Thursday 28 December 2017

“กับไฟในมือที่ยังไม่มอดไหม้”


Robert Plant :: Carry Fire ****



ออกจำหน่าย- 12 ตุลาคม 2017
โปรดิวเซอร์- Robert Plant
แนวดนตรี- World Music, Folk, Rock

Tracklist:
1. "The May Queen"
2. "New World…"
3. "Season’s Song
4. "Dance With You Tonight"
5. "Carving Up The World Again"
6. "A Way With Words"
7. "Carry Fire"
8. "Bones Of Saints"
9. "Keep It Hid"
10. "Bluebirds Over The Mountain"
11. "Heaven Sent"

ร่มเงาของเรือเหาะล่องเวหา วงดนตรีร็อคหนักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ : Led Zeppelin นั้นกว้างไกลเหลือแสน ยากยิ่งนักที่สมาชิกในวงจะวิ่งหนีไปถึงขอบและหลุดพ้นมันไปได้ อย่างไรเสีย คำแรกที่นึกถึงเวลาเอ่ยถึง Robert Plant, Jimmy Page, John Paul Jones หรือ John Bonham (คนหลังคงน้อยหน่อย, เพราะเขาไม่เคยเป็นอดีตสมาชิกวงนี้, แกตายเสียก่อน) ก็คือ พวกเขาเป็นอดีตสมาชิกวง Led Zeppelin ในบรรดาสมาชิกทั้งสามคน มีเพียงแพลนต์คนเดียวที่มีผลงานเดี่ยวออกมาอย่างต่อเนื่อง (ขณะที่เรายังต้องรอ solo อัลบั้มชุดที่ ๒ จากเพจอยู่) และดูเขาจะไม่แยแสว่าดนตรีของเขาจะเหมือนหรือไม่เหมือน Led Zeppelin เขาไม่พยายามหนี เขาไม่พยายามเดินตามรอยเดิม เขาแค่เดินไปในทางที่เขาอยากเดิน นั่นหมายถึงถ้าดนตรีที่เขาจะทำออกมาจะมีความละม้ายคล้ายความเป็นเซพพลินบ้าง เขาก็ไม่เดือดร้อนอะไร

และการเดินทางของนักร้องเสียงมหัศจรรย์ (ฉายาที่ฝรั่งเรียก-- ‘Percy’, ‘Golden God’) ก็มาถึงชุดที่ ๑๑ เข้าไปแล้ว แพลนต์ในวัย 69 ปี ไม่ได้กรีดร้องเสียงสูงอันลือลั่นอย่างในเพลง Immigrant Song (จากผลงานชุด Led Zeppelin III แต่กลับมาดังอีกครั้งในปีนี้ เมื่อถูกนำมาใส่อย่างเหมาะเจาะในภาพยนตร์ Thor : Ragnarok) หรือสุดเหวี่ยงยิ่งกว่านั้นใน Whole Lotta Love ( Led Zeppelin II) มาหลายปีแล้ว แต่เขารู้ในศักยภาพปัจจุบันของเสียงตัวเองและใช้มันอย่างคุ้มค่า ในภาพรวมของดนตรี Carry Fire เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่าโรเบิร์ต แพลนต์ ไม่เคยทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน นี่เป็นหนึ่งในงานชิ้นเยี่ยมของเขา (อีกแล้ว)

หลังจากลองผิดลองถูกพอสมควรในยุค 80’s และ 90’s แพลนต์เริ่มค้นพบแนวทางใหม่ในอัลบั้ม Dreamland (2002) ที่เป็นงาน cover เสียครึ่งอัลบั้ม นั่นคือการผสมผสาน world music (รวมทั้งแอฟริกัน,อารบิก,อินเดีย) เข้ากับดนตรีบลูส์ และไซคีดีลิกร็อค งานหลังจากนั้นมาเรียกได้ว่าเข้าฝักมาตลอด ตั้งแต่ Mighty Rearranger (2005), Band of Joy (2010)และล่าสุดก่อนหน้าอัลบั้มนี้  Lullaby and …  the Ceaseless Roar (2014) แม้ว่าความสำเร็จที่พีคมากของเขากลับเป็น Raising Sand (2007) อันเป็นอัลบั้มที่เฮียแกร้องคู่กับนักร้องสาวเสียงนางฟ้า Alison Krauss จนหลายๆคนเชียร์ให้ออกผลงานร่วมกันอีก (หรือเลยเถิดไปจนถึงลือว่าสองคนนี้เป็น “คู่จิ้น” ต่างวัย) แต่แพลนต์ก็ไม่ได้แยแสจะทำอะไรแบบนั้น (ทั้งการออกอัลบั้มคู่กับเคราส์อีกชุด และจิ้นกับเธอ) เขากลับสู่เส้นทางเดิมอย่างรวดเร็ว และมั่นคง โดยไม่ได้สนใจเรื่องการทำเงินอะไรง่ายๆแบบนั้น

อ้อ ปี 2007 ยังมีอีกเหตุการณ์สำคัญคือ การรียูเนี่ยนเพื่อการแสดงครั้งเดียวของ Led Zeppelin ที่ O2 Arena, London ซึ่งแน่นอนว่าตามไปด้วยข่าวลือถึงการออกทัวร์ยาวนาน หรือการทำอัลบั้ม ครั้งแล้วครั้งเล่า หลายปีหลังจากนั้น แต่แพลนต์ก็ยืนยันหนักแน่นว่านั่นคือการแสดงครั้งเดียว จบเป็นจบ ซึ่งถ้าใครมีความซื่อตรงต่อสิ่งที่เห็นจริงๆ ก็คงจะพอเข้าใจได้ไม่ยาก เขาทำทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วในนามวงเก่าวงนั้น และสังขารของมนุษย์วัย 60 กว่า กับเพลงที่ต้องเค้นพลังหนุ่มของ Led Zeppelin ดูจะไปด้วยกันไม่ได้ซักเท่าไหร่ ข่าวลือเหล่านั้นจึงขึ้นมาและก็หายไป เหมือนๆกันทุกครั้ง บางทีก็มีข่าวว่า เพจและโจนส์จะเอาคนนู้นคนนี้มาร้องแทนแพลนต์ แต่ใครๆก็รู้ว่าไม่มีใครแทนแพลนต์ได้

ผมเคยเขียนถึงงานของแพลนต์มาแล้วสองครั้งในอดีต Mighty Rearranger ใน HOOK magazine (R.I.P.) และ Band of Joy ใน GM2000 นี้ ซึ่งทั้งสองชุดผมก็ประเคนคำชมไว้ให้อย่างพอสมควร ใน Carry Fire นี้ก็เช่นกัน

วงแบ็คอัพของแพลนต์ในอัลบั้มนี้ยังคงเป็นวงชื่อเท่ - The Sensational Space Shifters วงเดิมกับที่เล่นใน Lullaby And… The Ceasless Roar วงนี้ประกอบไปด้วย Justin Adams – guitar , Liam "Skin" Tyson – guitar, John Baggott – keyboard, Billy Fuller - bass guitar , Dave Smith – drums  เสริมด้วย Seth Lakeman เล่น Viola และ Fiddle และ Redi Hasa เล่น Cello อยากลงชื่อพวกเขาไว้ให้ผ่านตากัน แม้จะจำไม่ได้ในวันนี้ เพราะเป็นวงที่ฝีมือดีจริงๆ โดยเฉพาะมือกีต้าร์ จัสติน อดัมส์

การใช้ทีมงานเดิมทำให้ Carry Fire มีสุ้มเสียงคล้ายคลึงกับ Lullaby… ในระดับหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นภาค ๒ ของอัลบั้มนั้นก็ได้ไม่ขัดเขิน เพียงแต่ Carry Fire ดูจะละทิ้งความฉูดฉาดหวือหวาในดนตรีบางช่วงไป เพิ่มเติมเข้ามาคือความสุขุมลึกล้ำ ภาพรวมของมันอาจจะดูเนือยเชื่องช้าและชวนง่วงกว่า (ทั้งๆที่ชื่อชุดดุเดือดกว่าชุด “เพลงกล่อมนอน” นั้นเยอะ) Carry Fire เป็นงานที่ต้องฟังด้วยความพินิจพิเคราะห์ ปล่อยอารมณ์ไปกับมัน และมีสมาธิ ไม่ใช่เพลงที่จะเปิดผ่านๆเป็นแบ็คกราวด์แต่อย่างใด

เมื่อเห็นชื่อเพลงแรก “The May Queen” ถ้าคุณไม่คิดถึงเนื้อเพลงท่อนนั้นใน Stairway To Heaven แสดงว่าคุณไม่ใช่แฟน Led Zeppelin แต่ถ้าคุณคิดว่ามันจะเป็นภาคต่อของเพลงมหากาพย์นั้น คุณพลาดแล้ว การอ้างอิงจบเพียงแค่นั้น The May Queen โดดเด่นด้วยบลูส์ริฟฟ์ที่เล่นด้วยกีต้าร์โปร่งโดย Justin Adams มันดูเหมือนจะเป็นเพลงรัก ถ้าคุณไม่ตีความเนื้อเพลงของแพลนต์หลายตลบนัก และเป็นการเปิดอัลบั้มที่เข้มขลังมลังเมลือง, “New World” เป็นร็อคเกอร์หนักช้า (อยากให้บอนแฮมมาตีจัง) ที่กล่าวถึงจุดวิกฤตของภาวการณ์อพยพของผู้คน เสียงของแพลนต์ ใส และโดดเด่นในมิดเรนจ์อันคมกริบ, “Season’s Song” เพลงรักหวานที่สุดในอัลบั้ม และถ้าจอห์น เลนนอนไม่เคยมีเพลงชื่อนี้มาก่อน แพลนต์ก็น่าจะตั้งชื่อเพลงนี้ว่า Oh My Love ไปเสียเลย เพราะมันเป็นคำที่เขาพร่ำถึงตลอดเพลง, “Dance With You Tonight” บัลลาดในแบบของแพลนต์ยุคหลัง เนื้อเพลงชวนให้ครุ่นคิดว่าคำว่า dance น่าจะมีความหมายมากกว่าแค่การเต้นรำกันธรรมดา ผมอาจจะคิดมากไปเอง

กระชับจังหวะเร่งเร้าขึ้นมาหน่อยในเพลงอิงการเมือง  “Carving Up The World Again… A Wall And Not A Fence”  แพลนต์ร้องได้คึกคักด้วยหางเสียงประชดประชัน เป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่สมศักดิ์ศรีความเป็นยอดนักร้อง กีต้าร์โซโล่ของอดัมส์โดดเด่นมากในแทร็คนี้, พลิกกลับไปในแนว trippy jazz ในเพลงต่อไป “ A Way With Words” ดนตรีโปร่งโล่ง เสียงของแพลนต์เปลือยเปล่า ประดับบางๆด้วยเสียงเปียโนและเชลโล จัดเป็นเพลงทีฉีกแนวความเป็นโรเบิร์ต แพลนต์ไปได้อย่างสวยงาม

แพลนต์เก็บเพลงเด็ดๆไว้ในช่วงหลังของอัลบั้ม ไทเทิลแทร็ค “Carry Fire” สำเนียงตะวันออกกลางและอินเดียมาเต็ม มันมีความลึกลับทรงเสน่ห์ในแบบของ Kashmir (แต่ไม่ได้หมายความว่าเพลงเหมือนกัน) สมบูรณ์แบบครับ เป็นเพลงที่ดีที่สุดเพลงหนึ่งในงานเดี่ยวของเขาเลย “Bones of Saints” แพลนต์คงรู้ ว่ายังไงเสียก็ต้องมีแฟนเพลงกลุ่มหนึ่ง เฝ้าคอยหาเพลงในสไตล์ของ Zep เขาจัดให้ในเพลงนี้ครับ รวมทั้งเป็นเพลงที่เจ้าของอัลบั้มเดินทางออกจากคอมฟอร์ตโซนของเรนจ์ในการร้องของเขาในยุคนี้เข้าสู่ระดับเสียงสูงที่แทบจะไม่ได้ยินในเพลงอื่น (แพลนต์ขึ้นชื่อในสมัยก่อนในด้านการเป็นนักร้องสองเสียงในคนเดียวกัน) สารภาพครับ ว่าอยากให้จิมมี่ เพจมาริฟฟ์ในแทร็คนี้เสียจัง  สรุปว่าคงไม่ถึงกับเป็นเพลงที่ทำให้แฟนเซพลุกขึ้นยืนด้วยความตื่นเต้น แต่ก็ใกล้เคียงที่สุดแล้ว, “Keep It Hid” ให้ฟีลของอัลบั้มก่อน เพราะมีเสียงอีเล็คโทรนิคเป็นพระเอกในดนตรีที่เป็นอาร์แอนด์บีตรงไปตรงมานั้น

มีเพลง cover เพียงเพลงเดียวในอัลบั้มนี้ และถ้าคุณไม่รู้มาก่อน ก็คงยากที่จะบอกว่า “Bluebirds Over The Mountain” เพลงเก่าของ Ersel Hickey จากยุค 50’s เพลงนี้เป็นเพลง cover ได้ Chrissie Hynde มาร่วมร้องด้วย และแพลนต์ก็ทำให้มันเป็นเพลงของเขาไปแบบชิวๆ

โรเบิร์ต แพลนต์ปิดท้ายอัลบั้ม Carry Fire ด้วยบัลลาดเงียบๆแต่อารมณ์เหมือนไฟกรุ่นๆที่ยังปะทุอยู่ในตะกอน “Heaven Sent”

หลังจากฟังอัลบั้มนี้จบไปหลายรอบ สิ่งที่ผมคิดคือ มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องบรรจุชื่อของเขาลงใน Rock And Roll Hall Of Fame ในฐานะศิลปินเดี่ยว? ถ้ายัง, จะให้เขาทำอะไรอีกหรือ