Friday 20 March 2015

"Nat 'King' Cole"


---------------------------------------
(เขียน-2550)
สิ่งหนึ่งที่แน็ต “คิง” โคลเหมือนกับหลุยส์ อาร์มสตรองก็คือ เขาทั้งสองเป็นนักดนตรีแจ๊สฝีมือฉกาจมาก่อน หลุยส์เล่นทรัมเป็ตส่วนแน็ตนั้นเป็นนักเปียโนอัจฉริยะ ก่อนที่ทั้งคู่จะมาโด่งดังกับอาชีพนักร้องในช่วงหลังของชีวิต
ในวงการแจ๊สทั่วไปยอมรับว่าแน็ตเป็นนักเปียโนที่มีพรสวรรค์ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกดนตรีแจ๊สเคยมีมา แม้ว่าทุกวันนี้แทบจะไม่มีใครนึกถึงแน็ตคิงโคลในฐานะนักเปียโนแจ๊สและวงทริโอของเขา ใครๆก็นึกถึงเสียงร้องที่นุ่มดั่งกำมะหยี่แต่ลึกล้ำด่ำดื่มไม่มีใครเหมือนของเขา ในฐานะ ‘crooner’ ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุค 50’s-60’s ถ้าจะเป็นรองก็แต่เพียง Frank Sinatra เท่านั้น
• ชื่อจริงของเขาคือ Nathaniel Adams Coles (มี s ด้วย) แน็ตเกิดที่ Montgomery ,Alabama เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1919 แต่เติบโตขึ้นมาที่ชิคาโก้
• เริ่มเล่นเปียโนและร้องเพลงในโบสถ์ตั้งแต่อายุ 12 ปี
• พี่น้องของเขาสามคน Eddie, Fred และ Issac ต่อมาเป็นนักดนตรีแจ๊สทั้งหมด
• อายุ 17 ปี ตั้งวงดนตรีวงแรกของเขาเอง ‘The Royal Dukes’
• บันทึกเสียงครั้งแรกกับวง Solid Swingers ของ Eddie Cole พี่ชายของเขาในปี 1936
• หลังจากนั้นไม่นาน แน็ตตัดสินใจเดินทางออกจากชิคาโก้ไปแอลเอและฟอร์มวง King Cole Swingsters ซึ่งประกอบด้วยตัวเขาเองเล่นเปียโน ออสการ์ มัวร์ เล่นกีต้าร์ และ เวสลีย์ พรินซ์ เล่นเบส
• ในช่วงแรกของวงทริโอนี้ ส่วนใหญ่พวกเขาจะเล่นเพลงบรรเลงกัน มีบางครั้งที่พวกเขาจะร่วมกันขับร้องเพลงแจ๊สใหม่ๆบ้าง
• ต้นปี 1940 วงทริโอนี้ก็ได้มีโอกาสบันทึกแผ่นเสียง เป็นช่วงที่แน็ตเริ่มมีความมั่นใจในการร้องเพลงของเขาเองมากขึ้น และความนิยมในตัววงทริโอก็มากขึ้นตามลำดับ ไม่กี่ปีต่อมาแฟชั่นในการทำวงทริโอแบบของแน็ตก็เริ่มเป็นของอินเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Art Tatum, Oscar Peterson หรือ Ahmad Jamal ก็เริ่มฟอร์มวงสามชิ้นที่มีกีต้าร์ เปียโน และ เบส แบบนี้กันบ้าง
• จอห์นนี่ เมอร์เซอร์ หนึ่งในผู้บริหารของ Capitol Records บริษัทแผ่นเสียงที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ในขณะนั้นเซ็นสัญญาวงทริโอของแน็ตเข้าสังกัด พวกเขาเริ่มบันทึกเสียงให้ Capitol กันในเดือนพ.ย. 1943 โดยสองเพลงแรกที่บันทึกเสียงกันในวันนั้นคือ Straighten Up and Fly Right และ Gee, Baby, Ain't I Good to You?
• ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา แน็ตกลายเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ Capitol ถึงกับว่าตึก Capitol Tower ที่ Hollywood and Vine นั้นจะเรียกกันว่าเป็น “บ้านที่แน็ตสร้าง”ขึ้นมาทีเดียว
• 15 มีนาคม 1945 บิลบอร์ดจัดทำอัลบั้มชาร์ทเป็นครั้งแรก และอันดับหนึ่งก็เป็นของ King Cole Trio
• วงทริโอนี้ยังบันทึกเสียงอย่างต่อเนื่องในเวลาสองสามปีต่อมาและแม้ว่าการขับร้องของแน็ตจะเป็นที่เลื่องลือขึ้นเรื่อยๆเขาก็ยังคงอยู่กับวงทริโอนี้จนกระทั่งต้นปี 1950
• ปี 1946 I Love You (For Sentimental Reasons) กลายเป็นเพลงอันดับ1เพลงแรกของแน็ต และเป็นครั้งแรกที่แน็ตพิสูจน์ว่าเขาไปได้ดีกับเพลงหวานๆช้าๆ ขณะที่เพลงคริสต์มาสอมตะ The Christmas Song (Merry Christmas To You) ก็ไปได้ถึงอันดับสาม เพลง Nature Boy ที่มีออเคสตร้าแบ็คอัพออกตามมาในเดือนมีนาคม 1947 และมันก็ขึ้นอันดับ1และได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ
• กรกฎาคม 1948 เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Captain Carey’ ชื่อ ‘Mona Lisa’ ที่แน็ตร้องไว้อย่างกินใจพุ่งไปถึงอันดับ1 นั่นเป็นเพลงที่พลิกชีวิตเขาไปตลอดกาล ในบัดดล แน็ตกลายเป็นนักร้องผู้โด่งดังและแฟนใหม่ๆจำนวนมากไม่ทราบมาก่อนด้วยซ้ำว่าเขาเป็นแจ๊สเปียนิสต์ระดับพระกาฬแค่ไหน
• ว่ากันว่าแน็ตลังเลและปฏิเสธที่จะร้อง ‘Mona Lisa’ อยู่หลายครั้ง จนกระทั้งผู้ประพันธ์เพลงนี้ต้องหอบเอาโน้ตเพลงไปเล่นให้แน็ตฟังถึงบ้านและเกลี้ยกล่อมจนเขายอมใจอ่อน แต่ก็ยังอุตส่าห์ออกให้เป็นแค่ซิงเกิ้ลหน้าบี แต่เพลงมันจะดังซะอย่าง ทุกวันนี้แทบไม่มีใครจำหน้าเอของซิงเกิ้ลเพลงนี้ได้
• Mona Lisa ประพันธ์โดย Jay Livingston และ Ray Evans โดยมี Nelson Riddle ควบคุมวงออเคสตร้าแบ็คอัพ
• แน็ต คิง โคล เริ่มก้าวออกมาหน้าเวที ยืนอยู่หน้าไมโครโฟน และต่อจากนี้น้อยครั้งที่เขาจะนั่งลงที่เก้าอี้ต่อหน้าคีย์ดำขาวของเปียโนอีก
• การเปลี่ยนแนวมาร้องเพลงป๊อบของแน็ตนี้สร้างความโกรธาให้แฟนๆแจ๊สไม่ต่างไปจากการที่ บ๊อบ ดีแลน เปลี่ยนแนวจากอะคูสติกมาเป็นอีเล็คทริคเลยทีเดียว
• 1951 แน็ตออกเพลง ‘Unforgettable’ ที่มีเครื่องสายกำกับโดยเนลสัน ริดเดิลอีกครั้ง เพลงนี้ไปได้แค่อันดับที่ 12 แต่ทุกวันนี้กลายเป็นเพลงของแน็ตที่ดังที่สุดเพลงหนึ่ง 40ปีผ่านไปแฟนรุ่นหลังอาจจะจำเพลงนี้ได้จากเวอร์ชั่นที่นาตาลี โคล ลูกสาวของเธอร้องคู่กับคุณพ่อของเธอที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อันเป็นที่ฮือฮากันมากในความเนียนแนบของการโปรดิวซ์ (ทุกวันนี้เป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว)
• แน็ตกับเนลสันยังร่วมงานกันทำเพลงดีๆออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปีถัดมาเช่น When I Fall In Love และ A Blossom Fell
• แน็ตมีรายการทีวีโชว์ของตัวเองในช่วงปี 1956-1957 แต่เนื่องจากปัญหาการแบ่งแยกสีผิวในอเมริกายุคนั้นทำให้รายการไม่อาจหาสปอนเซอร์ได้ แต่ผลงานแผ่นเสียงของเขาก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 1943-1966 แน็ตมีซิงเกิ้ลเข้าอันดับมากกว่าหกสิบเพลง และในปี 1960 ยอดขายอัลบั้มของเขาโดยรวมก็ปาเข้าไปถึงห้าสิบล้านแผ่น
• แน็ตยังโฉบไปเล่นหนังด้วยหลายเรื่อง อาทิเช่น St. Louis Blues (เขาเล่นเป็นนักดนตรีบลูส์ W.C. Handy) และ Cat Ballou
• 1962 แน็ตเปลี่ยนสไตล์ไปร้องเพลงแนวคันทรี่บ้าง แต่แฟนๆก็ไม่หนีหาย ทั้งอัลบั้มและซิงเกิ้ล Ramblin’ Rose ขึ้นอันดับ1 และยังเป็นเพลงที่ดังที่สุดในอเมริกาของเขาอีกด้วย Those Lazy-Hazy-Crazy Days Of Summer เป็นเพลงท็อปเทนเพลงสุดท้ายของเขาในฤดูร้อนของปี 1963
• เขาหยุดกิจกรรมบันเทิงในปี 1964 ด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ และในเดือนธันวาคม แน็ตก็ถูกส่งเข้าโรงพยาบาล St. John’s ผลการวินิจฉัยโรคคือ มะเร็งปอด
• แน็ตเป็นสิงห์อมควันตัวยง ด้วยอัตราเฉลี่ยประมาณ 3 ซองต่อวัน ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
• หลังจากเข้าโรงพยาบาล แน็ตได้มีโอกาสออกมาเพียงสองครั้ง ครั้งหนึ่งเพื่อมาฉลองคริสต์มาสกับครอบครัว และครั้งสุดท้ายแน็ตขับรถกับภรรยา-แมเรีย ไปที่ชายทะเล เขาเสียชีวิตในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1965 ด้วยอายุเพียง 45 ปี
• ปี 2000 แน็ตได้รับเกียรติเสนอชื่อเข้าหอ Rock And Roll Hall Of Fame โดย มีเรย์ ชาร์ลส์เป็น presenter
โดยส่วนตัวผม-ผู้เขียนก็เกิดหลังแน็ตเสียชีวิตไปแล้ว ตอนเด็กๆที่หัดฟังเพลงฝรั่งใหม่ๆก็มีความรู้สึกว่าชื่อของแน็ตคิงโคลนี่มันช่างโอลดี้ส์และล้าสมัยเสียเหลือเกิน ทำให้ละเลยที่จะฟังดนตรีของเขามาหลายปี จนเมื่อได้ฟังเสียงของเขาจังๆจากร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ผมมักจะไปนั่งทานตอนเช้าๆสมัยที่ไปทำงานอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และร้านนี้เจ้าของร้านมีรสนิยมเครื่องเสียงดีมาก ทำให้ผมติดใจในน้ำเสียงของแน็ตแต่นั้นมา ถึงแม้นักวิจารณ์จะยกย่องฝีมือเปียโนของแน็ตแค่ไหนแต่ผมว่าจะไปโทษแฟนๆทั่วไปไม่ได้หรอกครับที่จะจดจำแน็ตในฐานะนักร้องกันแทบทั้งนั้น
ถ้าคุณได้ฟัง ‘Stardust’ ในเวอร์ชั่นที่แน็ตคิงโคลร้อง แล้วคุณอาจจะเข้าใจว่าทำไมนักวิจารณ์ถึงรุมประนามร็อด สจ๊วตในงาน American Songbooks ของเขากันนัก....(แต่ผมก็ชอบทั้งสองคนนะ)
Selected discography
1.Nat King Cole – Capitol 99777 สี่ซีดี รวมผลงานทุกยุคของแน็ค
2.The Best Of The Nat King Cole Trio : Instrumental Classics (Blue Note 98288)
, Vocal Classics (Blue Note 33572) สำหรับผู้อยากสัมผัสวงทริโอของแน็ตในยุคตั้งแต่ปี 1942เป็นต้นมา
3.Love Is The Thing (Capitol CDP7-46648) หวานสุดๆกับออเคสตร้าจากกอร์ดอน เจนกินส์
4.Two In Love (Capitol 46650) งานชิ้นเอกที่แน็ตทำไว้ร่วมกับ Nelson Riddle
5.The Complete “After Midnight” Sessions (Capitol 48328) งานที่แน็ตเล่นกับวงเล็กๆในยุคหลังที่เขายังไว้ลายฝีมือเปียโนไว้อย่างเด็ดขาด

No comments: