Friday 5 November 2010

John Lennon & Yoko Ono- Double Fantasy Stripped Down (2010) ***





Producer-Jack Douglas & Yoko Ono, (Stripped Down), John Lennon, Yoko Ono and Jack Douglas (Original 1980 mix)

Genre-Pop Rock

Released-October 2010

นักข่าวถามโยโกะ โอโนะเมื่อเร็วๆนี้ว่าเธอคิดว่าถ้าจอห์นทราบเขาจะคิดยังไงกับสถานะความเป็นไอคอนขั้นเทพของเขาในทุกวันนี้ เธอตอบว่าจอห์นนั้นเป็นไอคอนมาตั้งแต่สมัยบีทเทิลส์แล้ว เขาคงไม่ตื่นเต้นอะไรหรอก

แต่สิ่งที่จอห์นอาจจะตื่นเต้นในวันเกิด 70 ขวบนี้อาจจะเป็นโครงการฉลองที่ภรรยาของเขาจัดให้ที่มีการรีอิชชูงานทั้งหมดของเขาสารพัดรูปแบบ ทั้งรวมฮิตแผ่นเดียว บ๊อกซ์ 4 แผ่น บอกซ์ครบชุดทุกแผ่น (ในแบบ original mix) แต่เกือบทั้งหมดเป็นงานที่เคยออกมาก่อนแล้ว เว้นแต่แผ่น Home Tapes ใน Signature Box ซึ่งรวม demo versions ที่น่าสนใจไว้หลายเพลง และก็แผ่นที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ Double Fantasy Stripped Down ที่ขายแยกออกมาไม่อยู่ในกล่องใดๆ

Double Fantasy Stripped Down หน้าปกเป็นภาพวาดลายเส้นฝีมือของ Sean Lennon บรรจุซีดีสองแผ่น แผ่นแรกเป็น Stripped Down Mix แผ่นที่สองเป็น Original 1980 mix, remastered เมืองนอกขายราคาแผ่นเดียว แต่บ้านเราไม่ใช่นะ

ไอเดียของ Stripped Down คือ เวอร์ชั่นดั้งเดิมในปี 1980 นั้นเต็มไปด้วยเสียงแต่งแต้มที่มากเกินไป ทั้งเสียงร้องประสานและเครื่องดนตรีที่มากชิ้น รวมทั้งการใช้เอ็คโค่กับเสียงร้องของจอห์น สิ่งที่โยโกะและแจ็คทำใน Stripped Down นี้ก็คือการมิกซ์ทุกแทร็คใหม่ ตัดเสียงที่คิดว่ามันเป็นส่วนเกินออก เร่งเสียงจอห์นให้ดังขึ้น เธอไม่เห็นด้วยกับจอห์นที่ไม่มั่นใจในเสียงร้องของตัวเองและมักจะพยายามหมกเสียงตัวเขาด้วยวิธีการต่างๆนาๆ และโยโกะก็ยังคิดว่าโปรดักชั่นในยุค 80 มันล้าสมัยไปเสียแล้ว การ Stripped Down จะทำให้ได้ซาวนด์ที่ทันสมัยและร่วมสมัยมากกว่า

แน่ล่ะ แนวคิดอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดการถกเถียงตามมามากมายถึงความเหมาะสม แต่โยโกะก็ตัดปัญหาด้วยการใส่ original album มาด้วย ทำนองว่าอย่างไรเสียฉันก็ยังไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับของเดิมนะ ถ้าเธออยากฟังแบบเดิมๆก็ยังมีขายมีให้ฟังกันอยู่ แผ่น Stripped Down จึงเหมือนแถมมาให้ฟังกันเล่นๆ

Double Fantasy เป็นงาน ‘come back’ ของจอห์นหลังจากห่างหายจากวงการไปเลี้ยงลูกและทำหน้าที่ ‘househusband’ เสีย 5 ปี เขาแต่งเพลงใหม่อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน มันเป็นอัลบั้มที่เป็นเฟสใหม่ของชีวิต ที่เขาสื่อสารกับคนยุค 60’sที่กำลังก้าวข้ามสู่ 80’s มาด้วยกันกับเขา เพลงทุกเพลงในอัลบั้มเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาและครอบครัว เขาตั้งใจจะให้มันเป็นกึ่งๆบทสนทนาระหว่างเขากับโยโกะ มีเรื่องเล่าว่าหลังจากบันทึกเสียงเสร็จ จอห์นกับแจ็ค ดักลาสโปรดิวเซอร์ก็ช่วยกันเรียงเพลงเสร็จเรียบร้อย โดยมีเพลงของจอห์นทั้งหมดอยู่หน้าเอ และที่เหลือหน้าบีเป็นเพลงของโยโกะ แต่เมื่อภรรยาคนเก่งของจอห์นทราบเรื่องเธอถึงกับเม้งแตกเหวี่ยงกระจายสั่งให้เรียงเพลงใหม่เป็นสลับกันเพลงต่อเพลงทันที ใครๆก็รู้แม้แต่เธอเองว่าถ้าวางคนละหน้าอย่างนั้น ไวนีลด้านบีของ Double Fantasy คงแทบไม่ได้สัมผัสเข็ม

เรียนตรงๆว่ามันก็เลยเป็นอัลบั้มที่ฟังกันด้วยความกระอักกระอ่วน เพราะเพลงของจอห์นในชุดนี้ไพเราะน่าฟังแทบทุกแทร็ค แต่คุณต้องผ่านด่านเพลงคั่นของโยโกะไปก่อนทุกเพลงเหมือนกัน มหกรรมการยกเข็มและกรอเทปตลอดจนการอัดเทปใหม่ไปเลยจึงเริ่มต้นขึ้น แซวกันอีกว่ายุคซีดีมาถึงทำให้การฟัง Double Fantasy ง่ายขึ้นเยอะ

เมื่อทราบว่าการ ‘stripped down’ นี้จะมีการยกระดับเสียงร้องให้ฟังชัดเจนยิ่งขึ้นในแบบราวกับร้องให้ฟังสดๆต่อหน้า หลายคนเริ่มผวา ว่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเพลงอย่าง Kiss Kiss Kiss หรือ Give Me Something ของโยโกะ เพราะเวอร์ชั่นดั้งเดิมก็หลบกระสุนเสียงร้องเธอกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว ถ้าจะมีการยกให้เด่นดังกว่าเดิมอีกจะเป็นอย่างไรนั่น

แต่โชคดีที่โยโกะมีคุณธรรมเพียงพอที่จะไม่ทำร้ายจิตใจคนฟังอย่างนั้น เธอไม่ได้เน้นเสียงร้องของเธอเหมือนกับที่ทำกับจอห์น และเสียงที่ทำร้ายจิตใจมากๆในหลายๆเพลงเหมือนเธอจะตั้งใจมิกซ์ให้เบาลงและรีบๆเฟดหายไป ทั้งหมดทำให้การฟังเพลงของโยโกะใน Double Fantasy ฉบับปลดเปลื้องนี้สบายหูกว่าเดิมมากเลยครับ

แต่ประเด็นสำคัญก็คงอยู่ที่เพลงของจอห์น เสียงร้องของจอห์นชัดแจ๋วและเดียวดายโดดเด่นอย่างที่แทบไม่เคยได้ยินแบบนี้มาก่อนในทุกๆแทร็ค หลายๆเพลงฟังแล้วเหมือนเป็นเดโมหรืองานที่ยังทำไม่เสร็จเนื่องจากสมองเราอดไม่ได้ที่จะนำมันไปเปรียบเทียบกับ final version เดิมที่เราฟังมาสามสิบปี มันเป็นงานที่น่าฟัง การได้ฟังเสียงจอห์นชัดๆแบบนี้เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยม แต่แทบไม่มีเพลงไหนที่ผมคิดว่าภาพรวมมันจะดีไปกว่าเวอร์ชั่นเดิมชนิดที่ว่าแทนกันได้ อาจจะเว้นก็แต่ Cleanup Time ที่ฟังกี้ได้สุดมันส์ในเวอร์ชั่นใหม่นี้จนทำให้ของเก่าน่าเบื่อไปเลย จอห์นร้องได้อร่อยพอๆกับเบสดีดดิ้นของ Tony Levin

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ Stripped Down คือบทสนทนา หรือการพูดก่อนเข้าเพลง รวมทั้งท่อนเฟดที่ยาวกว่าเดิม ที่มีให้ได้ยินพอสมควร ให้บรรยากาศเหมือนเราเข้าไปฟังพวกเขาบันทึกเสียงกันจริงๆ

(Just Like) Starting Over เปิดด้วยเสียงจอห์น “This one for Gene, and Eddy and Elvis….and Buddy” แต่เสียง wishing bell หายไป เสียงประสานดูวับถูกตัดออกไป ทำให้เอ็ฟเฟ็คในช่วงที่จอห์นร้องเดี่ยว “Why don’t we take off alone” ไม่ได้อารมณ์เท่าเดิม ตอนท้ายเพลงให้ฟังกันยาวเหยียดกว่าเดิม I’m Losing You ร็อคกว่าเดิมแต่ไม่เท่าเวอร์ชั่นที่ Cheap Trick back up (หาฟังได้ใน Lennon Anthology) ส่วน Woman และ Watching The Wheels ชัดแจ่มแต่โหวงเหวงเหมือนซ้อมกันสนุกๆ มันเป็นเพลงที่ต้องการการแต่งเติมมากกว่านี้ Beautiful Boy (Darling Boy) กับ Dear Yoko ดูจะไม่แตกต่างมากนัก เว้นแต่ท่อนท้ายของเพลงหลังที่จอห์น แร็ป ให้ฟังกันฮาๆ

จินตนาการว่าท่านได้เป็นแขกรับเชิญเข้าไปรับฟังจอห์น เลนนอน บันทึกเสียงที่ The Hit Factory ในวันใดวันหนึ่งก่อนที่จะถึงขั้นตอนสุดท้าย น่าจะเป็นไอเดียที่ดีในการฟัง Stripped Down ครับ สัมผัสได้ถึงความสุขและความกระตือรือร้นในการกลับมาทำงานดนตรีอีกครั้งของเลนนอน ในเพลง Cleanup Time เขาถึงกับร้องในตอนท้ายเพลงว่า คริสต์มาสใกล้เข้ามาอีกครั้งแล้ว แต่ก็อย่างที่เรารู้กันว่า คริสต์มาสสุดท้ายของเขาคือปี 1979

· 1. Just Like Starting Over

· 2. Kiss Kiss Kiss

· 3. Cleanup Time

· 4. Give Me Something

· 5. I'm Losing You

· 6. I'm Moving On

· 7. Beautiful Boy (Darling Boy)

· 8. Watching The Wheels

· 9. Yes I'm Your Angel

· 10. Woman

· 11. Beautiful Boys

· 12. Dear Yoko

· 13. Every Man Has A Woman Who Loves Him

· 14. Hard Times Are Over

1 comment:

Anonymous said...

555...!
ชอบครับชอบ โยโกะมีคุณธรรมพอ (คิดได้ไง)

ปล.น่าจะมีการจัดพิมพ์หนังสือรวมเล่มงานรีวิวของหมอวินส์ได้แล้ว ไม่ได้เยินยอรู้สึกว่าหมอวินส์ยกระดับงานเขียนไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว

kilroy