Saturday 21 March 2015

Tomorrow Never Knows


"Tomorrow Never Knows" (The Making) (Part I)
-----------------
studio three: 8:00 pm-1:15 am. Recording: 'Mark I' [working title of 'Tomorrow Never Knows'] [takes 1-3]
Producer: George Martin
Engineer: Geoff Emerick
Second Engineer: Phil McDonald

นี่คือเซสชั่นแรกสำหรับงานที่ต่อไปจะกลายเป็นอัลบั้มสำคัญ REVOLVER การบันทึกเสียงที่จะกำหนดชะตากรรมของร็อคและเปลี่ยนโฉมหน้าของดนตรีป๊อบ

และเพลงแรกที่พวกเขาบันทึกเสียงกันก็คือ 'Tomorrow Never Knows' เพลงปิดท้ายอัลบั้มอันยิ่งใหญ่ ช่างเป็นการเริ่มต้นที่น่าทึ่งนัก!

พวกเขาบันทึกเสียงเพลงนี้กันแค่ 3เทค(มีหนึ่งในนั้นที่ล่มกลางคัน) แม้ว่ากว่าจะมาเป็นเพลงนี้จริงๆแล้ว เพลงนี้ต้องผ่านการ overdubs อีกนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในเรื่องของ tape loops (ซึ่งมีการอัดทับลงไปในวันที่ 7เมษายน)

ในวันแรกนี้ เดอะ บีเทิลส์เพียงแค่บันทึกเสียง rhythm track เท่านั้น(เท่านั้น?) พวกเขาเลือกเทคที่3มาทำเป็นเบสิกแทร็ค สำหรับการอัดทับ loops ลงไปภายหลัง และมาอยู่ในแผ่นเสียงจริงๆในเวลาต่อมา
แต่เทค1ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ลึกล้ำพันลึกโดยไม่จำเป็นต้องมีการใช้ลูปเลยก็มีความยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน แม้ว่าจะมีความแตกต่างจากเทค3อยู่ไม่น้อย

(เทค1หาฟังได้จาก Anthology 2)

ในปี 1965 การบันทึกเสียงของเดอะ บีเทิลส์ได้มีพัฒนาการไปอย่างมาก แต่ ณ ที่นี้ มันถือเป็นการก้าวกระโดดข้ามมิติ.. [quantum jump] ไม่ใช่สู่วันพรุ่งนี้ แต่น่าจะเป็นการก้าวไกลไปถึงวันใดวันหนึ่งของสัปดาห์หน้า

เทคหนึ่งของ 'Mark I' ซึ่งเป็นชื่อชั่วคราวของ 'Tomorrow Never Knows' (เป็นชื่อที่จอห์นตั้งขึ้นมาจากสไตล์การใช้ภาษาแบบผิดไวยากรณ์ของริงโก้ได้เหมาะเจาะกับความเป็นมาสเตอร์พีซของเพลงนี้) นั้นจัดเป็นเฮฟวี่เมทัล ที่อัดแน่นไปด้วยสรรพเสียง เอ็คโค่ราวฟ้าผ่า เสียงกึกก้องกัมปนาท,เสียงกระพือๆ,และเสียงที่สั่นสะท้านเป็นระลอกเหมือนพื้นผิวมหาสมุทร

และที่ได้ยินเล็ดลอดออกมาจากห่าฝนนั้นก็คือเสียงร้องของเลนนอน ที่อยู่ในสภาพที่แปลกประหลาดเหลือแสน ราวกับว่ามันเป็นการออกอากาศจากวิทยุทรานซิสเตอร์ถูกๆจากตลาดข้างบ้านคุณ และเสียงร้องนั้นเป็นพาหะนำเนื้อร้องที่พิลึกพิลั่นที่สุดเท่าที่เคยมีมาของเดอะ บีเทิลส์จวบจนขณะนั้นรวมทั้งประโยคหนึ่งที่หยิบยืมโดยตรงมาจากหนังสือ Tibetan Book of the Dead ในเวอร์ชั่นของ ดร. ทิโมธี่ เลียรี่
ใน released version นั้นเพลงจะเบาบางลงกว่าเทคแรก แต่ยังไงก็ไม่อาจที่จะเอาไปเป็นคู่แข่งของ 'Yesterday' ในแง่ของบัลลาดได้แน่

ริงโก้ตีกลองย้ำเหมือนมาร์ชแห่งความโศกศัลย์ด้วยจังหวะราวกับการสะกดจิต แมทช์ไปกับเบสของพอลที่เล่นขึ้นสูงบน fretboard แบบโน้ตต่อโน้ต เสียงร้องที่ชวนขนลุกของจอห์นอีกครั้ง เสียงแทมโบรีน เสียงออร์แกนเล่นแช่โน้ตตัวเดียวทั้งเพลง เสียงกีต้าร์โซโล่ ตัวหนึ่งใส่ฟัซซ์และเล่นย้อนหลัง อีกตัวเล่นผ่าน Leslie organ speaker (ดูคำอธิบายในวันที่ 7เมษายน) และเสียง ฮองกี้-ท้องค์ เปียโน อันชื่นมื่น

กล่าวโดยรวมแล้ว นี่เป็นวันที่พวกเขาทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม ในเวลาไม่ถึงสามปีหลังจาก 'She Loves You','Tomorrow Never Knows' ได้โชว์ให้เห็นพัฒนาการทางดนตรีที่ไม่มีใครมาต่อกรด้วยของเดอะ บีเทิลส์ และความกระตือรือร้นในการที่จะเป็นผู้แรกที่จะเสาะแสวงหาพรมแดนใหม่และไม่ลังเลที่จะฉีกทะลุมันออกไป

คงจะไม่ถูกแน่ ถ้าจะสรุปว่าการบันทึกเสียงนี้และความก้าวหน้าทั้งหมดที่จะเป็นจุดสำคัญในงานอนาคตของพวกเขาเป็นความดีความชอบของเดอะ บีทเทิลส์ฝ่ายเดียว

จอร์จ มาร์ตินเป็นกำลังสำคัญในกระบวนการนี้ เขาเป็นคนที่มีความริเริ่มสูงในตัวเป็นทุนอยู่แล้ว เป็นนักค้นหาเสียงใหม่ๆที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และยังเป็นล่ามที่แสนดีในการแปลไอเดียของพวกเด็กๆออกเป็นภาษาดนตรีและการบันทึกเสียง

และวันนี้เขามีผู้ช่วยคือ เอ็นจิเนียร์หนุ่ม Geoff Emerick ผู้มาแทนนอร์แมน สมิธ

Emerick เป็นวิศวกรที่ก้าวขึ้นมาจากเจ้าหน้าที่ในห้องตัดแผ่น เจอรี่ บอยส์ ผู้ควบคุมเทปกล่าวว่า เอเมอริคเป็นคนในแบบไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ เราจึงมักจะได้เห็นเขาชอบลองเทคนิคที่ผิดแผกออกไป(ในการบันทึกเสียง)เมื่อบวกกับความหัวครีเอทีพของพวกบีเทิลส์ซึ่งมักจะเซย์เยสกับทุกๆอย่าง ทีมของมาร์ตินและเอเมอริคจึงไปกันได้ฉิว

บอยส์ยังบอกอีกว่า ถ้าไม่ใช่โปรดิวเซอร์และเอ็นจิเนียร์คู่นี้ รับรองว่างานต้องออกมาต่างจากนี้มากพอดูเลยทีเดียว รอน เพนเดอร์ ให้ความเห็นว่า "Geoff เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยของนอร์แมน เขาจึงทำงานคล้ายๆนอร์แมนในระยะแรกๆ แต่ต่อมาเขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆอย่างรวดเร็ว อาทิเช่นการวางไมค์การบันทึกเสียงเบส เขามักจะทดลองอะไรต่างๆอยู่เสมอ"

เอเมอริคระลึกความหลังให้ฟังถึงช่วงเวลาที่เขาเข้ารับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้

"ผู้จัดการสตูดิโอเรียกผมมาที่ออฟฟิซ และถามผมว่าอยากจะเป็นเอ็นจิเนียร์ให้เดอะ บีเทิลส์ไหม แน่นอนว่าผมต้องเซอร์ไพร์ซ! จริงๆแล้วมันทำให้ผมหวาดผวาเลยด้วยซ้ำ ผมจำได้ว่าตัวเองเล่นเกมในสมอง...'eeny meeny miney mo, shall I say yes, shall I say no?'..รับหรือไม่รับดีหว่า....ความรับผิดชอบสำหรับงานนี้มันแสนจะหนักอึ้ง แต่ผมก็เซย์เยส คิดว่าเป็นไงเป็นกันวะงานนี้"

ไม่ใช่เพียงแค่มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรเท่านั้น ทีมงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็จำเป็นต้องมีการตอบสนองอย่างทันท่วงทีกับความปรารถนาของเดอะ บีทเทิลส์ เคน ทาวน์เซ็นด์เล่าว่า

"พวกเขามักจะกล่าวอ้างอิงเปรียบเทียบถึงเสียงที่พวกเขาต้องการ และเราก็ต้องเผ่นไปค้นคว้าหาคำตอบมาให้ เช่น พวกเขามักจะชอบให้มีการทำดับเบิ้ล-แทร็ค เสียงร้องของพวกเขา แต่มันก็เป็นงานที่ต้องอาศัยความอึดพอตัว และไม่นาน พวกเขาก็เริ่มเบื่อ มีอยู่คืนหนึ่งที่เรานั่งทำดับเบิ้ลแทร็คกันทั้งเซสชั่น ทำให้ผมได้ไอเดียขึ้นมาขณะขับรถกลับบ้าน"

ไอเดียของทาวน์เซ็นด์ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อการบันทีกเสียงของเดอะ บีเทิลส์ในอนาคต(เกือบทุกเพลงใน Revolver ได้รับอานิสงค์จาก ADT! )แต่เป็นการบันทึกเสียงทุกแห่งทั่วโลก

สจ๊วต เอลท์แฮม ผู้ดำรงตำแหน่ง บาลานซ์เอ็นจิเนียร์ รู้ดีว่างานชิ้นเอกนี้ต้องการชื่อเฉพาะของมัน และเขาก็ตั้งชื่อมันว่า Artificial Double Tracking, หรือเรียกสั้นๆว่า ADT

จอร์จ แฮริสันกล่าวว่า ทาวน์เซนด์สมควรได้รับเหรียญรางวัลในการคิดค้นมันขึ้นมา

วิธีการของ ADT ก็คือกระบวนการที่มีการนำสัญญาณบันทึกเสียงจากหัวเพลย์แบคของเครื่องเล่นเทปอันหนึ่ง บันทึกลงบนอีกเครื่องหนึ่งที่มี oscillatorที่ปรับได้ (ปรับสปีดได้) และป้อนมันกลับลงไปในเครื่องแรกเพื่อให้ไปผสมกับสัญญาณดั้งเดิม

ถ้าจะเปรียบเทียบกับภาพถ่าย การนำภาพเนกาตีพหนึ่งแปะลงไปในอีกภาพหนึ่งไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงอิมเมจ ภาพทั้งสองจะกลายเป็นภาพเดียวกัน แต่ถ้าเราขยับภาพหนึ่งออกไปนิดหนึ่ง ภาพจะดูขยายขึ้น ADT ก็ทำสิ่งนี้ลงกับเทป การวางเสียงหนึ่งลงบนอีกเสียงหนึ่งอย่างสมบูรณ์จะให้หนึ่งอิมเมจ แต่ถ้าเราเคลื่อนเสียงที่สองไปแค่ไม่กี่เสี้ยววินาที ก็จะเกิดภาพที่แยกออกจากกันขึ้น

ฟิล แมคโดนัลด์จำได้ว่า จอห์น เลนนอน เป็นแรงดลใจสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังผลงานของทาวน์เซนด์นี้
"หลังจากเคนคิดค้น ADT ขึ้นมา จอห์นมักจะพูดว่า "เอ้า ไอร้องไปครั้งหนึ่งแล้วนะเด็กๆ ต่อไปก็'แทร็ค'มันให้ไอหน่อย" เขาไม่อยากจะร้องอะไรซ้ำอีกครั้ง"

ปีเตอร์ วินซ์ วิศวกรอีกท่านสรุปว่า

"จอห์นเป็นคนประเภทหนึ่งหรือสองเทคเท่านั้น ถ้าคุณจับเขาไม่ได้ในช่วงนั้น หรือคุณไม่ได้ใส่เอ็คโคที่พอเหมาะเข้าไปในหูฟังของเขา คุณก็จะไม่ได้performance จากเขา"

ดังนั้น จอห์นก็พึงพอใจกับ ADT เหมือนๆทุกคน แต่เขาไม่ใช่อัจฉริยะทางเทคนิคและใช้ความพยายามเพียงครั้งเดียวในการที่จะศึกษาว่ามันทำงานอย่างไร

"ผมรู้ว่าเขาไม่มีทางเข้าใจมัน" จอร์จ มาร์ตินเล่า
"ดังนั้น ผมจึงบอกเขาว่า "ฟังนะ จอห์น มันง่ายมาก เราดึงเสียงดั้งเดิมออกมาแล้วก็แยกมันผ่าน double vibrocated sploshing flange ด้วย double negative feedback"
"คุณกำลังจะแหกตาผมใช่มั๊ยเนี่ย?" จอห์นตอบ
ผมเลยตอบเขาไปว่า "เอางี้แล้วกัน เรามา 'flange' มันอีกทีแล้วมาดูกัน" หลังจากนั้น เมื่อไหร่ที่จอห์นอยากจะให้ใช้ ADT เขาก็จะบอกว่าช่วย 'flanged' เสียงร้องเขาหน่อย หรือไม่ก็เรียกหา 'Ken's flanger'"
และในทุกวันนี้วลี 'flanging' ก็ยังเป็นที่ใช้กันอยู่ [1988]

เป็นที่น่าสังเกตว่า จาก recording sheets และ tape boxes ชี้ให้เห็นว่า working titleอย่างเป็นทางการ ของ 'Tomorrow Never Knows' คือ 'Mark I' ไม่ใช่ 'The Void' อย่างที่มีความเชื่อกัน (ที่มาของความเชื่อนี้อาจจะมาจาก บทความของ Neil Aspinall ที่เขียนลงในนิตยสารรายสัปดาห์ของวง)





"Tomorrow Never Knows" (The Making) (Part II)
-------------------
studio three: 2:30-7:15 pm. Recording: 'Mark I' [working title of 'Tomorrow Never Knows'[SI on take 3].
studio three: 8:15 pm-1:30 am. Recording: 'Got To Get You Into My Life' [takes 1-5]
Producer: George Martin
Engineer: Geoff Emerick
Second Engineer: Phil McDonald.

ตลอดบ่ายวันนี้ พวกเขาใช้เวลาหมดไปกับการอัดเสียงเอ็ฟเฟ็คสารพัดชนิดซ้อนทับลงไปใน 'Mark I' แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าโดยรวมแล้ว มันเป็นเซสชั่นที่สนุกสนานทีเดียว

บางทีเสียงที่โดดเด่นที่สุดใน 'Tomorrow Never Knows' ก็คือเสียงของ tape loops นั่นเอง (เสียงนี้ได้มาจากการทำให้เทปอิ่มตัว ด้วยการถอดเอาหัวลบออกจากเครื่องและอัดมันทับลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าลงตรงเนื้อเทปชิ้นเดิม)

เอเมอริคเล่าว่า "ไอเดียของการทำเทปลูปเริ่มมาจากที่พวกเขาทุกคนมีเครื่องเล่นเทป Brennell"
"โดยเฉพาะพอล เขาชอบที่จะทำเทปลูปมาจากบ้าน ก่อนจะเดินมาที่สตูดิโอโดยมีเทปม้วนเล็กๆนี้เต็มกระเป๋า แล้วก็มาบอกชาวบ้านว่า 'ฟังนี่ดิ!' ไอ้เสียงนกนางนวลที่ได้ยินในเพลงนี้ จริงๆก็คือเสียง distorted guitar"

(จากเอกสารของสตูดิโอ ลูปส์อื่นๆที่นำมาใช้ก็มี เสียงของ speed up guitar และ แก้วไวน์)

"เรามิกซ์เสียงลูปทั้งหมดกันสดๆ" จอร์จ มาร์ตินเล่ามั่ง
"เราให้พนักงานหลายคนใช้ดินสอหมุนเทปเหล่านี้เข้าไปในเครื่อง ขณะที่ Geoff คอยคุมระดับสมดุลเสียง"
"เรามีเครื่องเล่น 5 เครื่องทำงานไปพร้อมๆกัน" ฟิล แมคโดนัลด์เสริม "Geoff จะบอกว่า-โอเค ยก fader ตัวนั้นขึ้นอีกหน่อย นั่นมันฟังดูดีมาก-มันเป็นการทำงานแบบไม่มีการวางแผนมาก่อนโดยสิ้นเชิง ห้องคอนโทรลเต็มไปด้วยลูปเกลื่อนห้องไปหมด คนก็เต็มห้องพอๆกัน"

เอเมอริคตบท้ายว่า "ผมนำลูปทั้งหมดไปลงไว้ใน มัลติ-แทร็ค และเล่นกับ faders เหมือนกับซินเธอร์ไซเซอร์ในยุคใหม่"

'Tomorrow Never Knows' เป็นเพลงที่หลุดโลกในหลายๆแง่มุม ไม่เคยมีเพลงไหนที่มีเสียงของจอห์น เลนนอนในแบบเช่นนั้นมาก่อน

นั่นคือเสียงที่ถูกป้อนผ่านลำโพงเลสลี่ย์ที่กำลังหมุนอยู่ในแฮมมอนด์ออร์แกน เสียงออร์แกนที่เล่นผ่านลำโพงนี้ก็จะให้เอฟเฟ็คของเสียงแบบหมุนวน เสียงร้องที่ผ่านเลสลี่ย์ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน

"มันเหมือนกับการแหกเข้าไปสู่ใจกลางวงจร" เอเมอริคเล่า

"ผมยังจำได้ดีถึงใบหน้าที่เต็มไปด้วยความพิศวงของพวกเราเมื่อได้ยินเสียงร้องของจอห์นผ่านลำโพงเลสลี่ย์ออกมาในครั้งแรก มันเป็นหนึ่งในความอัศจรรย์อย่างแท้จริง หลังจากนั้น พวกเขาแทบจะอยากให้ทุกๆเสียงได้ผ่านเลสลี่ย์: เปียโน กีต้าร์ กลอง เสียงร้อง ขอให้บอกมาเถอะ!"

(หมายเหตุ: เสียงร้องของจอห์นผ่านเลสลี่ย์ใน 'Tomorrow Never Knows' เริ่มต้นที่วินาทีที่ 87ในเพลง ก่อนหน้านั้น มันเป็นแค่เสียงร้องที่ผ่านกรรมวิธี ADT)

การค้นพบนี้ก็อีกเช่นกันที่แรงดลใจสำคัญเบื้องหลังมาจากเขา-จอห์น เลนนอน ในการที่จะหาสุ้มเสียงเฉพาะเจาะจงสำหรับเพลง 'Tomorrow Never Knows' จอร์จ มาร์ติน จำได้ว่า
"จอห์นบอกกับผมว่า -ผมต้องการเสียงที่ดูเหมือนกับผมเป็นดาไลลามะกำลังร้องเพลงจากยอดเขาอันสูงสุด แต่ผมก็ยังต้องการได้ยินว่าผมร้องว่าอะไร-"

ส่วนคนอื่นๆจำได้ว่า จอห์นยังเรียกร้องว่า อยากให้เพลงฟังดูเหมือน มีพระ 4,000รูปกำลังสวดเป็นแบคกราวนด์อยู่ด้วย

"เสียงจากเลสลี่ย์ประทับใจจอห์นยิ่งนัก ทำให้เขาเกิดไอเดียย้อนศรกลับไปอีก" เอเมอริคเล่า
"เขาแนะนำให้เราใช้เชือกแขวนตัวเขาไว้จากเพดานกลางสตูดิโอ วางไมค์ไว้กลางพื้นสตูดิโอเบื้องล่างแล้วก็ผลักให้เขาหมุนไปรอบๆ โดยที่ระหว่างนั้น เขาก็จะร้องเพลงไปด้วย นี่เป็นไอเดียที่เราไม่ได้ทำกันจริงๆ แม้ว่าพวกเขาจะแหย่ๆให้เราลองดูกันหลายๆครั้งก็ตาม!"

อีกเสียงหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลงนี้ก็คือ เสียงกลองสะกดวิญญาณของริงโก้

"ผมเคลื่อนไมโครโฟนสำหรับกระเดื่องเข้าไปใกล้ตัวกลองมากกว่าที่เคยมีใครทำมาก่อน" เอเมอริคอธิบาย

"คุณเคยเห็นภาพที่บีเทิลส์ใส่เสื้อขนสัตว์ที่มีสี่คอในตัวเดียวได้ไหมล่ะ เราเอาเสื้อนั่นแหละใส่เข้าไปในกลอง เพื่อให้เสียงมันตาย(ไม่ก้อง,สะท้อน)

แล้วเราก็ป้อนเสียงกลองนั้นต่อเข้าไปใน Fairchild 660 valve limiters และ compressors และมันก็กลายเป็นสำเนียงประจำอัลบั้ม Revolver และ Sgt. Pepper ไปแล้ว ไม่เคยมีใครได้ยินเสียงกลองในแบบนั้นมาก่อน"

แล้วริงโก้ล่ะ เขาว่าไง?
"เขารักมัน ไม่มีปัญหาแน่นอน พวกเขารักเสียงที่ได้ยินกันทุกคน มันเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการยังไงอย่างงั้นเลยล่ะ"

และนี่ก็แค่เป็นงานตอนบ่ายเท่านั้น เวลาที่เหลือของวันนั้น บีเทิลส์ได้เริ่มต้นงานใหม่สำหรับเพลงของพอลที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Tamla Motown 'Got To Get You Into My Life' เทค1-5 มันต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงอีกมากกว่ามันจะจบลงบนแผ่นเสียงอย่างที่เราได้ยิน

เทคแรกเป็นเพียงริธึ่มแทร็ค มีเสียงออร์แกนอินโทรเล่นโน้ตตัวเดียว (โดยมาร์ติน) เสริมด้วยไฮ-แฮทของริงโก้ เป็นการถางทางสำหรับเพลงที่ออกเป็นแนวอคูสติคเต็มๆ

ก่อนจะเริ่มเทค4 บีเทิลส์และมาร์ตินได้มีการถกกันถึงไอเดียที่ต่างออกไป ในเทค5มีเสียงออร์แกนและกลองเต็มชุดในช่วงอินโทร และเป็นเทคแรกที่มีเสียงร้อง มันไม่เพียงแต่ดีเลิศเท่านั้น สำหรับเสียงร้องของพอลที่ประสานโดยจอห์นและจอร์จ มันยังแตกต่างออกไปอีกด้วย

พอลร้อง 'Got to get you into my life, somehow, someway" และดนตรีก็หยุดบรรเลง ก่อนที่จอห์นและจอร์จจะสอดประสานขึ้นมาว่า "I need your love" สี่ครั้งในท่อน refrain เทคนี้ได้รับการทำเครื่องหมายว่า 'best' บนกล่องเทป แต่ก็เป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น

(หาฟังได้จาก Anthology 2 สำหรับเทค5นี้)

หมายเหตุ-งานสำหรับ 'Tomorrow Never Knows' ยังมีต่อในวันที่ 22 เมษายน โดยเป็นการเล่นซีต้าร์ของจอร์จอัดทับลงไปบนเทค3 และเพิ่มเสียงร้องของจอห์นผ่านเลสลี่ย์อีกครั้งลงไปในเทคเดียวกัน ก่อนที่จะมีการทำโมโนมิกซ์ในวันที่ 27เมษายน,6 มิถุนายนและสเตอริโอมิกซ์ในวันที่ 22มิถุนายน 1966 และเพลงนี้ออกสู่สายตาและโสตประสาทของชาวโลกในวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 1966 ในฐานะเพลงปิดท้ายอัลบั้ม Revolver

No comments: