Sunday 22 February 2009

ลมหายใจสุดท้ายของยอดนักแซ็กแห่งยุคสมัย "ไมเคิล เบร็คเกอร์"



MICHAEL BRECKER 1949-2007




ไมเคิล เบร็กเกอร์ นักเทเนอร์แซ็กคนสำคัญของยุคสมัย (บางคนยกย่องว่าเขาเป็นนักแซ็กคนสำคัญที่สุดหลังจากยุคของโคลเทรน-บ้างก็ว่าหลังจากเวน ชอร์ตเตอร์ก็พอ....แต่บางคนก็ว่าเขาดีแต่เทคนิคแต่เล่นไม่ค่อยมีอารมณ์)ได้จากเราไปด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เป็นผลจากโรค myelodysplastic syndrome (โรคนี้ทำให้ไขกระดูกไม่ยอมผลิตเม็ดเลือดที่มีสุขภาพดีออกมา) ตั้งแต่ต้นปีแล้ว เขามีอายุแค่ 57 ผมตามงานของไมเคิลมาแทบไม่ขาดตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกที่เขาออกกับ GRP (ถ้าจำไม่ผิดสมัยม.4) แต่อัลบั้้มสุดท้าย...Pilgrimage ที่ออกมาหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว...ผมไม่ได้รีบร้อนที่จะหามาฟังเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะผมยังไม่พร้อมที่จะยอมรับว่าเขาไม่ได้อยู่กับเราแล้ว

แต่ในที่สุด...มันก็มาอยู่ในมือผมแล้ว ถึงแม้จะหาดาวน์โหลดได้ไม่ยาก แต่ผมคงไม่ทำร้ายจิตใจไมค์แบบนั้นและมันก็เป็นงานที่ยอดเยี่ยมเกินคาด เป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของเบร็กเกอร์ที่ผมฟังมา และเข้าข่ายจะเป็น "อัลบั้มแห่งปี" โดยส่วนตัวของผมด้วย ไมเคิลออกอัลบั้มใหม่ทีไร ผมก็มักจะอดให้เขาติดโผยอดเยี่ยมไม่ได้เสียที

Pilgrimage มี 9 แทร็คที่เป็นผลงานการประพันธ์ของเบร็กเกอร์ล้วนๆ เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาตั้งแต่บันทึกเสียงมา เหตุผลคือ ช่วงก่อนหน้านี้ เขาป่วยหนัก จนไม่อาจซ้อมเป่าแซ็กได้เกินห้านาที ไมเคิลเลยใช้เวลาที่นอนเจ็บไปแต่งเพลงซะไมเคิลชวนเพื่อนห้าคนในสี่ตำแหน่งดนตรีที่เคยร่วมเล่นกับเขามาก่อน ที่่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นทีม all star jazz ในยุคนี้เริ่มจาก Pat Metheny-Guitars, Herbie Hancock, Brad Mehldau-Pianos, John Patitucci-Bass, และ Jack DeJohnetteแต่ละคนถ้าเป็นนักการเมืองก็ดีกรีระดับห้วหน้าพรรคทั้งสิ้น

ข่าวรายงานว่า ไมเคิลเล่นแซ็กบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ด้วยความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง แต่สาบานได้ว่าคุณไม่มีทางจับได้จากผลงานที่เขาเล่นใน9แทร็คทั้งหมด ตรงข้าม ไมเคิลเล่นด้วยความคล่องแคล่ว ทรงพลัง และเต็มไปด้วยเทคนิค สร้างสรรค์ดูเหมือนจะเป็นฟอร์มที่สดกว่าที่เขาเคยทำมาด้วยซ้ำ (วันแรกที่ซ้อมกันเฮอร์บีถึงกับตะโกนถามว่า นายแน่ใจหรือว่านายยังป่วยอยู่?) ใครที่เคยดูแคลนฝีมือของเขาไว้ว่าไม่ใช่ของจริงคงต้องถอนคำพูดซะดีๆ ส่วนเทพทั้้งห้าก็เล่นกันสมราคา โดยเฉพาะแพ็ท เมธินีที่ปล่อยสุดฝีมือบนกีต้าร์หลายๆตัวที่เขาขนเข้ามาโชว์ ส่วนแจ็คกับจอห์นก็เข้าขากันดีเหลือเกิน เฮอร์บีและแบรดผลัดกันที่ตำแหน่งเปียโน ด้วยสไตล์ที่ต่างกันตามอารมณ์ของเพลง

เพลงที่ฟังแล้วอึ้งที่สุดคงจะเป็นบัลลาด When Can I Kiss You Again? ที่ไมเคิลเอามาจากคำถามของลูกชายของเขาเองที่พูดกับเขาตอนที่ไมเคิลรับการรักษาและต้องระวังการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด มันเป็นเพลงช้า (แต่ก็จะว่าไปมันก็ออกจะซํบซ้อนกว่าที่จะเรียกได้ว่าบัลลาด) เพลงเดียวในอัลบั้มที่เต็มไปด้วยเพลงจังหวะปานกลางถึงเร็วตลอดแผ่น

ไมเคิลอยู่ไม่ถึงขั้นตอนการมิกซ์อัลบั้มนี้ เขาเสียชีวิตหลังจากบันทึกเสียงเสร็จไม่กี่วัน ซูซานภรรยาของไมเคิลบอกว่าที่เขาบันทึกเสียงนี้ได้จนเสร็จถือเป็นสปิริตของไมเคิลโดยแท้ เพราะโดยเนื้อแท้ของสุขภาพของเขานั้นมันไม่ไหวแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะอัดเสียงให้เสร็จทำให้ไมเคิลยืนหยัดอยู่ได้

ถ้าคุณอยากฟังอัลบั้ม Jazz ยุคใหม่ที่มีแต่เพลงออริจินัล บรรเลงโดยยอดคนของแต่ละตำแหน่งดนตรีด้วยปฏฺิภาณและปฏิสัมพันธ์ชั้นอ๋อง และบันทึกเสียงอย่างเฉียบขาด แนะนำอัลบั้มสุดท้ายของไมเคิลนี้ครับ ส่วนเรื่องความสะเทือนใจอาลัยอาวรณ์ในตัวศิลปินแทบไม่มีผล ผมหมายถึงอัลบั้มนี้มันดีเด่นในตัวอยู่แล้วโดยไม่ต้องการอะไรมาเป็นแรงเสริม

No comments: