Sunday 1 March 2009

TUBULAR BELLS





Tubular bells เป็นเครื่องดนตรีตระกูลเครื่องเคาะ ตัวระฆังทำจากทองเหลือง ลักษณะเป็นท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง30-38มิลลิเมตร ความแตกต่างของระดับเสียงของมันขึ้นอยู่กับความยาวของตัวท่อที่แขวนเรียงกันในแนวดิ่ง มันหนักอึ้งและไม่เป็นที่นิยมใช้กันในวงการนัก เสียงของมันคล้ายระฆังโบสถ์ คุณจะได้ยินเสียงของ tubular bells ได้ในเพลงคลาสสิกหลายเพลงในแนว programmatic อย่าง Symphonie Fantastique ของ Berlioz หรือ 1812 Overture ของ Tchaikovsky

แต่มนุษย์ที่ทำให้เครื่องดนตรีชิ้นนี้มีชื่อเสียงขึ้นมาที่สุดย่อมเป็น ไมค์ โอลฟิลด์ กับงานชื่อเดียวกับเครื่องดนตรีนี้ หรืออาจจะกล่าวอีกแบบได้ว่า tubular bells ก็มีบุญคุณทำให้ชื่อเสียงของไมค์ เป็นที่รู้จักในระดับเดียวกัน

ลองเพลย์ที่มีแค่สองเพลง แต่ละเพลงเป็นเพลงบรรเลงยาวเกินยีสิบนาที นักดนตรีคนเดียวเล่นเครื่องดนตรีร่วม30ชิ้น และเขาคนนั้นยังเป็นเด็กหนุ่มอายุแค่17ปีที่เพิ่งได้ออกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก กับตราแผ่นเสียงที่เพิ่งมีงานออกมาเป็นชิ้นแรกเช่นกัน ด้วยปัจจัยเช่นนี้ดูจะไม่เอื้ออำนวยให้กับความสำเร็จแม้แต่น้อย

แต่นี่คือปี 1973 ปีแห่งโปรเกรสซีพร็อค ยุคแห่งมหากาพย์ยาวเหยียด ดนตรีที่ซับซ้อนซ่อนปม และคอนเซ็พท์อัลบั้มท้าทายจินตนาการ มันจึงเป็นไปได้ และเป็นไปแล้วที่ Tubular Bells จะกลายเป็นหนี่งในอัลบั้มเพลงบรรเลงขายดีที่สุดตลอดกาล และมันก็ขึ้นหิ้งไปเรียบร้อยในฐานะหนึ่งในอัลบั้มโปรเกรสซีพที่นักฟังทุกคนต้องมีและศึกษา

ความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ของมันอาจจะมีปัจจัยหลายอย่างช่วยเกื้อหนุน แต่เนื้อแท้ทางดนตรีของ Tubular Bells เป็นสิ่งที่ควรนำมาวิพากษ์วิเคราะห์ ถึงทุกวันนี้ ความน่าตื่นใจที่มันเป็นผลงานของเด็กหนุ่มที่เล่นดนตรีสารพัดชิ้นคนเดียวไม่น่าจะนำมาเป็นเหตุผลหลักถึงความดีงามของมัน มันไม่สำคัญสำหรับคนฟังเลยแม้แต่น้อยว่าสรรพเสียงสี่สิบกว่านาทีที่เขาได้ยินนั้นมันจะมาจากฝีมือของนักดนตรีกี่คน หรืออายุเท่าไหร่

Tubular Bells เป็นงานดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากการประพันธ์ดนตรีแบบคลาสสิก แต่ไม่ได้เล่นด้วยเครื่องดนตรีคลาสสิกแท้ๆ มีธีมหลักจำนวนหนึ่งที่วนกลับมาเป็นระยะๆและพาร์ทสั้นๆที่เชื่อมต่อกันอย่างเห็นรอยต่อได้แต่ไม่รู้สึกสะดุด ไมค์เล่นเครื่องดนตรีหลากหลายด้วยฝีมือระดับเลิศ ความแปรผันของอารมณ์และลีลาของดนตรีในแต่ละช่วงประหนึ่งผู้ฟังท่องไปในคลื่นสมองของชายเสียสติ ตั้งแต่สงบนิ่งเยี่ยงนิพพาน,ร่าเริงเหมือนเด็กน้อย,ยิ่งใหญ่ระทึกขวัญ....จนกระทั่งไปถึงความคลุ้มคลั่งแทบควบคุมไม่ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้างานชิ้นนี้ขาดสิ่งนี้ไป....ความไพเราะและสวยงามของท่วงทำนองที่มีให้ฟังตลอดอัลบั้มตั้งแต่ Theme แรกอันโด่งดังของพาร์ทแรกจนกระทั่งท่อนสุดท้ายใน Part 2 ที่เป็นการนำเอาเพลงพื้นเมือง Sailor’s hornpipe มาบรรเลงแบบเร่งเร้า


ไมค์ โอลฟิลด์เริ่มชีวิตนักดนตรีตั้งแต่อายุเพียง 14 ปีด้วยการตั้งวง Sallyangie กับพี่สาวแซลลี่ สองปีต่อมาเขาได้ไปเป็นมือเบสให้วง The Whole World ของเควิน อายเออร์ส ช่วงราวปี 1971-2 ไมค์ได้มีโอกาสใช้เวลาว่างใน Abbey Road Studio บันทึกเดโมของ Tubular Bells ที่ตอนนั้นเขาให้ชื่อเล่นๆว่า Opus One ไอเดียของไมค์คือเขาอยากให้มันเป็นงานในแนวซิมโฟนิคที่มีหลาย movements โดยเขาจะเล่นเครื่องดนตรีทั้งหมดด้วยตัวเองโดยอาศัยเทคนิคการโอเวอร์ดับ ด้วยเครื่องบันทึกเทปที่เขายืมมาจากเควิน ไมค์ใช้แผ่นการ์ดบอร์ดเล็กๆปิดทับหัวลบของตัวเทปเอาไว้ทำให้เขาสามารถบันทึกเสียงเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ๆลงไปได้โดยไม่ลบของเก่า

Opus One ได้รับการปฏิเสธจากบริษัทแผ่นเสียงทุกแห่งที่ไมค์เอาไปนำเสนอ มีเพียง ริชาร์ด แบรนสันคนเดียวที่พอจะเห็นแวว ขณะนั้นแบรนสันทำกิจการร้านขายแผ่นเสียงอยู่และเพิ่งสร้างสตูดิโอส่วนตัวเสร็จ แบรนสันและ ทอม นิวแมนเจ้าของร่วมห้องอัดอีกคนได้ยินเดโมของไมค์ ทั้งสองชอบไอเดียนี้และจับไมค์เซ็นสัญญา

ไมค์ใช้เวลาหลายเดือนในสตูดิโอของแบรนสันและนิวแมนบันทึกเสียงงานชิ้นเอกของเขา ซึ่งปัจจุบันมีชื่อแล้วจากเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งที่ไมค์เองยังไม่ทราบชื่อในตอนแรก เขาบอกให้แบรนสันช่วยไปหาเจ้า “ท่อเหล็กยาวๆที่แขวนๆเรียงกัน” นั่นมาให้หน่อย

บันทึกเสียงเรียบร้อยก็ถึงเวลาที่จะหาที่ทางในการขาย เป็นเรื่องน่าเศร้าอีกครั้งที่ไม่มีบริษัทแผ่นเสียงใดแยแสที่จะปั้มมันออกมา

แบรนสัน ตัดสินใจตั้งบริษัทแผ่นเสียงขึ้นมาเองในนาม Virgin Records และ Tubular Bells ก็เป็นแผ่นเสียงแผ่นแรกของสังกัด ออกเมื่อ 25 พ.ค. 1973 มันประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อในอังกฤษและยุโรป แต่ในอเมริกานั้นต้องรอจนมันไปโผล่ในหนัง The Exorcist ในแบบตัดตอนสั้นๆ3นาทียอดขายของ Tubular Bells ถึงได้พุ่งถึง 16 ล้านแผ่นในเวลาต่อมา

ไมค์ปฏิเสธที่จะดูหนังเรื่องนี้จนกระทั่งปลายๆยุค 80’s

เขาชอบมันไหม?

“ผมหัวเราะแทบขาดใจตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะตอนที่เด็กผู้หญิงนั่นเริ่มทำหัวหมุนไปรอบๆ” (นึกว่าขำตอนอ้วกสีเขียว) และไมค์คิดว่าดนตรีของเขาน่าจะไปอยู่ในหนังที่ชาญฉลาดกว่านี้

ท่านจะได้ยินเสียงของ Tubular Bells เพียงครั้งเดียวในแผ่นเสียง ท่อนสุดท้ายของพาร์ทแรก วิเวียน สแตนแชล แขกรับเชิญจากวง Bonzo Dog-Doo-Dah Band ประกาศเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นก่อนที่ไมค์จะเล่นมันด้วยท่วงทำนองเดียวกัน เสียงดนตรีชิ้นใหม่จะซ้อนทับลงไปบนเสียงเดิม(ที่ถอยห่างออกไป) เริ่มจาก "Grand piano; reed and pipe organ; glockenspiel; bass guitar; double speed guitar; two slightly distorted guitars; mandolin! Spanish guitar, and introducing acoustic guitar

And plus….TUBULAR BELLS!

หน้าปกแผ่นเสียงเป็นภาพ Tubular Bells ที่หักงอบิดเบี้ยว ราวกับจะผูกมัดอะไรบางอย่างให้ติดกับมันไปตลอดกาล


1 comment:

winston said...

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน HOOK magazine กลับมาอ่านอีกครั้งก็ให้คิดถึงวัยเยาว์ตอนที่นอนฟังอัลบั้มนี้สลับกับ Tales From Topographic Oceans ของ Yes ได้ทั้งวี่ทั้งวัน...