Sunday 22 February 2009

ELVIS AT SUN



Elvis Presley Elvis At Sun*****



ที่ ถนนยูเนียนสาย 706 เมมฟิส เทนเนสซี เป็นที่ตั้งของ Sun Studios มันคือสถานที่กำเนิดของการบันทึกเสียงเพลงร็อคแอนด์โรลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในช่วงปี 1954-1960 แซม ฟิลิปส์ ได้โปรดิวซ์งานสำคัญๆของดนตรีร็อคอะบิลลี่, บลูส์ ,คันทรี่และ ป๊อบของศิลปินอย่าง คาร์ล เพอร์กินส์, เจอรี่ ลี ลูอิส, จอห์นนี่ แคช , ชาร์ลี ริช และแน่นอน- เอลวิส เพรสลีย์


ความสำเร็จของเอลวิส ไม่ใช่ความสำเร็จแบบข้ามคืน แต่มันเป็นแบบข้ามปี นับจากที่เขาเข้ามาใช้บริการบันทึกเสียงร้องลงแผ่นส่วนตัวครั้งแรกจนกระทั่งแซม ฟิลิปส์ เรียกตัวเขาเข้ามาทดสอบเสียง และ ‘Elvis At Sun’ คืองานบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับพกพาที่จับเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่เอลวิส, สก็อตตี้ มัวร์ มือกีต้าร์ และ บิล แบล็ค มือเบส (ดับเบิ้ลเบสตัวใหญ่ๆ) ได้ร่วมมือกันบันทึกเสียงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในห้องอัดของซันเป็นครั้งแรก (That’s All Right) ในเดือนกรกฎาคม 1954จนกระทั่งวันสุดท้ายที่เอลวิสประกาศก้องในสตูดิโอว่าเขาถูกรีลแมดริด…เอ๊ย…อาร์ซีเอ ซื้อตัวไปแล้วในสัปดาห์แรกของเดือนพ.ย. 1955 ทำให้การบันทึกเสียง When It Rains, It Really Pours จบลงแบบวงแตกดื้อๆกลางคัน


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรวมเพลง 19 เพลงนี้มาขายกัน แต่ความสนุกในการฟัง ‘Elvis At Sun’ อยู่ที่การเรียงเพลงแบบวันต่อวันและมี liner notes ที่ละเอียดยิบและ updated สุดๆไว้ให้อ่านประกอบ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนเดินทางไปกับเอลวิสตามห้วงเวลาเหล่านั้นด้วย ได้เห็นพัฒนาการในการร้องเพลงของเขาจากเรียบๆและบางครั้งดูจะไร้จุดหมายแน่ชัด ค่อยๆเพิ่มความมั่นใจและใส่ลีลาอันเหนือชั้นขึ้นตามลำดับ มุขที่สร้างความประทับใจให้แฟนเพลงที่สุดอาจจะเป็นเพลงที่ 11 ‘Milkcow Blues Boogie’ ที่เอลวิสร้องในแบบบลูส์มาตรฐานในตอนต้นสองสามประโยค แต่แล้วเขาก็สั่งให้ทุกคนหยุด บอกเพื่อนๆว่า “ช้าก่อนสหาย มันไม่สะใจข้าฯเลย เราลองมาเปลี่ยนแนวกันแบบสุดๆ เพื่อความเมามันส์กันเถิด…” (Hold it fellas, that don’t move me, let’s get real, real gone for a change) หลังจากนั้นเอลวิสก็สาธิตการโขยกเสียงร้องขึ้นลง octave ราวกับขี่ม้าพยศจนจบเพลง สนุกจริงๆ (ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันว่านั่นเป็นมุขสดๆหรือเปล่า?)

เพลงทั้ง 19 เพลงนี้ไม่ได้ออกมาขายทั้งหมดในเวลานั้น แต่เอลวิสออกงานเหล่านี้เป็นซิงเกิ้ลแค่ห้าชุด รวมเพลงทั้งหมดสิบเพลง(หน้า-หลัง) และแต่ละแผ่นจะมีเอกลักษณ์คือ หน้าหนึ่งจะออกไปทางบลูส์ อีกหน้าจะออกไปทางคันทรี่ ส่วนอีก 9 เพลงที่เหลือนี้ส่วนมากจะเป็นเพลงบัลลาดช้าๆที่เอลวิสโปรดปรานและแซมก็ปล่อยให้เขาร้องและบันทึกเสียงไปทั้งๆที่ทราบอยู่แล้วว่าคงไม่มีศักยภาพพอที่จะออกเป็นซิงเกิ้ล (เช่น Tomorrow Night, Blue Moon, I Love You Because) มีนักข่าวเคยถามว่าทำไมแซมถึงปล่อยให้เขาร้องบัลลาดมากมายขนาดนั้น เสียเวลาจะตาย แซมตอบว่า “ผมไม่กล้าพอที่จะห้ามเขา”


ถ้าท่านเคยฟังเพลงในชุดนี้จากอัลบั้มอื่นๆมาก่อนแล้ว เมื่อท่านได้ฟังมันจาก ‘Elvis At Sun’ ท่านอาจมีความรู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างตั้งแต่วินาทีแรกของเสียงกีต้าร์ในเพลง ‘Harbor Lights’ ทีมงานวิศวกรเสียงได้ทำงานอย่างหนักและน่าพิศวงในการที่จะหาทาง reproduced บทเพลงเหล่านี้ให้ได้เสียงออกมาใกล้เคียงกับแผ่นดั้งเดิมของซันให้ได้มากที่สุดโดยใช้ source ที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้และเทคโนโลยีดิจิตัลที่ทันสมัยที่สุดบวกกับ “หู” ของมนุษย์ โดยแต่ละเพลงจะใช้ลีลาในการรีมาสเตอร์ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่อุปสรรค อาทิเช่น ‘Blue Moon Of Kentucky’ เป็นเพลงที่ทางอาร์ซีเอไม่เคยได้มาสเตอร์ตัวจริงจากซันเลย ในปี 1955 อาร์ซีเอทำมาสเตอร์เองจากแผ่น 78rpm ของซันซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นเพลงที่บันทึกเสียงได้แย่อยู่แล้วด้วยการทำ compression และ echo แบบเกินขอบเขต แต่นั่นยังไม่แย่เท่าไหร่ อาร์ซีเอดันไป compress มันเพิ่มเข้าไปอีก และมาสเตอร์นี้ก็ถูกนำมาใช้โดยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทีมงานวิศวกรของ ‘Elvis At Sun’ ทำมาสเตอร์ของ ‘Kentucky’ ขึ้นมาใหม่จากแผ่น 78rpm ดั้งเดิมของซันอีกครั้ง (ใช้หลายๆแผ่นโดยเลือกช่วงที่สภาพเสียงดีที่สุดในแต่ละแผ่นมามิกซ์กันเนื่องจากพวกเขาไม่มีแผ่น 78rpm ของเพลงนี้แผ่นไหนที่สมบูรณ์ 100 % อยู่ในมือเลย)


นั่นเป็นเรื่องทางเทคนิคซึ่งอาจจะต้องใช้ประสบการณ์และเครื่องไม้เครื่องมือในการรับฟังที่พิเศษกว่าปกตินิดหน่อยถึงจะสัมผัสความแตกต่างของมันได้ ถึงอย่างไรอาหารจานนี้ก็อร่อยและมีคุณค่าทางอาหารอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการทาง GMO (เกี่ยวกันไหมเนี่ย) แต่ก็ขอชื่นชมและนับถือทีมวิศวกรทีมนี้ครับ(นำทีมโดย เคแวน บัดด์) ที่มีความพยายามในการที่จะดึงประวัติศาสตร์ที่ดูจะสลายไปตลอดกาลแล้วกลับมาในสถานการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้


(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.elvisrecordings.com/ )


อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบใน Elvis At Sun ก็คือบทความยาว 2 หน้าเต็มๆของลูกชายของแซม ฟิลิปส์ คุณ นอกซ์ ฟิลิปส์ ที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ทั้งๆที่เขาอายุแค่ 9 ขวบ ลองยกมาให้ดูนิดนึง

“ผมจะไม่มีวันลืมคืนนั้นที่พ่อของผม, แซม ฟิลิปส์ นำแผ่นเสียงแผ่นแรกของเอลวิสกลับมาบ้าน มันเป็นแผ่นเสียงแบบหมุน 45รอบต่อนาทีของ ‘That’s All Right’ และ ‘Blue Moon Of Kentucky’ และเขาก็ตื่นเต้นสุดขีด พ่อต้องการให้แม่ของผม เบ็กกี้ ,น้องชายผม เจอรี่ และตัวผมเอง รีบเข้ามาฟังมันเดี๋ยวนั้นเลย ผมไม่แน่ใจว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนกันระหว่างภาพที่ตราแผ่นเสียงสีเหลืองของซันหมุนติ้วอยู่บนเครื่องเล่นไฮ-ไฟของเราขณะที่เสียงเพลงจากแผ่นนั้นดังก้องออกมา หรือ ใบหน้าที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นของพ่อผม ราวกับมันเป็นสิ่งที่พ่อรอคอยมานานแสนนาน ราวกับมันเป็นความแตกต่างที่พ่อได้สวดอ้อนวอนขอมาตลอด , ผมแยกมันไม่ออก ทั้งสองอย่างดูเหมือนจะผสมกลมกลืนกันเข้าไปอยู่ในเหล่านาทีอันน่าระทึกนั้น และผมคิดว่าในห้วงเวลานั้น, ทุกอย่างเปลี่ยนไป”

1 comment:

winston said...

นี่คือบทรีวิวประวัติศาสตร์สำหรับตัวผม เพราะเป็นรีวิวที่ได้ลงในหนังสืออย่างเป็นทางการครั้งแรก เกร็งน่าดูไหมล่ะ