Thursday 26 February 2009

Led Zeppelin: Life Before Led (2)






ในเวลาเดียวกัน จิมมี่ เพจก็เดินหน้าสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองในฐานะมือกีต้าร์ห้องอัดชั้นนำของอังกฤษ เขาเล่นในเพลง Twist And Shout ของ Brian Pools & The Tremeloes (อันดับ 4 ในอังกฤษ, 4 กรกฎาคม 1963) , ฝากฝีมือการเล่นในแบบของ Eddie Cochran ไว้ในเพลง Just Like Eddie ของ Heinz ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เพลงนี้ติดอันดับ 5 ในอังกฤษ ปีต่อมาเขาเล่นในเพลง Heart Of Stone ของ The Rolling Stones และเพลง Shout ของ Lulu (เพลงนี้เป็นเพลงแจ้งเกิดของเธอ ติดอันดับ7ในเดือนมิ.ย. 1964) เขามีส่วนสำคัญในเพลง Tobacco Road ของ The Nashville Teens (อันดับ6 ก.ค. 1964) เล่นในเพลงฮิตที่สุดของ Dave Berry – The Crying Game (อันดับ5 สิงหาคม 1964) และแม้แต่ทอม โจนส์ ก็ยังใช้บริการของจิมมี่ในเพลงอันดับ1เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1965 ของเขา-- It’s Not Unusual
งานเซสชั่นที่กล่าวมาข้างบนอาจจะไม่เป็นที่รู้จักกันนัก แต่ก็มีอยู่หลาย sessions ที่เพจเล่นกีต้าร์ไว้ให้ที่กลายเป็นตำนานร็อคไปแล้ว เพลงอันดับ1 เพลงแรกของ The Kinks ‘You Really Got Me’ (มันอาจจะเป็นเพลงเฮฟวี่/ฮาร์ดร็อคเพลงแรกๆของโลก) และเสียงกีต้าร์ที่ได้ยินในเพลงนี้ก็อาจจะเป็นฝีมือของเพจ (เดฟ เดวี่ส์แห่ง The Kinks ยืนยันว่าแม้เพจจะอยู่ในห้องอัดวันนั้น แต่เสียงกีต้าร์นั้นเป็นของเขา แต่ ริทชี่ แบลคมอร์แห่ง Deep Purple กลับบอกว่าเป็นเพจแน่ๆ เพราะเพื่อนของเขา Jon Lord เล่นคีย์บอร์ดในเพลงนี้ และลอร์ดก็มั่นใจว่าเขาไม่เห็นศีรษะของเดฟแต่อย่างใด-สรุปว่ายังสรุปไม่ได้)มกราคม 1965 เพจเล่นในเพลง Baby Please Don’t Go ของวงไอริชชื่อดังที่กำลังสร้างชื่อในอังกฤษ Them ที่มีนักร้องชื่อ แวน มอริสัน เพลงนี้ไม่มีข้อโต้แย้งว่าเป็นฝีมือเพจแน่ๆ แต่บิลลี่ แฮริสันมือกีต้าร์ของ Them ก็ยังอ้างว่า อย่างน้อยเขาก็เป็นคน “คิด” ท่อนริฟฟ์นี้เอง เพจยังไปโผล่ในซิงเกิ้ลแรกของ The Who ‘I Can’t Explain’ อีกด้วย พีท ทาวน์เซนต์มือกีต้าร์ของ Who ยังจำวันนั้นได้ดี เขาถามเพจ (ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน) ว่านายมาทำไมที่นี่วะ เพจตอบอย่างนิ่มนวลว่า เขามาเพื่อ “ให้น้ำหนักแก่เสียงกีต้าร์อีกนิดหน่อย กันจะมาเล่นริธึ่มเสริมลงไปแค่นั้น” และเพจก็ยังลามไปเล่นใน “Bald Headed Woman’ ที่เป็นหน้าบีของซิงเกิ้ลด้วยจอห์น พอล โจนส์ ก็วิ่งเข้าห้องอัดวุ่นวายไม่แพ้เพจจี้ แถมบางวันพวกเขายังเดินชนกันในสตูดิโอด้วยซ้ำ อย่างเช่นในการบันทึกเสียงเพลงเก่าของสโตนส์ As Tears Go By โดย แมรี่แอน เฟธฟูล โจนซี่เล่นเบสและเพจจี้เล่นกีต้าร์ ซิงเกิ้ลแรกของร็อด สจ๊วตในฐานะศิลปินเดี่ยว ‘Good Morning Little School Girl’ (กันยายน 1964)โจนส์ก็ไปช่วยเล่นด้วย เขายังอุตส่าห์หาเวลาไปออกงานเดี่ยวได้1แผ่นซิงเกิ้ล ‘A Foggy Day In Vietnam’ ในปีนั้น ยอดขายมันหายไปกับสายหมอก นอกจากเล่นเบสแล้วโจนส์ยังเป็น Musical Director ร่วมกับ Mickie Most ในเซสชั่นต่างๆมากมาย อาทิของ Rolling Stones, Nico, Tom Jones, Wayne Fontana และ The Walker Brothers เป็นต้นขณะที่โจนส์มี มิคกี้ โมสต์เป็นคู่หู เพจก็จับคู่กับโปรดิวเซอร์/ผู้จัดการของหินกลิ้ง Andrew Loog Oldham แอนดรูว์มีสังกัดของตัวเองชื่อ Immediate และเพจก็ปักหลักเป็นโปรดิวเซอร์และมือกีต้าร์ประจำสังกัดตั้งแต่สิงหาคม 1965แม้งานจะมาไม่ขาดสาย แต่เพจก็ยังรู้สึกว่าเขายังขาดอะไรไปอยู่ในชีวิตการเป็นนักดนตรี สิ่งนั้นก็คือการที่เขาจะแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา เพจลองออกงานเดี่ยวเป็นโซโลซิงเกิ้ลเมื่อต้นปี 1965 She Just Satisfies แต่มันก็ยังไม่เพียงพอกับความปรารถนาในจิตใจและไฟสร้างสรรค์ที่เดือดพล่านของนักกีต้าร์หนุ่ม
------
16 พฤษภาคม 1966 เป็นวันที่จิมมี่ เพจเริ่มได้กลิ่นทิศทางใหม่ที่เขาจะหลุดพ้นไปจากงานเซสชั่นแบบเดิมๆ ที่ IBC Studios ในลอนดอน เพจ. โจนส์. นิคกี้ ฮอปกินส์ (เปียโน) และ คีธ มูน มือกลองราชาปาร์ตี้แห่ง The Who มารวมหัวกันเพื่อจะเล่นดนตรีให้ Jeff Beck ในเพลง Beck’s Bolero มันเป็นเซสชั่นที่ยอดเยี่ยมเหลือเชื่อ ทุกคนเล่นกันได้เข้าขาและเฉียบขาดแม้จะไม่เคยซ้อมกันมาก่อน หลังจากเซสชั่นนี้จบลง ทุกคนประทับใจกับปฏิกิริยาอันเข้มข้นที่เกิดขึ้นในห้องอัด ถึงกับมีการพูดคุยจะตั้งวงกันเป็นการถาวร จอห์น พอล โจนส์ เป็นคนเดียวที่ไม่แสดงท่าทีจะเข้าร่วม เพจเล่าว่า พวกเขากะว่าจะตั้งชื่อวงว่า ‘Led Zeppelin’ ชื่อที่มาจากคำประชดประชันของมูน ว่าวงคงจะร่วงไม่เป็นท่าเหมือนเรือเหาะที่ระเบิดกลางหาวลำนั้น แต่วงในฝันนี้ก็ไม่ได้เกิด ตำนานเล่าว่าสาเหตุใหญ่คือพวกเขาหานักร้องนำไม่ได้ (สองตัวเลือกที่ปฏิเสธตำแหน่งไปคือ Steve Winwood ซึ่งกำลังจะฟอร์มวง Traffic และ Steve Marriott ของ The Small Faces) Beck’s Bolero กลายเป็นหน้าบีของซิงเกิ้ลดังของเบ็คในปี 1967 Hi-Ho Silver Lining และเพจก็คงยังต้องค้นหาหนทางและที่ๆที่เขาจะแสดงผลงานของเขาอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

No comments: