่อฟังดู เราคงจะประหลาดใจนิดหน่อยที่พบว่า The Manics หันกลับไปเล่นเพลงดิบๆแบบยุคแรกกันอีกครั้ง ทั้งๆที่งานชุดที่แล้ว Send Away The Tigers เป็น arena pop ที่อลังการแวววาวเต็มที่ และเป็นงานที่เรียกชื่อเสียงและความมั่นใจของทางวงกลับมาอีกครั้ง หลังจากหลายคนเริ่มแทงบัญชีดำให้พวกเขาแล้วเมื่อพบว่าพวกเขาออกงานล้าๆออกมาสองชุดติดต่อกัน พร้อมมีงานรวมฮิตออกมาเป็นสัญญาณอันตรายของวงที่ใกล้ถึงจุดดับ



แต่สิ่งที่ทำให้เราแปลกใจจริงๆอาจจะเป็นเมื่อเราอ่านพบใน liner notes ว่าเนื้อเพลงทั้งหมดในอัลบั้มนี้แต่งโดย Richey James Edwards มือกีต้าร์และนักแต่งเนื้อเพลงของวงที่ไม่มีใครเห็นหน้าหรือเงาของเขามาตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 1995 และเพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2008 นี้เอง ริชี่เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างสูงในทาง image และ attitude ของวงในยุคแรก ทุกวันนี้ภาพที่ตราตรึงใจที่สุดของวงก็ยังคงเป็นภาพรอยสัก 4 REAL ทิ่ริชี่กรีดเองกับมือลงไปบนแขนของเขาเอง เพื่อเป็นการตอบคำถามนักข่าวว่าพวกเขาเป็น “ของจริง” หรือไม่



การจะประเมินค่าอัลบั้มสักแผ่น มันเป็นไปได้หรือที่เราจะประเมินจากตัวตนสัมบูรณ์ที่แท้จริงของมัน ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องสัมพัทธ์และสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะไม่รู้เบื้องหลังของ Journal... ว่าสมาชิกที่เหลือของวงสามคน สร้างมันขึ้นมาจากบทกวีที่ Richey ฝากเอาไว้ในแฟ้มให้พวกเขาทั้งสามก่อนจะหายตัวไปเพียงไม่กี่วัน (สมาชิกทั้งสามเคยนำวัตถุดิบจากแฟ้มนี้มาใช้ในบางเพลงในอัลบั้ม Everything Must Go และก็ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับมันอีกเลย) เราก็คงต้องยอมรับว่านี่เป็นอัลบั้มพังค์ร็อคที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านดนตรีและเนื้อหา อย่างไม่น่าเชื่อว่า Manics จะสามารถกลับไปเล่นดนตรีที่ต้องการพลังของคนหนุ่มในวัยของพวกเขาในปัจจุบันได้อย่างน่าปรบมือให้



บางคนอาจจะไม่เห็นความสำคัญว่าเนื้อเพลงเหล่านี้จะมีที่มามาจากไหน แต่สำหรับแฟนระดับสาวกดั้งเดิมของวงนี้ อัลบั้มแผ่นนี้มันเป็นอะไรที่เกินไปกว่าอัลบั้มธรรมดา มันคือที่ระลึกในงานศพที่ไม่ได้จัด มันคือความฝันที่เป็นจริงแค่ครึ่งคืนอันยาวนาน จะพูดว่ามันเหมือนกับเป็นงานต่อจาก Holy Bible ก็อาจะเกินเลยไปนิด แต่ก็ชัดเจนว่าทางวงจงใจจะให้เป็นอย่างนั้น นับแต่หน้าปก ฟอนต์ตัวอาร์กลับข้างแบบรัสเซียที่ใช้ รวมไปถึงแนวดนตรี



สิ่งหนึ่งที่เราซาบซึ้งในตัว Manics ก็คือ พวกเขารักเพื่อน.. Richey ผู้จากไป นี้เหลือเกิน เหตุผลหนึ่งที่พวกเขานำบทกวีเหล่านี้มาใส่ทำนองและเล่นเป็นเพลงให้พวกเราฟังกันในปีนี้ ทั้งๆที่มันอยู่ในมือของพวกเขามาหลายปีดีดักแล้ว... พวกเขาไม่ได้บอกเราหรอกครับ แต่เราเดาว่าเป็นเพราะ 1) การประกาศว่าเขาเสียชีวิตแล้ว เหมือนเป็นการยืนยันว่ายังไงเสีย พวกเขาก็ต้องทำอะไรสักอย่างกับบทกวีเหล่านี้ เพราะแน่ใจได้ว่าริชี่จงใจมอบให้พวกเขาสานต่อ 2) ความสำเร็จของอัลบั้มที่แล้ว ทำให้พวกเขาไม่ต้องกังวลว่าจะถูกใครกระแนะกระแหนว่าเอาเพื่อนมาหากิน และถ้าจะมีใครคิดเราก็ว่าเขาช่างเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายสิ้นดี




เพราะถ้าคุณรักดนตรีร็อคและเข้าใจการทำงานศิลปะ เชื่อว่าคุณจะรู้สึกได้ว่า Journal... เป็นงานที่ทำขึ้นมาด้วยความรักและหัวจิตหัวใจล้วนๆ Manics ทั้งสามนำถ้อยคำเปล่าๆที่ริชี่ทิ้งไว้มาทำเป็นเพลงได้อย่างสมบูรณ์แบบราวกับว่าผู้เขียนเนื้อเพลงมานั่งแต่งด้วยกัน ฝีมือการบันทึกเสียงและโปรดิวซ์ของ Steve Albini ผู้เคยทำงาน In Utero ให้ Nirvana ยิ่งทำให้งานนี้เข้มข้นขึ้นไปอีก (หมายเหตุ-Richey เคยแสดงความชื่นชมการทำงานของ Steve ที่ทำไว้ให้ Nirvana นี้-นี่จึงเป็นการแสดงความ “เอาใจ” ริชี่อย่างหนึ่งในการเรียกสตีฟมาโปรดิวซ์ให้ และถ้าท่านอยากทราบว่าสตีฟมีบทบาทในสุ้มเสียงของอัลบั้มนี้แค่ไหนลองหา demo versions ของทุกเพลงนี้ที่อยู่ใน Deluxe edtion มาฟังแล้วจะเข้าใจทันที)



ตั้งแต่ Peeled Apples เพลงแรก จนถึงเพลงสุดท้าย Williams' Last Words อัลบั้มนี้เยี่ยมยอดทุกแทร็ค และแม้ภาพรวมจะดิบดุแต่ก็มีการเบรคด้วยอคูสติกเพราะๆเป็นระยะ เจมส์ ดีน แบรดฟิลด์ ร้องและเล่นกีต้าร์ได้สุดยอดเหมือนเดิม แต่อาจจะถูกนิคกี้ ไวร์ มือเบสร่างโย่งใช้เสียงแกว่งๆของเขาขโมยซีนไปเสียหน่อยในเพลงสุดท้าย ที่จากถ้อยคำจะคิดให้เป็นจดหมายอำลาของริชี่ก็ว่าได้ เราจะไม่สาธยายทุกแทร็ค แต่อยากจะให้หามาฟัง และหาเนื้อร้องของริชี่มาร้องตามไปด้วย เขาเป็นนักเขียนเนื้อเพลงที่มีจินตนาการกว้างลึกในการใช้คำ และ..ไม่น่าเชื่อว่าเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน

รายงานบอกว่าทุกวันนี้ Manics ก็ยังแบ่งเงินที่ได้จากผลงานเก่าๆสมัยริชี่ยังอยู่ใส่ธนาคารให้เขา 25% เหมือนเดิม แม้ว่าเขาจะถูกประกาศว่าตายไปแล้วก็ตาม



เราเชื่อว่า Manics ไม่ได้ใช้วัตถุดิบของริชี่ทั้งหมดที่มีในงานนี้ แต่เราก็เชื่อเช่นกันว่าจะไม่มี Journal... ภาคสองออกมาแน่นอน



Tracklisting1. Peeled Apples2. Jackie Collins Existential Question Time3. Me and Stephen Hawking4. This Joke Sport Severed5. Journal For Plague Lovers6. She Bathed Herself In A Bath Of Bleach7. Facing Page: Top Left8. Marlon J.D.9. Doors Closing Slowly10. All Is Vanity11. Pretension/Repulsion12. Virginia State Epileptic Colony13. William’s Last Words



Produced By Steve AlbiniReleased May 2009

Monday 11 May 2009

Reissue News May 2009



อัลบั้มแรกของ The Stone Roses ในปี 1989 เป็นงานชิ้นสำคัญของดนตรีร็อคอังกฤษ มันเป็นเทปม้วนโปรดของผมที่ยังจดจำได้ไม่ลืมว่าหอบหิ้วมันไปที่ไหนบ้าง รวมไปถึงการอ่านรีวิวครั้งแรกของมันใน “สีสัน” ยุคซีดีก็แหงว่าผมต้องซื้อมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่ก็ไม่เคยมีความสุขกับเสียงของมันเลย ความรู้สึกผมคิดว่าเสียงมันแย่กว่าเทปม้วนนั้นของผมซะอีก (ลิขสิทธิ์นะจ้ะ) Ian Brown เพิ่งออกมาให้ข่าวว่าเขากับโปรดิวเซอร์ John Leckie เกี่ยวก้อยกันเข้าสตูดิโอเพื่อรีมาสเตอร์งานชิ้นนี้กันเป็นครั้งแรก จุดมุ่งหมายของการรีมาสเตอร์ครั้งนี้มีง่ายๆว่า “ทำให้เสียงออกมาเหมือนแผ่นไวนีลดั้งเดิม” Leckie เล่าว่า “มันจะไม่เหมือนกับเวอร์ชั่นซีดีก่อนหน้านี้ที่เป็นแค่ก๊อปปี้จากก๊อปปี้จากก๊อปปี้” มันแย่อย่างนั้นเชียวหรือนั่น....ถึงว่า....


The Stone Roses reissue version นี้จะมีเป็นแบบซีดีสามแผ่นที่นอกจากอัลบั้มเดิมในสุ้มเสียงที่สดใสแล้ว อีกสองแผ่นก็จะเป็นเพลงหน้าบีของซิงเกิ้ลและเพลงที่ไม่ได้อยู่ในอัลบั้ม และอีกแผ่นเป็น demo versions ส่วนผู้ที่อยากเก็บเป็นไวนีลก็ยังมีอีกแพ็คเกจหนึ่ง


กำหนดออกน่าจะเป็นเดือนมิ.ย.นะ


วันที่ 9 เดือน 9 ปี2009 คือกำหนดการวางแผงของ Beatles remasters ที่แฟนๆรอกันมานานจนเสียชีวิตไปก็หลายคนแล้ว (ไม่ได้พูดเล่น) ตั้งแต่ปี 1987 นู่น มาคราวนี้พวกเขายกชุดขายเป็นกล่องแยกไปเลยระหว่าง stereo กับ mono ไม่มีเพลงใหม่เพลงแถมใดๆแต่มีสารคดีเบื้องหลังอัลบั้มเป็น quicktime แทรกอยู่ในแผ่น สุ้มเสียงเป็นอย่างไรคงต้องคอยฟังกัน แต่เชื่อขนมกินได้ว่าน่าจะดีกว่าฉบับเดิมแน่นอน เพราะของเก่ามันแย่เหลือเกินน่ะสิ วันเลขสวยดังกล่าวยังเป็นวันวางแผนของเกม The Beatles Rock Band อีกด้วย วันเดียวกะให้แฟนเต่าทองหมดตัวกันไปเลยว่างั้น!!!

twitter & spotify


หลังจาก facebook และ myspace ก็มี twitter นี่ล่ะที่เป็น social network หน้าใหม่ที่มีกราฟความดังและยอดผู้ใช้พุ่งตั้งชันเป็นปรากฏการณ์ twitter จัดเป็น micro-blogging site ที่เหมาะสำหรับคนขยันเขียนขยันพิมพ์แต่ไม่อยากพิมพ์เยอะ เพราะให้โพสต์ได้ครั้งละแค่ 140 ตัวอักษรเท่านั้น แต่จุดขายของมันจริงๆอาจจะอยู่ที่การมี “ผู้มีชื่อเสียง” ตัวจริง เสียงจริง มาเล่น แน่นอนว่าสาวกของEนู๋ Lily Allen ย่อมอยากรู้ว่าเธอกระดิกตัวทำอะไรบ้างในวันนี้ นอกจาก Lily แล้ว ก็ยังมีคนดังๆสายดนตรีอีกหลายท่านที่มี twitter อย่าง Graham Coxon แห่ง Blur, แร็ปเปอร์ผู้อื้อฉาว Eminem, และแน่นอน.... Britney Spears คุณเองก็ใช้บริการ twitter.com ได้ฟรีๆ ผมลองไปเปิดกับเค้าดูแล้วก็สนุกดีเหมือนกันนะครับ เวลาเราสนใจเรื่องอะไร เหมือนกับเราจะได้คุยกับผู้สนเรื่องเดียวกับเราได้ทั้งโลก....และการที่มันสามารถโพสต์ได้ทาง SMS ก็เป็นมิติใหม่ของการ blog แบบนี้ครับ

ตัวอย่างจาก twitter.com/lilyroseallen


“กำลังจะกระโดดเข้าไปใต้ฝักบัวและเริ่มตันวันใหม่ และขอบันทึกไว้ว่า ยา (เสพติด) เป็นสิ่งเลว อย่าใช้มัน บอกลูกหลานคุณด้วยว่าลิลลี่อัลเลนพูดไว้”


(แน่นอนว่าต้นฉบับเธอใช้ภาษาอังกฤษนะครับ!)


ผู้เชี่ยวชาญทาง internet ออกมาฟันธงกันว่า twitter น่าจะเป็นกระแสที่อยู่ในช่วงสั้นๆและก็จะถดถอยไปอย่างรวดเร็ว เพราะมันไม่มีแก่นแท้เนื้อหาอะไรให้จับต้องได้เลย ก็ลองดูกันอีกซักปีครับ แต่ตอนนี้ท่าน hot เหลือเกิน


Spotify

ยุคของการ “โหลดเพลง” อาจจะสิ้นสุดลงในเร็ววัน จะเสียเวลาไปไย ในเมื่อคุณสามารถฟังมันแบบ stream (ฟังได้ทันทีไม่มีการรอ buffer) ได้ตลอดเวลาทางคอมพิวเตอร์ของคุณ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ?


Spotify เป็น peer-to-peer streaming music program ที่ออกแบบโดยชาวสวีเดนเพื่อรองรับการฟังเพลงในรูปแบบใหม่นี้ ลองหลับตาคิดถึง iTunes ที่มีเพลงเต็มไปหมดรอคุณอยู่แล้ว ข้อด้อยของมันก็อาจจะมีแค่คุณไม่สามารถโหลดมาเก็บไว้เป็นส่วนตัวได้ แต่ถึงจุดหนึ่งมันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป John Harris คอลัมน์นิสต์ดนตรีชื่อดังเขียนไว้ใน Q ว่ามันก็เหมือนกับทุกวันนี้คุณไม่จำเป็นต้องไปล่าสัตว์ด้วยตัวเองเพื่อเอามาเป็นอาหารนั่นแหละ (!)


ศิลปินใหญ่ๆบางท่านก็ยังไม่อยากลงมาเล่นกับเรื่องนี้ คุณจะไม่พบเพลงของ Pink Floyd หรือ Beatles ใน Spotify แต่ถ้าเป็น U2, Madonna, Rolling Stones หรือ Eminem และศิลปินอื่นๆอีกมากล่ะก็ไม่มีปัญหา


คำถามคือแล้วคุณต้องจ่ายอะไรมั่ง? -ฟรีครับ แต่คุณต้องอาจต้อง “ฟัง” โฆษณาบ้างในทุกๆ20-30 นาที แต่ถ้าคุณเป็นภูมิแพ้โฆษณาก็ยังมีทางเลือกให้ใช้เวอร์ชั่นปลอดแอ็ดแต่ต้องจ่ายให้ Spotify เดือนละ 10 ปอนด์ หรือ 100 ปอนด์ไปเลยต่อ 1 ปี


สำหรับคนสนใจคุณภาพเสียงก็อาจจะถามว่าไฟล์ที่ได้ฟังนั้นเป็นแบบใด คำตอบคือเป็นแบบ Vorbis format ที่ความละเอียด q5 (เทียบกับ mp3 ได้ประมาณ 160 Kbit/S) ที่ผมคิดว่าพวกเราอาจจะคิดว่ามันหยาบไปหน่อยใช่ไหมครับ แต่นักฟังทั่วๆไปผมคิดว่าเขาน่าจะโอนะ


ความสนุกของมันอาจจะอยู่ที่การได้แลกเปลี่ยน playlist ที่สร้างได้เหมือน iTunes กับเพื่อนๆที่ใช้ Spotify ด้วยกัน และการเข้าถึงข้อมูลที่ทำได้ราวกับพระเจ้า อาทิ ถ้าเช้าวันอาทิตย์นี้คุณอยากฟังเพลงจากปี 1987 ที่เป็นนักร้องหญิงเพียงอย่างเดียวตลอดรายการ Spotify จัดให้คุณได้ทันที


คู่แข่งของ Spotify รายสำคัญก็คือขวัญใจวัยุร่น Last.fm ที่บุกเบิกมาหลายปีแล้ว แต่หลายเพลงใน Last.fm เราก็ฟังได้แค่ 30 วินาที ขณะที่ใน Spotify เต็มเพลงทุกเพลง....


ในบ้านเรายังไม่มี free version นะครับ คงต้องรออีกสักระยะ แต่เวอร์ชั่นเสียตังค์นั้น...ได้เลยครับ


ฟังดูก็ทันสมัยดีนะครับ แต่หลังจากศึกษาเรื่องนี้เสร็จ ผมดันกลับรู้สึกอยากกลับไปฟังแผ่นไวนีลเงียบๆในห้องคนเดียวซะอย่างนั้น!!!

Coldplay ลอกเพลง...อีกแล้วครับท่าน !!!



มันอะไรกันนักหนา ไอ้เพลง Viva La Vida ของ Chris Martin และผองเพื่อนเนี่ย? คดีที่ท่านเทพกีต้าร์ Joe Satriani ฟ้องเอาไว้ว่ามันเป็นการฉกบางท่อนของเพลง If I Could Fly ของเขาไป (ที่ทำให้ Joe โกรธมาก เพราะมันเป็นเพลงที่เขาแต่งให้ภรรยาสุดเลิฟของเขาด้วยน่ะสิ...แหม) ยังไม่ทันจะสิ้นสุด Coldplay ก็เจอเข้าไปอีกสองดอก เริ่มจากวง American indie โนเนม Creaky Boards อ้างว่า Coldplay เอาเมโลดี้เพลงนี้มาจาก “The Songs I Didn’t Write” (ดูชื่อเพลงเค้าสิครับท่าน) ของพวกเค้า แต่ภายหลังวงนี้ก็ถอนฟ้องไปแล้ว โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ว่า ทั้งสองเพลงอาจจะได้ไอเดียมาจากวิดีโอเกม The Legend Of Zelda ต่างหากเล่า …ประเมินแล้วสงสัยไอ้พวกนี้น่าจะโหนกระแสดังฟรีมากกว่า


แล้วจู่ๆขาใหญ่ อย่าง Cat Stevens หรือที่ตอนนี้แกเปลี่ยนชื่อเป็น Yusuf Islam ก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับ NME ว่า “ก็เถียงกันเข้าไประหว่าง Coldplay กับ Satriani แต่ความจริงแล้ว เพลงนี้น่ะ มันเป็นของพ้ม! มันคือเพลง Foreigner Suite ไม่เชื่อลองฟังดูสิ!.”


แต่ลุงแมวแกก็ไม่ได้ฟ้องหรอกครับ แกอาจจะตัดสินใจอยู่ว่าจะฟ้อง Joe หรือ Chris Martin ดี?(ผมฟัง Foreigner Suite แล้วก็รู้สึกว่าถ้าฟ้องไปลุงแมวก็น่าจะชนะยากนะครับ)


คดีลอกเพลงหรือที่เรียกว่า Plagiarism ที่โด่งดังที่ผ่านมาที่สุดก็คงเป็นกรณี George Harrison กับเพลง My Sweet Lord ที่ไปคล้ายคลึงกับ He’s So Fine ของ The Chiffons (งานนี้ทำเอาอดีตเต่าทองเสียหายด้านชื่อเสียงมากๆ) และ Ghostbusters ของ Ray Parker,Jr. กับเพลง I Want A New Drug ของ Huey Lewis ที่ฝ่ายหลังฟ้องชนะ


ที่ฮาก็คือ ตา Will Champion มือกลอง Coldplay ออกมาแก้ตัวทำนองเรื่องโน้ตเจ็ดตัวแปดตัวอะไรเนี่ย...คุ้นๆจังเลยว่าเคยได้ยินที่ไหน???

Words & Music by Dylan & McCartney







Bob Dylan อยากทำงานกับ Paul McCartney



อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อกวีแห่งร็อคแอนด์โรลผู้ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะด้านการเขียนเนื้อเพลงที่หาใครเทียบเคียงยากอย่างป๋า Dylan แบะท่าให้ Paul McCartney ว่า “มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเชียวล่ะถ้าได้ทำงานกับพอล” ป๋าพูดไว้ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือ Rolling Stone เมื่อเร็วๆนี้ ทางพอลเองก็มีโฆษกส่วนตัวรีบมาตอบทันควัน “ผมคิดว่าเขาคงจะสนใจมากเมื่อได้ยินเช่นนี้ พวกคุณก็น่าจะนึกภาพกันได้ว่ามันต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ๆถ้าโครงการนี้เป็นจริงขึ้นมา”
ถ้าว่ากันตามหลัก สองคนนี้ก็น่าจะเป็นคู่แต่งเพลงในฝันเลยล่ะ เพราะก็รู้กันอยู่ว่าพอลนั้นแต่งทำนองได้เฉียบ แต่เนื้อร้องแกนั้นยังมีปัญหาอยู่เสมอๆ ส่วนบ๊อบนั้นก็ประเภทร้อยเนื้อทำนองเดียว ก็หวังว่างานนี้จะไม่ใช่การปล่อยข่าวสร้างกระแส อยากฟังเหมือนกันครับว่าจะออกมาอีท่าไหน เพราะดนตรีนั้นไม่ใช่คณิตศาสตร์ตื้นๆที่ 1+1=2 เสมอไป (อาจจะกลายเป็น 5 หรือ -40 ?)



กลัวอย่างเดียวว่าท่านผู้อาวุโสจะนึกสนุก ให้ป๋าบ๊อบแต่งทำนองป๋าพอลเล่นเนื้อน่ะเซ่...!!! อ้อ อีกอย่างตกลงกันให้ดีก่อนนะว่าเครดิตน่ะจะให้เขียนว่า Dylan & McCartney หรือว่า McCartney & Zimmermann ????



Wednesday 6 May 2009

Bob Dylan: TOGETHER THROUGH LIFE


Bob Dylan Together Through Life (2009)***1/2

Produced By Jack Frost

Genre: Chicago Blues, Country, Mexican Folk


Disc one All songs by Bob Dylan and Robert Hunter, except where noted.
1. "Beyond Here Lies Nothin'" – 3:51 2. "Life Is Hard" – 3:39 3. "My Wife's Home Town" (Willie Dixon/Dylan/Hunter) – 4:15 4. "If You Ever Go to Houston" – 5:49 5. "Forgetful Heart" – 3:42 6. "Jolene" – 3:51 7. "This Dream of You" (Dylan) – 5:54 8. "Shake Shake Mama" – 3:37 9. "I Feel a Change Comin' On" – 5:25 10. "It's All Good" – 5:28


ไม่ว่าคุณจะคิดว่าหนุ่มใหญ่วัย 68 คนนี้จะเป็นกวีที่ทำเพลงได้เยี่ยมที่สุดหรือเป็นร็อคสตาร์ที่เขียนเนื้อเพลงได้ดุจกวีเอก ก็ต้องยอมรับว่าบ๊อบ ดีแลนคือตำนานของอเมริกันไปแล้ว Together Through Life คืออัลบั้มที่ 33 ของป๋า และแม้จะทิ้งช่วงจากอัลบั้มก่อนหน้านี้ Modern Times ถึงสามปี ก็ยังต้องเรียกว่างานนี้ออกมาอย่างรวดเร็วเกินกว่าใครจะคาดหมาย... แม้แต่ Columbia Records และตัวป๋าเอง


ป๋าและลูกทีมเข้าห้องอัดกันเพื่อทำเพลงประกอบหนังเรื่อง My Own Love Song ที่ยังอยู่ในช่วงถ่ายทำอยู่เลย แต่ป๋าทำเพลงเสร็จรอไว้แล้ว นั่นคือบัลลาดเหงาหงอย Life Is Hard แต่ด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลายสบายๆ ป๋าเลยติดลม ทำเพลงต่ออีกอย่างรวดเร็ว 9 เพลงรวด จนได้มาเป็นอัลบั้ม Together Through Life โดยพลัน


ป๋าทำงานในอัลบั้มนี้แบบหนุกๆเอามันส์ไม่เครียด หลังจากทำงานอลังการมาแล้วใน Modern Times แต่ชุดนี้ป๋ามาแบบติดดิน ดนตรีฟังเพลินๆเหมือนซ้อมกันเงียบๆในโรงหนังเก่าๆหรืออาจจะเป็นในบาร์ชายแดนเม็กซิกันตอนย่ำค่ำที่ยังไม่ค่อยมีแขก เสียงแอคคอร์เดียนจากฝีมือของ David Hidalgo แห่ง Los Lobos โดดเด่นตลอดอัลบั้ม และยังได้มือกีต้าร์คนโปรดของผมจาก The Heartbreakers ของ Tom Petty : Mike Campbell มาตอดริฟฟ์และโซโลสวยๆ (เขาเป็นมือกีต้าร์ที่มีเลือกตัวโน้ตได้เพราะพริ้งเสมอมา) เมื่อนำมาผสมกับลูกวงในทัวร์ที่ไม่เคยจบสิ้นของป๋าจึงให้เสียงดนตรีที่เฉียบขาดและกลมกล่อมด้วยฝีมือล้วนๆ


ป๋าแต่งเพลงในอัลบั้มร่วมกับ Robert Hunter แห่ง Grateful Dead เป็นส่วนใหญ่ เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ป๋าไม่ได้เขียนเพลงร่วมกับชาวบ้านแบบนี้ นั่นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เนื้อเพลงใน TTL ดูเบาหวิวไม่ค่อยมีอะไรคมคายในแบบที่จะเอาไปเล่าต่อให้เพื่อนฟังได้เท่ๆแบบในอัลบั้มก่อนๆ อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะเป็นความจงใจของป๋าก็ได้ ที่อยากจะให้โทนของอัลบั้มออกมาอย่างนี้


ป๋าดีแลนนั้นหลุดพ้นจากกรอบของเทรนด์ใดๆมานานแล้ว ดนตรีของป๋าไม่เคยต้องอิงความนิยมอะไรทั้งสิ้น และงานชิ้นนี้ตามคำบอกเล่าของป๋าเองก็เป็นความพยายามทำให้ซาวดน์ออกมาเหมือนการบันทึกเสียงของ Chess และ Sun Records ในยุค 50’s และ 60’s เสียงร้องของป๋าเคยแหบและกวนประสาทอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ก็ต้องใช้สุภาษิต “ลางเนื้อชอบลางยา” สำหรับเสียงของป๋า เพราะขณะที่นักฟังส่วนหนึ่งทำหน้าเหยเกทุกครั้งที่ได้ยินเสียงของท่านป๋าแต่แฟนๆอีกฟากกลับยกให้นี่เป็นหนึ่งในนักร้องที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่โลกเคยมีมา ส่วนตัวอยากจะบอกว่า ถ้ามีโอกาสให้ท่านร้องเพลงของป๋าในคาราโอเกะเถิดครับ โอกาส “เกิด” มีสูงแน่!


ทุกคนเห็นพ้องกันว่ายุคสุดคลาสสิกของป๋านั้นอยู่ในยุค 60’s ที่ความคิดสร้างสรรค์และพลังของแกอยู่ในขั้นฟัดกับ The Beatles ได้ แต่หลังจากนั้นงานของป๋าก็ทรงๆทรุดๆจนไม่มีใครคาดหวังอะไรกับแกนักแล้ว จนกระทั่งการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ใน Time Out Of Mind และตามมาด้วย ‘Love And Theft’ และ Modern Times ที่กู้ชื่อเสียงของป๋ากลับมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ทั้งสามอัลบั้มนั้นก็มีแนวทางที่ต่างกันอยู่พอสมควร และมันก็ต่างจาก TTL


Together Through Life คืออัลบั้มที่เต็มไปด้วยความรัก ทั้งในแง่ ความสุข ความสูญเสีย ความหวัง และความปวดร้าว


ป๋าเปิดอัลบั้มอย่างสุดโจ๊ะ(ขออภัยที่ต้องใช้คำวิเศษณ์เชยๆ เพราะมันเหมาะจริงๆ) Beyond Here Lies Nothing**** เพลงรักของจิ๊กโก๋วัยดึก ที่ยืนยันกับสาวของเขาว่า ไม่มีอะไรทำให้เขามีความสุขไปกว่าการอยู่กับเธออีกแล้ว กลอง แอคคอร์เดียน และกีต้าร์ วาดลวดลายกันในจังหวะคล้ายคลึงกับ All Your Love ของ John Mayall ขณะที่ทำนองไปทาง Unchained My Heart ของ Ray Charles หรือคุณอาจจะคิดถึงเพลงบลูส์เก๋าๆพวกนี้ได้อีกเป็นร้อย เพราะเพลงแนวนี้ก็ไม่ค่อยหนีกันเท่าไหร่ และจะว่าไป...ป๋าก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วในด้านเขียนทำนองคล้ายๆเพลงชาวบ้าน (ก็บอกแล้วว่าแกเป็นกวี)


Life Is Hard*** คงต้องรอดูว่าผู้กำกับจะทำหนังประกอบเพลงนี้ได้ดีแค่ไหน! แต่นี่เป็นบัลลาดที่คร่ำครวญถึงความปวดร้าวในชีวิตที่ปราศจากคนรัก ดนตรีงดงามละเมียด


My Wife’s Hometown*** บลูส์แบบ Willie Dixon ที่ป๋าคงไม่อยากมีปัญหาด้านลิขสิทธิ์มากเลยใส่ชื่อ Dixon เป็นเครดิตผู้แต่งเพลงด้วยเสียเลย เสียงร้องทรมานใจมนุษย์ของป๋าเข้มข้นขึ้น แต่ฟังๆไปก็มีฮา เมื่อพบว่าบ้านเกิดของภรรยาของป๋าก็ไม่ใช่อื่นไกล : hell


ฟังมาสามเพลงก็พอจะคาดได้แล้วว่างานนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ด้านดนตรีแน่นอน แต่ใน If You Ever Go To Houston***1/2 ดนตรีกลับฉีกแนวออกไป ป๋าเล่าเรื่องเกี่ยวกับความรักที่สูญหาย แอคคอร์เดียนนำทางอย่างโดดเด่น


This Dream Of You ****เป็นเพลงรักอีกเพลงในอัลบั้มที่ฟังดูดีกว่า Life Is Hard ป๋าบอกว่าเพลงนี้พยายามแต่งในแบบ Doc Pomus ถ้าเพลงนี้มีมิวสิกวิดีโออาจไม่ต้องมีอะไรมากกว่าป๋านั่งซดวิสกี้ในซาลูนเก่าๆอย่างบ้าคลั่งด้วยความอกหักในรัก ป๋าร้องเพลงนี้ได้ปวดร้าวสุดๆครับ เพลงเดียวในอัลบั้มที่ป๋าฉายเดี่ยวในการแต่ง


Shake Your Mama*** เป็น fast blues ที่เหมือนพยายามจะ sexy ก็แก้ง่วงได้เหมือนกัน


I Feel A Change Comin’ On**** เดี๋ยวนี้พอเพลงมีคำว่า change เข้ามาเกี่ยวก็จะพาลคิดไปเองว่าพูดถึง Obama แต่เพลงนี้ไม่ใช่หรอกครับ ก็เป็นเพลงรักอีกเหมือนกัน (แม้ว่าป๋าเองก็เป็นหนี่งในศิลปินที่ชื่นชมโอบ่าม่าออกนอกหน้า) เยี่ยมทั้งทำนองและเนื้อหาที่นานๆจะได้เห็นดีแลนจีบสาวแบบเว้ากันซื่อๆ "If you wanna live easy/Baby, pack your clothes with mine." แฟนๆของ If Not For You คงจะชอบ และผมคิดว่าถ้าจะเปิดอัลบั้มนี้ทางวิทยุเมืองไทยก็น่าจะเลือกเพลงนี้นะ


ก่อนที่จะมีนักวิจารณ์ผู้ชาญฉลาดออกมาปรามาสว่าป๋าหมดน้ำยาในการเขียนเพลงระดับคลาสสิกแล้ว ป๋าก็แปะเพลง สุดท้ายของอัลบั้มด้วย It’s All Good ****ที่เหมือนทุกคนในวงพร้อมใจกันอมฮอลล์รสซ่าหรือฉีดยากระตุ้นประสาทเข้าเส้น มันคือ Desolation Row แห่งยุค 2000’s ด้วยการเขียนเนื้อเพลงแบบดีแลนแท้ๆ (ในแบบหนึ่ง...) นั่นหมายความว่า บางทีสิ่งที่ดีแลนบอกเขากำลังหมายความในแบบตรงข้ามโดยสิ้นเชิง


ในการให้สัมภาษณ์เร็วๆนี้ ถามว่าป๋าคิดว่าอัลบั้มใหม่ของป๋าเป็นไงในความเห็นของป๋าเอง“ผมคิดว่าแฟนๆของผมน่าจะชอบมัน นอกจากนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”


อัลบั้มนี้เป็นแผ่นแรกในรอบ39ปีของป๋าที่ขึ้นอันดับ 1 ในอังกฤษ....


หมายเหตุ. ในเวอร์ชั่นพิเศษของอัลบั้มนี้จะมีดีวีดีบทสัมภาษณ์ของป๋าเอง และซีดีอีกแผ่นที่เป็นบันทึกจากรายการ Theme Time Radio Hour ที่ป๋าเป็นดีเจเอง โดยแต่ละครั้งป๋าจะเปิดเพลงที่มีเนื้อหาเป็น theme เดียวกัน ในแผ่นที่แถมมาให้นี้เป็นใน theme Friends & Neighbors ต้องยอมรับว่าป๋าจัดเพลงได้เก่งไม่แพ้แต่งเพลงเลย! (ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนอาจจะชอบแผ่นแถมนี้มากกว่า!)


Disc two Theme Time Radio Hour: Friends & Neighbors 1. "Howdy Neighbor" (J. Morris) – Porter Wagoner & The Wagonmasters 2. "Don't Take Everybody to Be Your Friend" (M.Gabler/R. Tharpe) – Sister Rosetta Tharpe 3. "Diamonds Are a Girl's Best Friend" (L. Robin/J. Styne) – T-Bone Burnett 4. "La Valse de Amitie" (O. Guidry) – Doc Guidry 5. "Make Friends" (E. Mcgraw) – Moon Mulligan 6. "My Next Door Neighbor" (J. McCain) – Jerry McCain 7. "Let's Invite Them Over" (O. Wheeler) – George Jones & Melba Montgomery 8. "My Friends" (C. Burnett/S. Ling) – Howlin' Wolf 9. "Last Night" (W. Jones) – Little Walter 10. "You've Got a Friend" (C. King) – Carole King 11. "Bad Neighborhood" (Caronna/M. Rebennack) – Ronnie & The Delinquents 12. "Neighbours" (M. Jagger/K. Richards) – The Rolling Stones 13. "Too Many Parties and Too Many Pals" (B. Rose/M. Dixon/R. Henderson) – Hank Williams 14. "Why Can't We Be Friends" (S. Allen/H. Brown/M. Dickerson/J. Goldstein/L. Jordan /C. Miller/H. Scott/L. Oskar) – War

Yes,Pet Shop Boys.


Pet Shop Boys-Yes (2009)***1/2

Released date: เมษายน 2009

Producer: Pet Shop Boys, Xenomania

แนวดนตรี: Synth Pop


Tracklist: (ในวงเล็บคือชื่อผู้ประพันธ์)
1. "Love etc." (Tennant/Lowe/Higgins/Cooper/Powell/Parker)3:32

2. "All over the world" (Tennant/Lowe/Tchaikovsky)3:51

3. "Beautiful people" (Tennant/Lowe) 3:42

4. "Did you see me coming?" (Tennant/Lowe)3:41

5. "Vulnerable" (Tennant/Lowe) 4:47

6. "More than a dream" (Tennant/Lowe/Cooper/Higgins/Resch/Jones) 4:57

7. "Building a wall" (Tennant/Lowe) 3:50

8. "King of Rome" (Tennant/Lowe) 5:31

9. "Pandemonium" (Tennant/Lowe) 3:43

10. "The way it used to be" (Tennant/Lowe/Cooper/Higgins/Coler) 4:44

11. "Legacy" (Tennant/Lowe 6:21



จะว่าไปผมก็ฟังดนตรีของ Neil Tennant และ Chris Lowe มาตั้งแต่พวกเขาเริ่มดังกันใหม่ๆในเพลงสุดฮิตอย่าง West End Girls, It’s A Sin, Rent หรือ What Have I Done To Deserved This? ที่ทำให้เด็กเกรียนรุ่นนั้นได้รู้จักกับเสียงร้องสุดคลาสสิกของท่านแม่ Dusty Springfield


ใครจะไปคิดว่าคู่ดูโอท่าทางตลกๆทำเพลงน่ารักๆเต้นๆป๊อบๆอย่างนี้จะอยู่ยงคงกระพันมาจนจะ 30 ปีเข้าไปแล้ว!


Yes เป็นอัลบั้มที่ 10 ของพวกเขา และเป็นข่าวดีของแฟนๆเก่าแก่โดยแท้ที่ PSB กลับมาเล่นดนตรีดิสโก้-ซินธ์ป๊อบในแบบดั้งเดิมของพวกเขากันอีกครั้ง หลังจากพยายามเล่นแนวลึกล้ำหม่นหมองในอัลบั้มก่อน Fundamental แต่ผลตอบรับไม่ดีนัก แฟนพันธุ์แท้หลายคนยกให้นี่เป็นงานที่ดีที่สุดของวงนับตั้งแต่ Very ในปี 1993


Yes, Pet Shop Boys. แค่ชื่ออัลบั้มก็เหมือนบอกกลายๆแล้วว่า นี่ล่ะจ้ะ เพ็ท ช็อป บอยส์ ขนานแท้กลับมาแล้ว ปกอัลบั้มเรียบง่ายและชื่ออัลบั้มที่สั้นจู๋อย่างที่พวกเขาชอบทำ และแม้ว่า PSB จะกลายเป็นตำนานในการทำเพลงป๊อบของอังกฤษไปแล้ว แต่พวกเขาก็ยอมสลัดอีโก้ออกไป(บางส่วน) เพื่อทำงานร่วมกับทีมงานใหม่ๆ ในอัลบั้มนี้พวกเขาโปรดิวซ์ร่วมกับ Brian Higgins แห่งทีมโปรดักชั่น Xenomania ( ผู้โปรดิวซ์ให้ Sugababes, Girls Aloud) และได้มือดีอย่าง Johnny Mars อดีต The Smiths มาเล่นกีต้าร์และฮาร์โมนิกาให้ รวมทั้ง Owen Pallett ผู้เคยฝากผลงานกับ Arcade Fire และ The Last Shadow Puppets มาเขียนสกอร์เครื่องสายให้ด้วย (เพลง ‘Beautiful People’ ออกมาในแนว Last Shadow Puppets ไปเลย)
Pet Shop Boys เคยร่วมงานกับ Xenomania ให้เราฟังมาก่อนหน้านี้แล้วในเพลง The Loving Kind ของ Girls Aloud (เคยรีวิวไปแล้ว) ก็พอจะบอกได้ว่าเป็นการจับคู่ที่ไม่น่าจะมีปัญหา จะว่าไปถ้าไม่มีข้อมูลก็แทบจะไม่รู้สึกว่างานอัลบั้ม Yes นี้เป็นการโปรดิวซ์ร่วมกับ Xenomania เพราะซาวนด์ของทั้งคู่ก็ไม่ได้หนีกันนักอยู่แล้ว


Xenomania อาจจะช่วยทำให้เพลงของ PSB กระชับและมีบีทที่กระชุ่มกระชวยสดใสขึ้น แต่ละเพลงดูจะไม่ลังเลที่จะกระโจนเข้าสู่ท่อนคอรัสเพื่อจะรัดคอผู้ฟังให้อยู่หมัด กล่าวคือ เพลงป๊อบยุคนี้ไม่จำเป็นอีกแล้วว่าจะต้องมีท่อนเวิร์สสองท่อนแล้วจึงคอรัส ผมเชื่อว่า Yes ที่ไม่มี Xenomania ก็คงไม่เลวร้าย แต่ไม่น่าที่จะติดหูและแพรวพรายขนาดนี้


Yes ไม่ได้มีแต่เพลง upbeat ล้วนๆแต่อย่างใด PSB ยังหยอดเพลงที่ลุ่มลึกเชื่องช้า (และอาจจะน่าเบื่อ) เอาไว้เป็นระยะๆ แต่เพลงที่เป็น highlights จริงก็คือเพลงสนุกสนานชวนเต้นรำของพวกเขานั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็น Love, etc. ****ซิงเกิ้ลแรกที่กระหึ่มฮึกเหิมชวนให้คิดถึงวันคืนที่พวกเขา cover เพลง Go West ของ Village People, All Over The World*** สะดุดหูด้วยการขอยืมธีมจาก The Nutcracker ของ คีตกวี Tchaikovsky มาใช้ในช่วงอินโทร โดยเนื้อหามันคือ Silly Love Songs ของ PSB, Did You See Me Coming?**** อีกเพลงที่ชื่อเพลงสองง่ามสองแง่อย่างที่พวกเขาชอบทำ ดนตรีในเพลงนี้สดใสสวยงามเหลือเกิน แต่เพลงเอกจริงๆต้องยกให้ Pandemonium ***** ที่เหมือนกับจับ Stock/Aitken/Waterman ทีมสร้างเพลงป๊อบสำเร็จรูปชื่อดังแห่งยุค 80’sไปทำงานในยุคโมทาวน์แล้วเขียนเพลงมาให้ Pet Shop Boys เล่น นี่เป็นเพลงที่ผมภูมิใจเสนอยกให้เป็นเพลงคลาสสิกเพลงล่าสุดของพวกเขาครับ! ปิดอัลบั้มด้วยเพลงยาวเหยียด Legacy*** ที่แสดงถึงความลึกล้ำของฝีมือคีย์บอร์ดของ Chris Lowe อย่างแท้จริง


นอกจากฝีมือการเขียนท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนระดับเจ้าสำนักและเนื้อเพลงที่คมคายแหวกโลกที่เป็นจุดเด่นเสมอมาของพวกเขาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชมเสมอมาสำหรับ PSB ก็คือการใช้ซินเธอะไซเซอร์และคีย์บอร์ดได้อย่างชาญฉลาด พวกเขาทำให้เครื่องดนตรีสังเคราะห์เหล่านี้มีชีวิตชีวาไม่แพ้เครื่องดนตรีอคูสติกแท้ๆ และไม้ตายเด็ดๆทั้งสามท่าของพวกเขาที่กล่าวมาในย่อหน้านี้ก็ยังอยู่ดีใน Yes


แฟนเก่ารุ่นบุกเบิกของ PSB คงกระดี้กระด้ากันไปแล้ว ส่วนนักฟังที่ไม่เคยสัมผัสงานของพวกเขาก็สามารถเริ่มต้นได้ที่นี่เลยครับ จะฟังเพลินๆยามพักผ่อนหรือจะใช้ประกอบการเต้นรำก็เข้าทีทั้งนั้นสำหรับ Yes

Wednesday 8 April 2009

PICTURES AT AN EXHIBITION


EMERSON, LAKE AND PALMER: PICTURES AT AN EXHIBITION (Deluxe Edition PLATINUM/VICTOR 2008) ****

ออกปี-2008 (ฉบับดั้งเดิมปี 1971)
บันทึกเสียง-มีนาคม 1971
โปรดิวเซอร์-Greg Lake
เอ็นจิเนียร์-Eddie Offord
แนวดนตรี-Progressive/Classical Rock


Platinum บ้านเราผลิตงานชุดนี้ออกมาในแบบ gatefold สองซีดี แพ็คเกจเนี้ยบไม่แพ้ของต่างประเทศ แถมราคายังเท่าซีดีแผ่นเดียว ต้องอย่างนี้สิครับถึงจะฟัดกับพวกของปลอมและการดาวน์โหลดฟรีๆได้ ผมเชื่อว่าถ้ารูปลักษณ์ของสื่องดงามน่าสะสมในราคาขนาดนี้คงไม่มีใครอยากเก็บของเทียมหรือแค่เป็นวิญญาณล่องลอยอยู่ในฮาร์ดดิสก์หรอกครับ Platinum ออกชุดนี้มาพร้อมๆกับ Deluxe Edition ของ Brain Salad Surgery ที่เป็นงานระดับตำนานอีกชุดของวงการร็อคก้าวหน้าและซับซ้อนที่เรียกกันว่า Progressive Rock ที่ผมอาจจะนำมาพูดถึงในโอกาสต่อไป โดยทั่วไปคอลัมน์นี้จะเน้นไปที่งาน new released แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยมีงานออกใหม่ที่โดดเด่น จึงขอฉวยโอกาสนี้ขุดงานคลาสสิกมาแนะนำกัน (จ้องมานานแล้ว)

ELP คือกลุ่มนักดนตรีสามคนที่ประกอบไปด้วย Keith Emerson อดีตจากวง The Nice พ่อมดคีย์บอร์ดผู้มีลีลาการเล่นซินธ์บนเวทีดุเดือดไม่แพ้ Jimi Hendrix, Greg Lake มือเบสและนักร้องผู้มีเครดิตที่ยิ่งใหญ่มาจาก King Crimson เขามีเสียงที่ก้องกังวานและน่าหลงใหลที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลงร็อคยุคนั้น และ Carl Palmer มือกลองและเพอร์คัสชั่นที่ได้ชื่อว่ากระหน่ำกลองได้เร้าใจและสนุกสนานที่สุด เขาเคยอยู่วง Atomic Rootster มาก่อน แม้จะได้ชื่อว่าเป็น Progressive Rock แต่งานบันทึกเสียงของ ELP นั้นมันแตกต่างจากงานที่ซับซ้อนหดหู่หรือชวนปวดหัวอย่างวงอื่นๆในยุคเดียวกัน อดีตนักเขียนดนตรีชื่อดังของบ้านเรา-คุณพัณณาศิสแห่ง Starpics เคยสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า ในขณะที่วงดนตรีอื่นๆอย่าง Yes พยายามทำดนตรีให้ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ ELP กลับทำในสิ่งตรงข้าม เขานำ serious music อย่างดนตรีคลาสสิกมาทำให้ฟังง่ายขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาทำก็ไม่ได้ถูกใจทุกคนเสมอไป ดีเจชื่อดัง John Peel เคยเอ่ยถึงพวกเขาไว้หลังการแสดงครั้งหนึ่งว่า “ช่างเป็นอะไรที่สูญเปล่าของเวลา,อัจฉริยภาพ และค่าไฟ”

Pictures At An Exhibition คือการนำเอางาน classical music ของ Mussorgsky ในฉบับดัดแปลงโดย Ravel มาตีความใหม่ด้วยการบรรเลงของคีย์บอร์ด กีต้าร์ เบส และ กลอง มันเป็นไอเดียของ Keith หลังจากที่เขาได้ฟังงานชิ้นนี้จากคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งโดยบังเอิญ Keith กำลังมองหาเพลงคลาสสิกดีๆมาเล่นกับวงอยู่พอดี เพราะเขามีความรู้สึกว่า Greg ยังไม่ค่อยจะยอมรับงานประพันธ์ดนตรีของเขาเองเท่าไหร่นัก แต่สำหรับงานนี้ Greg มองเห็นศักยภาพของชิ้นงานทันที และ Pictures At An Exhibition ก็กลายเป็นดนตรีที่พวกเขาใช้ในการแสดงสดเป็นประจำตั้งแต่นั้นมา

มีความพยายามในการบันทึกเสียง Pictures At An Exhibition บนเวทีหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งไหนสมบูรณ์ จนกระทั่งเอ็นจิเนียร์มือเทพ Eddie Offord ลงมาคุมงานด้วยตัวเองในการบันทึกเสียงการแสดงที่ Newcastle City Hall เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1971 คราวนี้มันเป็นการแสดงและการบันทึกเสียงที่เฉียบขาดและสอบผ่านการพิจารณาของสมาชิกทุกคน Keith เล่าให้ฟังว่า นอกจากปัญหาด้านเทคนิคที่ Eddie จัดการได้หมดแล้ว พวกเขาก็ตั้งใจเล่นในคืนนั้นกันเป็นพิเศษ มาถึงที่ฮอลล์และซ้อมกันตั้งแต่เช้าจนแน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดพลาด อีกทั้งผู้ชมในคืนนั้นก็ตอบรับอย่างอบอุ่น การแสดงสดเพลงร็อคที่สมบูรณ์แบบจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีของผู้ให้และผู้รับ การบันทึกเสียงในอัลบั้มนี้ยอดเยี่ยมและชัดเจนจนมีหลายคนสงสัยว่ามีการนำไปแต่งเสียงในห้องอัดกันแค่ไหน แต่ใจผมคิดว่า 90% น่าจะมาจากมาสเตอร์เทปที่ทำได้เยี่ยมอยู่แล้ว (ผมมีเหตุผลอยู่ในใจ)

นอกจากเป็นงานประพันธ์ของคีตกวี Mussorgsky แล้ว ELP ยังแต่งเพลงเพิ่มเสริมเข้าไปอีกบางส่วน เช่น The Sage โดย Lake, Blues Variation โดย Emerson และ The Curse Of Baba Yaga โดย Palmer แต่การแสดงกลับจบด้วยงานของ Tchaikovsky ‘Nutrocker’

Deluxe Edition นี้มีเพลงแถมในซีดีแรก (ต่อจาก original album) คือ Pictures At An Exhibition Medley ยาว 15:26 นาที ที่ไม่มีการให้รายละเอียดว่าเป็นการแสดงที่ไหน แต่คาดว่าน่าจะเป็นการแสดงที่ Isle Of Wight Festival ในวันที่ 29 สิงหาคม 1970 ส่วนซีดีแผ่นสองคือการบันทึกเสียงที่ Lyceum เมื่อเดือนธันวาคม 1970

Pictures At An Exhibition มีความสำคัญในแง่ที่เป็นการนำเพลงคลาสสิกมาตีความเป็นร็อคได้อย่างสร้างสรรค์และได้ประสิทธิผลที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มันยังเป็นการบันทึกการแสดงสดของสุดยอดฝีมือร็อคทริโอที่คุณต้องฟังด้วยหูตัวเองถึงจะซาบซึ้งถึงความเป็นอัจฉริยะแห่งการบรรเลงของพวกเขา นั่นคือยุค 70’s ที่มนุษยชาติยังพอมีเวลาเหลือเพียงพอให้กับดนตรีที่สุรุ่ยสุร่ายอย่าง Progressive Rock

Ray Guns are not Just the Future: The Bird And The Bee


The Bird And The Bee: Ray Guns Are Not Just The Future (Blue Note 2009)

ออกเมื่อ-มกราคม 2009
บันทึกเสียง-2008
โปรดิวเซอร์- Greg Kurstin / Inara George
แนวดนตรี-Pop/Electronic/Lounge/Easy Listening/Lite Jazz

Track listing
1. "Fanfare" – 0:29
2. "My Love" – 3:46
3. "Diamond Dave" – 3:14
4. "What's in the Middle" – 3:21
5. "Ray Gun" – 4:42
6. "Love Letter to Japan" – 4:07
7. "Meteor" – 3:21
8. "Baby" – 3:50
9. "Phil" – 0:10
10. "Polite Dance Song" – 3:47
11. "You're a Cad" – 3:10
12. "Witch" – 3:55
13. "Birthday" – 3:48
14. "Lifespan of a Fly" – 3:14

สองปีก่อนอัลบั้ม The Bird And The Bee สร้างความชุ่มฉ่ำในหัวใจให้นักฟังเพลงแนวป๊อบ-แจ๊ส-อีเล็กโทรนิกแบบกระจุ๋มกระจิ๋ม ด้วยเพลงดัง Again & Again ที่ฟังวนไปวนมากันได้ทั้งวันเหมือนชื่อเพลง และอีกแทร็คชื่อหวาดเสียว F_cking Boyfriend เสียงร้องของ “Bird” นั้นช่างหวานใสทรงเสน่ห์ ส่วน “Bee” นั้นก็ช่างคิดช่างปรุงดนตรีได้แพรวพราวน่าฟัง ทั้งๆที่เป็นดนตรีที่สร้างสรรค์จากเครื่องเคราอีเล็กโทรนิกเป็นส่วนใหญ่ อัลบั้มนั้นถือเป็นงานที่ดังเงียบๆและได้รับความชื่นชมเป็นอย่างดีจากนักวิจารณ์ allmusic.com ยกยอว่าเป็นงานที่ “ไม่อาจห้ามใจ(ให้รัก)ได้” เพราะมัน “เต็มไปด้วยเสน่ห์และสดชื่นไปเสียทุกซอกทุกมุม”

The Bird And The Bee คือ Duo จากลอสแองเจอลิส “Bird” คือนักร้องสาวเสียงใส Inara George (ตัวเธอเองก็มี solo albums ออกมาเหมือนกัน) ส่วน “Bee” มีนามว่า Greg Kurstin โปรดิวเซอร์หนุ่มและนักคีย์บอร์ดผู้มีเครดิตการทำงานให้ศิลปินป๊อบยาวเหยียด อาทิ Lily Allen, Beck ,Kylie, The Flaming Lips ยัน Red Hot Chili Peppers เครดิตล่าสุดที่ทำให้คนเริ่มจำชื่อเขาได้คือการเป็นโปรดิวเซอร์เดี่ยวๆ (รวมทั้งการช่วยในด้านการแต่งเพลง) ให้อัลบั้มที่สองของสาวซ่าส์ Lily Allen: It’s Not Me, It’s You (รีวิวไปแล้วใน GM2000 เล่มก่อนครับ)

Ray Guns Are Not Just The Future ออกมาก่อนหน้าอัลบั้มของ Lily Allen สองสัปดาห์ และไม่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาเปรียบเทียบก็บอกได้ทันทีว่าสองอัลบั้มนี้ต้องมีคน “ทำดนตรี” คนเดียวกันแหงๆ เพราะซาวนด์เหมือนกันชนิดสามารถสลับนักร้องกันได้โดยไม่มีปัญหา (ปัญหาก็คือหลายเพลงที่เสียงของ Lily และ Inara ยังคล้ายๆกันเข้าไปอีก) ถ้าคุณชอบอัลบั้มของ Lily ก็คงจะชอบ Ray Guns… ล่ะครับ เพียงแต่มันมีความเป็นแจ๊ซมากกว่า ซ่าส์น้อยกว่า แต่หลากหลายและลึกซึ้งเป็นผู้ใหญ่กว่า ถ้ามองในแง่ฝีมือในการทำงานแบบโปรดิวเซอร์ต้องถือว่า Greg ยังต้องปรับปรุง เพราะแกใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปเต็มเหนี่ยวเหลือเกิน แต่ไม่ได้หมายความแต่ละเพลงในอัลบั้มจะเหมือนกันไปหมดนะครับอย่าเข้าใจผิด

แต่อย่าไปตั้งแง่มุมอะไรให้มันเสียอารมณ์ เพลงไพเราะและดนตรีดีๆอย่างนี้มีให้ฟังก็ดีแล้ว ทุกเพลงในอัลบั้ม Ray Guns.. สามารถเปิดฟังสบายๆได้ทุกสถานการณ์ตั้งแต่ล้างรถ,ออกกำลังกาย ,เป็นเพลงประกอบ video link หรือทำวิทยานิพนธ์ แต่ถ้ามีเวลาจะใส่หูฟังเพื่อละเมียดเอารายละเอียดก็จะพบอะไรซ่อนเร้นอยู่อีกมาก คงไม่ต้องบรรยายกันทุกเพลงสำหรับอัลบั้มนี้ แต่ถ้าอยากจะลอง download มาฟังเป็นตัวอย่างชิมลาง ก็ขอแนะนำ My Love, Baby, Birthday ในแนวอ้อยสร้อยหวานแหวว แต่ถ้าจะอยากฟังอะไรที่กระชุ่มกระชวยขึ้นมาอีกนิดก็ลอง Love Letter To Japan หรือ Meteor ครับ

อัลบั้มแหววๆนี้อาจจะไม่ cool หรือเท่นักถ้าคุณจะบอกว่ามันเป็นงานที่คุณโปรดปรานให้เพื่อนๆสุดฮิปของคุณฟัง แต่นั่นคือความหมายของ Guilty Pleasure ล่ะครับ สรุปง่ายๆว่าเป็นงานที่เหมาะสำหรับคนชอบฟังเพลงอีเล็กโทรนิกป๊อบที่ขับกล่อมโดยนักร้องสาวเสียงหวาน...ออกแจ๊ซล่องลอยนิดๆ หรือถ้าคุณเป็นนักฟังรุ่นใหญ่ที่หลงใหลเพลงในแนว lounge music มาก่อนก็จะไม่ผิดหวังกับงานนี้แน่นอน ไม่ว่าจะอย่างไร มันก็กลายเป็นอัลบั้ม “รับแขก” อันดับ 1ของบ้านผมไปแล้วครับ

อัลบั้มในแนวๆเดียวกันที่คุณน่าจะชอบถ้าคุณชอบ Ray Guns… Diana Krall / Quiet Nights, Melody Gardot / My One and Only Thrill, She & Him / Volume One, Santogold / Santogold และถ้าอยากขยายขอบเขตในการฟังขึ้นไปอีกนิดก็แนะนำ Everything That Happens Will Happen Today ของ David Byrne และ Brain Eno ครับ (ชื่อชั้นอาจจะดูน่าสะพรึงกลัว แต่ดนตรีไพเราะและฟังง่ายเกินความคาดหมาย)

(รีวิวนี้เขียนเสร็จตอนรุ่งเช้าวันที่ 8 เมษายน ก็หวังว่า Guns are just the faraway future นะ)

Monday 6 April 2009

Tonight: Franz Ferdinand






Franz Ferdinand/ Tonight: Franz Ferdinand (Domino records 2009)****
ออกจำหน่าย-26 มกราคม 2009
แนวดนตรี-Alternative Dance, Pop Punk
โปรดิ วเซอร์- Dan Carey & Franz Ferdinand
ทุกเพลงแต่งโดย Franz Ferdinand

ULYSSES
TURN IT ON
NO YOU GIRLS
SEND HIM AWAY
TWILIGHT OMENS
BITE HARD
WHAT SHE CAME FOR
LIVE ALONE
CAN’T STOP THE FEELING
LUCID DREAMS
DREAM AGAIN
KATHERINE KISS ME

You Could Have It So Much Better… (2005) อัลบั้มที่สองของวง post-punk revival จากกลาสโกว์วงนี้ได้รับคำยกย่องไม่น้อยไปกว่าอัลบั้มเปิดตัวของพวกเขา แต่เมื อเวลาผ่านไปสามปี แทบไม่มีใครจำอะไรจากอัลบั้มนั้นได้ แต่เมื่อพูดถึง Franz Ferdinand ผู้คนก็ยังคิดถึงซิงเกิ้ล Take Me Out และท่วงทำนองร็อค-พังค์ที่ชวนฉุดกระชากคู่เต้นสู่ฟลอร์เต้นรำนั้นจากอัลบั้มแรกมากกว่า (มีผู้ให้การสังเกตไว้นานแล้วว่าแนวดนตรีของพวกเขามีจังหวะจะโคนเหมือนเพลง “เซิ้ง” ของอีสานบ้านเราอย่างน่าประหลาด) Franz Ferdinand ดูจะพยายามแสดงว่าพวกเขามีดีมากกว่าทำเพลงเต้นรำอย่างเดียวในอัลบั้มที่สอง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องผิดพลาดอะไร โลกรับรู้แล้วว่าพวกเขาทำได้ แต่สิ่งที่แฟนๆต้องการฟังจริงๆคือ Franz Ferdinand ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำเพลงอินดี้ร็อคที่เต้นกันได้อย่างไม่เคอะเขิน และนี่คือสิ่งที่คุณจะได้ยินจากอัลบั้มที่สามของพวกเขา Tonight: Franz Ferdinand

แต่วงดนตรีที่ดีย่อมไม่ย้อนรอยตัวเองโดยไม่แสดงถึงความเติบโตทางฝีมือและความคิด แม้ภาพรวมของ Tonight.. จะมองได้ไม่ยากว่าจะเน้นเพลงบีทสนุกในคอนเซพท์เดิมจากอัลบั้มแรก... “เพลงร็อคที่สาวๆจะเต้นไปด้วยได้” แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายช่วงเวลาใน 12 แทร็คของอัลบั้มนี้ที่ Alex Kapranos และเพือนๆได้แสดงให้เราเห็นว่าพวกเขามีพัฒนาการขึ้นทั้งทางด้านแนวคิด ฝีมือ และการเขียนเนื้อเพลง เสียงซินเธอะไซเซอร์ฝีมือ Nick McCarthy โดดเด่นกว่างานที่ผ่านๆมาของวง (คีย์บอร์ดตัวที่พวกเขาใช้ในอัลบั้มนี้โดยเฉพาะในเพลง Ulysses และ Lucid Dreams คืออนาล็อคซินธ์ Polyvox ที่เป็นของรัสเซียผลิตในยุค 80’s ถือเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เป็นความชาญฉลาดในการเลือกใช้ทำให้ได้ซาวนด์ที่แตกต่างจากวงร่วมสมัย) ในขณะที่ริธึ่มกีต้าร์ที่เต็มไปด้วยสีสันของ Alex และ Nick ก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของ Franz Ferdinand ที่ฟังปุ๊บก็รู้ว่าเป็นใคร

Tonight… เป็นคอนเซ็พท์อัลบั้มของเรื่องราวการท่องราตรีในคืนหนึ่งของชายหนุ่มที่เต็มไปด้วยสาระของการดื่มกิน-เต้น-และสาวๆสุดเซ็กซ์ เริ่มตั้งแต่การออกสตาร์ทใน Ulysses ในช่วงหัวค่ำ จนกระทั่งรุ่งสางกับความว่างเปล่า และมึนงงใน Katherine Kiss Me Franz นำเสนอเพลงที่เป็น upbeat ใส่ผู้ฟังอย่างไม่เกรงใจ 10 เพลงรวด ก่อนที่จะผ่อนลงในสองเพลงสุดท้าย Ulysses***** เพลงเปิดอัลบั้มและเป็นซิงเกิ้ลแรก อาจจะฟังยากและดูเฉื่อยช้าเกินไปสำหรับเพลงโหมโรงของวงอย่าง Franz Ferdinand แต่ถ้าคุณให้เวลากับมันสักนิด จะพบว่านี่คือเพลงสุดยอดฝีมือของพวกเขาที่ผมยกให้เป็นเพลงที่ดีที่สุดที่พวกเขาเคยทำมา ชื่อเพลงมาจากหนังสือคลาสสิกของ James Joyce หรืออาจจะมาจากชื่อของพระราชาองค์หนึ่งในเทพนิยายกรีก แต่ในเพลงนี้มันคือผู้ชายคนหนึ่งที่ “หลง” ไปในวังวนแห่งหนึ่งไปนานแสนนาน และเขากำลังกลับมา Alex กระซิบกระซาบราวกับเสียงปิศาจ ‘Well I’m bored, come on let’s get high…” ก่อนเข้าท่อนคอรัสที่เด็ดขาดจนไม่อาจมีอะไรมาหยุดมันได้

หลังจากนั้นก็ดีดดิ้นกันไปในเพลงแบบ Franz Franz ที่แม้จะคาดเดากันได้ แต่ด้วยฝีมือและการเขียนท่อนฮุคที่เป็นพรสวรรค์ของพวกเขาจึงทำให้ไม่เกิดความเบื่อหน่าย แต่ Franz ก็ยังเก็บเพลงเอกอีกเพลงไว้ในแทร็คที่ 10 Lucid Dreams**** (ชื่อเพลงหมายถึงความฝันที่คนฝันรู้ตัวว่าฝันอยู่และสามารถควบคุมมันได้ราวกับเล่นเกม) ที่มีความยาวเกือบ 8 นาที สามนาทีสุดท้ายเป็น electronic jam ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง (รายงานว่าต้นฉบับที่ไม่ตัดต่อพวกเขาลากยาวกันถึง 45 นาที)

อัลบั้มนี้ได้เอ็นจิเนียร์มือเก่า Mike Fraser มามิกซ์ให้ในหลายแทร็ค สุ้มเสียงหนักแน่นละเมียดยิบไร้ที่ติ ส่วนโปรดิวเซอร์คือ Dan Carey ผู้เคยทำงานกับ Lily Allen, Brazilian Girls, Hot Chips และ CSS

Tonight: Franz Ferdinand ขึ้นถึงอันดับ2ในอังกฤษและ 9 ในอเมริกา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแบบเอาตัวรอดได้ ถ้าคุณชอบอัลบั้มแรกของพวกเขาหรือเพลงอย่าง Michael, Take Me Out นี่จะเป็นโอกาสที่จะได้ฟัง upgraded versions ของเพลงเหล่านั้นครับ และผมยังเชื่อว่าถ้าไม่เลิกรากันไปเสียก่อน Franz Ferdinand ยังมีโอกาสสร้างอะไรดีๆให้วงการดนตรีอีกมาก

Amy Winehouse: Back To Black


ผู้หญิงที่อื้อฉาวและโด่งดังที่สุดในวงการดนตรีในรอบปีที่ผ่านมา? หลีกทางไปหน่อยนะ บริทนีย์ ปารีส หรือลินด์เซย์ โลฮาน เส้นทางนี้เป็นของเธอคนเดียวเท่านั้น Amy Winehouse ปี 2007 สำหรับเธอชีวิตเต็มไปด้วยสีสันสุดขั้ว ทั้งบวกสุดๆและดิ่งสุดเหวี่ยง ด้านดนตรีเธอได้ทั้งเงินและกล่อง Back To Black เป็นซีดีที่ขายดีที่สุดแห่งปี และเสียงวิจารณ์ก็เป็นในแง่บวกทั้งสิ้น ไม่นับรางวัลที่เธอแทบจะตามรับกันไม่ไหว แต่ชีวิตส่วนตัวเต็มไปด้วยปัญหามากมายทั้งปัญหากับสามีและเรื่องการใช้ยาและการดื่ม หนักหนาจนน่าเป็นห่วง ว่ากันว่าคนที่จะร้องดนตรีโซลได้ถึงอารมณ์จริงๆนั้นต้องใช้ชีวิตเยี่ยงบทเพลงนั้นด้วย นี่อาจเป็นสิ่งที่เธอโดดเด่นออกมาเหนือชั้นกว่านักร้องโซลรุ่นเดียวกันอย่าง Joss Stone

Amy เป็นลูกสาวของคนขับแท็กซี่และเภสัชกรชาวยิวในลอนดอน ซึมซาบดนตรีจากแผ่นเสียงของแม่ เริ่มแต่งเพลงเองตั้งแต่อายุ 14 ปี หลังจากได้กีต้าร์ตัวแรกไม่นาน ตามมาด้วยการออกจากโรงเรียนและเริ่มยุ่งกับการใช้ยาตั้งแต่วัยนั้น แฟนหนุ่มของเธอเป็นคนส่งเดโมของเอมี่ไปให้บริษัทแผ่นเสียง ส่งผลให้ในปี 2003 เอมี่ก็ได้เซ็นสัญญากับ Island Records Frank เป็นอัลบั้มแรกของเธอในปี 2003 โปรดิวซ์โดย Salaam Remi ออกในแนวแจ๊ส-บลูส์ที่มีคนเปรียบเทียบเธอกับ Macy Gray และ Sarah Vaughan อัลบั้มได้เข้าชิงรางวัล Mercury Music Prize ในปีนั้น

เอมี่หายไปสามปี เธอกลับมาอีกครั้งพร้อมกับรอยสักและร่างกายที่ซูบแห้งในปี 2006 ด้วย Back To Black ที่เธอทำงานกับ Remi โปรดิวเซอร์คนเดิม และ Mark Ronson โปรดิวเซอร์หนุ่มที่กำลังมาแรง อัลบั้มนี้เธอลดโทนความเป็นแจ๊สลง แต่ใส่อิทธิพลสำเนียงโซลแบบโมทาวน์ไปเต็มๆ บวกกับเครื่องเป่าหนักหน่วงแบบที่ Ronson ถนัด (มรดกจากโซลแบบของ Stax/Atlantic ที่ Aretha Franklin และ Otis Redding สร้างชื่อเอาไว้ในยุคกลางซิกซ์ตี้ส์) คุณยังจะได้ยินการเรียบเรียงเสียงประสานแบบ Girl Groups และการมิกซ์เสียงหนาแน่นที่ Phil Spector สร้างชื่อเอาไว้ในนามว่า Wall Of Sound อ่านดูแล้ว Back To Black น่าจะเป็นงานที่ฟังแล้วโบราณย้อนยุค แต่ด้วยเสียงที่ไม่เหมือนใครของเอมี่ และความคึกคักในสำเนียงการโปรดิวซ์ของ Ronson ทำให้ Back To Black กลายเป็นความลงตัวของการผสมผสานเสียงของดนตรีโซลต่างทศวรรษ มันคือ Neo-Retro Soul ถ้าอยากจะเรียก...Amy มีเสียงที่ห้าวค่อนข้างใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความคมกริบในเนื้อเสียง ทุกโน้ตและทุกการเว้นวลีเต็มไปด้วยลีลาเฉพาะตัว ราวกับเป็นนักร้องที่ผ่านประสบการณ์การร้องหลายสิบปี ทั้งๆที่เธอเพิ่งอายุแค่ 24 ปีเท่านั้น

Rehab เพลงเปิดอัลบั้มและกลายเป็นเพลงคลาสสิกแห่งยุคสมัยไปแล้ว เนื้อหาเกี่ยวกับการปฎิเสธเข้าสถานบำบัดการติดยาติดเหล้าของเธอเอง มันเป็นกอสเพลโซลที่สมบูรณ์แบบ การพบกันของเพลงและเสียงของ Amy กับการโปรดิวซ์ของ Mark Ronson (เครื่องเป่าจี๊ด เสียงกลองคอมเพรสส์แน่น บวกเอ็คโค่แบบ 50's) นั้นเรียกว่าถูกคู่บุพเพสันนิวาสจริงๆ เพลงอื่นๆอาจจะไม่ติดหูทันทีอย่าง Rehab แต่มันเป็นงานที่ยิ่งฟังยิ่งไพเราะ Love Is A Losing Game ให้อารมณ์แจ๊สพริ้วเหงาเหมือนกับอัลบั้มแรกของเธอ Tears Dry On Their Own ใช้โครงสร้างจากเพลงคลาสสิกโมทาวน์ Ain’t No Mountain High Enough ถ้าชอบสไตล์ดูว็อปเศร้าๆต้องฟัง Wake Up Alone และปิดท้ายด้วย Addicted ที่กลับมาเรื่องยาๆอีกครั้งสมเป็นลูกสาวเภสัชกร

Deluxe Edition ออกมาเมื่อปลายปีก่อน มี Bonus Disc อีกแผ่นที่คุณจะได้ฟังเอมี่ร้องเพลง Valerie ของ The Zutons ได้อย่างสุดไพเราะ (คนละเวอร์ชั่นกับในอัลบั้มของ Mark Ronson ที่เธอไปเป็นแขกรับเชิญ) และ Cupid ของ Sam Cooke ที่เธอเอามาตีความในแบบเร็กเก้น่าฟังมากทีเดียว

ความสำเร็จของ Amy กับ Back To Black ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ฟังเริ่มเอียนเต็มกลืนกับศิลปินที่ถูก”สร้าง”ขึ้นมาจากเบ้าหลอมสูตรสำเร็จเดียวกัน เธอทำให้ดนตรีโซลจากสี่ทศวรรษที่แล้วกลับมากลายเป็นของ cool ได้ในบัดดล...!!!

Thursday 5 March 2009

Fleet Foxes ดนตรีเหนือกาลเวลา


Fleet Foxes-Fleet Foxes*****

ขยับจะเขียนถึงงานของวงห้าชิ้นจากซีแอตเติลวงนี้มาหลายเดือนแล้ว
แต่ติดที่ว่าไม่เห็นมีใครนำซีดีมาขายในบ้านเราเสียที
จนกระทั่งมันได้รับคำชื่นชมไปทั่วโลกตลอดปี 2008 ในที่สุดอัลบั้มแรกของ Fleet Foxes
ก็ได้มาเผยโฉมปกอันสุดคลาสสิกบนแผงเทป (ที่ไม่มีเทปแล้วแต่ยังติดปากเรียกกันอยู่)
ประเทศไทย แถมมาในแบบ Special Edition ราคาประหยัด ปก gatefold และยังพ่วง Sun
Giant EP มาให้อีก อะไรจะคุ้มขนาดนี้ (ปกอัลบั้มนำมาจากภาพเขียนเก่าแก่ในปี
1559)

ดนตรีแบบนี้เขียนช้าไปค่อนปีก็คงจะไม่สายเกินไป เพราะมันเป็นดนตรีที่ไม่ร่วมสมัยนิยมเอาเสียเลย แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นดนตรีย้อนยุค ไม่มีวงดนตรีหน้าใหม่วงไหนจะเล่นดนตรีแนวใหม่ขึ้นมาโดยไม่อาศัยบทเรียนและอิทธิพลจากศิลปินรุ่นก่อนหน้า และ Fleet Foxes ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่ความพิเศษของพวกเขาคือ การสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นซาวนด์ของวงโดยตรงทั้งในรูปแบบของดนตรี การบันทึกเสียง รวมถึงวิธีการเขียนเนื้อเพลง

พวกเขาเรียกแนวดนตรีของตัวเองว่า Baroque Harmonic Pop Jams ที่ผมคิดว่าเป็นการบรรยายที่ไม่เลว ดนตรีและเนื้อหาของพวกเขาสะท้อนถึงความเป็นอเมริกันย้อนหลังไปกว่าครึ่งศตวรรษ การประสานเสียงเป็นจุดขายที่โดดเด่น และพวกเขาก็ไม่ลืมความเป็น Pop ด้วยท่วงทำนองที่สละสลวย ตบท้ายด้วยคำว่า Jams ซึ่งในที่นี้ผมอยากจะตีความว่าเป็นทิศทางของดนตรีที่ยากจะคาดเดา หลุดพ้นโดยสิ้นเชิงจากสูตรสำเร็จของเพลงที่เราฟังกันอยู่ทุกวี่วัน ไม่น่าเชื่อว่านี่คืองานของกลุ่มเด็กหนุ่มวัยยี่สิบกว่าที่เพิ่งรวมตัวกันแค่สามปีเท่านั้น

มันสมองและหัวใจของ Fleet Foxes คือหนุ่มวัย22 ผมเผ้ากระเซิงพอๆกับเครารกครึ้ม Robin Pecknold ที่แต่งเพลงทุกเพลง,ร้องนำและเล่นกีต้าร์ เสียงร้องของเขาเข้มแข็งและอบอุ่น เต็มไปด้วยความมั่นใจในถ้อยคำทุกประโยคในเนื้อเพลง Robin และ Skyler Skjelset มือกีต้าร์อีกคนเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ high school ผู้ปกครองของทั้งคู่มีส่วนทำให้สองหนุ่มสนใจในวิธีการแต่งเพลงของ Bob Dylan,ความเป็นอิสระแบบ Neil Young,การทำชั้นดนตรีซ้อนซ้ำในแบบของ Brian Wilson,การตั้งสายกีต้าร์พิลึกพิลั่นของ Joni Mitchell และเสน่ห์ของชีวิตชนบทในดนตรีของ The Zombies -เหล่านี้กลายมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างดนตรีในแบบของ Fleet Foxes อย่างไรก็ตามต้องย้ำว่าพวกเขาไม่ได้ทำดนตรีย้อนยุคแบบเคารพต้นฉบับที่กล่าวมาแล้วแต่อย่างไร ถ้าจะไม่เกินเลยเกินไปผมอยากจะบอกว่า มันราวกับดนตรีของ Fleet Foxes ,อย่างน่าอัศจรรย์, ย้อนลึกกลับไปในห้วงเวลาเป็นสุ้มเสียงที่กลายเป็นต้นฉบับของศิลปินรุ่นพี่ป้าน้าอาเหล่านั้นอีกที!

อัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันในปี 2007 ที่บ้านของพวกเขา,บ้านเพื่อนๆและแม้กระทั่งบ้านพ่อ-แม่ รวมถึงสตูดิโอทั้งในอังกฤษและอเมริกา แต่สุ้มเสียงของมันกลับเหมือนพวกเขาเล่นกันอยู่ในโบสถ์เก่าๆที่ไม่มีใครเคยย่างกรายเข้ามานับสิบปี หรือในถ้ำเย็นยะเยือกท่ามกลางหินงอกหินย้อย ใต้ร่มไม้ กลางป่าเขาลำเนาไพร มากกว่าที่จะเป็นห้องอัดเสียงชั้นนำ มันยังเป็นอัลบั้มที่ใช้เสียงเอ็คโค่และดีเลย์ได้พร่ำเพรื่อ-แต่ทรงประสิทธิภาพที่สุดตั้งแต่ผมเคยฟังดนตรีมา ยากที่จะจินตนาการเพลงของพวกเขาโดยไม่มีเสียงก้องกังวานเหล่านั้นติดมาด้วย

Fleet Foxes คืองานคลาสสิกที่ไม่ต้องรอให้เวลาพิสูจน์ มันเต็มไปด้วยอารมณ์แห่งความเป็นมนุษย์ที่หาได้ยากในดนตรีทุกวันนี้ มิตรภาพ ครอบครัว ความสูญเสีย และการผจญภัย คือสิ่งที่คุณจะได้พบในโลกของพวกเขา มันเป็นงานเปิดตัวของศิลปินใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมานับจากอัลบั้มแรกของ Arctic Monkeys มันเยี่ยมเสียจนแทบจะมองไม่เห็นเลยว่า Pecknold และเพื่อนๆจะเอาตัวรอดกันได้อย่างไรกับอัลบั้มถัดไปของ Fleet Foxes

เพลงเด่น-White Winter Hymnal, Ragged Wood, Your Protector

Wednesday 4 March 2009

ยังไม่เห็นเส้นขอบฟ้าสำหรับวงดนตรีชื่อ "ยูทู"


U2 No Line On The Horizon (four and a half stars)



ผมก็เหมือนแฟนๆยูทูนับล้านๆทั่วโลกที่รู้สึกหงอย ใจหาย และอาจถึงขั้นสยดสยองกับซิงเกิ้ลแรกจาก No Line On The Horizon 'Get On Your Boots' ยิ่งจินตนาการเห็นผู้ชายวัยร่วม50มาดีดดิ้นกับเพลงเต้นรำแปลกๆอย่างนี้ยิ่งทำให้ฝันร้ายชัดเจนเข้าไปใหญ่ มันทำให้ผมแทบจะ ไม่หวังอะไรกับตัวอัลบั้มเลย ก็ธรรมดาซิงเกิ้ลมักจะเป็นเพลงที่ดีที่สุดของอัลบั้มไม่ใช่หรือ

แต่เมื่อได้ฟัง No Line... เต็มๆแล้ว ความวิตกเหล่านั้นก็อันตรธาน เพราะไม่มีเพลงใดออกไปในแนวทางเดียวกับ 'Boots' เลย และที่น่า ประหลาดคือเพลงนี้เมื่อมาแทรกอยู่กลางอัลบั้มที่เต็มไปด้วยอารมณ์แบบ ambient กลับโดดเด่นขึ้นกว่าลอยอยู่เพลงเดียวกลางอากาศ

ผมหาเหตุผลได้สองอย่างว่าทำไมยูทูถึงเลือก Boots เป็นซิงเกิ้ลทั้งๆที่มันน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่านั้นในหลายๆแทร็ค หนึ่งก็คือ พวกเขาใกล้ชิดกับ มันมากเกินไปจนไม่อาจเดาใจผู้ฟังได้ว่าถ้าฟังมันในฐานะซิงเกิ้ลแล้วมันไม่น่าจะเวิร์ค มันเป็นเพลงเต้นแร้งเต้นกาก็จริง แต่แฝงคุณค่าทางดนตรี และเนื้อหาที่ซับซ้อนแดกดันและอารมณ์ขันเต็มไปหมด...แน่นอนว่าแฟนๆอาจจะไม่ get เหตุผลที่สองที่ออกจะเป็นไปได้ยากก็คือ...พวกเขาต้องการลดความคาดหวังในตัวอัลบั้มลงด้วยการนำเพลงที่กระจอกที่สุดออกมานำร่อง ถ้าพวกเขาคิดอย่างนี้จริงๆก็ต้องยกให้เป็นอัจฉริยะทางการตลาดล่ะครับ

No Line On The Horizon คือทิศทางใหม่อีกครั้งสำหรับพวกเขา หลังจากหลงทางลงห้วยตกเขาไปกับอัลบั้ม Pop ช่วงทศวรรษ 90's จนหลาย คนคิดว่าพวกเขาจะหาทางกลับมาบนท้องถนนแห่งดนตรีป๊อบไม่ได้แล้ว พวกเขาก็ตั้งหลักใหม่และยื่นใบสมัครเพื่อเป็นวงร็อคที่ดีที่สุดในโลกอีก ครั้ง(คำพูดเว่อร์ๆของโบโน)ใน All That You Can't Leave Behind (2001) ที่จงใจจะให้เป็นยูทูแบบคลาสสิกเน้นความเรียบง่ายและจับใจ โลกตอบรับและโอบกอดสี่หนุ่มไอริชอย่างอบอุ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความโหยหาอารมณ์เดิมๆและบทเพลงในชุดนั้นมันเฉียบแทบทุกแทร็ค อัลบั้มต่อมา How To Dismantle An Atomic Bomb (2004) พบว่ายูทูยังเดินตามแนวทางเดิมเพียงแต่เพิ่มสีสันที่ดุเดือดขึ้นระดับหนึ่ง

...Atomic Bomb เป็นอัลบั้มที่เยี่ยม แต่สำหรับวงดนตรีที่อยากจะอ้างว่าเป็นวงที่ดีที่สุดในโลก งานแบบนั้นมันยังไม่สมศักดิ์ศรีเพียงพอ ผมบอก พวกเขาผ่านทางกระแสจิตตั้งแต่สี่ปีก่อนแล้วว่า อัลบั้มต่อไปของพวกพี่ๆจะมาเดินตามทางเดิมอย่านี้ไม่ได้แล้วนะ พวกเขาต้องมีอะไรใหม่ๆมาฝากแฟนๆ ถ้ายังอยากประชันกับรุ่นน้องอย่าง Radiohead หรือรุ่นหลานอย่าง Coldplay และอะไรใหม่ๆนั้นก็ไม่จำ เป็นต้องใหม่เอี่ยมนักก็ได้

การจับคู่ระหว่างยูทูกับโปรดิวเซอร์ผู้เชี่ยวชาญในการชุบชีวิตศิลปิน Rick Rubin เป็นความล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย พวกเขาอาจจะยังไม่ตกต่ำ เพียงพอที่จะเรียกใช้งานของกูรูเครางาม และแนวทางการทำเพลงของรูบินก็ต่างจากวิธีของยูทู รูบินชอบทำเพลงเสร็จมากจากบ้านแล้วมาแต่งเติม ในห้องอัด แต่ยูทูนั้นทำงานแบบ "พวกกึ่งสมัครเล่น ไร้รูปแบบ" ตามคำบอกเล่าของ ลารี่ มัลเลน จูเนียร์ มือกลองคนหนุ่มตลอดกาลของวงเอง

รูบินจึงต้องไป และพวกเขาก็หันกลับไปหาซี้เก่า Brian Eno, Daniel Lanois และ Steve Lillywhite ที่เคยสร้างผลงานเกริกไกรกันมาแล้วใน อดีต แต่บุคคลที่น่าจะมีอิทธิพลกับเสียงของ No Line มากที่สุดก็คือ Eno

No Line ไม่มีเพลงที่เด่นมากๆออกมา แต่มันคืออัลบั้มที่ต้องฟังอย่างดูดดื่มต่อเนื่องตลอดเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง มันยังเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลาและ สมาธิในการซึมซับอรรถรสทางดนตรีที่ถูกระบายลงไปเป็นชั้นๆอย่างซับซ้อน ฟังยังไงนี่ก็คือ sound ของ Eno ชัดๆ ถ้าจะเทียบกับ Viva La Vida ของ Coldplay ที่ Eno ก็เป็นโปรดิวเซอร์เหมือนกัน ก็ราวกับหนังสองเรื่องที่มีผู้กำกับคนเดียวกัน แต่มีดารานำคนละคน

และพลังในการแสดงของดารามือเก่าจากไอริชคนนี้ก็ยังมีอยู่อย่างเหลือล้น!

นี่ไม่ใช่งานที่ฟังยากหรือซับซ้อนเกินไป พวกเขาฉลาดเกินไปกว่าที่จะฆ่าตัวเองด้วยการทำเพลงหลุดกรอบออกมาทั้งชุด Magnificent คือ คลาสสิกยูทูที่แฟนตัวจริงโหยหา อดัมย้ำเบสในแบบที่เขาเชี่ยวชาญ ขณะที่ The Edge พุ่งพล่านไปทั่วเพลง มันคือเพลงที่ให้คำตอบว่าพวกเขายังมีพลังในการทำเพลงแบบยี่สิบปีก่อนได้สบายๆแต่พวกเขาก็ทำให้ดูกันแค่เพลงเดียวพอ Moment Of Surrender***** ต่อยอดและพัฒนาจากเพลงบัลลาด-กอสเพลอย่าง Stuck In A Moment You Can't Get Out Of ใน All That You Can't Leave Behind ยาวกว่าเจ็ดนาที เสียงร้องของโบโนเข้มข้นและเร้าอารมณ์สุดยอด จะว่าไปเขาก็แทบไม่ เคยร้องแบบอื่น และที่เซอร์ไพรซ์คือโซโลหวานๆและล่องลอยจากคนใส่หมวกไหมพรมคนนั้น (อัลบั้มนี้ Edge ปล่อยของ--โซโลเพียบ!)

No Line On The Horizon**** ไทเทิลแทร็ค เสียงร้องและอารมณ์แบบพังค์ๆ การเดินทางของตัวโน้ตในท่อนเวิร์สน่าสนใจและไม่เหมือน เพลงใดๆก่อนหน้านี้ของยูทู Stand Up Comedy**** เล่นกับริฟฟ์แบบ Led Zeppelin และ I'll Go Crazy If I Don't Go Crazy Tonight ****ที่มีวิลไอแอมมาช่วยโปรดิวซ์ก็สนุกสนานในแบบที่ไม่นึกถึง The Black Eyed Peas แต่อย่างใด (ไม่ต้องห่วงไม่มีเสียงแรปจากวิล) โบโน กระชุ่นว่าชื่อเพลงนี้น่าเอาไปทำเป็นสโลแกนบนที-เชิร์ต

ที่เหลือคือเพลงร็อคลุ่มลึกที่เต็มไปด้วยแบ็คกราวน์แบบ ambient ของอีโนซึ่งต้องตั้งใจฟังซักหน่อย ผมชอบการเขียนเนื้อของโบโนในหลายๆ เพลงของอัลบั้มนี้ เขาใช้คำง่ายๆ แต่การเล่าเรื่องมีวิธีการที่น่าสนใจ รวมทั้งมุมมองของการใช้ตัวละครบุคคลที่สาม Unknown Caller ****ตัว ละครที่กำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจแห่งชีวิต(อาจจะเป็นการจบชีวิต) แต่ต้องมาเจอกับ SMS นิรนามที่ส่งข้อความสุ่มๆมาเป็นคำแนะนำกึ่งคำสั่งๆ สั้นๆ มันอาจจะได้ไอเดียมาจาก"ของเล่น"ของอีโนที่ชื่อ Oblique Strategies Card ที่เขาเอาไว้ใช้ตอนลูกค้าเกิดความตีบตันทางความคิด (เป็น การ์ดที่พิมพ์คำสั่งหรือคำแนะนำสั้นๆไว้เช่น "ใช้ตัวโน้ตให้น้อยลงหน่อย","ปล่อยตัวเองให้อยู่ในพื้นที่ไร้ค่า", "ทำให้สกปรก" หรือ "เปลี่ยนเครื่องดนตรีที่เล่นกัน" เป็นต้น เขาใช้มันมาตั้งแต่ปี 1975 และทำให้ลูกค้าของเขาหลุดพ้นจากกรอบเดิมๆมานักต่อนักแล้ว) FEZ-Being Born**** เกือบเป็นเพลงเปิดอัลบั้มในตอนแรกแต่พวกเขาเปลี่ยนใจเสีย น่าเสียดายนะครับ ผมว่ามันเหมาะทีเดียวและอาจจะเปลี่ยนโฉมอัลบั้มไปอีกทางหนึ่ง เพลงสงครามสองเพลงคือ White As Snow**** และ Cedars Of Lebanon*** เศร้าเหงาและได้อารมณ์เหลือเกิน

Breathe **** คือเพลงสุดท้ายที่จะพูดถึง อีโนบอกว่านี่คือ "เพลงที่ดีที่สุดที่ยูทูเคยทำมา" คุณ อาจจะไม่เห็นด้วยกับเขาก็ได้ แต่นี่คือเพลงที่เป็นตัว แทนของอัลบั้มนี้ครับ ถ้าคุณต้องการแค่สักเพลง ว่ากันว่านี่จะเป็น anthem เพลงต่อไปบนเวทีการแสดงของพวกเขา

ในฐานะแฟนที่ติดตามกันมาตั้งแต่เกือบต้นๆ (ผมเริ่มฟังที่ 'War') No Line On The Horizon คือความภาคภูมิใจอย่างสุดซึ้งที่ผมมอบให้พวกเขา นี่คืออัลบั้มที่แม้แต่นักฟังประเภทชอบของเสมือนจริงยังควรจะต้องละอายใจและรีบวิ่งไปจ่ายเงินซื้อซีดีให้พวกเขา เสียงร้องมหัศจรรย์ของ Bono ยังไม่ทำให้ผิดหวัง ส่วนกีต้าร์ของ The Edge นั้นเล่นได้เกินคาดหวังเสียอีก Larry กับ Adam ก็ยังคงเป็น Larry กับ Adam คนเดิมที่ หนักแน่นแต่ไม่โดดเด่นออกมา

ในแวดวงของวงดนตรีร่วมสมัยที่มีอิทธิพลสูงสุดของโลกปัจจุบัน Radiohead อาจจะสร้างสรรค์และมีลีลาที่เหนือชั้นกว่า แต่แลกหมัดกัน ครบ15ยก กรรมการรวมคะแนนแล้วยังชูมือให้พวกไอริชขี้เมาเสือเฒ่าลายครามกลุ่มนี้อยู่ครับ ส่วน Coldplay นั้นคงยังต้องทำน้ำหนักอีกซักระยะ นี่น่าจะเป็นเฟสใหม่ของวงที่ต่อจากยุค"เรียกแชมป์คืน"ในสองอัลบั้มก่อน มันคือพัฒนาการอีกขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับวงดนตรีที่อยู่กันมานานขนาดนี้

นับเป็นโชคดีของโลกที่มีวงดนตรีอย่าง U2!

หมายเหตุ-ท่านที่สนใจเรื่อง Oblique Strategies ของ Eno ลองไปเล่นฟรีๆได้ที่....
http://www.palace.net/~llama/oblique/

Monday 2 March 2009

Beatles ยึดอเมริกาในปี 1964 (พ.ศ. ๒๕๐๗)-3


ในวันจันทร์ที่2มีนาคม แค่9วันหลังจากพวกเขากลับจากอเมริกา เดอะ บีเทิลส์ เริ่มการถ่ายภาพยนตร์ A Hard Day's Night

ก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยนักดนตรีป๊อบไม่ว่าจะเป็นอเมริกันหรืออังกฤษ แทบจะทุกเรื่องมีสถิติที่ย่ำแย่ทั้งนั้น

มันเป็นการท้าทายที่ยิ่งใหญ่ต่อไหวพริบและความชาญฉลาดของพวกเขาในการที่จะทำหนังให้ได้กำไรงามโดยใช้ต้นทุนต่ำๆ

แต่อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ของบีเทิลส์ก็ยังคงคุณภาพแบบของพวกเขาไว้อันปรากฏอยู่ในแทบทุกงานที่พวกเขาสัมผัส

แม้ว่าจะมีต้นทุนเพียงแค่ 180,000ปอนด์ จาก United Artists ซึ่งมองหนังเรื่องนี้เป็นแค่งานที่ทำออกมาโกยเงินแบบสุกเอาเผากินเท่านั้น และถ่ายทำกันในช่วงเวลาแค่แปดสัปดาห์
แต่ A Hard Day's Night ภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่องนี้ก็กลับกลายเป็นหนังคลาสสิกในรูปแบบของมัน เป็นชิ้นงานศิลป์ที่จับห้วงเวลาของมันได้อย่างแท้จริง


ในขณะที่ไบรอัน เอ็บสไตน์เป็นผู้จัดการที่ปราดเปรื่องที่สุดเท่าที่วงจะหาได้ เขามีสไตล์ที่หล่อหลอมมาอย่างสมบูรณ์แบบ, วิสัยทัศน์,ความซื่อตรงไร้มายาและการอุทิศตนแบบถวายหัว

ขณะที่จอร์จ มาร์ตินก็เป็นโปรดิวเซอร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของวง สร้างสรรค์,พร้อมที่จะรับฟัง, เขาเป็นผู้ชำนาญการด้านดนตรีแต่ไม่มีประสีประสานักในด้านป๊อบหรือร็อค(ซึ่งกลับเป็นเรื่องดี) และช่ำชองในเรื่องการบันทึกเสียงเอ็ฟเฟ็คตลกๆ

และขณะที่ Dick James ก็เป็น music publisher ที่เหมาะเจาะสำหรับพวกเขา คุณลุงจอมอารักขาที่กระหายต่อความสำเร็จ

และขณะนี้ก็เป็นการก้าวเข้ามาของผู้กำกับโนเนม Richard Lester -ช่างสังเกต,ฉลาด,ชอบอะไรเหนือจริงและเขาก็เป็นคนที่ไม่มีใครคาดมาก่อนแต่ก็เป็นบุคคลที่ดีที่สุดสำหรับงานนี้

การกำกับของเลสเตอร์ใน A Hard Day's Night นั้นจัดว่าดีเลิศ ซึ่งจริงๆแล้วต้องให้เครดิตแก่ Alun Owen คนเขียนบทชาวลิเวอร์พูลที่ไบรอันและบีเทิลส์แนะนำเข้ามาด้วย อลันเคยทำงานทีวี,วิทยุและละครเวทีมาก่อน

แม้ว่าหลายปีต่อมา จอห์นจะวิพากษ์วิจารณ์การวางตัวบทละครที่ถอดแบบออกมาตรงๆ และความราบรื่นของหนัง แต่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นหนังที่น่าชม สนุกสนาน น่าสนใจ ฉลาดเฉลียว และตลกขบขัน ตั้งแต่ต้นจนจบ

ในช่วงเวลานี้ จังหวะในการทำงานของบีเทิลส์ ทั้งในด้านการถ่ายหนัง การแต่งเพลง การบันทึกเสียง การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน การแสดงคอนเสิร์ท การปรากฏตัวทางทีวีและวิทยุ ทุกอย่างมันอัดแน่นไปหมด
แต่คุณภาพของงานกลับไม่เคยลดลงแต่อย่างใด

ในวันที่ 20 มีนาคม พวกเขาปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ 'Can't Buy Me Love' ออกมา ก่อนหน้านี้สามวัน อีเอ็มไอประกาศว่า, มันเป็นอีกครั้งหนึ่ง , ที่ยอดสั่งจองทะลุเกินหนึ่งล้านก๊อบปี้เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น ในอเมริกามันขายไปได้ถึง 2,100,000 แผ่น

เดอะบีเทิลส์ได้ต่ออายุการมีเพลงติดอันดับหนึ่งต่อเนื่องกันอย่างยาวนานต่อไปทั้งสองฝั่งแอตแลนติก
ในอเมริกา 'Can't Buy Me Love' ช่วยเสริมความเป็นราชาอันดับเพลงของพวกเขาต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ศิลปินอังกฤษไม่เคยเจาะเข้ามาได้เลยด้วยซ้ำ

ในบิลบอร์ดชาร์ท "Hot 100 " singles ในวันที่ 4 เมษายน 1964 แสดงให้เห็นว่ามีเพลงของบีเทิลส์อยู่ในอันดับ 1,2,3,4,5,31,41,46,58,65,68 และ 79
สัปดาห์ต่อมา มีซิงเกิ้ลอีกสองแผ่นจากบีเทิลส์บินเข้าสู่ชาร์ท ขณะที่ในอันดับของอัลบั้ม พวกเขาก็ยึดอันดับหนึ่งและสอง

มากไปกว่านั้น วงอื่นๆจากอังกฤษก็เริ่มดาหน้ากันเข้ามาสู่อเมริกา ด้วยบีเทิลส์ทำให้ชาวอเมริกันมองอังกฤษด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

ไม่ใช่เพียงแต่ในอเมริกาและอังกฤษเท่านั้น ที่บีเทิลส์ยึดอันดับเพลง ในออสเตรเลีย วันที่ 3 เมษายน 1964 เพลงของบีเทิลส์ก็ยึดอันดับใน Top six ของซิงเกิ้ลชาร์ทแห่งซิดนี่ย์ไว้โดยหมดจด
และที่ออสเตรเลียนี่เองที่บีเทิลส์มุ่งหน้าไป หลังจากเสร็จสิ้นการถ่ายทำภาพยนตร์ A Hard Day's Night และอัลบั้มชื่อเดียวกัน


เมื่อมองย้อนกลับไป การทัวร์ออสเตรเลียครั้งนั้นไม่ได้เป็นเวลาที่แฮปปี้เท่าใดนักของวง ก่อนที่จะเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ทที่ เดนมาร์ค ฮอลแลนด์ และฮ่องกง ริงโก้ก็ล้มเจ็บลงด้วยอาการทอนซิลและลำคออักเสบเพียงวันเดียวก่อนวันที่ 3 มิถุนายนที่เป็นกำหนดการเดินทาง

มันสายเกินไปเสียแล้วที่จะเลื่อนทัวร์ออกไป ดังนั้นจึงมีทางเลือกแค่ทางเดียว: จ้างตัวแทนชั่วคราว
จอร์จเป็นคนที่คัดค้านไอเดียนี้และเขาถึงกับเอ่ยว่าถ้าริงโก้ไม่ไปเขาก็จะไม่ไปเช่นกัน ("คุณหาตัวแทนไว้ได้สองคนเลย")