Sunday 24 August 2008

40 ปี White Album - 1





เป็นธรรมเนียมไปแล้วสำหรับนิตยสาร MOJO ที่ต้องลงเรื่องใหญ่อัลบั้มครบรอบ40ปีของ Beatles ทุกปีมาตั้งแต่ปี 2006 เริ่มต้นด้วย Revolver และมีซีดีพิเศษแถมให้เป็นเพลง cover โดยศิลปินยุคใหม่ยกอัลบั้ม (ผมค่อนข้างประทับใจ Revolver Reloaded มาก แต่ปีที่แล้วกับ Sgt. PEPPER’S ไม่ค่อยดีเท่าไหร่) ปีนี้เป็นปีของอัลบั้ม ‘The Beatles’ หรือชื่อเล่นๆที่ทุกคนรู้จักกันดีกว่าชื่อจริงว่า The White Album

อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มคู่ MOJO ก็เลยพิเศษทำเป็นสองเล่มต่อเนื่องกันสองเดือน และซีดีก็แถมเป็นสองแผ่นไล่ตามอัลบั้มจริงด้วย (ซีดีผมยังฟังไปไม่ถึงรอบจึงยังไม่ขอวิจารณ์อะไร) หน้าปกเล่นโทนขาวหม่นเหมือนสีปกอัลบั้มนี้ที่ผ่านการกัดกร่อนของห้วงเวลามาแล้วพอสมควร ไม่เชื่อไปดูได้ปกแผ่นเสียงเก่าๆของอัลบั้มนี้จะออกสีนี้กันแล้วทั้งนั้น

สมัยอัลบั้มนี้ออกจริงๆผมเพิ่งอายุได้ขวบเดียว และตอนจะหามันมาฟังในยุคกลาง 80’s ในบ้านเราในรูปแบบเทปคาสเซ็ตต์กลับกลายเป็นของหายาก หรือจะพูดว่าหาไม่ได้เลยก็ว่าได้ แม้แต่เทปผี มันจึงกลายเป็นอัลบั้มแรกที่ผมได้ฟังครั้งแรกจากแผ่นไวนีลที่ไปหิ้วเข้ามาจากอเมริกา สังกัด Capitol, Stereo รู้สึกจะเป็นแผ่นฮอลแลนด์ แต่เสียงดีเชียวล่ะ ทุกวันนี้ผมยังริปมันจากแผ่นนี้ไว้ฟังใน iPod อยู่ แม้จะมีเสียงซู่ซ่าคลิกๆแก๊กๆมั่งก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหารบกวนอะไร (บางคนได้ยินเสียงพวกนี้ไม่ได้ ต้องรีบหา software มาทำการกลบเกลื่อนเป็นการใหญ่)

White Album เป็นอัลบั้มที่เป็นอะไรที่แตกต่างจาก Sgt. Pepper’s กันแบบสุดขั้วโลกเหนือ-ใต้ ขณะที่ Pepper สร้างขึ้นมาจากความร่วมมือร่วมใจและมันสมองที่อยู่ใน Creative Peak, White เป็นงานที่งอกเงยออกมาจากรอยร้าวของความสัมพันธ์ในวงและการทำงานแบบแทบจะเป็นงานโซโล่ Pepper มีความเป็น perfectionist และ concept album แต่เสน่ห์ของ White คือความ imperfection และความหลากหลายอย่างสุดขอบสเป็คตรัม 30 เพลงในอัลบั้มนี้ครอบคลุมแนวทางต่างๆมากมายจนแทบไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นผลงานของวงดนตรีวงเดียว ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือแม้ว่ามันจะไปคนละทิศละทางแต่เมื่อรวมอยู่ในซีดีสองแผ่นนี้แล้วกลับเป็นการฟังที่ต่อเนื่องไม่รู้สึกถึงความแตกต่างกันของแต่ละเพลง ตำนานเล่าว่าพวกเขาใช้เวลามากเป็นวันๆในการเรียงแทร็ค เพื่อให้ได้ลำดับในการฟังอันยอดเยี่ยมเช่นนี้




ก่อน White Album พวกเขาออกซิงเกิ้ล Hey Jude/Revolution มาเรียกขวัญแฟนๆกันก่อน Revolution เป็นเพลงแรกที่ John หันมาเขียนแนวการเมืองและ/หรือสันติภาพอย่างเต็มตัว แต่เวอร์ชั่นในซิงเกิ้ลนี้ไม่เหมือนใน White Album (กีต้าร์ดังและแหบกร้าวรวมทั้งจังหวะที่ดุดันกว่าหลายเท่า) ส่วน Hey Jude นั้นไม่อยู่ในอัลบั้มเลยด้วยซ้ำ มันเป็นหนึ่งในซิงเกิ้ลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล ทั้งๆที่มีความยาวถึง 7 นาที กว่าๆ ทางสังกัดเองยังลังเลว่าด้วยความยาวขนาดนี้มันจะเวิร์คหรือในการตัดเป็นซิงเกิ้ล แต่จอห์นย้อนกลับให้อย่างอหังการ์ว่า “มันต้องเวิร์ค เพราะเราบอกว่ามันจะเวิร์ค” และมันก็เวิร์คจริงๆ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบารมีของพวกเขา แต่ส่วนสำคัญก็คงต้องยกให้ความเป็น anthem ที่สมบูรณ์แบบของมัน ผมคิดเล่นๆว่าถ้าเพลงนื้มาอยู่ใน White Album ด้วยจะดีไหม นั่นหมายความว่าต้องมีเพลงถูกตัดออกไปสองสามเพลง และสมดุลของอัลบั้มจะเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย เพราะ Hey Jude จะโดดเด่น...อาจะเกินไป มาคิดดูแล้วก็ไม่น่าจะเอามันเข้ามารวมล่ะครับ รวมทั้งไอเดียของหลายๆคนที่อยากให้ White เป็นแค่อัลบั้มเดี่ยวแล้วคัดแต่เพลงเด่นๆมาแค่ 13-15เพลง ผมก็ไม่เห็นด้วยนะ ความมันส์ในการฟังอัลบั้มนี้อยู่ที่ความหลากหลายกระจัดกระจายของเพลงทั้ง 30 เพลง และเพลงอย่าง Why Don’t We Do It In The Road, Long, Long, Long, Don’t Pass Me By, Wild Honey Pie จะไปอยู่ที่ไหนได้ดีและน่าฟังเท่าในอัลบั้มแผ่นคู่นี้อีกเล่า


แฟนๆยุคนั้นอยู่ห่างไกลจากยุคข่าวสารลึกล้ำและรวดเร็วของยุคปัจจุบันมาก ทุกคนจึงฟังอัลบั้มนี้ด้วยความชื่นชม ไม่มีใครทราบว่าเบื้องหลังการทำงานนั้นพวกเขากดดันและเคร่งเครียดกันขนาดไหน

วันนี้ดึกแล้วขอจบแบบห้วนๆแค่นี้ก่อน ไว้จะมาเล่าเกี่ยวกับอัลบั้มนี้กันยาวๆต่อนะครับ

2 comments:

Anonymous said...

เนื่องจากไม่ได้ subscribe MOJO หรือ Q Magazine เป็นประจำเวลาจะซื้อก็ต้องเข้าเมืองไปตามร้านหนังสือใหญ่ๆ ซึ่งก็ไม่ได้มีกิจธุระเข้าไปเป็นประจำ ทำให้พลาด Mojo เล่มนี้อย่างน่าเสียดาย

บทความที่เขียนถึง White Album ของเต่าทองเป็นเรื่องที่รออ่านอยู่ครับ และก็ได้อ่านสนุกสมใจ เวลาคุณวินส์เขียนจะมี feel ที่แตกต่างไปจากนักเขียนรุ่นพี่ๆ ทำให้ได้แง่มุมบางมุมเพิ่ม และที่สำคัญ อ่านสนุก

จอรออ่านตอนต่อ...

winston said...

GM2000 version

Around Music: 40 Years ‘The Beatles’ (part 1)


มันเป็นอัลบั้มที่ 9 ของพวกเขา ต่อจากอัลบั้มกระฉ่อนโลกในปี 1967 Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ที่ประสบความสำเร็จในทุกๆด้าน มันเปลี่ยนโฉมหน้าวงการเพลงป๊อบไปในหลายมิติ ทั้งด้านดนตรี เนื้อหา และหีบห่อ แน่นอนว่ามันเป็นงานสาหัสและกดดันสำหรับศิลปินใดก็ตามที่จะออกงานต่อจาก masterpiece ของตนเอง และ The Beatles ก็เลือกที่จะทำมันทุกอย่างตรงกันข้ามกับที่พวกเขาทำไว้ใน Sgt. Pepper’s หน้าปกที่มีสีเดียว ดนตรีที่ย้อนกลับไปสู่ความเรียบง่ายและใช้เครื่องมือน้อยชิ้น (แน่นอน,มีข้อยกเว้นในบางแทร็ค) และความหลากหลาย.....เสียจนอาจจะเรียกได้ว่าความอลหม่านจะถูกกว่า...ของแนวดนตรีสารพัด ทั้งหมดอยู่ใน 30 เพลงของอัลบั้ม


เดิมทีพวกเขาอยากใช้ชื่ออัลบั้มว่า Doll’s House โดยมีไอเดียว่าเพลงแต่ละเพลงในอัลบั้มจะกลายเป็นนิยายในตัวเองอยู่ในบ้านแห่งความหฤหรรษ์ที่ดำเนินงานโดยหญิงสาวนามว่า Doll แต่ไอเดียนี้ก็ต้องตกไปเพราะว่าวง Family ตัดหน้าออกผลงานชื่อ Music From A Doll’s House ไปก่อนพวกเขาจึงต้องหาชื่ออัลบั้มกันใหม่


มีการระลึกความหลังว่าพวกเขาเคยตั้งชื่ออัลบั้มอะไรมาแล้วบ้างที่เกี่ยวกับชื่อวง With The Beatles, Introducing The Beatles, Beatles For Sale, Meet The Beatles, The Beatles’ Second Album, Beatles VI,… แล้วชื่อง่ายๆที่สุดอย่าง ‘The Beatles’ ล่ะ พวกเขามองหน้ากันตาปริบๆและมีความเห็นตรงกันว่าพวกเขาไม่เคยใช้ชื่อนี้เป็นชื่อ LP มาก่อน อัลบั้มที่ 9 ที่ออกในปี 1968 นี้ของ Beatles จึงมีนามว่า ‘The Bealtes’ แต่จะหาใครเรียกมันด้วยชื่อนี้นั้นน้อยนัก เพราะทุกคนรู้จักมันในนาม The White Album จากหน้าปกอันขาวโพลน ไร้รอยพิมพ์ใดๆ นอกจากตัวนูนของชื่อวงด้านขวาล่าง และ running number ในเวอร์ชั่นแรกๆของแผ่นเสียง


คุณอนุสรณ์ สถิรรัตน์ อดีตบ.ก.นิตยสารดนตรี Music Express, Crossroads และ Soundmag ให้ความเห็นเกี่ยวกับปกอัลบั้มนี้ว่า “ผมเริ่มฟังอัลบั้มนี้จากคาสเซ็ตต์มาก่อน และมีความรู้สึกในแง่ลบกับอาร์ทเวิร์คของอัลบั้มนี้ เพราะรู้สึกว่ามันเล่นกันง่ายไปหน่อย จวบจนเวลาผ่านมา เมื่อมาได้สัมผัสกับการออกแบบในแผ่นเสียงจึงได้เข้าใจที่มาที่ไปของคอนเซ็ปต์ และที่ประทับใจมากๆคือโปสเตอร์ยักษ์ที่แถมด้านใน รวมทั้งภาพ portrait ของสมาชิกทั้ง 4 ที่สวยงามมาก”


คุณ สมบูรณ์ งามสุริยโรจน์ คอลัมนิสต์ดนตรีรุ่นคลาสสิก เจ้าของบทความ “30 ปีบีเทิลส์” อันลือลั่นอันตีพิมพ์ในสตาร์พิคส์เมื่อสิบปีก่อน วันนี้เมื่อถูกถามคำถามเกี่ยวกับความเห็นต่ออัลบั้มปกขาวนี้ เขาเล่าให้ฟังด้วยอารมณ์ของคนร่วมสมัย(กับศิลปิน)อย่างแท้จริงว่า


“ ตอนฟังครั้งแรกในปี 1968 ผมบอกตรงๆว่ารุ้สึกเฉยๆกับ White Album เพราะเพิ่งประทับใจกับ Sgt. Pepper’s มากๆมาเมื่อปีก่อน มาเจอเพลงที่ไม่ค่อยได้ความหลายๆเพลงใน White เลยไม่ค่อยถูกชะตา...”


คำว่าเฉยๆของคุณสมบูรณ์ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปฏิกิริยา แต่เป็นไปในโทนของไม่ชอบเสียมากกว่า


“ทุกวันนี้ผมก็ยังชอบอัลบั้มอย่าง Sgt. Pepper’s, Abbey Road หรือ Magical Mystery Tour มากกว่า ถ้าวัดกันเพลงต่อเพลงนะ แต่ต้องยอมรับว่า White Album ในปี 2008 มันฟังดูดีกว่า White Album ในปี 1968 อย่างมากๆๆๆ”


เป็นเพราะเหตุผลใดหรือ?


“อาจเป็นเพราะหลายๆเพลงในอัลบั้มคู่นี้ต้องใช้เวลาในการย่อยและซึมซับนานกว่าปกติ แน่นอนว่ามีเพลงประเภท filler มากมายใน white album แต่ fillers ของพวกเขาก็ยังดีและน่าสนใจกว่างานหลักๆของอีกหลายวง!”


เดือนพ.ย.นี้แล้วก็จะครบรอบ 40 ปีของการปรากฏตัวของอัลบั้มนี้ แม้จะไม่มีแผ่นพิเศษหรือการจัดงานฉลองเป็นทางการคึกโครมออกมา แต่เราก็ยังอยากระลึกถึงอัลบั้มที่สุดแสนจะประหลาดแผ่นนี้อีกครั้งในบทความ 3 ตอนจบใน GM2000 นี้


พ.ค. 1968 จอห์น เลนนอน พอล แมคคาร์ทนีย์ จอร์จ แฮริสัน และ ริงโก้ สตาร์ รวมตัวกันที่บ้านพักของจอร์จที่ Esher เพื่อพูดคุยกันถึงการทำอัลบั้มใหม่ พวกเขาแจมกันด้วยอคูสติกกีต้าร์และบันทึกเสียงเพลงตัวอย่าง (demo) กันไว้จำนวนหนึ่ง เพลงส่วนใหญ่เป็นการประพันธ์ในไปเข้าคอร์สวิปัสนากับ Maharishi Yogi ในอินเดีย พอลแต่งเพลงใหม่ไว้ 7 เพลง จอร์จ 5 เพลง และจอห์น เลนนอน ทะลุเป้าไปถึง 14 เพลง แม้แต่ริงโก้ สตาร์ก็ยังแต่งเพลงแรกในชีวิตของเขา! หลังจากนั้นพวกเขาจึงเดินทางเข้า Abbey Road studios เพื่อใช้เวลาถึงห้าเดือนในการบันทึกเสียงอันเต็มไปด้วยปัญหาสาหัสก่อนที่จะได้ 30 เพลงที่จะบรรจุใน White Album นี้ รวมถึงเพลงอีกจำนวนหนึ่งที่ยังนอนนิ่งอยู่ในคลังของ EMI


ในบรรดาเพลงที่ถูก “คัดออก” จาก White Album Sessions หลายเพลงได้มาเผยโฉมในอัลบั้ม Anthology3 ในปี 1996 แต่บางเพลงก็ยังคงมีให้หาฟังเฉพาะในอัลบั้ม Bootleg เช่น Child Of Nature เพลงของจอห์นที่ต่อไปจะพัฒนามาเป็นหนึ่งในเพลงรักที่โด่งดังของจอห์น เลนนอน :Jealous Guy ในอัลบั้มเดี่ยวชุดที่สองของเขา Imagine ในปี 1971 หรือ Sour Milk Sea และ Circles ที่เป็นงานของจอร์จ แฮริสันทั้งสองเพลง เพลงแรกนั้นต่อมาจอร์จยกให้ศิลปินหน้าใหม่ของ Apple Records ขณะนั้น Jackie Lomax ส่วนเพลงหลังจอร์จนำมาบันทึกเสียงเองในปี 1978 และมาโผล่ในอัลบั้ม Gone Troppo ของเขาในปี 1982 ส่วนพอลก็มี Junk (ตอนนั้นเรียกกันว่า ‘Jubilee’) ที่เป็นภาพร่างของเวอร์ชั่นในงานเดี่ยวชุดแรกของเขา McCartney ในปี 1970


Polythene Pam และ Mean Mr. Mustard สองเพลงที่เรารู้จักกันใน Abbey Road Medley อันโด่งดังในปี 1969 ก็เป็นงานตกค้างจาก sessions นี้


30 เพลงที่เข้ารอบสุดท้ายแสดงให้เราเห็นว่าบรรยากาศในอินเดียที่สงบเงียบ ปราศจากการวุ่นวายของสื่อมวลชนและยาเสพติด (อย่างน้อยก็น้อยลง) ช่วยนำพาให้พวกเขาแต่งเพลงใหม่ๆที่อิงประสบการณ์ดนตรีเก่าๆในเยาว์วัย ตั้งแต่ร็อคแอนด์โรลสไตล์ Chuck Berry บวกเสียงประสานแบบ Beach Boys ใน Back In The U.S.S.R., เพลงชวนให้คิดถึงหนังฮอลลีวู้ดเก่าๆอย่าง Good Night หรือ Honey Pie, เพลงคาวบอย Rocky Raccoon หรือเพลงที่จอห์นแต่งเพราะความคิดถึงคุณแม่ที่จากไปตั้งแต่เด็ก Julia (แม้ว่าด้วยความเป็นจอห์น เลนนอน เขาก็ยังสอดแทรกผลประโยชน์ทับซ้อนลงไปในเนื้อหาด้วยการอ้างอิงถึงโยโกะ โอโนะคนรักใหม่ลงไปด้วย) แต่หลายเพลงก็เป็นประสบการณ์ตรงจากการเข้าค่ายที่อินดียอย่าง The Continuing Story Of Bungalow Bill ที่ว่าถึงลูกศิษย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งของ Maharishi ที่นั่งวิปัสสนาเสร็จก็ออกไปยิงเสือเล่นในป่า หรือ Dear Prudence ที่จอห์นแต่งให้ Prudence Farrow น้องสาวของดาราดัง Mia Farrow หนึ่งใน “นักเรียน” วิปัสสนาในค่ายผู้ซึ่งมีความมุ่งมั่นเกินหน้าเกินตาชาวบ้าน นั่งสมาธิไม่ลืมหูลืมตา จนจอห์นต้องเรียกให้เธอ ‘came out to play’ และ Sexy Sadie ที่จอห์นอุทิศให้ Maharishi ในแง่มุมที่ไม่ค่อยดีนัก


แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งยังมาจากสิ่งแวดล้อมที่บ้านของพวกเขา Cry Baby Cry เริ่มต้นด้วยการเป็นเหมือนเพลงโฆษณาในทีวี หรือ Glass Onion ที่จอห์นหยอกล้อไปกับความหมกมุ่นเกินกว่าเหตุของแฟนเพลงในการตีคววามเนื้อเพลงของพวกเขา พอลแต่ง Mother Nature’s Son โดยมีแรงบันดาลใจเริ่มต้นจาก Nature Boy เพลง standard ของ Nat King Cole และ Martha My Dear ที่ฟังดูเหมือนเพลงรักให้สาวน้อยชื่อมาร์ธา แต่แฟนานุแฟนย่อมทราบกันดีว่ามันคือชื่อสุนัขสาวของพอล “ความสัมพันธ์ของเราเป็นแบบฉันทน์เพื่อนจริงๆนะครับ” พอลเคยกล่าวติดตลกไว้ ส่วนจอร์จก็มี Savoy Truffle ที่บรรยายถึงนิสัยชอบทานช็อคโกแล็ตของเพื่อนรักกีต้าร์ก๊อด Eric Clapton, Piggies ที่เป็น social comment แบบติดตลกจากเต่าทองผู้เงียบขรึม Long, Long, Long บรรยายถึงการแสวงหาพระเจ้าของผู้แต่ง และ While My Guitar Gently Weeps ที่เริ่มต้นอย่าง random สิ้นดี “ผมตั้งใจจะแต่งเพลงใหม่โดยเริ่มต้นจากคำๆแรกที่เปิดเจอในหนังสือเล่มใดก็ได้” จอร์จหยิบหนังสือจากชั้นวางในบ้านของคุณแม่ของเขาและคำแรกที่เขาเปิดเจอคือ ‘gently weeps’ และเราคงไม่ลืม Don’t Pass Me By เพลงเปิดตัว Richard Starskey หรือ Ringo Starr ในฐานะนักประพันธ์ เพลงนี้ว่ากันว่าเขาแต่งเอาไว้ตั้งแต่ปี 1963!


การบันทึกเสียงเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 30 พ.ค. 1968 กับเพลงการเมืองเต็มตัวเพลงแรกของจอห์น Revolution ฉบับหน้าเราจะมาต่อกันด้วยบรรยากาศการบันทึกเสียงที่เต็มไปด้วยสีสันของ White Album ที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยในเร็วๆนี้จากคนวงในห้องอัด รวมทั้งความคิดเห็นจากนักเขียนนักวิจารณ์ต่างๆในบ้านเราในเชิงลึกครับ!