Sunday 22 February 2009

Elvis Presley The Complete 50's Masters (1)


Elvis PresleyThe King Of Rock ‘N’ Roll
The Complete 50’s Masters (RCA 66050-2/4) released date- 1992





เมื่อสักสองสามปีก่อน รายการเกมโชว์ชื่อดัง-“แฟนพันธุ์แท้”ได้จัดการแข่งขันเพื่อหาสุดยอดแฟนของราชาร็อคแอนด์โรลผู้ยิ่งยงผู้นี้ ผมจำไม่ได้แล้วล่ะว่าใครได้แชมป์ไป
แต่จำได้ดีว่าหนึ่งในของรางวัลสำหรับผู้ที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศคือ สิ่งที่พิธีกรบอกว่าหายากเหลือเกินและผู้ที่ได้ไปต้องสูดปากซี้ดด้วยความสะใจในความยิ่งใหญ่ของรางวัลนี้
รางวัลที่ว่าก็คือ boxset นี้ล่ะครับ ผมเห็นผู้ชนะเลิศทำหน้าปูเลี่ยนๆ ไม่ใช่ว่า
boxset นี้ไม่ดี ความสุดยอดของมันไม่มีใครกล้าปฏิเสธ และผมก็ไม่คิดว่าจะมีแฟนตัวจริงของเอลวิสคนไหนจะมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากมัน พูดง่ายๆก็คือคุณแฟนพันธุ์แท้คนนั้นก็ต้องเป็นเจ้าของมันอยู่ก่อนแล้วอย่างแน่นอนที่สุด


บอกซ์นี้ปรากฎแก่สายตาชาวโลกในปี 1992 ก่อนหน้านี้งานของเอลวิสไม่เคยได้รับการจัดระเบียบให้เป็นเรื่องเป็นราว อาร์ซีเอจับเพลงของเดอะคิงมารวมกันให้เปรอะไปหมด และการที่จะเก็บงานของเอลวิสให้ครบถ้วนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเงินตราอย่างมหาศาลทีเดียว จนกระทั่ง The King Of Rock ‘N’ Roll-The Complete 50’s Masters ออกมาถมช่องว่างตลาดตรงนี้ให้เต็ม 140 แทรคในซีดีห้าแผ่นนี้อาจจะไม่ใช่ทุกสิ่งที่เอลวิสบันทึกเสียงไว้ในยุคฟิฟตี้ส์ มันอาจจะตกหล่นแผ่นอะซิเตทบางส่วนที่มาค้นพบภายหลัง และ alternate takes อีกมาก รวมทั้งจาก sun sessions แต่ก็พูดได้เลยว่ามาสเตอร์ทั้งหมดที่ออกมาในนามของเขาในยุค50’s ได้ถูกรวบรวมไว้ ณ ที่นี้หมดแล้ว แผ่นที่ห้าจะรวมเพลงหายากที่คัดสรรแล้วและการแสดงสดในยุคนั้นเอาไว้ในชื่อ Rare and Rockin’ ส่วนอีกสี่แผ่นจะเป็นการไล่เรียงตามห้วงเวลานับตั้งแต่เอลวิสเดินเข้ามาบันทึกเสียงใน Sun studio ที่เมมฟิสเป็นครั้งแรกเพื่อร้องเพลงอัดแผ่นให้คุณแม่ของเขา, การบันทึกเสียงใน Sun sessions กับ Sam Philips ทุกเพลงที่ออกมาเป็นซิงเกิ้ลและที่ไม่ได้ออกด้วยที่นักวิจารณ์และแฟนเพลงหลายคนยกย่องว่าเป็นจุดสูงสุดในอาชีพของเอลวิส จวบจนเขาย้ายไปค่ายใหญ่กว่า-อาร์ซีเอและก้าวเข้าสู่บัลลังก์แห่งร็อคแอนด์โรลอย่างแท้จริง จนกระทั่งเซสชั่นสุดท้ายแห่งยุค 50’s ในเดือนมิถุนายน 1958 ก่อนที่เขาจะปิดฉากความยิ่งใหญ่ของความเป็นราชาร็อคด้วยการหั่นผมและจอนอันลือลั่นจนสั้นจู๋เดินเข้าสู่กองทัพเพื่อรับใช้ชาติ และ-บางคนเคยเอ่ยเปรียบเปรยไว้-เสียชีวิตแห่งราชาในนั้น เพราะแม้ว่าเขาจะยังคงสร้างงานอันยอดเยี่ยมได้อีกมากมายหลังจากยุค 50’s แต่พลังแห่งความเป็นร็อคแอนด์โรลอันฉกรรจ์กร้าวนั้น ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงในยุคนี้เท่านั้น

Disc: 1 1. My Happiness 2. That's All Right 3. I Love You Because 4. Harbor Lights 5. Blue Moon Of Kentucky 6. Blue Moon 7. Tomorrow Night 8. I'll Never Let You Go (Little Darlin') 9. I Don't Care If The Sun Don't Shine 10. Just Because 11. Good Rockin' Tonight 12. Milkcow Blues Boogie 13. You're A Heartbreaker 14. Baby Let's Play House 15. I'm Left, You're Right, She's Gone 16. Mystery Train 17. I Forgot To Remember To Forget 18. Trying To Get To You 19. When It Rains, It Really Pours 20. I Got A Woman 21. Heartbreak Hotel 22. Money Honey 23. I'm Counting On You 24. I Was The One 25. Blue Suede Shoes 26. My Baby Left Me 27. One-Sided Love Affair 28. So Glad You're Mine 29. I'm Gonna Sit Right Down And Cry (Over You) 30. Tutti Frutti


บอกซ์นี้เริ่มขึ้นด้วยเพลง ‘My Happiness’ ที่เป็นการบันทึกเสียงในห้องอัดครั้งแรกของเอลวิสที่ Memphis Recording Service ของ Sam Philips เจ้าของ Sun Records ในวันหนึ่งของฤดูร้อนของปี 1953 ขณะหนุ่มเพรสลี่ย์อายุได้ 18 ปี เขาร้องคนเดียวสดๆและเล่นกีต้าร์คลอไปด้วย และบันทึกเสียงลงแผ่นครั่ง (acetate) โดยมีด้านหลังของแผ่นคือเพลง ‘That’s When Your Heartache Begins’ (อยู่ในแผ่นที่ห้าของบอกซ์นี้) ทุกวันนี้เริ่มจะเป็นที่เชื่อกันว่าเอลวิสไม่ได้ไปบันทึกเสียงให้แม่ของเขาตามที่ตำนานเล่า แต่เป็นการโปรโมทตัวเองให้”ใครสักคน” ที่กำลังมองหานักร้องสักคนไปบันทึกเสียงมากกว่า ในวันนี้ที่เอลวิสได้พูดคุยกับ Marion Keisker เจ้าหน้าที่หญิงที่ทำงานให้แซม และบทสนทนาระหว่างเขาและเธอก็กลายเป็นอมตะไปแล้ว “เธอร้องเพลงประเภทไหน?” Marion ถาม “ผมร้องทุกประเภท” “เธอมีเสียงร้องเหมือนใครล่ะ?”“ผมเสียงไม่เหมือนใคร” แม้คำตอบของเอลวิสอาจจะดูเว่อร์ไปนิดในฤดูร้อนของปีนั้น แต่ในอีกไม่กี่ปีถัดมา ใครจะปฏิเสธถึงความสามารถในการร้องเพลงได้หลายรูปแบบและในขณะเดียวกันก็ดำรงในความเป็นเอกลักษณ์ของน้ำเสียงที่ใครฟังก็ต้องจำได้และ-ไม่มีใครทำได้เหมือน การโปรโมทตัวเองของเอลวิสในวันนั้นดูจะไม่ได้เรื่องอะไร แม้ว่ามารีออนจะโน้ตไว้ในสมุดบันทึกของเธอว่า “นักร้องบัลลาดชั้นดี จับตา” ก็ตาม มกราคมปีต่อมา เอลวิสก็แวะเข้ามาบันทึกเสียงแบบเดิมนี้อีกครั้งในเพลง ‘I’ll Never Stand In Your Way” และ ‘It Wouldn’t Be The Same Without You” (ทั้งสองเพลงไม่มีในบอกซ์นี้ แต่อยู่ใน ‘Sunrise’ และ ‘Platinum: A Life In Music”) 26 มิถุนายน ความพยายามของเขาก็เป็นผล เมื่อมารีออนโทรไปเรียกเขา ถามว่าเขาจะมาที่สตูดิโอตอนบ่ายสามได้หรือไม่? ซึ่งเอลวิสได้กล่าวติดตลกภายหลังว่า เขาไปโผล่ที่นั่นทันทีที่เธอวางหูโทรศัพท์ลง แซม ฟิลิปส์ได้ลองทดสอบการร้องเพลงของเอลวิสในวันนั้น และเขาก็พบว่าเด็กคนนี้มีอะไรบางอย่างแต่เขายังไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร สิ่งหนึ่งที่แซมมั่นใจว่าตัวเขาเองมีคือ-พรสวรรค์ในการมองหาพรสวรรค์ในตัวใครสักคน และถ้าคนๆนั้นมีพรสวรรค์ดังว่า แซมก็มีอีกความสามารถหนึ่งที่จะดึงเอาพรสวรรค์ของคนๆนั้นออกมาให้ได้ แซมไม่อาจทำได้ในวันนั้น แต่ในอีกราวสิบกว่าวันต่อมา เขาก็ค้นพบสิ่งนั้นในตัวเอลวิส เขาแนะนำให้เอลวิสได้รู้จักกับมือกีต้าร์ในสังกัดของเขา Scotty Moore และมือเบส Bill Blackและหลังจากได้ไปแจมกันเล็กน้อยที่บ้านของสก็อตตี้ในวันอาทิตย์ต่อมา ในวันที่ 5 มกราคม 1954 เอลวิส เพรสลี่ย์, สก็อตตี้ มัวร์ และ บิล แบล็ค ก็ได้อยู่ในห้องบันทึกเสียงของ Sun Studio ใน Memphis ร่วมกันเป็นครั้งแรก และ 18 เพลงในดิสก์1นี้ก็คือประวัติศาสตร์ที่ทริโอวงนี้ทำเอาไว้ ตั้งแต่เพลง ‘That’s All Right’ ที่เกิดมาจากการแจมเล่นๆโดยแท้ แต่กลายมาเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอันดับต้นๆในประวัติศาสตร์ร็อคแอนด์โรลไปแล้ว จนกระทั่งเพลงสุดท้ายคือ ‘When It Rains, It Really Pours’ เอลวิสและสหายอาจจะไม่ใช่ผู้คิดค้นดนตรีร็อคแอนด์โรล แต่ผลงานทั้งหมดที่พวกเขาร้องและเล่นกันไว้ในนี้ก็เป็นอะไรที่ฉีกขนบเดิมของดนตรีอเมริกัน เป็นพลังแห่งจังหวะและเสียงร้องที่ผสมผสานความเป็นคันทรี่ กอสเพล และดนตรีของคนดำเข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนกับพวกเขาเล่นเพลงแบบนี้มาชั่วชีวิต ซึ่งความลื่นไหลและเป็นธรรมชาติดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอีกเลย หลังจากเอลวิสถูก “ซื้อตัว” ไปอยู่กับอาร์ซีเอแล้ว ไม่ว่าโปรดิวเซอร์หรือวิศวกรจะพยามเท่าไหร่ก็ไม่อาจสร้างเสียงแบบ “ซันซาวนด์” ได้อีก



