Tuesday 7 September 2010

Sting-Symphonicities


“Sting ทรงเครื่อง

Sting-Symphonicities ****

แนวดนตรี- Rock, Classical

โปรดิวเซอร์- Rob Mathes, Sting

ออกจำหน่าย-ก.ค.2010

ชื่ออัลบั้ม Symphonicities เป็นการล้อเลียนชื่ออัลบั้มสุดท้ายอันโด่งดังของ The Police –Synchronicity ก่อนที่ Sting จะก้าวออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวในปี 1984 แต่อัลบั้มนี้ไม่ได้มีเพลงใดๆจาก Synchronicity ผู้ที่คาดหวังจะได้ยิน King of Pain หรือ Every Breath You Take ในแบบซิมโฟนิคจึงต้องผิดหวังเล็กน้อย

ครับ นี่คือการนำเอาเพลงเก่าๆของ Sting และ The Police มาเล่น+ร้องใหม่ ร่วมกับ The Royal Philharmonic Concert Orchestra โดยเจ้าของบทเพลง นาย Gordon Matthew Thomas Sumner (ชื่อเต็มๆของ Sting) มาขับร้องเอง และควบคุม project อย่างใกล้ชิด

ฟังดูเผินๆเหมือนกับการเอาของเก่ามาขายหากินของศิลปินสูงวัยที่นึกอะไรไม่ออก แต่ถ้าคุณติดตามการทำงานของ Sting มาพอสมควร คุณจะไม่คิดเช่นนั้น เพราะ Sting ไม่เคยขาดพลังความคิดสร้างสรรค์ และงานของเขามีเป้าหมายสูงส่งเสมอ

งานนี้เกิดขึ้นมาโดยเหตุการณ์ต่อเนื่อง กึ่งๆจะเป็นอุบัติเหตุไม่ได้มีความจงใจแต่เริ่มแรก จากการเป็นแขกรับเชิญของวง Philadelphia Orchestra และ Chicago Symphony Orchestra ที่นำเพลงของเขาไปเล่นในแบบซิมโฟนี Sting ซึ่งเป็นคนรักดนตรีคลาสสิกอยู่แล้วรู้สึกตื่นเต้นและสนุกไปกับการได้เห็นบทเพลงที่เขาแต่งคนเดียวด้วยกีต้าร์ตัวเดียวในห้องเงียบๆ ได้รับการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างอลังการด้วยนักดนตรีออเคสตร้าชุดใหญ่ โครงการ Symphonicities จึงเริ่มขึ้นด้วยการให้นักเขียนสกอร์และเรียบเรียงหลายท่าน นำเพลงของ Sting มาแต่งตัวใหม่ และส่งให้ Sting พิจารณา

สิ่งหนึ่งที่ Sting ย้ำนักย้ำหนาแก่ arranger แต่แรกเริ่มคือ เขาไม่ต้องการสกอร์เครื่องสายที่อ่อนช้อยลากยาวงดงามที่รังแต่จะส่งผู้ฟังเข้าสู่นิทรา แต่ที่เขาอยากจะได้ฟังคือการใช้วงออเคสตร้าอย่างสร้างสรรค์มีชีวิตชีวาและน่าตื่นเต้น ผู้ที่รับหน้าที่นี้คือ Rob Mathes ผู้เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับ Sting ด้วย ยกเว้นเพลง “I Hung My Head” ที่เรียบเรียงโดย David Hartley และ “You Will Be My Ain True Love” กับ “When We Dance” ที่เป็นหน้าที่ของ Steven Mercurio

Symphonicities ไม่ใช่การนำเพลงเก่าๆมาใส่เครื่องสายเครื่องเป่าลงไปแล้วก็ทำออกมาขายอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นการเขียนซิมโฟนีบนเพลงของ The Police บทเพลงส่วนใหญ่ยังมีจังหวะจะโคนและโครงสร้างเหมือนเดิมในแบบที่อยู่ในแผ่นเสียงและซีดีของ The Police และ Sting และ Orchestra ทำหน้าที่ขับเคลื่อน สอดแทรก และหลายครั้งนำพาบทเพลงเหล่านั้นยกขึ้นสู่อีกระดับหนึ่งอย่างงดงาม

และอัลบั้มนี้คงจะไม่มีประเด็นอะไรให้กล่าวถึงนัก ถ้ามันเป็นแค่เพลงบรรเลง เสียงร้องของ Sting คือเพชรเม็ดใหญ่ที่ประดับสูงสุดบนมงกุฏนี้ เป็นที่รู้กันว่าเขาเป็นคนรักษาสุขภาพตัวเองแค่ไหนด้วยการเล่นโยคะแบบลึกซึ้ง ในวัย 58 จึงไม่พบร่องรอยของความอ่อนล้าในน้ำเสียง เขายังควบคุมมันได้อย่างเหนือชั้น Sting ร้องทุกเพลงอย่างอบอุ่น นุ่มนวล และเมื่อถึงเวลา เขาก็ยัง บิด มันสู่มิติใหม่ๆได้อย่างน่าประทับใจ เช่นในช่วงท้ายเพลง When We Dance

Sting เลือกเพลงที่มีชื่อเสียงและเพลงที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของเขามาในปริมาณพอๆกัน เพลงของ The Police ดูจะสร้างความแตกต่างและมีอะไรน่าสนใจทุกเพลง Next To You ยังแรงส์...เหมือน original version ขณะที่เครื่องสายสาดใส่สุ้มเสียงลงไปอย่างเร้าอารมณ์ จินตนาการถึงเร็กเก้พังค์ใส่สูทนั่งประชุมในหมู่นักบริหารแต่ยกเท้าพาดบนโต๊ะ Every Little Thing She Does Is Magic อาจจะไม่ครื้นเครงเท่าเดิม แต่ฟังดูยิ่งใหญ่อลังการ เหมือนจะพยายามตีความคำว่า ‘magic’ ส่วน masterpiece ของเขา Roxanne -Sting ก็ไม่มีทางทำให้เสียของ ออเคสตร้าขับเน้นอารมณ์ดำมืดลึกๆในบทเพลงให้ใสกระจ่างขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ ยกให้เป็นการตีความและ performance ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในแผ่น

We Work The Black Seam จากงาน solo ชุดแรก The Dream of The Blue Turtles ที่จำไม่ได้แล้วว่านานแค่ไหนที่ไม่ได้ฟัง ได้รับการ treatment โดยเครื่องเป่าสารพัดฉีกแนวไปจากเพลงอื่นๆในอัลบั้ม I Hung My Head จาก Mercury Falling ในเวอร์ชั่นนี้ดูกลมกลืนและลงตัวราวกับมันถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นแบบนี้แต่แรกมากกว่า

ความสนุกของการฟัง Symphonicities อยู่ที่ความตื่นเต้นในการฟังเพลงที่เราคุ้นหูในรูปแบบที่ต่างกันออกไป ยังมีอีกหลายเพลงที่ผมไม่ได้กล่าวถึงที่ผมขอเก็บไว้ให้ท่านผู้ฟังค้นหากันเอง งานนี้แฟน Sting คงไม่พลาดอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าท่านจะยึดมั่นถือมั่นกับ original version จนไม่อยากค้นหาอะไรใหม่ๆ ซึ่งผมไม่คิดว่านั่นเป็นธรรมชาติของแฟน Sting นะครับ ส่วนท่านที่ไม่เคยฟังงาน Sting อย่างจริงจังมาก่อน จะเริ่มที่อัลบั้มนี้เลยก็คงไม่ผิดกฎหมายประเทศใด เพียงแต่ท่านควรจะเป็นคนที่รักเสียงแบบ symphonic พอสมควร

Tracklist

"Next to You" – 2:30

"Englishman in New York" – 4:23

"Every Little Thing She Does Is Magic" – 4:56

"I Hung My Head" – 5:31

"You Will Be My Ain True Love" – 3:44

"Roxanne" – 3:37

"When We Dance" – 5:26

"The End of the Game" – 6:07

"I Burn for You" – 4:03

"We Work the Black Seam" – 7:17

"She's Too Good for Me" – 3:03

"The Pirate’s Bride" – 5:02

Monday 6 September 2010

Tom Petty MOJO


Tom Petty and the Heartbreakers: MOJO ****

แนวดนตรี- American Rock, Electric Blues Rock

โปรดิวเซอร์- Tom Petty, Mike Campbell และ Ryan Ulyate

"อย่าตัดสินหนังสือจากปกของมัน" สุภาษิตฝรั่งกล่าวไว้ แต่บางทีเราก็ได้ยินว่า "คบคนให้ดูหน้า" จะเชื่ออันไหนดี หน้าปกอัลบั้มที่ 11 ของ Tom Petty and the Heartbreakers ใส่ชื่ออัลบั้มตัวเท่าช้าง และสมาชิกทั้ง 6 ยืนเรียงหน้ากระดาน ด้วยมาดเท่ และดูอารมณ์แจ่มใส คึกคัก ความรู้สึกที่ได้รับจากภาพปกนี้ก็คือ นี่น่าจะเป็นอัลบั้มที่พวกเขาเล่นดนตรีร่วมกันอย่างสนุกสนาน และเต็มไปด้วยความมั่นใจ มันยังให้ความรู้สึกว่านี่คือวงดนตรีที่เป็น band จริงๆไม่มีใครโดดเด่นออกมา ทั้งๆที่ยังใช้ชื่อ Tom นำหน้าอยู่ เพราะจากในภาพเขาก็ยืนอยู่ตรงกลาง เอียงๆหัวไปด้านขวาเล็กน้อยไม่ได้มีอะไรบอกว่าคือตัวชูโรง หรือเป็นผู้นำวง ถ้าไม่นับแว่นดำ และเคราครึ้มปื้นนั้น

หลังจากฟัง MOJO จบไปแค่รอบเดียว ผมก็ตัดสินใจได้เลยว่างานนี้สุภาษิต "คบคนให้ดูหน้า" ดูจะใช้ได้ผล!

MOJO-อัลบั้มแรกในรอบ 8 ปีที่ออกมาในนามของเพ็ตตี้และวงคือการกลับมาอย่างรถเก่าที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและซ่อมแซมส่วนสึกหรอเติมน้ำมันเต็ม ถัง แน่นอน เสียงร้องอันยียวนกวนเบื้องล่างของทอมก็ยังคงเอกลักษณ์เหมือนสามสิบปีกว่าๆที่ผ่านมา และซาวนด์ของ The Heartbreakers ก็ยังเข้มข้น หนึ่งในอเมริกันแบนด์ที่เล่นได้หนักแน่นและเข้าขากันที่สุดในวงการ แต่ MOJO ก็มีจุดขายบางอย่างที่ทำให้มันต่างจากอัลบั้มอื่นๆของ Tom Petty and the Heartbreakers…..

MOJO เป็นศัพท์แสลงที่มีความหมายหลายอย่าง หรืออาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย คำแปลที่ดูจะเข้าทีที่สุดก็น่าจะเป็น ความสุขในการที่ได้ทำอะไรบางอย่าง และมันก็เป็นศัพท์ที่นิยมใช้ในดนตรีบลูส์ ที่โด่งดังที่สุดก็คือในเพลงบลูส์คลาสสิก I Got My Mojo Workin’ ของ Muddy Waters ตีความง่ายๆการที่ทอมนำชื่อนี้มาใช้ในอัลบั้มก็เพราะ Blues คือธีมหลักของดนตรีในอัลบั้มนี้ และพวกเขาทั้งหกมีความสุขและเมามันส์กันอย่างยิ่งในการบันทึกเสียง

Tom Petty (Vocals, Guitar), Mike Campbell (Lead Guitar), Benmont Tench (Piano and Organ), Ron Blair (Bass), Scott Thurston (Harmonica and Guitar) และ Steve Ferrone (Drums and Percussion) ร่วมบันทึกเสียงอัลบั้มนี้กันแบบสดๆในห้องอัด โดยเล่นดนตรีพร้อมๆกัน ไม่ใส่ headphone และทุกเพลงมีการ overdub น้อยมาก พวกเขายังจงใจที่จะอัดเสียงในแต่ละเพลงเสร็จตั้งแต่ต้นจบจบในช่วงเวลาแค่วันเดียวด้วย ยิ่งไปกว่านั้น มันยังเป็นเหมือนการแจมในห้องอัด เพราะว่าไม่มีการทำเดโม ไม่มีการซ้อมกันมาก่อน ทุกคนทราบแต่เค้าโครงคร่าวๆของบทเพลงเท่านั้น ทอมให้สัมภาษณ์ว่า ที่พวกเขาทำได้พราะความคุ้นมือและเข้าขากันเป็นอย่างดี ถ้าเป็น The Heartbreakers ในยุคก่อนๆคงไม่อาจเล่นกันสดๆแบบนี้ได้ดีขนาดนี้

ถ้าเราไม่ทราบมาก่อนก็คงยากที่จะบอกว่านี่คืองาน live ใน studio เพราะพวกเขาเล่นกันเนี้ยบมากเหมือนงานที่ผ่านการขัดเกลาและปรุงแต่งมาอย่างดี ซึ่งในมุมหนึ่งก็น่าเสียดาย เพราะมันน่าจะมีความสดและอารมณ์ดิบมากกว่านี้...กลายเป็นอย่างนั้นไป แต่ถ้ามองในแง่คุณภาพเสียง คนเล่นเครื่องเสียงน่าจะถูกใจ เพราะเป็นงานร็อคที่บันทึกเสียงมาได้สมบูรณ์มากๆอีกชุดหนึ่ง ทั้งพลังของชิ้นดนตรีและความกระจ่างใสแยกแยะ ความเป็นธรรมชาติ ไม่เสียชื่อที่ทำ master ที่ Bernie Grundman Mastering (โดย Chris Bellman)

ชื่อเสียงของหนุ่มวัยใกล้เกษียณ Tom Petty ในบ้านเราก็คงจัดว่าขายได้พอสมควร สำหรับคออเมริกันร็อค อาจจะไม่ถึงระดับ Bruce Springsteen หรือ Bob Dylan แต่อย่างน้อยเขาก็เคยเป็นหนึ่งใน Supergroup เฉพาะกิจระดับ Super- Traveling Wilburys เคียงคู่ไปกับ Dylan, George Harrison, Roy Orbison และ Jeff Lynne ล่ะน่า.... เสียงร้องและสไตล์ของเขาเป็นอิทธิพลจาก Bob Dylan, The Byrds แต่การเขียนเพลงของเขานั้นออกไปในแนวทางเรียบง่ายแต่ได้ผลของ Neil Young ยอมรับว่าตอนได้ยินเสียงร้องของแกเมื่อยี่สิบปีก่อน ผมแทบจะรับไม่ได้กับเสียงกวนส้นและแหบแห้งนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่านี่เป็นหนึ่งในเสียงที่ยียวนและเข้ากับดนตรีเก๋าๆของพวกเค้าอย่างเป็นที่สุด เพลงดังๆของ Tom Petty & The Heartbreakers มีมากมายอาทิ American Girl, Breakdown, Don’t Do Me Like That, You Got Lucky, The Waiting… ทอมไม่เคยสนใจที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆให้วงการดนตรี เพราะเขาถือว่าดนตรีร็อคถึงจุดสูงสุดแล้วในปี 1968 กับอัลบั้ ม White Album ของ Beatles (ส่วนตัวไม่เห็นด้วย-ผู้เขียน) แต่ที่เขาทำ คือการเล่าเรื่องผ่านการเล่นดนตรีในแนวเดิมๆที่มีคนทำมาแล้ว แต่...พวกเขาทำกันด้วยฝีมือระดับที่ทุกคน ต้องฟัง

ทอมทำงาน solo อยู่ 3 ชุด ที่เยี่ยมที่สุดในความเห็นผมคือ Wildflowers (1994) ที่ได้ Rick Rubin มาโปรดิวซ์ แต่งานเดี่ยวของทอม ก็ดูจะไม่เดี่ยวเท่าไหร่ เพราะก็มีสมาชิกของ Heartbreakers แวะเวียนมาช่วยกันตรึมทุกที งานชิ้นสุดท้ายของ Tom & Heartbreakers คือ Last DJ เมื่อปี 2002 หลังจากนั้นเขาออก solo อีก 1 ชุด และ Live Anthology 4 แผ่นของวง รวมทั้งการย้อนกลับไปออกอัลบั้มกับวงแรกของเขา Mudcrutch มาอีก 1ชุด ทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกว่าเขาจะหายไปนานนัก

กลับมาที่ Mojo อย่างที่บอกก็คืองานนี้มีธีมคือบลูส์ สิ่งที่หายไปคือท่อนฮุคติดหูหนึบและเพลงในแบบ arena rock ที่วงถนัด แต่ความเก๋าและยียวนยังคงกระจายเต็มแผ่น

และอย่าเข้าใจผิดว่าจะมีแต่เพลงบลูส์ซ้ำซาก พวกเขาปราดเปรื่องกว่าที่จะทำอะไรน่าเบื่อเช่นนั้น หลังจากเปิด อัลบั้มด้วย Chess-like blues และกีต้าร์ unison ใน Jefferson Jericho Blues อย่างน่าตื่นเต้นแล้ว ทอมก็ขับคาดิแลกติดป้ายทะเบียนบลูส์แวะเวียนไปในแนวทางต่างๆที่เกี่ยวดอง ไม่ว่าจะเป็น blues jazz โชว์ฝีมืออย่างที่ Allman Brothers เคยทำได้ดีใน First Flash of Freedom บลูส์แบบ J.J. Cale ใน Candy และ Running Man’s Bible สวมวิญญาณดีแลนในเพลงรักเศร้าหวานที่แสนไพเราะ No Reason To Cry (สไลด์กีต้าร์หวานมาก) เปิดโอกาสให้ Campbell วาดลวดลายกีต้าร์แบบ Jimmy Page และ Led Zeppelin ใน I Should Have Known It ส่วน Takin’ My Time เล่นบลูส์ตบจังหวะหยุด-ปล่อยในแบบที่ Willie Dixon ทำเป็นประจำได้อย่างเนียนแนบ หรือบางทีก็ออกคันทรี่บลูส์ไปเลยใน U.S.41 เร็กเก้โยนๆก็ยังมีนะครับ ใน Don’t Pull Me Over(เพลงนี้กวนสุดๆ) และปิดด้วย blues anthem… Good Enough ที่คนรัก Gary Moore น่าจะกรี๊ด...!

แต่เพลงโปรดที่สุดของผมคือ The Trip To Pirate’s Cove ที่เป็นการเล่าเรื่องแบบ Highway song ที่ทอมถนัดนัก เพื่อนรักสองคนที่ขับรถตะลอนกันไปจนแก๊ซหมดและราตรีมาเยือน พวกเขาใช้เวลาว่างในการปาร์ตี้ กับสอง maid โรงแรม......

เพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มจะต่อเนื่องกันไปโดยมีช่องว่างน้อยมาก เป็นอัลบั้มที่แฟนเก่าอาจจะต้องใช้เวลาเล็กน้อยในการทำความคุ้นเคย เพราะไม่ได้ติดหูง่ายเหมือนงานเก่าๆ แนะนำสำหรับคนชอบอเมริกันร็อคที่มีรสชาติบลูส์ปะแล่มๆ และคนชอบร็อคบันทึกเสียงดีๆครับ

และที่แน่ๆ หลังจากดูหน้าและฟังเสียงแล้ว ผมตัดสินใจจะคบพวกเขาต่อไปจนกว่าจะเลิกรากันไปข้างขอรับ...

tracklist

1. 'Jefferson Jericho Blues'
2. 'First Flash of Freedom'
3. 'Running Man's Bible'
4. 'The Trip to Pirate's Cove'
5. 'Candy'
6. 'No Reason to Cry'
7. 'I Should Have Known It'
8. '
U.S. 41'
9. 'Takin' My Time'
10. 'Let Yourself Go'
11. 'Don't Pull Me Over'
12. 'Lover's Touch'
13. 'High in the Morning'
14. 'Something Good Coming'
15. 'Good Enough'