เอลวิสเริ่มชีวิตการบันทึกเสียงให้อาร์ซีเออันเป็นสังกัดสุดท้ายในชีวิตของเขาในวันที่ 10 มกราคม 1956 ด้วยความเป็นศิลปินดาวรุ่งที่ทุกคนจับตามอง และยังย้ายสังกัดมาด้วยค่าตัวที่แพงเป็นประวัติการณ์ทำให้การบันทึกเสียงในวันนั้นค่อนข้างจะตึงเครียด แต่เอลวิสเองดูจะผ่อนคลาย ในสองวันนี้พวกเขาบันทึกเสียงกันห้าเพลง รวมทั้งเพลงบลูส์พันธุ์ทาง ‘Heartbreak Hotel’ ที่กลายมาเป็นซิงเกิ้ลแรกอันยิ่งใหญ่และหนึ่งในเพลงประจำตัวของเขาในยุคแรก ‘I Got A Woman’ เป็นการนำเพลงของเรย์ ชาร์ลส์มาตีความเป็นร็อคแอนด์โรลได้อย่างสนุกสนาน ในเซสชั่นที่สองของอาร์ซีเอ ทีมงานพยายาม”เพลย์เซฟ” ด้วยการนำเพลง ‘Blue Suede Shoes’ ที่กำลังโด่งดังของคาร์ล เพอร์กินส์มาบันทึกเสียง ในกรณีที่ ‘Heartbreak Hotel’ แป้ก พวกเขาวางแผนจะออกเพลงนี้เป็นซิงเกิ้ล แต่ทุกวันนี้แทบไม่มีใครจำเวอร์ชั่นของเพอร์กินส์ได้แล้ว ถ้าใครอยากจะลองฟังว่าเทคนิคการร้องแบบ”เอลวิส” นั้นมีอะไร และเป็นอย่างไรบ้าง ผมขอแนะนำให้ฟังได้ใน ‘One-Sided Love Affair’ ที่เอลวิสร้องประชันไปกับเปียโนบูกี้อันเร่าร้อนของ Shorty Long คุณจะได้ฟังเอลวิสขุดทุกอย่างที่เขามีออกมา การร้องแบบสะอึกๆ การเน้นวลีและตัดคำในประโยคแบบแปลกๆ ทำเสียงเล็กเสียงใหญ่สลับกันไปอย่างรวดเร็ว ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงนี้ ผมก็อดยิ้มไปกับความสนุกของเขาไม่ได้ เอลวิสดูจะถูกชะตากับเพลงที่เป็นงานประพันธ์ของ Arthur Crudup เพราะใน ‘So Glad You’re Mine’ เขาก็ร้องได้ยอดเยี่ยมพอๆกับที่ทำไว้ใน ‘That’s All Right’ ดิสก์หนึ่งจบลงที่การ cover เพลงประจำตัวของ Little Richard ‘Tutti Frutti’ ซึ่งแม้ว่าเอลวิสจะโยกอย่างเมามันส์อย่างไร ก็ยังไม่ได้ความ”คลั่ง”กับที่ตาริชาร์ดกรี้ดเอาไว้

1 comment:

winston said...

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน soundmag เมื่อหลายปีก่อน หลายจุดอาจจะแสดงความอ่อนหัดของผู้เขียนในโลกของเอลวิส แต่ผมก็ปล่อยไว้อย่างนั้นแหละ ถ้าผมรู้มากกว่านั้นสักนิด อาจจะไม่กล้าแตะงานของเขาเลยด้วยซ้ำ